วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผย อนุโลมเล่นน้ำท้ายกระบะได้ในถนนสายรอง


คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน วางหลัก '4 ห้าม 2 ต้อง' ผู้ช่วยผบ.ตร. ระบุ 5 เม.ย.นี้ เป็นวันแรกคุมตามประกาศของคสช. แจงห้ามรถกระบะมีแคปบรรทุกคนโดยเด็ดขาด ส่วนรถยนต์กระบะ 4 ประตู สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ตามปกติ แต่จะต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง
4 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้แสดงความเป็นห่วงการเล่นน้ำของประชาชนในข่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขอให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงแม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงชี้แจงกับประชาชน โดยเฉพาะการรณรงค์เล่นน้ำให้มีความปลอดภัย 
“เล่นน้ำบนท้ายรถกระบะได้ แต่ต้องจอดรถ แต่หากจะเล่นสาดน้ำบนรถขณะรถวิ่ง ให้เล่นในพื้นที่ชุมชนหรือถนนสายรอง อย่าเล่นในถนนสายหลัก ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หรือจังหวัดอื่น ๆ ที่จัดงานสงกรานต์บนถนนสายหลัก ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฎิบัติมาแต่เดิมแล้ว นายกเทศมนตรีสามารถคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อผ่อนปรนให้เล่นสาดน้ำบนท้ายรถกระบะได้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ในส่วนของการนั่งท้ายรถกระบะเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่สามารถทำได้ เพราะบังคับใช้มาตรา 44 คุมเข้มเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากรัฐบาลไม่อยากให้เกิดการสูญเสียในช่วงเทศกาลแห่งความสุข ส่วนจะลดความสูญเสียได้หรือไม่  ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในการใช้รถใช้ถนนและเคารพกฏหมาย

วางหลัก '4 ห้าม 2 ต้อง'

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ รัฐบาลห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ศปถ.ได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยมุ่งรณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทาง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์  ได้ฝากถึงผู้ใช้รถใช้ถนนให้ปฏิบัติตามหลัก “4 ห้าม 2 ต้อง” ได้แก่ 4 ห้าม คือ ห้ามขับรถเร็ว ห้ามดื่มแล้วขับ ห้ามโทรแล้วขับ ง่วงห้ามขับ และ 2 ต้อง คือ ต้องสวมหมวกกันน็อก และต้องคาดเข็มนิรภัยทุกครั้งที่เดินทาง เพื่อสร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน ควบคู่กับการรณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิถีไทย เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้อยู่คู่สังคมไทย 
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความพร้อมของรัฐบาลในการบูรณาการทุกภาคส่วนดูแลความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนในทุกเส้นทาง รวมถึงเป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มีจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมไทย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวด้วยว่า มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด การออกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่บังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง การกวดขันอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการคุมเข้มผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี และผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ รวมถึงการจัดตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และตรวจจับความเร็ว จะบรรลุเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนได้

ห้ามรถกระบะมีแคปบรรทุกคนโดยเด็ดขาด

พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผู้ช่วยผบ.ตร. กล่าวว่า จากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้รถ โดยกำหนดให้ผู้โดยสาร คนขับรถจะต้องรัดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัยทุกที่นั่ง ซึ่งในวันที่ 5 เม.ย. เป็นวันแรกที่จะเริ่มควบคุมบังคับใช้กฎหมายตามประกาศของคสช. ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้มอบแนวทางการปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ โดยให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ทั้งกับรถขนส่งสาธารณะ รถโดยสารและรถยนต์ทุกประเภทที่ฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัดนิรภัย หากพบว่าที่นั่งภายในรถจัดให้มีเข็มขัดแต่ประชาชนไม่รัดเข็มเข็ดนิรภัยก็จะต้องถูกปรับ 500 บาท ทันที
 
ส่วนกรณีรถกระบะมีแคป ขณะนี้พบว่าประชาชนเกิดความสับสนว่า สามารถนั่งได้หรือไม่ พล.ต.ท.วิทยา ชี้แจงว่า ทางบช.น.ได้ถือปฏิบัติตามคำสั่งของสตช.คือ ห้ามรถกระบะมีแคปบรรทุกคนโดยเด็ดขาด หากพบเห็นจะดำเนินการปรับทันที เพราะในการจดทะเบียนของรถกระบะนั้น จะจดทะเบียนเป็นรถกระบะบรรทุกส่วนบุคคลไม่เกิน 7 นั่ง จะมีป้ายทะเบียนกำกับประเภทรถ เป็นป้ายสีขาวตัวอักษรสีเขียว
 
ผู้ช่วยผบ.ตร. อธิบายว่า วัตถุประสงค์ของแคปคือ มีไว้เพื่อตั้งวางสิ่งของเท่านั้น ที่ผ่านมากลับมีการใช้บรรทุกคนจนเคยชิน ซึ่งแคปนั้นไม่มีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยของผู้ที่นั่งอยู่ในแคป และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนนั่ง ทั้งนี้ ในการจับปรับรถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารในแคปนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับปรับในข้อหาไม่รัดเข็มขัดนิรภัย แต่จะปรับในข้อหา ใช้รถยนต์ผิดประเภท ซึ่งถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 มาตรา 21 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท นอกจากนี้กรณีที่ให้ผู้โดยสารนั่งข้างหลังกระบะก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน
 
พล.ต.ท.วิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนที่มีรถกระบะและต้องการบรรทุกคนโดยสาร จะต้องนำรถไปต่อเติมหลังคาและติดตั้งที่นั่ง 2 แถว และนำรถยนต์ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เป็นรถโดยสารสาธารณะ 7 ที่นั่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่งจึงจะถือว่าไม่ผิดกฎหมาย  สำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ตามปกติ แต่จะต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งเพราะรถกระบะ 4 ประตูจดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ที่ผ่านมาประชาชนใชรถผิดประเภทมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าแคปมีไว้สำหรับนั่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น