สนช. นัดแถลงเปิดคดีถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้ ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิด แต่ สนช.ไม่อนุญาต
9 มี.ค. 2560 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีการพิจารณากระบวนการถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีใช้อำนาจหน้าที่ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้ ทักษิณ ชินวัตร โดยมิชอบ เพื่อช่วยเหลือนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการติดตามตามหมายจับ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สุรพงษ์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนความไม่ชอบมาพากล 5 ฉบับต่อ สนช.เพื่อประกอบการพิจารณา ได้แก่ ฉบับที่ 1 เรื่องพบความไม่ชอบในการแจ้งข้อกล่าวหา ฉบับที่ 2 การตรวจพบสถานะการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ของปรีชา เลิศกมลมาศและ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฉบับที่ 3 เรื่องตรวจสอบพบว่าคำร้องถอดถอนตนเอง ออกจากตำแหน่ง ส.ส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฉบับที่ 4 การปฏิเสธที่จะให้พยานหลักฐานสำคัญ และไม่ยอมให้ถ่ายสำเนาในการประกอบการชี้แจงข้อกล่าวหา และฉบับที่ 5 เรื่องมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีภักดี โพธิศิริ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น ร่วมประชุมด้วย
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ยังได้ยื่นเอกสารลับให้กับสมาชิก สนช. ได้พิจารณาด้วย โดยประธานแจ้งว่า ให้สมาชิกพิจารณาเอกสารลับภายในห้องประชุมเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สมาชิกนำเอกสารดังกล่าวออกจากห้องประชุม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดวันแถลงเปิดคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และสุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา ในวันที่ 16 มี.ค. จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานของสุรพงษ์ จำนวน 2 คำขอ 5 รายการ ได้แก่ 1.หนังสือของสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่องขอทราบผลการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนให้แก่ ภักดี โพธิศิริ 2. หนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง ขอทราบผลการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ภักดี โพธิศิริ 3. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2555 4. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2556 และ 5.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559
จากนั้น นายสุรพงษ์ ชี้แจงเหตุผลการขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานต่อที่ประชุมว่า การเพิ่มเติมหนังสือเรื่องการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนของภักดี เนื่องจากภักดีได้ร่วมลงมติชี้มูลว่าตนมีความผิด แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า ภักดีขาดคุณสมบัติการเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งแต่ต้น ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินชี้ว่า ภักดีไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรมเมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายใน 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่ สุภา ปิยะจิตติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. คัดค้านการขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน พร้อมชี้แจงว่า ภักดีได้ชี้แจงและแสดงหลักฐานการลาออกจากทุกบริษัทผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว ดังนั้น สถานะของภักดีถือว่าสมบูรณ์ ซึ่งสุรพงษ์ได้เคยขอยื่นหลักฐานนี้ต่อ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.เห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่เกี่ยวกับคดีนี้แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการชี้แจง ที่ประชุมมีมติไม่อนุญาตให้สุรพงษ์เพิ่มเติมพยานหลักฐานทั้ง 5 รายการ และมีมติไม่ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานอันจำเป็นของคู่กรณี เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า ไม่ใช่คดีที่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด
สุรพงษ์” รับรู้สึกกังวลผลถอดถอน เผยอยากให้สังคมเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกหนังสือเดินทาง “ทักษิณ”
สุรพงษ์ ได้กล่าวภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมพยานเอกสารที่ขอเพิ่มทั้ง 5 รายการว่า ตอนแรกที่ตัดสินใจมาชี้แจงเพราะคิดว่าสนช.จะพิจารณาด้วยความเป็นธรรม แต่เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ ก็ยอมรับว่ากังวลถึงผลการลงมติถอดถอนที่แม้จะชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบอย่างไร ผลลัพธ์ไม่น่าจะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามยังอยากมาชี้แจงทั้งในวันแถลงเปิดคดีและปิดคดี เพื่อให้สังคมได้เห็นว่าข้อกล่าวหาของป.ป.ช.ไม่น่าเชื่อถืออย่างไร และมีหลักฐานชัดว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องของข้าราชการประจำที่ดำเนินการ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่มีมาตราเรื่องการถอดถอน อย่าเพิ่งมีผลบังคับใช้ เพราะจะได้แถลงความจริงให้ประชาชนรับทราบ
“ใจผมยังไม่อยากให้รัฐธรรมนูญออกมาตอนนี้ อยากให้พิสูจน์ความจริง สังคมจะได้เห็นประจักษ์ว่าผมได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เหมือนกับเอาหลักฐานมาแฉกันเลย เพราะเรื่องนี้ข้าราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงต่างให้ข้อมูลมา”นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับกรณีที่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญวิธีพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะไม่นับอายุความของนักการเมืองที่หนีคดีนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กฎหมายใดก็ตาม ควรต้องมีบทบัญญัติที่เท่าเทียมกันทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม ไม่ควรยกเว้นให้ผู้หนึ่งผู้ใด หากทำเช่นนี้ได้ ความสามัคคีปรองดองจึงจะเกิดขึ้น และกรณีของข้าราชการประจำ หากทำผิด ควรจะมีบทบัญญัติที่รุนแรงกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ เพราะอยู่นาน นักการเมืองมาแล้วก็ไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น