วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


‘เบญจจำเลย’บ้านเลขที่ 112 เสียงสะท้านผ่านลูกกรง!


       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 311 ประจำวัน จันทร์ ที่ 23 พฤษภาคม 2011
    
   
         หลังจากฟรีดอมเฮาส์รายงาน Freedom of the Press 2011 : A Global Survey of Media Independence ว่าทั่วโลกที่เข้าถึงสื่อเสรีลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยประเทศไทยถูกลดชั้นจากกลุ่ม “กึ่งเสรี” เข้ากลุ่ม “ไม่เสรี” อยู่กลุ่มเดียวกับเกาหลีเหนือ พม่า จีน คิวบา โซมาเลีย อัฟกานิสถาน อิหร่าน และอีก 63 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความรุนแรงทางการเมือง
ขณะที่องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ฮิวแมน ไรท์ วอทช์) โดยนายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย แถลงรายงาน “Descent into Chaos. Thailand’s 2010 Red Shirt Protests and the Goverment Crackdown” หรือ “จมดิ่งสู่หายนะ การชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงและการปราบปรามของรัฐบาลไทยในปี 2553” เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 โดยระบุว่า ทหารใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ รวมถึงหน่วยแม่นปืน ซึ่งทหารอยู่ในจุดที่ได้เปรียบบนรางรถไฟฟ้า กระหน่ำยิงใส่ประชาชนในวัดปทุมวนารามซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่เลือกหน้า ทำให้บริเวณวัดซึ่งควรจะเป็นสถานที่ปลอดความรุนแรงกลับมีคนตายจำนวนมาก


“จากภาพที่เราเห็นทหารยิงใส่ประชาชน ส่วนกลุ่มติดอาวุธก็ยิงใส่ทหาร แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถเอาผิดใครได้...ความจริงก็คือทหารยิงใส่ประชาชน ซึ่งเราเห็นว่าเป็นการสังหารอย่างเลือดเย็น และเมื่อใดที่ทหารยกปืนเล็งไปที่บุคคลซึ่งไม่มีอาวุธและตัดสินใจลั่นไก นั่นถือเป็นการฆาตกรรม แม้จะทำไปตามคำสั่งของรัฐบาลก็ตาม”


นายอดัมส์กล่าวพร้อมอ้างถึงผลพิสูจน์ที่ระบุว่าผู้เสียชีวิตในวัดอย่างน้อย 1 คน และอีก 2 คนที่หน้าวัดปทุมฯถูกยิงโดยทหาร ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยที่ใช้คำเรียกผู้ประท้วงว่า “ผู้ก่อการร้าย” รวมถึงการประกาศให้พื้นที่บางส่วนในกรุงเทพฯเป็นเขตกระสุนจริง


ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ยังเสนอให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางการเมือง โดย 1.เปิดการสอบสวนอย่างอิสระเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย 2.กองทัพ ตำรวจ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆของไทยต้องให้ความร่วมมือในการสอบสวนหาความจริง 3.เปิดเผยรายชื่อ-ข้อมูลของบุคคลที่ถูกจับกุมตัวไปภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 4.ช่วยเหลือเยียวยาบุคคลและญาติของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ 5.ยกเลิกการปิดกั้นเสรีภาพสื่อสารมวลชนโดยทันที รวมถึงสื่อในเครือข่าย นปช. และยุติการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาดำเนินคดีกับผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล


เอไอชี้สิทธิมนุษยชนไทยถูกจำกัด


เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (เอไอ) ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลกประจำปี 2554 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย โดยระบุว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อาทิ ปิดเว็บไซต์กว่า 50,000 แห่ง การจับกุมนางอมรวรรณ เจริญกิจ กรณีขายรองเท้าแตะที่พิมพ์ภาพถ่ายใบหน้านายกรัฐมนตรีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกรณีนักโทษมโนธรรมสำนึก (prisoners of conscious) นายวิภาส รักสกุลไทย (อากง) ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายหลังถูกกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความเข้าข่ายหมิ่น รวมถึงกรณี น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ที่ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากข้อความที่ผู้อื่นโพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท


