วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554


ภาระหน้าที่ขบวนการเสื้อแดง
ภาระหน้าที่ขบวนการเสื้อแดง
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 324 ประจำวัน จันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2011
         โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

หลังจากชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา และการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมนั้น คำถามสำคัญเรื่องหนึ่งในขณะนี้คือ ขบวนการเสื้อแดงควรจะทำอะไร มีบทบาทเช่นไร?

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เสนอว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวต่อไป ดังคำแถลงที่ว่า “แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้และได้จัดตั้งรัฐบาลเราก็จะยังเดินหน้าทวงความยุติธรรมให้กับวีรชนที่เสียชีวิตกว่า 90 ศพ และทวงความยุติธรรมให้ผู้ที่ถูกคุมขังในช่วงปีที่ผ่านมาให้ได้ นี่คือภาระหน้าที่สำคัญของพวกเรา นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลแล้วพวกเราจะหยุดเรื่องเหล่านี้ หยุดไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อไป”

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กลับอธิบายว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะต้องการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองอย่างไม่รู้จักจบสิ้น การที่ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลเพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบ เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแล้วคนเสื้อแดงควรยุติบทบาทเสีย

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออีกส่วนหนึ่งที่ออกมาในเชิงยุยงว่าขบวนการเสื้อแดงควรจะต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย เพราะนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีความจริงใจ ใช้คนเสื้อแดงเป็นสะพานสู่อำนาจแล้วไม่แต่งตั้งคนเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรีเลย เป็นลักษณะ “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”

คงต้องอธิบายสถานะของขบวนการเสื้อแดงให้ชัดเจนเสียก่อนว่า ขบวนการเสื้อแดงไม่ได้เป็นกลไกของพรรคเพื่อไทย และยิ่งไม่ใช่กลไกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขบวนการเสื้อแดงคือแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป้าหมายการต่อสู้ของขบวนการเพื่อให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ ล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน ขบวนการเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยมีความสัมพันธ์ในฐานะ “แนวร่วม” ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยตามแบบแผนสากล ให้เสียงของประชาชนส่วนข้างมากได้รับการเคารพ

แต่พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภายังต้องมีเป้าหมายรณรงค์ให้ชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศแทนพรรคฝ่ายอำมาตย์ ในกระบวนการนี้ขบวนการเสื้อแดงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพื่อให้แกนนำได้เป็นรัฐมนตรี แต่สนับสนุนเพื่อเป็นหนทางในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แกนนำบางคนจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เมื่อเป้าหมายหลักของขบวนการเสื้อแดงคือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยเช่นนี้ จึงต้องพิจารณาว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นเป็นมิตรหรือศัตรู
คำตอบในเรื่องนี้เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลเพื่อไทยต้องถือเป็นมิตรที่ร่วมรบมาด้วยกัน การจะให้ขบวนการเสื้อแดงแตกแยกและต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยในขณะนี้นั้นจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ในทางตรงข้ามขบวนการเสื้อแดงควรจะต้องอาศัยเงื่อนไขอันเป็นคุณนี้เพื่อการวางรากฐานให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่แน่นแฟ้น

ขบวนการเสื้อแดงยังมีหน้าที่รณรงค์ทางความคิดที่จะทำให้ประชาชนไทยส่วนข้างมากตาสว่าง เห็นภัยร้ายของฝ่ายอำมาตย์ที่เสแสร้งแสดงตัวเป็นคนดี แต่มีจิตสำนึกต่อต้านประชาธิปไตย มุ่งที่จะรักษาอำนาจในกลุ่มชนชั้นสูงจำนวนน้อย ต้องเข้าใจว่าฝ่ายอำมาตย์ยังมีรากฐานที่เข้มแข็งมากในการครอบงำทางความคิดประชาชน และยังคงควบคุมกลไกรัฐสำคัญคือ กองทัพ ศาล และระบบราชการ ดังนั้น รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงยังไม่มีความมั่นคง ขบวนการเสื้อแดงก็ยังไม่สามารถจะล้มเลิกหรือสลายได้

