วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินเศรษฐกิจ 3 ปีหลัง คสช. ยึดอำนาจ เอกชนลงทุนเติบโตต่ำ


คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช. พบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ชี้ภาคการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ  
 
21 พ.ค. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช และภาวะเศรษฐกิจว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.8% ในปี พ.ศ. 2557 มาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาสรแรกปี พ.ศ. 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับ 3.6% การลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 57 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในปัจจุบันแต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจสามปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่องแม้นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัวหรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้ 
 
การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำแม้นกระเตื้องขึ้นและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ทุนข้ามชาติสัญชาติไทยไหลออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้นขณะที่ทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามากอย่างที่คาดการณ์และยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ 
 
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้า นโยบายเหล่านี้รัฐบาลมีความคืบหน้ามากพอสมควร แต่สิ่งที่จะประกันความสำเร็จ คือ เสถียรภาพของระบบการเมือง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันและระบบนิติรัฐ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ในส่วนนี้รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามอีกมากและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาให้เกิดผลจึงต้องส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการต่อ ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนนักต่อประชาคมอาเซียนหรือการมียุทธศาสตร์อาเซียนของประเทศไทยและยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนต่อนโยบายสำคัญ One Belt One Road ของจีน 
 
ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่องฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจ โดยภาคส่งออกนั้นเริ่มมีการติดลบมาตั้งแต่ก่อน คสช เข้ายึดอำนาจในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และรัฐบาล คสช เข้ามาบริหารประเทศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 
 
ประเมินผลงานเศรษฐกิจมีทั้งดีขึ้น ทรงตัวและแย่ลง ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ระดับ ดีพอใช้ B ด้านความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีมากระดับ A ด้านความสามารถในการแข่งขันได้ระดับดีพอใช้คะแนนระดับ B ด้านการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแย่ลงต้องปรับปรุง คะแนนระดับ D ด้านการพัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ด้านความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขันยังต้องปรับปรุงอีกมากได้คะแนนระดับ D ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นโดยภาพรวมแต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังคงเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ด้านฐานะทางการคลัง ก่อหนี้มากขึ้น ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่สามารถกลับคืนสู่งบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ได้คะแนนพอใช้หรือระดับ C ฐานะการคลังแย่ลงเพราะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็น รายจ่ายด้านสวัสดิการสูงขึ้นและไม่พยายามลดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธ ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ ได้คะแนนระดับ B สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หารายได้เข้ารัฐ ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้ประเทศมีฐานรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จมากกว่านี้ 3 ปีที่ผ่านมาได้มีความคืบหน้าระดับหนึ่งเท่านั้นจึงได้คะแนนในระดับ C 
 
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% แต่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางกิจการ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้ รายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องมาตลอดสองปีกว่าๆเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลามากกว่า 2 ปีและปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย 1-5 บาทในช่วงต้นปีทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ 
 
ต้องเพิ่มประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้บริโภค การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการมีระบอบการเมืองที่มีคุณภาพและมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการวางรากฐานสู่ประเทศพัฒนาแล้วและศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน หากไม่สามารถทำให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้นได้ ไทยจะเผชิญกับทศวรรษที่สองแห่งการสูญเสียโอกาส ถดถอยและจะเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย
 
ด้านการปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงินโดยเฉพาะในส่วนของกองทุนประกันสังคมมีความคืบหน้าดีพอใช้ ได้ระดับคะแนน B ส่วนในระบบสาธารณสุขนั้นยังไม่มีข้อสรุปหรือความก้าวหน้าชัดเจนนัก ยังไม่สามารถให้คะแนนได้ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ตกผลึก 
 
ประเมินผลงานด้านการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวและเป้าหมาย มีความคืบหน้าและรูปธรรมชัดเจนแต่การมีส่วนร่วมมีข้อจำกัด ได้ระดับคะแนนดีพอใช้ B 
 
ประเมินผลงานด้านการยุติความขัดแย้งรุนแรงอันนำมาสู่สงครามกลางเมือง คสช มีผลงานอย่างชัดเจนในการลดความเสี่ยงและขจัดเงื่อนไขเฉพาะหน้าอันนำไปสู่ความรุนแรงและการนองเลือด จึงได้คะแนนในระดับ A แต่ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง เนื่องจากการปรองดองอย่างแท้จริงต้องเกิดจากกระบวนการปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้าง ใช้กระบวนการประชาธิปไตย แสวงหาข้อเท็จจริง สถาปนานิติรัฐเอาผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ คืนให้ความเป็นธรรมให้นักโทษทางการเมือง 
 
ประเมินผลงานด้านสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ผลงานด้านนี้ไม่ผ่าน ได้ระดับคะแนน F แม้นจะมีการผ่อนคลายทางด้านสิทธิเสรีภาพบ้าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง แต่ได้มีการสร้างกลไกสถาบันและกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมและไม่ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ นอกจากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆการรับรองอนุสัญญาต่างๆขององค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิแรงงานดีขึ้น
 
ประเมินผลงานทางด้านการศึกษา คะแนนอยู่ในระดับ A มียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนและกระบวนการในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวทางการศึกษาอยู่บนข้อมูลการวิจัยและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่ยังต้องเพิ่มการกระจายอำนาจทางการศึกษา ปฏิรูปครูและปฏิรูปการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น 
 
3 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่สามของ คสช ก่อนการเลือกตั้ง ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 6 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจาก Supply-side เป็น Demand-side มากขึ้นเพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษาและงบประมาณ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น 
 
ผลงานด้านความมั่นคงและระบบการป้องกันประเทศ ได้คะแนนภาพรวมพอใช้ หรือ ระดับ C เท่านั้น เพราะจัดสรรงบประมาณจำนวนมากซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ แทนที่จะนำงบประมาณมาลงทุนวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศเองผ่านทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ควรนำงบประมาณลงทุนพัฒนาบุคลากรของกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ เพิ่มระบบทหารอาสา ลดสัดส่วนทหารเกณฑ์และทำให้คุณภาพชีวิตและผลตอบแทนของทหารเกณฑ์และกำลังพลดีขึ้น ขณะที่การก่อเหตุความไม่สงบในประเทศลดลงแต่ไม่ได้หมดไปจึงต้องลดเงื่อนไขการก่อเหตุที่กระทบความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนลดลงอย่างชัดเจนอันเป็นผลบวกต่อการค้าการลงทุนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2560 สามารถเติบโตได้ในระดับ 3.6-4.2% ดีขึ้นกว่าปี 2557 (จีดีพีขยายตัว 0.8%) 2558 (2.9%) และ ปี 2559 (3.2%) (โปรดดูตารางตัวเลขเศรษฐกิจเปรียบเทียบ) อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่กระจายตัวมายังกิจการขนาดเล็ก เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและประชาชนระดับฐานรากมากนัก “ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก 
 
เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแม้นไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ลดทอนอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจถดถอยลง แต่ยังมีความหวังว่า การร่างกฎหมายลูกที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของประชาชนมากขึ้น เพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมืองมากขึ้น จะทำให้ปัญหาบางอย่างในรัฐธรรมนูญบรรเทาลงและไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ 
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง จะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อนต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วม รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีก 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า “การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังอำนาจที่อิงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กับ พลังอำนาจที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และ คสช ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสองพลังอำนาจนี้โดยไม่สูญเสียหลักการประชาธิปไตยและความมั่นคงของระบบการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมสันติธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศึกษาความผิดผลาดในอดีตไว้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ย้ำรอยความล้มเหลว หากผู้ต้องการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งและการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาจะทำให้ระบบประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง อันนำมาสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น