วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554


จบหรือยัง สองนคราประชาธิปไตย ?
โดย แคน คนรากหญ้า
           
            หนังสือที่ เด่น และ ดัง เล่มหนึ่งในเมืองไทยเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว คือ หนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ซึ่ง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เขียนขึ้นจาก การศึกษาวิจัยพฤติกรรมการเมืองของคนไทย ข้อสรุป หัวใจสุดยอดสำคัญที่สุด ได้แก่ (ขอใช้ภาษาชาวบ้านธรรมดา ๆ สื่อความหมายว่า) “คนบ้านนอกตั้งรัฐบาล คนในเมืองล้มรัฐบาล”

            ถือว่าเป็นหนังสือที่เปิดเผยความจริงของการเมืองไทยอย่าง ถูกต้อง และ กินใจ ที่สุด เท่าที่นักวิชาการศึกษาวิจัยกันมา

            ถูกต้อง ตรงที่ตลอดระยะเวลาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเลือกตั้ง ตัวแทน เข้าไปทำหน้าที่ทั้ง บริหาร และ นิติบัญญัติ (ส่วน ตุลาการ ไม่ได้เลือก) มีการล้ม รัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะทุกครั้ง โดยกลุ่มบุคคลในเมืองที่มีการศึกษาและพัฒนาแล้ว รัฐบาล เลือกโดย คนบ้านนอก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือก ส.ส. (หรือตัวแทน) เป็น คนบ้านนอก

            กินใจ ในแง่ที่ว่า ชื่อหนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” นั้น ในทางภาษา ไพเราะ อย่างยิ่ง อ่านง่าย เข้าใจง่าย ดึงดูดใจให้อยากอ่าน

            ต้องชมเชยว่า ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เข้าถึงจิตวิญญาณวิชาการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

            แต่มีข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับ คำถาม หรือ ประเด็นปัญหา ที่มาพร้อมกับหนังสือนี้ และวิพากษ์วิจารณ์กันมาจนถึงทุกวันนี้ คือ :-

            1. ทำอย่างไรไม่ให้ คนชนบท (บ้านนอก) ตั้งรับบาล และ คนในเมือง คอยล้มรัฐบาล
            2. ทำอย่างไรที่จะทำให้คนในเมืองผู้มี คุณภาพ เป็นทั้ง ฐานนโยบายเสียง และสามารถลากพา ให้คนชนบทเลือกตั้ง โดย มี ฐานคิดเชิงนโยบาย เลือกด้วยอุดมการณ์
            มีผู้ให้ ข้อคิด และ ข้อเท็จจริง บ้างแล้ว ในบทความเรื่อง “เมื่อภาคประชาชนล่มสลาย” ซึ่ง ประภาส ปิ่นตบแต่ง เขียนลงใน เนชั่น สุดสัปดาห์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1004 วันที่ 28 สิงหาคม 2554 หน้า 19
            ผมขอให้ความเห็นต่อ ประเด็นปัญหา 2 ข้อ ข้างต้น ดังนี้
            1. การจะไม่ให้ คนชนบท (บ้านนอก) ตั้งรัฐบาล แล้ว คนในเมือง ล้มรัฐบาลนั้น พิจารณาดู สาเหตุ ที่ล้มรัฐบาล ไม่ว่าโดย รัฐประหาร หรือ เดิน ขบวนไล่สาเหตุใหญ่ที่มักอ้าง คือ รัฐบาล ทุจริตคอร์รัปชั่น และจะ ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ (หรือเพื่อความมั่นคงของชาติก็แล้วแต่จะใช้วาทกรรมให้สมเหตุผล)

                 -    เราอาจมองไปที่คนชนบทยังมีการศึกษาน้อย (พูดตรง ๆ คือ ยังโง่อยู่) จึงเลือก ตัวแทน (ส.ส.) เพราะถูกซื้อเสียง ดังนั้นจึงควรให้การศึกษาแก่คนชนบทมากยิ่งขึ้น และอย่างทั่วถึง แต่เรา ลืมมอง ไปว่า คนในเมืองขาดความอดทน มีใจเป็นอัตตาธิปไตย อยากให้อะไร ๆ เป็นไปตามที่ตนต้องการด้วย วิธีไหนก็ได้ที่จะให้บรรลุเป้าหมาย (เช่น รัฐประหาร หรือเดินขบวนขับไล่รัฐบาล แม้เกินขอบเขตของกฎหมาย)