เอไอยังระบุว่าการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีที่แล้วถือเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตกว่า 70 คน รวมถึงทหาร อาสากู้ภัย และนักข่าว นอกจากนี้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังส่งผลให้ประชาชนกว่า 450 คนต้องถูกคุมขัง ซึ่งบางส่วนยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน


ขณะเดียวกันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาตั้งแต่ปี 2548 มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาและทำให้เสียชีวิตในระหว่างการคุมขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้ความรุนแรงจากฝ่ายติดอาวุธต่อพลเรือนโดยไม่เลือกหน้า แต่จนปัจจุบันยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดจากการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว


ส่วนปัญหาผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ยังคงมีมากในบริเวณชายแดนไทย-พม่า พบว่ารัฐบาลไทยละเมิดหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย (non-refoulement) โดยส่งกลับผู้ลี้ภัยจำนวนมากกลับประเทศ ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตและเสรีภาพของผู้ลี้ภัยก็ตาม
เอไอมาเลเซียถูกแทรกแซง


ส่วนกรณีที่เอไอถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลังจากเอไอมาเลเซียประกาศยกเลิกการจัดแถลงข่าวร่วมกับนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของกลุ่ม นปช. ซึ่งเดิมจะจัดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2554 ทำให้สมาชิกเอไอประเทศไทย นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชน และประชาชน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อเอไอสากลเพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของนายเบน ซาแวกกี นักวิจัยของเอไอสากลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แทรกแซงการทำงานของเอไอมาเลเซียจนนำมาสู่เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น นายอเล็กซ์ แบมฟอร์ด ที่ปรึกษาเอไอประเทศไทย ชี้แจงว่า เอไอจำเป็นต้องรักษาหลักการความเป็นกลาง (Impartiality) และความถูกต้อง (accuracy) ในการดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน


ขณะที่นายปกป้อง ลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของทั้งเอไอสากลและเอไอประเทศไทย โดยยกตัวอย่างกรณีท่าทีของเอไอประเทศไทยต่อสถานการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยระบุว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ถึง 547 คดี ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 900% แต่ในแถลงการณ์ทุกฉบับของเอไอประเทศไทยไม่เคยกล่าวถึงกรณีเหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการบริหารเอไอประเทศไทย ชี้แจงว่า เนื่องจากเอไอมีนโยบายไม่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการทำงานระหว่างสมาชิกภายในประเทศ จึงไม่มีบทบาทที่ชัดเจนต่อปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเอไอประเทศไทยสามารถทำหน้าที่เสนอแนะและให้ข้อมูลแก่นักวิจัยเอไอสากลได้


“เบญจจำเลย” บ้านเลขที่ 112


เวลาที่ผ่านมา 1 ปี กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆในการสอบสวนคดีเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” แต่องค์กรด้านสื่อและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกลับติดตามอย่างใกล้ชิดและระบุสอดคล้องกันว่าปัญหาความรุนแรงของไทยเกิดจากรัฐบาลและทหาร รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดสิทธิเสรีสื่อ จนประเทศไทยถูกลดชั้นจากกลุ่ม “กึ่งเสรี” เข้ากลุ่ม “ไม่เสรี”


โดยเฉพาะการใช้มาตรา 112 ตามประมวลกฎกมายอาญา ที่มีผู้ถูกฟ้องและจับกุมเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะกรณีล่าสุด นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ซึ่งกองทัพบกเป็นผู้รองทุกข์กล่าวโทษ กรณีเขียนบทความภาษาไทยเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 2 ชิ้น ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างๆเมื่อปลายเดือนมีนาคม-เมษายน โดยก่อนหน้านี้ได้จับกุมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและบรรณาธิการนิตยสารเรด พาวเวอร์ ในคดีกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐด้วยการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีลักษณะการกระทำผิดเป็นเครือข่ายโดยใช้เครื่องมือสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต


