วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554


จาก“FWD Mail”สู่“กดแชร์”และ“รีทวีต” 
เทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่การใช้งานไม่เคยเปลี่ยนแปลง

จาก 4 ตัวอย่างที่ผมยกมาให้เห็น ทำให้เข้าใจได้เลยว่า แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป แต่ถ้าเราไม่เคยคิด ไม่เคยตรวจสอบ แชร์ หรือ รีทวีต แบบอัตโนมัติ ไม่ต่างจากการทำงานของกล้ามเนื้อแบบรีเฟลกซ์ ผ่านแต่สันหลัง ไม่ผ่านสมอง มันมีแต่จะทำให้เสียกับเสียครับ

โดย ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล
ที่มา เว็บบล็อก My Life, My World, My View

จริงๆแล้ว ถ้าใครตามอ่านบล๊อกนี้มาตลอด ก็คงจะเข้าใจว่า นี่เป็นบล๊อกเกี่ยวกับดนตรีเป็นหลัก เพราะเป็นการรวมงานเขียนของผมที่ลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทรฺ์ แต่นานๆที ก็คงต้องเขียนเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องบ้าง เพราะว่า ถ้าไม่ คงไม่ไหวเหมือนกันครับ

ในยุคสมัยที่การใช้อินเตอร์เน็ตเริ่มตั้งไข่ในบ้านเรา สิ่งแรกๆที่ทุกคนเห่อที่จะมีคือ อีเมล์ ของตนเอง ซึ่งผมเองเมื่อยังเป็นละอ่อนในมหาวิทยาลัย ก็สมัครเมล์ไว้ใช้กับเขาเหมือนกัน แต่ในตอนนั้น ไม่ได้ใช้ทำอะไรมากนัก เพราะว่า ยังไม่ได้มีการสื่อสารผ่านทางเมล์อะไรนัก และ เมล์บ๊อกซ์ของฟรีเมล์อย่าง Hotmail ตอนนั้น ยังแค่ 2 เม็ก

ย้ำ 2 เม็ก นะครับ เด็กรุ่นนี้คงคิดแทบไม่ออก เพราะว่า ทำอะไรแทบไม่ได้เลย จริงๆ ถ้าส่งแต่เมล์เท็กซ์น่ะ มันไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่เมื่อกระแสเมล์ลูกโซ่ หรือ Forward Mail เริ่มแพร่กระจาย มันก็ทำให้เรามีความจำเป็นต้องพยายามลบเมล์บ่อยๆ ไม่งั้นเมล์จะเต็ม และเด้งไป ถึงขนาดที่ เจ้าแม่เมล์ลูกโซ่ชื่อดังในตอนนั้นอย่าง ลูกแก้ว ยังมีสโลแกนว่า ล้างเมล์บ๊อกซ์ให้ดี เพราะว่า เราจะระเบิดเมล์บ๊อกซ์ของคุณแล้ว

แม้ในช่วงแรก เนื้อหาที่ส่งเวียนกันไปมา ฮาๆบ้าง ภาพโป๊บ้าง แต่เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มมีความแตกแยกทางความคิด ผมก็มักจะได้รับเมลจากเมืองไทยเสมอๆ (ตอนนั้นยังเรียนอยู่ญี่ปุ่นครับ) ซึ่งเนื้อหาก็โจมตีพี่หน้าเหลี่ยมอันเป็นที่รักยิ่งของหลายๆท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเลวเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องจาบจ้วง

ผมเองก็งงว่า ไปเอามาจากไหนกันวะ เยอะขนาดนั้น ออกมาเป็นชุดยังกับพงศาวดาร มาไม่เบื่อ แต่สุดท้ายคือ ไม่เคยเจอต้นตอ แบบนี้ จะเรียกว่า บัตรสนเท่ออนไลน์ก็ได้ครับ

พอยุค Social Media บูมมากๆ (ผมขอนับยุค Facbook ที่เริ่มประมาณช่วงปี 2552 นะครับ เพราะตัวก่อนหน้าอย่าง Hi5 หรือ MySpace ยังไม่มีศักยภาพด้านการแชร์สารพัดพอ)

คนไทยเริ่มใข้ Facebook เยอะขึ้นมาก จนแทบเดือดในช่วงเหตุการณ์ พฤษภาคม 2553 รวมไปถึง Twitter ที่โด่งดังได้เพราะพี่เหลี่ยมอีกนั่นล่ะครับ (หรือไม่จริง)

ทั้งสองตัวมีฟังชั่นที่คล้ายกันอยู่คือ การแชร์ในเฟซบุ๊ค และการ รีทวีตในทวิตเตอร์ ที่สามารถแบ่งปันข้อมูลทีเราอยากแบ่งได้อย่างรวดเร็ว

และ แท่นแท้น Forward Mail หายไปเลยครับ กลายเป็นกดแชร์ และรีทวีตกันอย่างสะดวกสบาย จนเรียกได้ว่า แทบไม่ต้องใช้สมองกัน ใช้ไขสันหลังในการแบ่งปัน ไม่ต้องคิดหาที่มาของสิ่งที่เราแบ่งปัน จนกลายเป็นเรื่องราวปัญหาที่ผมอยากเอามาเขียนในรอบนี้

