วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554


รัฐบาลต้องกล้า..ปลด ‘ผบ.ทบ.’
รัฐบาลต้องกล้า..ปลด ‘ผบ.ทบ.’

http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11603

          “นักวิชาการหลายคนรู้ทุกเรื่อง รู้เรื่องรบ เรื่องชายแดน เรื่องทหาร นี่ ฮ. ตกยังรู้อีก เป็นคนเดิมที่ออกมาพูด ผมถามกลับไปว่ารับผิดชอบอะไรหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ใครจะรับผิดชอบ กองทัพบกเสียหาย ประชาชนและสังคมเข้าใจผิด กำลังพลกองทัพบกเสียขวัญใครจะรับผิดชอบ ถามว่าคนที่ออกมาพูดรับผิดชอบหรือไม่ หนังสือพิมพ์บางฉบับ ทีวี. บางช่อง นักวิชาการบางคน ผมไม่อยากพูด แต่ทำให้ผมกดดัน แล้วเราและประเทศชาติจะอยู่อย่างไรถ้าท่านไม่มีเหตุผลเลย อยากพูดอะไรก็พูด อยากทำอะไรก็ทำ เว็บไซต์เฟซบุ๊คของวาสนา นาน่วม เขียนเสียหายมาก ผมเรียนตรงนี้เลย หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์บางฉบับอีกหลายเรื่อง ทีวี.เอเอสทีวี. ทีวี.แดง บ้านเมืองเสียหาย ผมจำเป็นต้องออกมาพูด ถ้าประเทศไทยหรือคนไทยไม่เรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรก็อย่าอยู่กันเลย เสียเวลาเปล่า ดังนั้น ต้องมีกติกา กฎหมาย ช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้าให้ได้ กอง ทัพบกต้องอยู่ ผมจะอยู่หรือไม่ผมไม่สนใจ แต่กองทัพบกต้องอยู่ด้วยชื่อเสียง เกียรติยศ กองทัพบกกำหนดแล้วว่าจะต้องเดินหน้าไปอย่างไร กองทัพ บกมีพันธกิจ 4 ประการที่ต้องดำเนินการ อยากให้ การเสียชีวิตเป็นบทเรียนที่คุ้มค่า แล้วเราพร้อมเรียนรู้ สังคมว่าอย่างไร แต่ขอวิพากษ์วิจารณ์ให้ถูกต้อง มีหลักเกณฑ์ ทำอย่างไรจะทำให้ผู้เสียชีวิตไม่เสียเปล่า คือการรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลาน สิ่ง ที่กองทัพบกคิดเสมอคือการรักษาทรัพยากรให้ลูกหลาน ในอนาคต ถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าก็อยู่ไม่ได้”


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แสดงความไม่พอใจอย่างมากกับการวิพากษ์วิจารณ์กรณีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกประสบอุบัติเหตุตก 3 ลำในเวลาไม่ถึง 10 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 คน โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดซื้อจัดหาว่าอาจไม่โปร่งใส
“ไม่ใช่ ผบ.ทบ. ดูแลทุกเรื่อง ตั้งแต่ชิ้นส่วน อะไหล่เฮลิคอปเตอร์ หรือการจัดซื้อจัดหา มัน


ไม่ใช่ เพราะมีองค์กรในการดำเนินการอยู่ ในทางปฏิบัติมีศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 1-4 และการจัดซื้อจัดหามีกรมฝ่ายเสนาธิการกำหนดความต้องการ ฝ่ายยุทธการเป็นผู้จัดซื้อจัดหา และมีสำนักงานตรวจ สอบภายในตรวจสอบว่าผิดหรือถูก ถ้าผิดจะถูกร้องเรียนไปที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถือเป็นระบบ จะบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มาจาก การทุจริตในการจัดซื้อจัดหาถือเป็นคนละประเด็น อย่าวิจารณ์อย่างนั้น เพราะถ้าวิจารณ์ต้องวิจารณ์ทุกระบบของกองทัพบก แม้แต่ระบบของประเทศไทยก็ต้องผิดทั้งหมด ยืนยันว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ผิดทั้งหมด”


“ประยุทธ์” วอนอย่าตำหนิทหาร


การให้สัมภาษณ์อย่างดุดันของ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายใดกันแน่ที่ไม่ยอมรับความจริง หรือเอาข้อมูลหลักฐานมาพูดชี้แจงกับ ประชาชน เพราะประชาชนทุกคนก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของทหารหรือประชาชน คนตายย่อมสำคัญกว่าเครื่องบินหรือยุทโธปกรณ์ (เช่นเดียวกับ 91 ศพที่เสียชีวิตครั้งเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ก็มีค่ามากกว่าตึกที่ถูกเผา) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเสียใจในวันต่อมาว่า