อย่างบันทึกของนายอานนท์ นำภา สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ ที่ได้เขียนบันทึกทนายความฉบับที่ 2 : เสียงจากเบญจจำเลย “เขาเรียกเราว่าไอ้หมิ่นฯ” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 เพื่อถ่ายทอดและสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้ถูกจับกุมส่วนหนึ่งขณะนี้


********


โลกของที่นี่จะเปิดตอน 09.00 น. และจะปิดตอน 15.00 น.
เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเป็นอีกหนึ่งเรือนจำในรั้วอันไพศาลของเรือนจำกลางคลองเปรม ผมมาที่นี่บ่อยมากนับแต่เริ่มอาชีพทนายความเมื่อครั้งเป็นทนายความให้กับคุณสุวิชา ท่าค้อ จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งปัจจุบันได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ภายหลังจากถูกจองจำกว่า 1 ปี กับอีก 6 เดือน


สำหรับผมแล้วต้องบอกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯนั้น เจ้าหน้าที่ค่อนข้างอัชฌาสัยดี และยังมีน้ำใจในการให้บริการทั้งกับประชาชนทั่วไปที่เข้ามาเยี่ยมญาติและภายในห้องทนายความ


จำได้ว่าเมื่อหลายเดือนก่อนที่นี่เคยคึกคักมาก คลาคล่ำไปด้วยพี่น้องเสื้อแดงที่มาเยี่ยมบรรดาแกนนำซึ่งถูกจองจำอยู่ที่นี่ บรรดาดอกกุหลาบสีแดง ข้าวของล้วนถูกหอบหิ้วมาอย่างน่าชื่นใจ ทว่าภาพเหล่านั้นมันหายไปแล้ว เหลือเพียงผู้ต้องขังเสื้อแดงระดับปลายแถวหลายสิบชีวิตที่ไม่มีแม้แต่ญาติที่มาเยี่ยม ความกลัว…ความเหงา…เสรีภาพ


ผมมาถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเกือบสิบโมงเช้า มิเตอร์แท็กซี่บอกราคาอย่างยุติธรรมว่า 119 บาทเกือบเท่าวันก่อนหน้านี้ ภาพที่ผมเห็นและทำให้ผมรู้สึกว่า “น้ำใจของเพื่อน” นั้นมีจริงคือ ภาพของหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งกับเด็กอายุราว 10 ขวบ ทั้งสองไม่ใช่แม่-ลูกกัน คนหนึ่งคือผู้ที่อาสารับดูแลเด็กคนนั้น เด็กน้อยที่ชื่อ “น้องเว็ป” ลูกชายคนเดียวของพี่หนุ่ม เรดนนท์ จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้ถูกพิพากษาจำคุก 13 ปี


น้องเว็ปวิ่งกรูเข้ามากอดผมจนผมแปลกใจ เอ๊ะ! เป็นไรหว่า? พี่สาวคนนั้นยิ้มแล้วบอกผมว่า “น้องเว็ปชอบวิ่งเข้ามากอดเพื่อนของคุณพ่อเค้าแบบนี้แหละ” ผมทักทายทั้งสองไม่กี่ประโยค ต้องขอตัวรีบเข้าไปเยี่ยมจำเลย เพราะกลัวจะไม่ทันเยี่ยมรอบเช้า “พี่ครับ ผมยื่นฎีกาเรื่องขอประกันตัวพี่หนุ่มไปที่ศาลฎีกาแล้วนะครับ อาทิตย์หน้าคงทราบเรื่อง” พี่สาวคนนั้นยิ้ม “จ๊ะ แล้วพี่จะรอฟังข่าวดี”


ผมหอบสำนวนคดีวิ่งไปตามทางเดิน เข้าไปรับเอกสารในห้องเยี่ยมสำหรับทนายความมากรอกตามแบบฟอร์ม แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ยังเป็นคนเดิม และยังส่งรอยยิ้มทักทายอย่างเปี่ยมล้นไมตรี เช้านี้ผมตีเยี่ยมจำเลย 3 คนคือ พี่หนุ่ม เรดนนท์ (นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล) พี่หมี สุริยันต์ (นายสุริยันต์ หรือหมี กกเปือย) และอากง