กรณีที่ 1 พระราชดำรัสของในหลวงเรื่อง ปล่อยให้น้ำท่วมสวนจิตลดา

"ถ้าน้ำเข้าพระนคร ให้น้ำผ่านวังสวนจิตรไปเลย อย่ากั้นให้ผ่านไปเลย"

เป็นข้อความที่เป็นที่ฮือฮา และปลาบปลื้ม ของชนชาวไทยทัังหลายในโลกไซเบอร์ และถูกส่งต่อเป็นอย่างมาก กระทั่งคนดัง ก็ยังรีทวีตกันไปต่อ

แต่ผมเอง รู้สึกแปลกใจที่ว่า ข้อความดังกล่าว ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีบริบท ไม่มีในข่าวในพระราชสำนัก จนงงว่า มากจากไหน จนในที่สุด ความจริงขั้นแรก ก็กระจ่างว่า

สำนักพระราชวังปฏิเสธในหลวงรับสั่งในน้ำผ่านสวนจิตรฯ (ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์)

สุดท้าย ก็กลายเป็น “พระราชดำรัสปลอม” กุขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีที่มาที่ไป และครั้งนี้ ผมตกใจมากที่ สำนักพระราชวังถึงต้องออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นได้เลยว่า ทางวังเองก็ลำบากใจเช่นกัน ผมขอบอกตรงๆครับว่า การกระทำเช่นนี้ เป็นการดึงฟ้าต่ำอย่างแท้จริง

แม้คุณจะบอกว่า ทำด้วยความรัก แต่สิ่งที่คุณทำ มันยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องสูงขึ้นไปอีก ซึ่งบางท่านถึงแสดงความเห็นว่า ในยุคสมูบรณาญาสิทธิราช หากคุณอ้างคำพูดของกษัตริย์ขึ้นมาลอยๆ โดยมิได้เป็นความจริง คุณสามารถถูกประหารชีวิตได้ด้วยซ้ำ (โดยคุณ @tumbler_p) ซึ่งเมื่อคิดจริงๆแล้ว ก็เป็นไปได้ เพราะการกระทำเช่นนี้ เราไม่อาจบอกเจตนาที่แน่ชัดได้ว่า คิดอะไรอยู่ ใครคิดจะแชร์ ก็คิดให้ดีก่อนเถิดครับ

กรณีที่ 2 สมเด็จพระเทพทรงออกช่วยประชาขนที่ประสบภัยอย่างเงียบๆ

เรื่องนี้ ผมหากระทู้ต้นตอไม่ได้ จึงต้องขออาศัยความจำเป็นหลัก โดยที่ เรื่องที่เกิดมีรายละเอียดประมาณนี้ครับ

“สมเด็จพระเทพทรงออกช่วยประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นการส่วนตัว จึงมิได้เป็นข่าว แม้กระทั่งข่าวในพระราชสำนัก”

ซึ่ง ก็เป็นภาพและข้อความที่ได้รับการแชร์วนไปมาไม่น้อย ซึ่ง ผมเองก็คิดว่า ไม่แปลกอะไร เพราะเรามักจะได้อ่านเรื่องราวของท่านในลักษณะนี้อยู่เสมอ (เช่นใน Fwd Mail ที่ส่งกันไปมาหลายครับ) และครั้งนี้ ก็เป็นอีกครั้ง ที่ท่านทรงภารกิจเป็นการส่วนพระองค์ แต่ที่ผมงงคือ แล้วผุ้ที่เอามาแชร์ ทราบได้อย่างไร และ ทำไมถึงมีภาพ

เรื่องราวมาถึงบางอ้อ เมื่อ ภาพที่ว่า มากจากที่นี้เองครับ

พระเทพโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ข้าว แจกจ่ายให้เกษตรกร

จริงๆแล้วเป็นภาพข่าวจากปีก่อน ที่ท่านทรงพระราชทานพันธุ์ข้าว กลายเป็นว่า ภาพกับเนื้อหา เป็นคนล่ะเรื่องไป ลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลไปครึ่งหนึ่ง และยิ่งไม่มีข่าวอย่างเป็นทางการ เราเองก็ไม่สามารถบอกอะไรได้เลย กลายเป็นอีกครั้งที่ เราแชร์ข้อมูลที่ไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้

หวังว่า ครั้งนี้ คงจะไม่ไประคายเคืองเบื้องสูง ถึงกับสำนักพระราชวังต้องออกมาแถลงข่าวอีกนะครับ

กรณีที่ 3 กรณียิ่งลักษณ์ขี้เมา
กรณีนี้ เป็นอีกด้านหนึ่งของโลกออนไลน์ครับ จะว่าเป็นด่านมืดก็ว่าได้ โดยต้นตอมาจาก ภาพๆนี้ครับ