“วันนี้อย่าเพิ่งติติงทหารนักเลย เราพร้อมจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ขอให้กำลังใจทหารมากๆ แม้บางทีเห็นผมในทีวี.หน้าตาจะดุดันไปหน่อยก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของบทบาทที่เป็นผู้นำองค์กรก็ต้องเป็นอย่างนี้ ผมต้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของกองทัพบกไว้ยิ่งกว่าชีวิต เป็นสิ่งที่เราปลูกฝังกันมา กองทัพบกใครจะมาแตะต้องไม่ได้ ผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้อง จึงต้องขออภัยหากว่าดุเดือดไปนิดหนึ่ง แต่ปรกติแล้วผมเป็นคนใจดี ไม่มีอะไร”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การวิจารณ์สามารถทำได้ แต่ต้องเอาหลักข้อเท็จจริงมาพูด ต้องให้ความเป็นธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจาก 1.อุบัติเหตุ 2.สุดวิสัย และ 3.เครื่องยนต์ขัดข้อง แต่ทหารท้อแท้ไม่ได้ เราเผชิญสถานการณ์อย่างนี้หลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ส่งผลกระทบมาก “ทุกครั้งที่ ฮ. ตก กองทัพบกเสียใจทุกครั้ง กองทัพบกไม่รู้จะทำอย่าง ไร เพราะเราไม่ได้ผลิตเครื่องบินเอง เราซื้อเข้ามา”


ปัญหาการจัดซื้อจัดหา


เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกไม่มีใครตำหนิทหาร แต่ต้องการให้กองทัพชี้แจงถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามข้อมูลและหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดเหตุเศร้าสลดเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความไม่โปร่งใสในกรรมวิธีการจัดซื้อทั้งแบบพิเศษหรือมีคณะกรรมการก็มักมีข่าวทางลบเรื่องนายหน้าและคอมมิชชั่นตลอดเวลา


โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณมหาศาล อย่างปี 2553 ได้รับงบประมาณ 154,000 ล้านบาท และปี 2554 ได้รับงบประมาณถึง 220,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงที่สุด แต่การจัดซื้อจัดหากลับ เต็มไปด้วยข่าวความไม่โปร่งใส ทั้งยังไม่มีการตรวจ สอบใดๆหรือชี้แจงกับประชาชน อย่างกรณีเครื่องบินขับไล่กริพเพนจำนวน 1 ฝูงบิน เครื่องจีที 200 ที่ถูกเปรียบเหมือนไม้ล้างป่าช้า เรือเหาะตรวจการณ์ ที่ใช้การไม่ได้ และรถถัง Oplot จากยูเครน เพื่อทดแทนรถถัง M-41 ไม่นับรวมอาวุธประจำการประเภทปืนทราโว่ที่มีการทยอยจัดเข้าประจำการอย่างต่อเนื่อง เสื้อเกราะและงบลับที่ไม่เปิดเผย เป็นต้น


ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการหรือประชาชนกรณีการจัดซื้อจัดหาของกองทัพจึงไม่ใช่เรื่อง ความไม่เป็นธรรมหรือคิดร้ายกับกองทัพ แต่กองทัพทุกเหล่าทัพต้องตระหนักว่างบประมาณที่จัดซื้อจัดหามาจากเงินภาษีของประชาชน และกองทัพก็เป็นของ ประชาชน ประชาชนทุกคนจึงต้องการเห็นกองทัพมีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ แต่ยอมรับไม่ได้ที่จะให้มีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่คุ้มค่ามาใช้ หรือมีการทุจริตคอร์รัปชัน แถมยังไม่สามารถ เข้าไปตรวจสอบได้อีก กองทัพต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่เป็น “โบนัส” ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปลดเกษียณให้ “บิ๊กทหาร” หลายคนเกษียณไปพร้อมกับทรัพย์สินร้อยล้านพันล้าน ไม่ต่างกับข้าราชการระดับสูงจำนวนมากที่ร่ำรวยมหาศาล ทั้งที่หากนำเงินเดือนตลอดชีวิตการทำงานโดยไม่ใช้เลยมารวมกันก็มีเพียงไม่กี่ล้านบาทเท่านั้น


ความจริงคือภูมิคุ้มกันกองทัพ


พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องพร้อมให้สังคมตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดหาของกองทัพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่การยอมรับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกองทัพ โดยเฉพาะความเข้าใจและความรัก ความสามัคคี อย่างที่ให้สัมภาษณ์ว่า


“ประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่เฉพาะทหาร พลเรือน แต่เราต้องไปด้วยกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน ต้องไปด้วยกันทั้งหมดในการที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้า ผมอยากให้สิ่งเหล่านี้ทำเป็นกิจกรรมประจำปี โดยการจัดหางบประมาณขึ้นมา เพราะเป็นการเริ่มต้นสร้างเซลล์หรือภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันได้ในอนาคต”


