หลัง บีบีซีไทย รายงาน 3 ปีการรัฐประหารของ คสช. จำนวนทหารนั่งประธานในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง ส่วนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ ประยุทธ์ แจง 'ไปนั่งสังเกตการณ์'
7 มิ.ย. 2560 จากกรณี บีบีซีไทย ได้เปิดเผยข้อมูลเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารของ คสช. ท่ามกลางกระแสการปฏิรูป หนึ่งในองค์กรที่มีการปฏิรูปคือ รัฐวิสาหกิจ แต่ปรากฏว่า 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนทหารนั่งเป็นประธานในคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง ส่วน จำนวนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ
ประยุทธ์แจง ไปนั่งสังเกตการณ์
ซึ่งวานนี้ (6 มิ.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ได้ตอบว่า ช่วงที่ผ่านมา ก็มีปัญหาภายในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ได้มีการจัดให้ทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ไปนั่งยกมือแสดงความคิดเห็น หลายเรื่องรัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วโดยได้รับข้อมูลเป็นสัดส่วนของกรรมการในบอร์ดตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการเอาทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดจำนวนมาก แล้วตัดส่วนอื่นออกและเป็นบอร์ดกรรมการทั่วไปไม่ได้เป็นบอร์ดกรรมการเฉพาะทาง
3 ปียุค คสช. ทหารนั่ง ปธ.บอร์ดเพิ่มขึ้น 5 เท่า
สำหรับรายละเอียดของรายงานดังกล่าวของ บีบีซีไทย ระบุว่า จากการตรวจสอบรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จากชุดก่อนหน้าที่ คสช. จะเข้ามา ผ่านรายงานประจำปี ปี 2556 ของทุกรัฐวิสาหกิจ กับชุดปัจจุบัน ผ่านรายงานประจำปี 2559 หรือเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ พบว่ารายชื่อทหารที่เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน "เพิ่มขึ้น" จาก 42 คน ใน 24 แห่ง เป็น 80 คน ใน 40 แห่ง หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว และจำนวนรัฐวิสาหกิจที่มี "ประธานบอร์ด" เป็นทหาร ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง หรือมากกว่า 5 เท่าตัว
นอกจากนี้ ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง" บางคนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากต้องทำงานหลายแห่งในเวลาเดียวกัน
บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า ขออย่ามองเรื่องจำนวนอย่างเดียว อยากให้ดูเรื่องการศึกษารวมถึงประสบการณ์ด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจเข้าใจผิด เช่น พล.อ.วิวรรธ์ สุชาติ ประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เคยเป็นทหารช่างมาก่อน อาจจะเคยทำงานช่างมากกว่าบอร์ดคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ
ส่วนการตั้งทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจอื่น โฆษก คสช. กล่าวว่า เชื่อว่าน่าจะมีเหตุผลอยู่ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย เพราะบอร์ดทำหน้าที่แค่ให้นโยบาย ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริต เช่น การเปลี่ยนบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด
"เวลาพูดถึงทหาร คนมักจะนึกถึงทหารราบเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะในกองทัพมีคนอยู่มากมายหลายอาชีพ ทั้งหมอ วิศวะ นักเคมี นักบัญชี ฯลฯ เนื่องจากโรงเรียนทหาร เช่น โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) นอกจากเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านต่าง ๆ ยังมีทุนให้ไปเรียนต่อในต่างประเทศ ดังนั้น คนจบโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็ไม่ต่างกับจบจากจุฬาลงกรณ์ เพราะมีผู้ก่อตั้งคนเดียวกัน อย่าไปมองแค่ว่าเป็นทหารหรือพลเรือน อยากให้ดูเรื่องความรู้ ความสามารถด้วย" พ.อ.วินธัย กล่าว
ส่วนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้ง "ซูเปอร์โฮลดิ้ง" ที่มีเป้าหมายช่วยปฏิรูปการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ป้องกันการล้วงลูกจากผู้มีอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคนที่เหมาะสมเข้ามาเป็นบอร์ด ถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า หลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2559
รายชื่อรัฐวิสาหกิจที่มีทหารหรืออดีตทหารเป็นประธานบอร์ด ที่บีบีซีไทย รวบรวม
ก่อน คสช.
1. สถาบันการบินพลเรือน
2. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
3. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
3 ปีหลัง คสช.เข้ามา
1. สถาบันการบินพลเรือน
2. การท่าเรือแห่งประเทศไทย
3. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
4. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
5. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
6. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
7. องค์การเภสัชกรรม
8. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
9. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
10. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
11. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
12. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
13. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
14. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
15. โรงงานยาสูบ
16. การยางแห่งประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น