            ดังนั้น ถ้าให้การศึกษาแก่ ชาวชนบท เพราะเหตุที่ว่าเขา ยังโง่ ก็ต้องให้การศึกษาแก่ คนในเมือง เพราะเหตุที่เขาขาดความอดทน เอาแต่ใจตน ไม่สนใจคนส่วนใหญ่

            ข้อเสนอ ที่น่าจะดีคือ ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปตามทางของมัน โดยไม่มีการแทรกแซงแบบนอกระบบ ไม่ว่าโดย รัฐประหาร หรือเดินขบวนขับไล่แบบเกินขอบเขตของกฎหมาย เมื่อกระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปได้ในระยะยาว มันก็จะเจริญเติบโต เหมือนต้นไม้ มีกิ่งก้านสาขา แตกดอก ออกผล เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ในที่สุดแม้ในระยะทางเดินจะมีมดแมลงกัดกินบ้าง (มีการซื้อเสียงบ้าง) มันก็เติบโตได้ ดีกว่าพอแมลงกัดใบนิดหน่อยก็ใช้มีดอีโต้ ฟันต้นไม้นั้นยับเยินฉิบหายหมด

            2. การคิดว่า คนในเมืองมี คุณภาพ [ซึงตีความว่า คนชนบท (บ้านนอก) ไม่มีคุณภาพ] นั้น ถูกต้องหรือไม่? เป็นการ ดูถูกกันเกินไปหรือไม่? เป็นการเข้าใจตนผิดของคนในเมืองหรือไม่? แน่ใจหรือที่ว่าคนในเมืองเลือกตั้งด้วยอุดมการณ์ ยึดนโยบายเป็นหลัก? แน่ใจหรือว่าคนชนบทซื้อได้ คนในเมืองซื้อไม่ได้ ลองพิจารณาดูตัวอย่างนี้ก็แล้วกัน
                 2.1   ในอดีตพรรคการเมืองหนึ่งหาเสียงในกรุงเทพฯ ว่าจะแจกที่ดิน สปก.4-01 (นโยบาย) ทั่วประเทศ คนกรุงเทพฯ บางคน (หลายคน) ไปซื้อที่ดินในต่างจังหวัด (ผมถามเขาว่า ทำไมซื้อ เขาตอบว่าถ้า พรรคฯ นี้ได้เป็นรัฐบาลจะแจก สปก.4-10).... นี่เป็นการซื้อเสียงหรือไม่?
                 2.2   พรรคการเมืองจัดงานระดมทุน (เช่นจัดโต๊ะจีน) มีคนรวยหรือบริษัทใหญ่ ๆ ให้เงินสนับสนุน....หรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่หนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ (ให้เงิน) ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ นี่เป็นการซื้อเสียหรือไม่?
                   โดย รูปแบบ อาจจะไม่ใช่ ซื้อเสียง แต่โดย เนื้อหา ยังมีคนที่คิดว่าไม่ซื้ออยู่หรือ?
                 2.3   มีคน (นักการเมือง – หัวคะแนน) เอารถขนคนบ้านนอกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. เพราะหน่วยเลือกตั้งอยู่ห่างไกลบ้าน และเขาก็ไม่มีรถโดยสาร หรือมี รถ เอง แต่ไม่มีเงินซื้อน้ำมันรถ....จึงขึ้นรถที่เขามารับไปลงคะแนน นี่เป็นการซื้อเสียง ทุจริตอาจถึงยุบพรรค

            ในขณะที่หน่วยราชการ (ทหาร) ใช้รถราชการขนทหารไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่มีใครเห็นว่าซื้อเสียงหรือทุจริต แต่กลับเห็นว่าดีเสียอีก เพราะพร้อมเพรียงกันดี ฯลฯ