กองทัพกับการเมือง


อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันกองทัพ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกยังมีบทบาทและอำนาจที่จะเป็นตัวแปรทางการเมืองอย่างมาก ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่าไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเลย เพราะตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ทหารทำการรัฐประหารถึง 12 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า
โดยเฉพาะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยิ่งทำให้กองทัพมีบทบาทและอำนาจในทางการเมือง อย่างมาก เพราะวันนี้รัฐบาลแทบไม่มีบทบาทเข้า ไปเกี่ยวข้องหรือโยกย้ายภายในกองทัพได้เลย ขณะที่ในอดีตรัฐบาลสามารถแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารได้ทุกระดับ แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงกองทัพ ทั้งที่รัฐบาลในอดีตส่วนใหญ่มาจากทหารหรือมีกอง ทัพหนุนหลังทั้งสิ้น อย่างรัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ปลด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งหนังสือพิมพ์หัวเขียวให้ความสำคัญด้วยการพาดหัวข่าวใหญ่ถึงครึ่งหน้า ถือเป็นข่าวฮือฮาเทียบเท่าการรัฐประหารมาแล้ว


จับยักษ์กลับที่เดิมยาก


ปัจจุบันทั้งรัฐบาลและนักการเมืองกลัวทหาร จะทำการปฏิวัติรัฐประหาร หรือกลัว “อำนาจพิเศษ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” อย่างที่ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า บทบาทของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ยังเป็นปัจจัยและตัวแปรสำคัญต่อการเมืองไทยขณะนี้ ต้องยอมรับว่าหลังรัฐประหาร 2549 กองทัพมีบทบาทในการฟื้นฟูและขยายอำนาจเข้าไปในการเมืองอย่างมาก


“เรียกว่าทุกวันแทบจะทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ สื่อมวลชนจะต้องไปถามผู้นำกองทัพว่าคิดเห็น อย่างไร รวมถึงผลประโยชน์ของกองทัพที่เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณทางทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การใช้งบประมาณซื้ออาวุธ แม้จะมีปัญหามากมาย แต่ไม่มีการตรวจสอบ เพราะอำนาจที่ล้นฟ้าของกองทัพ”


ดร.พวงทองยังชี้ถึงจุดยืนของกองทัพกับพรรคเพื่อไทยที่จะเป็นรัฐบาลว่า ดูได้จากคำพูดของ พล.อ. ประยุทธ์ก็รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแปรสำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องระวัง เพราะแม้แต่การจะแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่มีความเป็นอิสระเลย ต้องฟังเสียงของกองทัพว่าพอใจหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องจับตาความขัดแย้งในกองทัพด้วย ซึ่งจะเป็นอีกตัวแปรที่ทำ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความรุนแรงที่คาดไม่ถึงได้


“กองทัพเปรียบเหมือนยักษ์ที่ถูกกักกันให้อยู่ในพื้นที่ของตัวเองมาเป็นระยะเวลานานนับแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แต่วันหนึ่งพอเกิดรัฐประหาร 2549 เราก็ปล่อยให้ยักษ์ตัวนี้ออกมาโลดแล่นในเวทีการเมืองอย่างมีอิสระและมีผลประโยชน์ รวมทั้งมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย การจะทำให้ยักษ์ ตัวนี้กลับไปอยู่ในที่เดิมอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก”


อำนาจแค่หัวโขน


ดร.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงบทบาทของกองทัพและการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ดุดันว่า ส่วนหนึ่งมาจากการกดดันของสังคมที่ต่างชี้ว่าผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบกรณีเฮลิคอปเตอร์ตก จึงไม่แปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพูดจนดูน่ากลัวเหมือนไม่มีมนุษยสัมพันธ์เลย แต่ต้องยอมรับว่ากองทัพเป็นสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทย จึงมองตัวเองว่ามีความสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด จนอาจทำให้ผู้ใหญ่ในกองทัพบางคนลืมตัวและมองว่าอยู่สูงกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายมาก วันนี้จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้กองทัพเปลี่ยนมุมมอง รวมถึงการเลือกผู้นำ


ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ หนึ่งในบ้านเลขที่ 111 ชี้ว่า การแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นภาพ ที่ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะ ผบ.ทบ. เป็นข้าราชการประจำ และต้อง อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน คือทำงานให้กับประเทศชาติ และประชาชน ไม่มีหน้าที่ให้สัมภาษณ์ใดๆที่จะทำ ให้เกิดการบิดเบือนในหลักการประชาธิปไตยทั้งสิ้น ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทหารเท่านั้น