ภาระหน้าที่ในเงื่อนไขที่เป็นคุณเช่นนี้ ขบวนการเสื้อแดงจึงจะต้องเดินหน้าต่อไปใน 2 ลักษณะคือ การสร้างความเข้มแข็งทางความคิดแบบประชาธิปไตย โดยยึดมั่นว่าประชาชนเท่านั้นที่เป็นที่มาของอำนาจอันแท้จริง เพื่อให้ประชาชนปฏิเสธการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้น และรู้เท่าทันพวกนักกฎหมายฝ่ายอำมาตย์ที่ใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือในการทำลายประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาธิปไตยในประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับในอารยประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เป็นต้น ต้องไม่ไว้วางใจพวกนักวิชาการชนชั้นนำที่ชอบเห็นประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลาน เพราะหวาดเกรงอำนาจประชาชน

อีกด้านหนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งด้านองค์กร คือขยายการจัดตั้งองค์กรฝ่ายเสื้อแดงในหมู่ประชาชน เพื่อแบกรับงานในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และเพื่อเปลี่ยนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่เคยมีภาพเป็นแหล่งทำมาหากินของบรรดาผู้มีอิทธิพลเจ้าพ่อให้กลายเป็นองค์กรจัดตั้งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และเป็นหน่วยย่อยประชาธิปไตยในท้องถิ่น รวมถึงการจัดตั้งเอ็นจีโอฝ่ายเสื้อแดงและองค์กรกรรมกรเสื้อแดง สมาคมชาวนาเสื้อแดง เป็นต้น เพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้รากฐานประชาธิปไตยมั่นคงในหมู่ประชาชน

นอกจากนี้ยังมีงานเฉพาะหน้าของขบวนการเสื้อแดงที่ต้องกระทำ หรือจะต้องติดตาม อาทิ

1.การผลักดันให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักโทษก่อการร้าย และนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยังถูกคุมขังอยู่จำนวนมาก หรือย่างน้อยต้องผลักดันสิทธิการประกัน นอกจากต้องให้มีการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลที่ผ่านมา และท้ายสุดต้องผลักดันให้มีการสร้างอนุสาวรีย์แก่ประชาชนเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นวีรชนประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กระบวนการนี้ยังรวมถึงการสืบหาความจริงและนำผู้รับผิดชอบตัวจริงในการเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษตามกฎหมายกระบิลเมือง

2.การผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปการเมืองสำคัญ ส่วนนี้ควรมีการรื้อพื้นรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ) เพื่อรณรงค์แก้ไขในประเด็นสำคัญที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น การมีวุฒิสมาชิกลากตั้ง การให้อำนาจล้นฟ้าแก่พวกตุลาการ การลงโทษทางการเมืองด้วยการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองผู้บริสุทธิ์ และการคงไว้ซึ่งบทบาทขององคมนตรี เป็นต้น

แต่แรกสุดและก่อนอื่นขอเตือนว่าขบวนการเสื้อแดงยังไม่ได้มีการฉลองชัยชนะครั้งใหญ่ของฝ่ายประชาชนที่มีเหนือพวกคนดีศรีอำมาตย์ทั้งหลาย ในการยกระดับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ผู้เขียนขอเสนอว่าวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 ประชาชนคนเสื้อแดงน่าจะจัดงานเลี้ยงโต๊ะฉลองใหญ่ทั่วประเทศ ฉลองทุกจังหวัดในชัยชนะของฝ่ายประชาชน เพื่อเหยียดเย้ยพวกอำมาตย์ ส่งสาส์นไปถึงพวกคนดีที่สนับสนุนรัฐประหารให้ได้อายว่าความพยายามในการย้อนประวัติศาสตร์ด้วยการรัฐประหารทำลายอำนาจประชาชนนั้นจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 324 วันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น