ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน ทนายความขอไต่สวน พนง.สอบสวน ปอท. ผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง 'ทนายประเวศ' ขณะที่ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัว ให้เหตุผลเป็นการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักและเทิดทูนของประชาชน
11 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (11 พ.ค.60) เวลา 14.00น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดไต่สวนการฝากขัง ประเวศ ประภานุกูล ทนายความ ซึ่งเขาตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 10 กรรม, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จำนวน 3 กรรม, และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ด้านทนายความขอไต่สวนพยาน พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน บก.ปอท.ในฐานะพยานถึงสาเหตุที่ขอฝากขังประเวศ ในครั้งที่ 2
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ทนายความของประเวศ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมหลักประกันเป็นตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยของเพื่อนประเวศ ตีเป็นหลักทรัพย์ 680,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งยกคำร้องปล่อยตัว ประเวศ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของประชาชน โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อันอาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรประกอบกับ พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจึงไม่อนุญาต
ศูนย์ทนายความฯ ยังรายงานด้วยว่า นอจากประเวศแล้ววันเดียวกันยังมีผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมควบคุมตัวเข้ามทบ.11 อีก 5 คน จากเหตุที่พวกถูกดำเนินคดีจากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) เรื่องหมุดคณะราษฎร โดยทั้ง 6 คนถูกแยกกันดำเนินคดีคนละคดีจากการแชร์โพสต์เดียวกัน
สำหรับรายละเอียดการไต่สวนพยานต่อการขอฝากขังประเวศ ในครั้งที่ 2 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานกระบวนการอย่างละเอียดไว้ดังนี้
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร ให้การว่าเหตุที่ขอฝากขังเนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงเกรงว่าจะหลบหนีและเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เกรงว่าหากได้รับการปล่อยตัวจะเข้าไปแก้ไขหรือลบบัญชีเฟซบุ๊กจะทำให้ไม่มีหลักฐานเหลืออยู่หรืออาจจะมีการโพสต์รุนแรงขึ้นเป็นการกระทำความผิดซ้ำได้ นอกจากนั้นยังมีพยานต้องสอบสวนอีก 6 ปาก
ทนายความถาม พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร ว่า มีการสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ค้านการประกันหรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า หากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงเกิน 10 ปี จะเป็นระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ค้านการประกันตัวผู้ต้องหาประกอบกับพิจารณาเป็นพฤติการณ์เฉพาะแต่ละคดีเเละหากเป็นคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 จะมีนโยบายให้มีการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด
ในส่วนของพยานที่จะมีการสอบปากคำอีก 6 ปากนั้น จะเป็นพยานอาจารย์รัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าจะมีการสอบพยานคนใดบ้าง
นอกจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ทำการบันทึกถ้อยคำในโพสต์เฟซบุ๊กของ ประเวศ ไว้แล้วทั้ง 13 ข้อความที่นำมาใช้ในการดำเนินคดีกับ ประเวศ
ทนายความจึงถามพยานว่าผู้ต้องหาจะสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักฐานที่มีการบันทึกไว้แล้วไม่ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ แต่จะมีการเข้าไปแก้ไขในเฟซบุ๊กได้ ทนายความจึงถามต่อว่าการที่นายประเวศซึ่งเป็นผู้ต้องหาจะถูกขังอยู่หรือไม่ก็สามารถแก้ไขได้หากมีการมอบบัญชีผู้ใช้ (username) และรหัสบัญชีไว้แก่บุคคลใช่หรือไม่พยานตอบว่าสามารถทำได้
ทนายความจึงถามพยานต่อไปอีกว่าแล้วตั้งแต่ ประเวศ ถูกจับกุมจนถึงวันสุดท้ายที่พยานเข้าไปตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของ ประเวศ มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ พยานตอบว่าจนถึงเมื่อวานนี้ (10 พ.ค.60) เฟซบุ๊กของ ประเวศ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ
