วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แพทย์ชนบทจับตาแก้ ก.ม.บัตรทอง 3 ประเด็น ‘ร่วมจ่าย-แยกเงินเดือน-จัดซื้อยา’


ประธานแพทย์ชนบท เผย 3 ประเด็นสำคัญในการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ระบุ สธ.มีเจตนาชัดในการปลุกผีดิบร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ประกาศสู้ ไม่ยินยอมให้แยกเงินเดือนบุคลากรจากงบเหมาจ่าย ย้ำหากยอมให้กระทรวงหมอจัดซื้อยาเอง จะซ้ำรอยทุจริต 1,400 ล้านบาท
11 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีปัญหาสุขภาพ 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ความเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งระหว่างคนเมืองกับชนบทและแต่ละภูมิภาค และปัญหาระหว่างกองทุนต่างๆ ในเรื่องชุดสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้การดูแล 2.คุณภาพของบริการ 3.ประสิทธิภาพของระบบ
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ประเทศไทยจัดระบบบริการตามโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทย (มท.) และผูกติดระบบบริการกับหน่วยบริการที่ถูกสร้างขึ้นมาในแต่ละพื้นที่ เช่น บางจังหวัดมีโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลจังหวัดจำนวน 3-4 แห่ง อัตรากำลังข้าราชการก็แปรไปตามขนาดของโรงพยาบาลโดยที่ไม่ได้สนใจภาระงานที่เกิดขึ้นจริง บางจังหวัดมีภาระงานน้อยแต่มีโรงพยาบาลและข้าราชการมากรัฐก็ดูแลมาก ซึ่งในอดีตพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่ได้รับการดูแลจากรัฐน้อยที่สุด นั่นหมายความว่าประชาชนภาคอีสานก็ย่อมได้รับการดูแลน้อยกว่าภาคอื่นๆ
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งหมดจึงนำมาซึ่งความคิดในการปฏิรูประบบเปลี่ยนจากระบบอนาถาหรือขอทานบริการมาเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชน โดยเริ่มจากนำงบประมาณทั้งหมดมาหารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กได้รับเงินเพิ่มขึ้นและสามารถเหลือเงินไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวมาให้บริการประชาชนในชนบท ฉะนั้นหลักการสำคัญของบัตรทองก็คือ 1.เราต้องการให้เกิดความเป็นธรรมในทุกมิติ 2.คุณภาพการบริการจะเกิดขึ้นได้เม็ดเงินต้องเพียงพอ 3.การบริการมีประสิทธิภาพภายใต้กลไกการควบคุมโดยอำนาจของผู้ซื้อบริการ
“ถ้ามันตกอยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุข พอมีงบประมาณมาก็โกงงบประมาณกัน พอมีรถพยาบาลมาก็โกงรถพยาบาลกัน ตั้งราคาที่สูงเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนสีไหน เหมือนกันหมดคือไปซื้อของที่ไม่อยากได้แต่เรียกส่วนต่างได้ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้จะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงบริการ ไม่สามารถเข้าถึงยาได้” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า หากไม่มีการควบคุมการบริการที่มีประสิทธิภาพโดยอำนาจของผู้ซื้อ อำนาจการต่อรองราคาก็จะไม่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่เห็นชัดตั้งแต่ก่อนและหลังมี สปสช.ก็คือกรณีการทำสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ที่ทำให้บริษัทยาลดราคาลงจำนวนมาก หรือยกตัวอย่างกรณีเลนส์ตาซึ่งในอดีตคนไข้ต้องผ่าเอง แต่ตั้งแต่มี สปสช.ต่อรองราคาจากข้างละกว่าหมื่นบาทเหลือแค่ 2,800 บาท นั่นเพราะ สปสช.จัดซื้อเป็นจำนวนมากและจัดซื้อจริง