ระหว่างรอผมเดินออกมาข้างนอกห้องทนายความพบอาจารย์จากกลุ่มนิติราษฎร์สองท่านคือ อ.ปิยบุตร (ปิยบุตร แสงกนกกุล )และอาจารย์สาวตรี (อ.ป้าน-สาวตรี สุขศรี) รวมทั้งแฟนของทั้งสองท่าน อ๋อ...ที่ทำให้ผมเซอร์ไพรส์อีกสองคนคือ คุณอติเทพ (อติเทพ ไชยสิทธิ์) อ.สุดา (สุดา รังกุพันธุ์) และนายทหารท่านหนึ่ง (ผมเรียกแกว่าผู้พัน) จำเลยคดีหมิ่นอีกคนเช่นกัน ทั้งหมดเข้ามาเยี่ยมพี่สมยศและ อ.สุรชั ย(สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์)


วันนี้บรรยากาศที่เรือนจำครึกครื้นเป็นพิเศษ นอกจากทั้ง 7 ท่านที่ผมกล่าวถึงแล้ว ยังมีพี่น้องเสื้อแดงอีกจำนวนหนึ่งที่มาเยี่ยมพี่สมยศและ อ.สุรชัย แน่นอนว่าเหล่านั้นผมคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี แม้จะจำชื่อไม่ค่อยได้ แต่ก็ส่งสายตาทักทายอย่างสนิทใจ ห้องเยี่ยมของทั้งสองคนดูแน่นไปถนัดตา “คงมีแต่พวกเราเสื้อแดงนี่แหละนะที่ไม่ทอดทิ้งกัน” เสียงจากพี่สาวเสื้อแดงคนหนึ่งพูดแว่วมาเข้าหูผม ผมยิ้ม...


ผมได้พบกับหญิงชราอีกคนหนึ่ง “ป้าอุ๊” แฟนอากง จำเลยอีกคนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกขังมาหลายเดือนแล้ว ปัจจุบันอากงป่วยด้วยโรคมะเร็ง แต่ยังไม่ได้รับการรักษา และถูกศาลสั่งไม่ให้ประกันตัวมาแล้วหลายครั้ง เดือนกันยายนนี้จะเป็นเดือนที่ชี้ชะตาของแกว่าจะได้รับอิสรภาพหรือจำคุกกว่า 60 ปี เพียงเพราะข้อกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสเข้าโทรศัพท์มือถือเลขานุการนายกฯและหมอตุล ทั้งที่แกยืนยันมาตลอดว่า “ผมส่งข้อความเอสเอ็มเอสไม่เป็น”!
ป้าอุ๊ยกมือไหว้ผมก่อนแบบไม่ถือตัว ตายล่ะหว่าให้คนแก่ไหว้ “โอ้ยๆๆๆ ป้าไม่ต้องไหว้ผมหรอกป้าอุ๊” ป้าอุ๊มาเยี่ยมอากงเช่นกัน นานๆครั้งจะได้มาเยี่ยม แกฝากขอบคุณพี่สาวท่านหนึ่งที่อยู่ต่างประเทศที่ส่งเงินมาช่วยเหลือครอบครัวอากงได้ใช้ประทังชีวิต อาทิตย์หน้าหลานๆอีก 3 คนที่ลูกแกมาฝากเลี้ยงไว้ก็จะเปิดโรงเรียน ภาพของป้าอุ๊กับหลานๆ 3 คนที่คุ้นหน้าคงหายไปอีกสักระยะหนึ่งแน่นอน...