ทนายความได้ถามอีกว่านอกจากการมีบัญชีผู้ใช้และรหัสแล้วยังต้องมีคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเครื่องที่ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวในการยืนยันตัวตนหากมีการเข้าใช้งานจากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่าไม่ต้อง สามารถเข้าใช้ได้หากมีชื่อบัญชีและรหัสเข้าใช้งาน ส่วนของกลางที่เจ้าหน้าที่ทหารยึดได้ได้ส่งมอบให้แก่พยานหมดแล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนของการตรวจสอบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์และการจราจรของข้อมูลรวมถึงลายนิ้วมือเป็นงานในส่วนของหน่วยงานราชการ ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งของกลางให้แก่กองพิสูจน์หลักฐานแล้วแต่พยานไม่ได้ทำสำเนาข้อมูลเอาไว้ และเนื่องจากงานของกองพิสูจน์หลักฐานมีเป็นจำนวนมากการตรวจสอบจึงใช้เวลาเกินกว่า 30 วันแน่นอน
ทนายความถามต่อว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือศาลไม่ฝากขังก็ไม่รบกวนการสอบปากคำพยานใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณเพ็ชรตอบว่าสามารถดำเนินการสอบสวนต่อไปได้แต่เกรงว่า ประเวศ จะหลบหนีเป็นอุปสรรคต่อการนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาล
ขณะที่ ประเวศ แถลงต่อศาลว่าหากได้รับการปล่อยตัวสัญญาว่าจะไม่หลบหนีและไม่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และหากได้รับหมายเรียกหรือได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนก็จะยินยอมไปพบเจ้าหน้าที่
ประเวศ ให้เหตุผลในการคัดค้านว่า ตนถูกทหารหลายนายเข้าจับกุมจากบ้านพักไปที่มทบ.11 ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. โดยไม่ได้มีการแจ้งหมายจับของศาลแต่อย่างใดและได้ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและทรัพย์สินอย่างอื่นไปด้วย ระหว่างการควบคุมตัวที่ค่ายทหารตนไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งสิทธิและไม่สามารถแจ้งญาติหรือบุคคลอื่นว่าตนเองถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารได้ เป็นเวลา 4วัน จนได้พบพนักงานสอบสวนในวันที่ 3พ.ค. จึงได้รับแจ้งข้อกล่าวหาและทราบว่ามีหมายจับ ตนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีตั้งแต่ต้น
นอกจากนั้น ประเวศ ไม่สามารถยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ เพราะพนักงานสอบสวนได้ถามคำให้การเสร็จสิ้นแล้วและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฮาร์ดดิส และแฟลชไดรฟ์ซึ่งเป็นของกลางในคดีพนักงานสอบสวนก็ได้ยึดไปแล้วผู้ต้องหาจึงไม่สามารถไปยุ่งเหยิงได้อีก
ประเวศยังมีอาชีพเป็นทนายความมีภาระต้องขึ้นว่าความในศาลและเป็นตัวแทนให้แก่ลูกความในติดต่อราชการต่างๆ เป็นประจำ และมีคดีที่ต้องรับผิดดชอบเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะกระทบต่อคดีที่ตนรับผิดชอบและลูกความจะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และตนยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและหากจะติดตามตัวก็สามารถทำได้และหากพนักงานสอบสวนมีการเรียกก็ยินยอมที่จะไปพบโดยไม่มีเจตนาหลบหนีแต่อย่างใด
ประเวศชี้เเจงต่อไปว่า ตนยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่าได้กระทำความผิดจริง หากมีการขังระหว่างการสอบสวนย่อมเป็นการคุมขังเกินจำเป็น ทั้งยังกระทบสิทธิในการต่อสู้คดี และรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐภาคีที่จะต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) ที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” หากศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายประเวศก็จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายและได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากลจะเป็นผลดีต่อประเทศ
คดีนี้ ประเวศ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เช้าวันที่ 29 เม.ย. 2560 โดยไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น และไม่แจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบว่าถูกควบคุมเพราะเหตุใด ก่อนจะพาตัวไปที่ มทบ.11 เขาถูกสอบปากคำ และซักถามประวัติส่วนตัว ซึ่ง ประเวศ ให้ความร่วมมือ และยอมลงชื่อในเอกสาร เพราะคิดว่าจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ระหว่างนั้นเขาขอโทรศัพท์ติดต่อบุคคลที่ไว้วางใจ แต่ไม่ได้รับอนุญาต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น