            ปัจจุบัน ยังเชื่อกันอยู่หรือว่า คนในเมืองมีความรู้และฉลาดกว่าคนบ้านนอก ในเมื่อข้อมูลข่าวสารสามารถรับรู้ได้จากสื่อต่าง ๆ เกือบจะเท่ากันหมดไม่ว่าบ้านนอกหรือในเมือง และคนบ้านนอกเองก็ไปทำมาหากินในเมือง อย่างน้อยก็มีลูกหลานไปทำงานในเมืองและติดต่อสื่อสารกับครอบครัวที่อยู่บ้านนอกตลอดเวลา จึงรู้ความเป็นไปของบ้านเมือง

            พอ ๆ กัน ไม่ว่าคนบ้านนอกหรือคนในเมือง คนในเมืองต่างหากไม่มีความรู้สภาพจริงของสังคมเหมือนคนบ้านนอก เพราะน้อยนักที่คนในเมือง (เกิดและเติบโตในเมือง) จะสามารถไปใช้ชีวิตในบ้านนอกได้อย่างผสมกลมกลืนพอที่จะรู้ชีวิตสังคมของบ้านนอกว่าเป็นอย่างไร จึงเป็นไปได้มากที่คนในเมืองเมื่อเป็นผู้นำจะไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่บ้านนอก

            ดังนั้น หมดเวลาแล้ว ที่คนในเมืองจะล้มรัฐบาลซึ่งตั้ง (เลือก) โดยคนบ้านนอก เพราะรัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลของคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจปัญหาทั้งของคนบ้านนอกและคนในเมือง

            ถ้าคนในเมืองยังคิดเหมือนเดิม (ไม่เปลี่ยนแปลงความคิด) ไม่ยอมรับรัฐบาลที่คนบ้านนอกเลือกให้มาบริหารประเทศ และพยายามล้มรัฐบาลคนบ้านนอกนั้น คนบ้านนอกอาจทนไม่ได้ที่จะถูกกระทำเช่นที่เคยถูกทำมา (ถูกล้มรัฐบาล) เมื่อถึงตอนนั้นไม่มีหลักประกันได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะ คน (บ้านนอก) ไม่มีอะไรจะสูญเสียอยู่แล้ว พร้อมที่จะเสียสละได้ทุกอยางแม้กระทั่งชีวิต และข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้น ทหาร ตำรวจ ที่เสียชีวิตในสงครามก็ล้วนเป็นลูกหลานของคนบ้านนอก ชาวประมงที่โดยพายุถล่มตายในทะเลก็คนบ้านนอก กรรมกรก่อสร้างอาคารที่ถูกนั่งร้านพังทับตายก็คนบ้านนอก คนงานโรงงานทอผ้าที่ถูกไฟไหม้ตายก็คนบ้านนอก ฯลฯ

            นี่คือคนบ้านนอกไม่มีอะไรที่จะต้องสูญเสียอีกแล้ว ดังนั้นเมื่อเขาเลือกรัฐบาล ก็ไม่ควรที่ใครจะมาล้มล้างเอาง่าย ๆ เหมือนที่แล้ว ๆ มา

            รัฐบาลปัจจุบัน จะต้องแสดงศักยภาพออกมาให้เห็นเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะมีใคร/กลุ่มไหนพยายามจะล้มล้างก็ตาม ผลงานเพื่อประชาชนเท่านั้นจะเป็นเกราะป้องกันการถูกล้มล้างอย่างยุติธรรม ถ้าผลงานดี ประชาชนจะสนับสนุนโดยอัตโนมัติ รัฐบาลก็จะอยู่ได้จนครบเทอม จึงหมดเวลาที่คนในเมืองจะล้มรัฐบาลที่ตั้งโดยคนบ้านนอก

            คำว่า “สองนคราประชาธิปไตย” ก็จะเป็น “หนึ่งนคราประชาธิปไตย” ซึ่งหมายถึงประชาธิปไตย ที่แท้จริงและมั่นคงในระบบของมันเอง...../

http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น