ผมกลับเข้าห้องทนายความ ประตูจากโลกสนธยาถูกเปิดออก พี่หนุ่มนั่งรอผมอยู่ ท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส ผมเดาว่าคงเพราะน้องเว็ปมาเยี่ยมแน่ๆ (อิอิ) ผมคุยเรื่องอุทธรณ์คดีได้สักพัก พี่หนุ่มบอกว่า “คุณอานนท์ ผมได้คุยกับพี่สมยศกับ อ.สุรชัย ทั้งสองอยากคุยด้วย อยากให้ตีเยี่ยมพร้อมๆกัน” คงไม่มีปัญหาอะไรอย่างแน่นอน โดยส่วนตัวผมก็เคารพทั้งสองท่านและกะจะมาเยี่ยมพอดี แต่ผมอยากเข้าพบแบบคนทั่วไปมากกว่า เพราะผมไม่ได้เป็นทนายความให้กับทั้งสองท่าน ส่วนพี่หมีกับอากงยังไม่ออกมา “ทั้งสองน่าจะทานข้าวอยู่กระมัง” ผมคิดในใจ ผมจึงตัดสินใจตีเยี่ยมจำเลยทั้ง 5 อีกครั้งพร้อมๆกันตอนบ่าย และนี่คือที่มาของคำว่า “เบญจจำเลย” ตามที่ผมพาดหัวไว้ข้างต้น...


ผมกลับเข้ามาในห้องทนายอีกครั้งในช่วงบ่ายเศษ ผมเห็นภาพของ “เบญจจำเลย” แล้วทำให้ผมเผลอสบถ “เชี่ย” เบาๆจนลืมตัว นี่หรือคือนักโทษคดีร้ายแรง นี่หรือคือคนที่กฎหมายบออกว่ากระทำความผิดอันเกี่ยวกับความมั่นคง สองคนเป็นชายชราหัวขาวโพลน อีกสองคนเป็นวัยกลางคนที่พูดจาสุภาพมาก ทั้งเป็นคนที่รักครอบครัว ส่วนอีกคนก็เป็นนักต่อสู้ทางสังคมในสายผู้ใช้แรงงานมาตลอดชีวิต กฎหมายแม่ง “เชี่ย” สุดๆ (ต้องขออภัย เพราะผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ)


เราเริ่มต้นการสนทนาด้วยการแนะนำตัวกับ อ.สุรชัยก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนพี่สมยศเราเคยเจอกันสองสามครั้งแล้ว ผมให้น้องทนายความที่ไปด้วยกัน (ทนายเค) คุยกับ อ.สุรชัย ส่วนผมคุยกับพี่สมยศ ที่เหลือนั่งรอบนม้านั่งด้านหลัง
พี่สมยศเล่าให้ฟังว่าไม่ได้รับการประกันตัว และขอฝากขอบคุณกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ รวมทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มาเยี่ยมวันนี้ แกบอกว่าอยากให้เหล่านักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสังคมช่วยประกันตัวแก โดยใช้ตำแหน่งประกัน ซึ่งจะเป็นการค้ำประกันที่มีผลสะเทือนเป็นอย่างมาก เพราะว่าหากคนที่มีชื่อเสียงเป็นหลักเป็นฐานในสังคมเข้าชื่อกันประกันตัวน่าจะเป็นที่น่าเชื่อถือ และเท่ากับเป็นการยืนยันว่าการจับแกนั้นเป็นการกระทำที่สังคมไม่อาจยอมรับได้ อีกอย่างพี่สมยศแนะนำว่าหากมาเยี่ยมให้ตีเยี่ยมจำเลยคดีหมิ่นพร้อมๆกันทั้ง 5 คนเลย “ผมอยากให้พี่น้องเสื้อแดงและพี่น้องที่รักความเป็นธรรมมาเยี่ยมพวกเรามากๆ เพื่อยืนยันว่าการที่รัฐนำเรามาจองจำเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และอยากให้ตีเยี่ยมจำเลยคดีหมิ่นทั้งหมดพร้อมกัน อย่างน้อยจะได้เป็นกำลังใจให้กัน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในดินแดนแห่งนี้”


พี่สมยศกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง ผมขอให้พี่สมยศช่วยพูดให้กำลังใจพื่อนร่วมชะตากรรมอีกสองคนที่นั่งรออยู่ด้านหลัง เพื่อที่ผมจะได้พูดคุยกับ อ.สุรชัย พี่สมยศลุกไปนั่งด้านหลังสักพัก ภาพที่ผมเห็นคือนักโทษคดีการเมือง 4 คนพูดจาให้กำลังใจกันและกันเหมือนกับเป็นญาติสนิทจนผมแทบไม่น่าเชื่อ หรือนี่ที่เค้าเรียกว่า “คนบ้านเดียวกัน บ้านเลขที่ 112”


