iLaw จัดทำการ์ตูนชุด “4 ข้อเห็นด้วย 5 ข้อเห็นต่าง 7 ข้อเสนอเพิ่ม แก้ไข กม.บัตรทอง” สื่อสาร ปชช.เข้าใจง่ายต่อผลกระทบร่าง กม.บัตรทอง พร้อมห่วงทิศทางการออก/แก้ กม.ไทย ร้อยละ 90 ร่างโดยภาครัฐและหน่วยงานราชการ มุ่งแก้ปัญหาหน่วยงาน รวบอำนาจสู่ศูนย์กลาง ขาดการมีส่วนร่วมของ ปชช.
นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงการจัดทำการ์ตูนชุด “4 ข้อเห็นด้วย 5 ข้อเห็นต่าง 7 ข้อเสนอเพิ่ม ต่อการแก้ไข กม.บัตรทอง” โดยเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ค iLaw ว่า การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนขณะนี้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะสนใจเนื้อหาของการแก้ไขกฎหมายนี้ แต่ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจยาก ถึงจะอ่านร่างกฎหมายก็ยังอาจไม่เข้าใจว่า การแก้ไขนี้จะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งเราเองได้เคยผ่านสถานการณ์นี้มาก่อน และจากที่ได้ติดตามการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ผ่านมาก็พอเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้มีการจัดทำคำชี้แจงความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายบัตรทองนี้ ใน 4 ข้อเห็นด้วย 5 ข้อเห็นต่าง 7 ข้อเสนอเพิ่มที่มีความชัดเจน ถึงจะเข้าใจได้ง่าย แต่มองว่ายังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนที่ไม่เคยติดตามกฎหมายบัตรทองมาก่อน ดังนั้นจึงได้หยิบยกจัดทำเป็นการ์ตูน พร้อมอธิบายด้วยถ้อยคำง่ายที่ทำให้เกิดความเข้าใจ
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า การ์ตูนชุดการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ทำนี้ จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ รูปภาพการ์ตูนที่เป็นตัวแทนของประชาชน และถ้อยคำประกอบด้วยคำพูดที่ง่ายๆ แต่สื่อสารได้ชัดเจนถึงเนื้อหาที่จะมีการแก้ไข และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายบัตรทองนี้ โดยจัดทำในรูปแบบการ์ตูนเช่นเดียวกับการแก้ไขกฎหมาย 3-4 ฉบับก่อนหน้านี้ พร้อมกับการศึกษาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกฎหมายที่ดี เพราะเป็นการนำงบประมาณมาดูแลรักษาพยาบาลคนไทย ช่วยให้เข้าถึงการรักษาโดยไม่ต้องกังวลต่อค่าใช้จ่ายที่แต่เดิมเป็นอุปสรรค และเชื่อว่าคงไม่มีใครค้านเพราะป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพียงแต่การบริหารจัดการคงเป็นเรื่องลำบาก ทั้งมีความเห็นว่าต้องมองในเรื่องค่าใช้จ่ายประเทศและความมั่นคงของภาครัฐด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ว่าอย่างไรการแก้ไขกฎหมายใดๆ ที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ ควรเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะประชาชนมีส่วนร่วมกับการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการแก้ไขโดยภาครัฐเป็นหลักแต่เพียงฝ่ายเดียว และต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ
“กฎหมายบัตรทองดำเนินมา 15 ปีแล้ว นับเป็นเวลาไม่มากไม่น้อย เนื้อหาของกฎหมายและร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจว่าจะมีผลกระทบกับเขาอย่างไร มีกลุ่มคนที่เข้าใจอยู่ไม่มาก และการทำความเข้าใจกับคน 48 ล้านคนถือเป็นงานใหญ่ ดังนั้นทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย จึงได้จัดทำเป็นชุดการ์ตูนเพื่อสื่อสาร ซึ่งที่ผ่านมา iLaw เป็นการทำงานที่เกียวข้องกับการออกกฎหมายที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น” ผู้จัดการ iLaw กล่าว
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า กฎหมายที่ดีควรมาจากการเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน เมื่อมีกฎหมายแล้วและมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอย่างไร คนที่มีส่วนได้เสียกับกฎหมายก็ควรที่จะได้มีส่วนในการคิดและร่างกฎหมายด้วย แต่ที่ผ่านมาการออกกฎหมายร้อยละ 90 ของประเทศไทยเป็นการร่างโดยภาครัฐและข้าราชการที่เป็นผู้ปฏิบัติ ยึดหลักการว่าหน่วยงานอยากมีอำนาจอะไรและต้องการทำอะไร โดยไม่ได้ร่างเนื้อหาจากผู้ที่ประสบปัญหาจริงๆ ซึ่งบ้านเรามีระบบการออกกฎหมายที่อันตราย เพราะป็นการออกกฎหมายโดยผู้มีอำนาจบังคับใช้ ไม่ใช่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรต่อเหตุผลของกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันแก้ไขกฎหมาย เพราะโรงพยาบาลประสบปัญหา นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ภาพรวมการออกกฎหมายเราเข้าใจว่าหน่วยงานราชการว่าไม่ได้มีเจตนาร้าย เพียงแต่มีเจตนาต้องการแก้ไขกฎหมายในปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ แต่แนวโน้มการแก้ไขกฎหมายขณะนี้มีทิศทางที่หน่วยงานราชการเป็นหลักทั้งการร่างและเสนอกฎหมาย ซึ่งเป็นการออกกฎหมายที่มุ่งรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานราชการ ตัดการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นทิศทางประเทศที่น่ากังวล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น