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความพยายามพลิกฟื้นผีดิบการร่วมจ่ายขึ้นมาอีกครั้งโดยส่อเจตนาชัดเจน ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เพราะจะทำให้แพทย์กลายเป็นซาตานโดยไม่รู้ตัว เพราะแทนที่จะตรวจคนไข้อย่างญาติมิตรพี่น้องก็กลายเป็นว่าต้องถามสิทธิของเขาก่อน แพทย์ก็จะเกิดบาปขึ้นไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ขอประกาศจุดยืนว่าอย่างไรแล้วเงินเดือนก็ต้องอยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัวไม่สามารถแยกได้ เพราะหากแยกออกไปแล้วโรงพยาบาลในเมืองก็จะไม่เกิดสำนึกทางการเงิน เวลาใครขอย้ายจากชนบทไปอยู่ในเมือง เมืองก็จะรับทันทีเพราะไม่ต้องจ่ายเงินอะไร แต่ถ้ายังรวมอยู่ในรายหัวเหมือนเดิม โรงพยาบาลเมืองก็จะประเมินแล้วว่าคนของตัวเองเยอะเกิน อาจจะไม่รับเพิ่มดีกว่า ตรงนี้จะเป็นแรงช่วยดันไว้ช่วยชะลอไม่ให้แพทย์ไหลจากชนบทไปสู่เมืองได้เร็วขึ้
“ต้องขอบคุณภาพประชาชนที่เข้าใจประเด็นต่างๆ และออกมาร่วมต่อสู้ และแพทย์ชนบทก็ไม่ได้หนีไปได้ ก็ยังร่วมต่อสู้อยู่ตรงนี้ โดยเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องการร่วมจ่าย เรื่องการแยกเงินเดือน และเรื่องการจัดซื้อยา หากไม่ต่อสู้แล้วยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เราเกิดปัญหาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อยาหากยังปล่อยให้อยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุข มันก็จะเกิดปรากฏการณ์อย่างที่พวกเราหลอนกันอยู่ คือมีงบมา 1,400 ล้านบาท นักการเมืองสั่งได้ รัฐมนตรีสั่งได้ สั่งให้ข้าราชการไปซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่งบประมาณเป็นภาษีของเรา ฉะนั้น 3 ประเด็นนี้คือประเด็นสำคัญ หากจะมีการปรับแก้กฎหมายก็ต้องทำให้ 3 เรื่องนี้ดีขึ้น ไม่ใช่ทำให้มันสวนทางกัน”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เพจชมรมแพทย์ชนบท กำลังติดตามการกันงบค่าเสื่อม 30% ไว้ที่ส่วนกลาง โดยทำหนังสือเปิดผนึกถึง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ลงวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.ความว่า 
"ตามที่ท่านได้ แจ้งในบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2560 ท่านขอให้บอร์ด สปสช.แก้ไขประกาศ เกณฑ์การจัดสรร งบค่าเสื่อมให้กับโรงพยาบาลต่างๆเสียใหม่
จากเดิมงบนี้จะต้องกระจายลงไปสู่หน่วยบริการต่างๆ ร้อยละ90 กันไว้ร้อยละ 10 ดูในภาพรวม และทำให้หน่วยบริการต่างๆมีงบในส่วนนี้เพิ่มขึ้น กระจายอย่างเป็นธรรม ลดปัญหาการจัดสรรที่อาจส่อไปในทางทุจริต กินหัวคิว ทั้งระดับบน เขต จังหวัดได้
แต่ท่านกลับทำหนังสือถึงเลขา สปสช.ให้เสนอบอร์ดเพื่อแก้ไขประกาศ ให้กันไว้ถึง 30 เปอร์เซนต์ เหลือไปโรงพยาบาลต่างๆเพียง 70 เปอร์เซนต์
ยังไม่ทันไร ก็เห็นแล้วว่าท่านคิดอะไร การรวบอำนาจมีจริง การแก้ กฏหมายบัตรทอง ส่อเค้าลางแห่งความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพเกิดขึ้น ย้อนยุคสมัยทุจริตยา ค่าเสื่อม ไทยเข้มแข็ง รถพยาบาลฉาว ประวัติศาสตร์นี้ คนในกระทรวงบางคนไม่เคยจดจำ
ท่านเคยเอาเรื่องนี้ไปเสนอใน กรรมการ 7*7 หรือไม่ ทั้งๆที่ท่านนั่งหัวโต๊ะ
ท่านเคยเอาเรื่องนี้ไปเสนอในอนุกรรมการการเงินการคลังหรือไม่ เพราะทุกเรื่องเกี่ยวกับการจัดการด้านหลักประกันต้องผ่านกรรมการกลั่นกรองชุดนี้ก่อน แล้วอยู่ๆท่านเอาไปเสนอในบอร์ด
ไม่น่าเชื่อว่ากรรมการ 7*7 ที่ให้เป็นเวทีเพื่อเสนอความเห็นโดยมีตัวแทนทั้งจากโรงพยาบาล และ สปสช. ที่ รมว.สธ.เป็นผู้แต่งตั้ง ปลัด สธ.เป็นประธานเอง แต่ท่านกลับรวบรัดใช้อำนาจลัดขั้นตอน
เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
จึงขอเรียกร้องให้ท่านปลัดโสภณ ถอนเรื่องนี้กลับไปโดยเร็ว และหากยืนยันตามความคิดของท่าน พวกเราชมรมแพทย์ชนบท โรงพยาบาลชุมชน จะขอคัดค้านอย่างถึงที่สุด
งบลงทุนในกระทรวงสาธารณสุข ที่กระจายไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสม ในมือปลัดกระทรวงสาธารณสุข กว่า 10,000 ล้าน ยังไม่พออีกหรือ
ท่านกำลังจะรีดเลือดปู
ท่านกำลังดูดไอติม จนเหลือแต่ ไม้ไอติม
 หากเป็นอย่างนี้แล้ว งบจะยังคงไปถึงโรงพยาบาลอีกหรือ?"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น