วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554


‘ประชาธิปัตย์’ใต้เงา‘อำมาตย์’!

         อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนเดิม ลาออกจากตำแหน่งเมื่อนำพรรคแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในสถานการณ์เช่นนี้กรรมการพรรค เช่น นายวิฑูรย์ นามบุตร เห็นว่าพรรคจะต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ในภาคอีสานเป็นสำคัญ เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ความเห็นของนายวิฑูรย์ดูเหมือนจะง่าย เพราะเพียงว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์สามารถชนะเลือกตั้งในภาคอีสานก็จะชนะพรรคเพื่อไทยแล้วตั้งรัฐบาล ทุกอย่างก็จะราบรื่น


ประเด็นคือว่าปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ง่ายเพียงเท่านี้หรือ?
ความจริงแล้วไม่ใช่ ถ้าหากดูจากความเป็นมาจนถึงขณะนี้น่าจะอธิบายได้ด้วยซ้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นมาไกลเกินกว่าที่ควรจะเป็นพัฒนาการและการดำรงอยู่ของพรรคในขณะนี้ เป็นการสะท้อนถึงความเหลวไหล หน้าไหว้หลังหลอกของชนชั้นนำในสังคมไทยด้วยซ้ำ และการดำรงอยู่ในสถานะพรรคอันดับที่ 2 ก็ไม่ได้ให้ประโยชน์กับประชาชนเลย


พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เพิ่งจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และหัวหน้าพรรคคือนายอภิสิทธิ์ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมานานกว่า 2 ปีครึ่ง แต่ผลปรากฏว่าการบริหารประเทศก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือมีอะไรน่าประทับใจ นโยบายที่โฆษณาไว้ก็ไม่บรรลุผล เช่น การประกาศว่าจะดำเนินการให้เกิดการสมานฉันท์ การดำเนินการที่จะปราบการทุจริตคอร์รัปชัน จะแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่าภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ประชาชนยิ่งเดือดร้อนในการดำรงชีวิตมากขึ้น จากการที่สินค้าขึ้นราคา น้ำมันก็ราคาแพง โดยรวมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ถูกโจมตีว่า “ดีแต่พูด” สอดคล้องกับการที่พรรคประชาธิปัตย์มีนักพูดฝีปากดีมากมาย แต่เวลาลงมือทำมักล้มเหลว ลักษณะของกลุ่มการเมืองเช่นนี้จึงห่างไกลจากการเป็นความหวังของประชาชน


แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็คือ การใช้ความรุนแรงโดยใช้กองทัพบกเป็นเครื่องมือแล้วปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่มาเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์เดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตถึง 92 คน บาดเจ็บนับพันคน จนนายอภิสิทธิ์ได้ชื่อว่าเป็น




“นายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือด”


หลังจากนั้นยังใช้กลไกสารพัดเป็นเครื่องมือโกหกหลอกลวงว่าไม่มีการเข่นฆ่าสังหารประชาชน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนไม่ได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติและประชาซนส่วนใหญ่ ทั้งข่าวที่ว่าในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้มีอำนาจนอกระบบ และสมาชิกพรรคจะผลักดันนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคอีก จึงยิ่งสะท้อนความจนตรอกของพรรค ทั้งที่เคยคุยว่าพรรคมีคนดีมีความสามารถมากมาย แต่ไม่สามารถหาผู้นำได้ดีกว่าอดีตนายกฯมือเปื้อนเลือด


เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าหากย้อนกลับไปพิจารณาประวัติของพรรคประชาธิปัตย์ที่เขียนขึ้นโดยพรรคประชาธิปัตย์เองจะพบว่าเป็นประวัติฉบับโกหกที่นักวิชาการของพรรคเขียนขึ้นหลอกลวงตัวเอง และหลอกลวงประชาชนอย่างยิ่ง


ในประวัติของพรรคประชาธิปัตย์ที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการได้อธิบายว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 มีพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก จากนั้นในระยะต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ต่อสู้กับเผด็จการทหารและสร้างประชาธิปไตยเสมอมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ก็ต่อสู้กับเผด็จการรัฐสภาในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนประสบชัยชนะ และเมื่อถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ก็ได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทนรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบเพราะทุจริตการเลือกตั้ง
แต่ในความเป็นจริงตั้งแต่สมัยก่อตั้งมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมเจ้า เป็นศัตรูกับฝ่ายคณะราษฎรที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นพรรคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอยู่เบื้องหลังการใส่ร้ายเรื่องกรณีสวรรคต และให้ความร่วมมือกับคณะทหารที่ก่อการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ต่อมาให้ความร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคจึงไม่ได้มีเกียรติประวัติชัดเจนในการต่อสู้เผด็จการ นอกจากการเป็นฝ่ายค้านในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร


จากนั้นเมื่อมีการฟื้นอำนาจของฝ่ายอำมาตย์ตั้งแต่หลังกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นกลุ่มการเมืองที่มีแนวโน้มสนับสนุนฝ่ายอำมาตย์เสมอ ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมรัฐบาลทุกสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่เคยสงสัยในเรื่องความชอบธรรมของ พล.อ.เปรม ต่อมาเข้าร่วมกับรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ก็ถอนตัวเสียเพียง 2 เดือนก่อนรัฐประหาร จนเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาสได้ประโยชน์เต็มๆด้วยการชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลผสมที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี


แต่ความเสื่อมเสียอย่างสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นหลังจากนายอภิสิทธิ์รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้วนำพรรคต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณโดยไม่สนใจว่าจะเป็นวิธีการใด เช่น ความพยายามในการขอพระราชอำนาจตามมาตรา 7 มาล้มรัฐบาลทักษิณ จนนายอภิสิทธิ์ได้ฉายาว่า “มาร์ค ม.7” ต่อมาก็สนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการล้มล้างประชาธิปไตย
พรรคประชาธิปัตย์จึงได้รับการโอบอุ้มจากฝ่ายอำมาตย์ อำนาจนอกระบบ ตุลาการภิวัฒน์ และกองทัพ การได้บริหารประเทศทั้งที่แพ้เลือกตั้งเกิดจากกระบวนตุลาการช่วยกันจนยุบพรรคพลังประชาชน ตัดสิทธินักการเมืองที่ปราศจากความผิดจำนวนมาก และกองทัพเข้ามาแทรกแซงให้พรรคฝ่ายอื่นสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังได้ภูมิคุ้มกันจากฝ่ายตุลาการ เพราะไม่ว่าจะทำความผิดมากน้อยประการใดก็ปลอดภัยจากการถูกยุบพรรคเสมอ ยิ่งกว่านั้นยังได้รับไฟเขียวในการปราบปรามสังหารประชาชนอีกด้วย
สรุปได้ว่า แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภา แต่ในจิตใจไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน ยอมตัวรับใช้อำมาตย์ รองรับอำนาจนอกระบบ ในจุดยืนเช่นนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ไม่ได้ให้ประโยชน์กับประชาชน สังคมไทยอาจต้องรอคอยพรรคอันดับ 2 พรรคอื่นที่จะพัฒนาเป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ประชาธิปไตยมีความยั่งยืนต่อไป


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 322 วันที่ 6 - 12 สิงหาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
2011-08-05
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น