วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

รัฐบาลยืนยันข่าว 9 ข้อห้ามช่วงสงกรานต์ไม่จริง


โฆษกรัฐบาลแจงกรณีสื่อออนไลน์ระบุสำนักนายกฯ ออกข้อห้าม 9 ข้อช่วงสงกรานต์ไม่เป็นความจริง ระบุมีความพยายามลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล กรุงเทพโพลล์ ชี้ ม.44 คุมจราจรทำระวังมากขึ้น สงกรานต์ส่วนใหญ่ใช้จ่ายทำบุญ
 
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสื่อออนไลน์ระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรีแจ้ง 9 ข้อห้ามที่ห้ามเด็ดขาดในวันสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 5-18 เมษายนนี้ เช่น ห้ามแต่งกายโป๊รัดรูป เน้นการแต่งกายด้วยผ้าไทย ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน ห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน ห้ามใช้ปืนฉีดน้ำที่มีแรงดันสูง ฯลฯ หากฝ่าฝืนจะมีโทษหนัก ว่า สำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้ออกระเบียบดังกล่าว หากพิจารณารายละเอียดเป็นข้อๆ จะพบว่า แต่ละข้อเป็นแนวทางที่คณะรัฐมนตรีเคยขอความร่วมมือประชาชนให้ร่วมกันรักษาประเพณีไทยด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิถีไทย เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวในปีก่อนๆ อยู่แล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีงาม
 
“มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่ต้องการลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ด้วยการผนวกเรื่องการห้ามนั่งท้ายรถกระบะและการเล่นน้ำบนถนน หรือสาดน้ำข้างทางเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่ารัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดซ้ำเติมประชาชน พร้อมกับมีบทลงโทษหนัก เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งที่ความจริงถือเป็นเจตนาดี แต่กลับถูกมองเป็นเจตนาร้าย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนเลือกนำข้อแนะนำที่ดีไปปฏิบัติ เพื่อรักษาคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของไทย ให้คนในชาติเกิดความภาคภูมิใจ และเป็นที่ชื่นชมของนักท่องเที่ยว รวมทั้งขอความร่วมมือไม่แชร์หรือส่งต่อข่าวที่บิดเบือน ซึ่งอาจเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยขอให้ช่วยกันนำข้อเท็จจริงไปอธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม
 
กรุงเทพโพลล์ ชี้ ม.44 คุมจราจรทำระวังมากขึ้น สงกรานต์ส่วนใหญ่ใช้จ่ายทำบุญ
 
ด้านกรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “สงกรานต์ปีไก่ คนกรุงเตรียมการอย่างไร” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,178 คน พบว่า คนกรุงส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 วางแผนใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไปกับค่าทำบุญไหว้พระมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 52.4 ใช้จ่ายไปกับค่าเดินทาง/ ค่าน้ำมันไปท่องเที่ยว / กลับบ้านเกิด และร้อยละ 49.8 ใช้จ่ายไปกับค่าอาหาร กินเลี้ยงสังสรรค์
       
ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่าในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ การใช้จ่ายจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ร้อยละ 51.1 คิดว่า น่าจะใช้จ่ายพอๆ กับปีที่ผ่านมา ขณะที่ ร้อยละ 26.5 คิดว่า น่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และ ร้อยละ 22.4 คิดว่า น่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา
       
ส่วนเรื่องที่กังวลหากต้องเดินทางออกต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.4 กังวลเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน รองลงมา ร้อยละ 34.1 กังวลเรื่องการจราจรติดขัด และ ร้อยละ 13.4 กังวลเรื่องคนเมาแล้วขับ
       
เมื่อถามว่า การใช้ ม.44 ควบคุมวินัยจราจร จะส่งผลให้ระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎจราจรเพียงใด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.8 จะระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎจราจรค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ ร้อยละ 22.2 จะระมัดระวัง และปฏิบัติตามกฎจราจรค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น