หลังจากนั้นผมจึงลุกมานั่งอีกช่องหนึ่งเพื่อคุยกับ อ.สุรชัย อ.สุรชัยพูดเก่งมาก พูดเป็นต่อยหอยเลย จนผมฟังแทบไม่ทัน ผมนึกในใจ “อาจารย์ครับ นี่ไม่ใช่ไฮปาร์คนะครับ” แกพูดเรื่องการต่อสู้ตั้งแต่แกเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกจองจำมาเป็นสิบปี ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการปรับตัว เป็นห่วงก็แต่น้องๆที่เข้ามาใหม่นี่แหละ “ผมไม่มีปัญหา (สำเนียงทองแดง) เป็นห่วงแต่พวกน้องๆนี่แหละ เข้ามาใหม่ๆหากเจอพวกผู้คุมเสื้อเหลืองมันแกล้งสารพัด ซ้อมบ้างก็มี ไม่เชื่อลองถามดูสิ บางทีมันหมั่นไส้มันก็เรียกเราว่าไอ้หมิ่นบ้าง ไอ้…บ้าง แล้วแต่มันจะทำ แต่สำหรับผมมันไม่กล้าหรอก 555”


แกพูดไปหัวเราะไปอย่างมีความสุข และที่ทำให้ผมประหลาดใจคือ อ.สุรชัยบอกว่าแกไม่ได้ประกันตัวและกำลังเขียนอุทธรณ์ประกันตัวด้วยตัวเอง โอ้พระเจ้า! คงเพราะประสบการณ์การอยู่ในนี้ของแกกระมังที่ทำให้แกดูเหมือนไม่สะทกสะท้านต่อดินแดนแห่งนี้เลยแม้แต่น้อย สุดท้าย อ.สุรชัย พี่สมยศ และทุกคนฝากบอกกับพี่น้องเสื้อแดงและผู้ที่รักความเป็นธรรมทุกท่าน ขอให้มีกำลังใจในการต่อสู้ และขอให้ต่อสู้เฉพาะหน้านี้คือ เรื่องสิทธิในการได้รับการประกันตัว ที่สำคัญขอให้สู้เพื่อจำเลยคนอื่นๆในเรือนจำทั่วประเทศเพื่อให้ได้รับสิทธินี้เหมือนๆกัน


เราสนทนากันสักพักใหญ่ และนั่นไม่น่าจะเรียกว่าเป็นการสนทนาระหว่างทนายความกับจำเลยกระมัง ผมว่ามันเหมือนการปรับทุกข์และหาหนทางต่อสู้ร่วมกันมากกว่า...


ผมอาสาทั้ง 5 ว่าผมขอเป็นกระบอกเสียงนำเอาเรื่องราวในแดนตะรางออกมาสู่พี่น้องข้างนอก เพื่อจะได้ประสานการต่อสู้กันต่อไป อ้อ...อีกประการ หากท่านใดไม่สะดวกที่จะไปเยี่ยมทั้ง 5 ในเรือนจำ ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯมีบริการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ผ่านทางอีเมล์กลางของเรือนจำคือ b_remand@hotmail.com และระบุว่าจะส่งถึงผู้ต้องขังชื่ออะไร แดนอะไร ทั้งนี้ ผู้ต้องขังจะได้รับโดยผู้คุมจะพรินมาให้ฟรีๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


ผมขอจบบันทึกทนายความฉบับที่ 2 เพียงเท่านี้ และขอยืนยันว่าในฐานะสำนักกฎหมายเล็กๆจะขอเดินร่วมขบวนสายประชาธิปไตยกับพี่น้องทุกท่านไปจนกว่าเราจะได้รับประชาธิปไตยที่แท้จริง



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 

ฉบับ 311 วันที่  21 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 5-7 
คอลัมน์ รายงานพิเศษ โดย ทีมข่าวโลกวันนี้
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น