“แม้ ผบ.ทบ. จะนั่งในตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ มีอำนาจมากที่สุดในประเทศ เพราะมีทั้งกำลังพลและอาวุธ แต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจที่นั่งอยู่นั้นก็คือหัวโขนเท่านั้น การใช้อำนาจที่ดีจึงต้องใช้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ใช้อำนาจเพื่อออกมาปกป้องตัวเอง”


ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำแกนนอน มองว่า ทหารไม่อดทนต่อการถูกวิจารณ์และไม่ต้องการให้ใครมาตรวจสอบ ทั้งที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคนส่วนใหญ่เห็นใจทหาร แต่ ผบ.ทบ. กลับออกมาพูดในทำนองว่าคนทั่วไปหรือนักวิชาการบังอาจมาวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ทั้งๆที่ทุกคนอยากได้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ผบ.ทบ. ต้องไม่ลืมว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นทุกคนมีสิทธิในการคิด การพูด และการแสดงความคิดเห็น ส่วน ผบ.ทบ. ต้องพูดความจริงและมีความอดทน ไม่ใช่คิดว่าเป็น ผบ.ทบ. แล้วใครก็แตะต้องไม่ได้


ทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล


ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทของกองทัพไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ว่ามีบทบาทในสังคม อย่างกว้างขวางมาก จนกระทั่งพูดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพก็อยู่ไม่ได้ ทั้งที่ควรตั้งคำถามว่ากองทัพเข้ามามีบทบาทสูงเช่นนี้ดีหรือไม่ดี จะเกิดผลพวงต่อพัฒนาการของสังคมและแนวโน้มในอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายที่ก่อนปี 2549 นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณาและเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่นับตั้งแต่ปี 2551 กลับต้องผ่าน พ.ร.บ. กระทรวงกลาโหม ทำให้โผทหารประจำปีอยู่ในกำกับ ของคณะกรรมการที่มีผู้นำกองทัพเป็นเสียงข้างมาก


ดร.ผาสุกยังชี้ว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพรัฐบาลแทบจะไม่มีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้อง และในระบอบประชาธิปไตยทั่วไปบทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ผู้นำกองทัพไทยกลับมีบทบาทหลายสถานะ ใส่หมวกหลายใบ ทั้งยังออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยครั้ง ทั้งเรื่องนโยบายต่างประเทศและการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตย ซึ่งเหมือนดูดีแต่ต้องยอมรับว่าเป็นไปอย่างมีนัย


กล้าปลด ผบ.ทบ.?


รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย จึงไม่สามารถมองข้ามบทบาทและอำนาจของกองทัพในปัจจุบันได้เลย โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หากไม่มีการ “ปฏิรูปกองทัพ” เพื่อดึงกองทัพกลับเข้าไปอยู่ในระบบเพื่อทำหน้าที่ด้านความมั่นคงอย่างนานาประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีใครเชื่อว่าประเทศไทยจะไม่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีก แม้เป็นเรื่องยากที่ จะทำให้ทหารเป็นฝ่ายปฏิรูปภายในเอง เพราะกองทัพไทยอยู่ในลักษณะรวมศูนย์ที่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ผู้บัญชาการทหารบก ไม่ใช่ 5 เสือกองทัพอย่างที่พูดกัน
การปฏิรูปการเมืองจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพที่ฝ่ายการเมืองและกองทัพจะต้องก้าวไปด้วยกัน แต่กองทัพยังคิดว่าตัวเองใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด แม้แต่คำว่าประชาธิปไตยก็ต้องอยู่ภายใต้กองทัพ
เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคงอย่างแท้จริง ฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลต้อง กล้าปฏิรูปกองทัพไปพร้อมกับการปฏิรูปการเมือง เพราะบ้านเมืองจะไปได้นั้นไม่ใช่แค่ได้ข้าราชการดีเท่านั้น แต่ต้องมีกองทัพที่ดีและ “ทหารดี” ด้วย


จึงเป็นเรื่องปรกติในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกตัวแทนของเขามาเป็นรัฐบาล เพื่อมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ และสามารถตรวจสอบการใช้เงินภาษีของประชาชนได้
กองทัพที่ดีและทหารดีต้องเคารพเสียงของประชาชน และเป็นสถาบันที่โปร่งใส พร้อมจะให้ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับข้าราชการและนักการเมือง
ไม่แน่...นอกเหนือจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะบันทึกว่า “เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง” แล้ว


บางที...อาจ “เป็นครั้งแรกที่ ผบ.ทบ. ถูกปลดออกจากตำแหน่งในช่วงที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง” ก็ได้
เพราะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลที่มีอำนาจตามกฎหมาย โดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าเห็นว่า ผบ.ทบ. ไม่เคารพเสียงของประชาชน รัฐบาลต้องกล้าที่จะเปลื่ยน โยกย้าย หรือปลด ผบ.ทบ.


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 321 วันที่ 30 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16 - 17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
2011-07-29
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น