โดยมีการบรรยายประกอบว่า นี่คือภาพนายกยิ่งลักษณ์ ยกเหล้ากรอกปากสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย และด่าสาดเสียเทเสีย

จริงๆแล้ว ถ้าเป็นเรื่องในอดีต ผมว่า มันไม่ใช่เรื่องอะไรเลยนะครับ ประธานธิปดีอเมริกาอย่างโอบาม่ายังยอมรับว่าพี้กัญชาสมัยเรียนเลย คนครับ อายุน้อย ทำอะไรก็มีโอกาสพลาด แต่ ประเด็นมันไม่ใช่ตรงนั้นครับ

นี่คือตัวอย่างของ Hate Speech โจมตีเรื่องส่วนตัวของบุุคคลสาธารณะ โดยใช่วิธีการใดก็ได้ที่จะสร้างความน่ารังเกียจให้เกิดกับบุคคลดังกล่าว และอีกประเด็นคือ นี่คือ นายกยิ่งลักษณ์ในอดีตหรือไม่

คำตอบคือ ไม่ และที่มาคือ ลิงค์นี้ครับ คลิก มันคือภาพจากเว็บรวมภาพสาวฟิลิปปินส์ ซึ่งหยิบมาภาพเดียวที่ดูคล้ายนายก (ดูที่เหลือสิครับ เหมือนมั้ย) และเอามาโจมตี

ทั้งๆที่ไม่ใช่เจ้าตัวเลยแท้ๆ นี่คือตัวอย่างของการใช้วิธีสกปรกสาดเสียเทเสียบุคคล โดยไม่ได้คิดเลยว่า วิธีที่ตัวเองใช้นั้นคือ อวิชชา ที่สกปรกจริงๆ แน่นอครับว่า คนทำก็รู้ตัวอยู่แก่ใจว่า กำลังโกหกอยู่ แล้วคุณล่ะครับ จะร่วมขบวนคนโกหกไปกับพวกเขาหรือไม่

กรณีที่ 4 ทำเป็นหน้าเศร้า แต่ที่แท้ ก็ระรื่นเฮฮา
กรณีนี้ ก็กำลังมาแรงครับ โดยบอกว่า ดูนายกฯสิ ทำเป็นลุยงานหนัก แต่เอาเข้าจริงๆ ก็กระดี้กระด้า ไม่ได้มาสามัญสำนึก (ดูรูปประกอบ)

จริงๆแล้ว รูปนี้ ถ้าใช้สมองคิดซักหน่อย ไม่ได้ถูกบังตาโดยความเกลียดชัง จะสังเกตได้ว่า

1. พื้นที่่เป็นป่า ไม่น่าจะใช้พื้นที่ประสบภัยตอนนี้

2. ชุดที่ใส่ ไม่ใช่ชุดที่ใส่เป็นปกติในตอนรับตำแหน่ง แต่ดูคล้ายตอนหาเสียง

3. เวลาขึ้นฮ.สั่งงาน ปกติจะเป็นเครื่องขนาดใหญ่ ที่นั่งคุยแผนงานได้มากกว่าเครื่องขนาดเล็กที่ต้องนั่งติดเก้าอี้แบบนี้

ซึ่งพอเอาเข้าจริงๆ ค้นหาซักหน่อย ก็เจอครับ คลิก ว่าเป็นภาพตั้งแต่สมัยหาเสียง และไปถ่ายที่เชียงใหม่นู่นครับ แต่ชมรมคนเกลียดก็ด่ามันปากไปล่ะ

จาก 4 ตัวอย่างที่ผมยกมาให้เห็น ทำให้เข้าใจได้เลยว่า แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป แต่ถ้าเราไม่เคยคิด ไม่เคยตรวจสอบ แชร์ หรือ รีทวีต แบบอัตโนมัติ ไม่ต่างจากการทำงานของกล้ามเนื้อแบบรีเฟลกซ์ ผ่านแต่สันหลัง ไม่ผ่านสมอง มันมีแต่จะทำให้เสียกับเสียครับ

จริงๆ เรื่องภาพนี่ เทคโนโลยีใหม่ของอากู๋ กูเกิ้ลอย่าง Search by Image ของ Google Image มันเทพมากนะครับ แค่ลากรูปที่เราอยากรู้ว่ามาจากไหน ไปใส่ใน Searchbox ก็เจอแล้ว ดังนั้น ลองหาดูเองมั่งก็ได้ครับ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของ “นักขุดรูปเก่า เล่านิทานลวง” ได้ครับ และที่สำคัญ

“โปรดมีสติและค้นหาความจริงก่อนแชร์หรือรีทวีต”

*ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากคุณ @jj_sathon จากเว็บ www.go6tv.com

************
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

สำนักพระราชวังปฏิเสธในหลวงรับสั่งให้น้ำผ่้านวัง สมศักดิ์เจียมฯชี้กระฎุมพีซาบซึ้งปรากฏการณ์ใหม่

-ตรวจสอบรูปข่าวลือง่ายๆ ด้วย Google Image Search

-หน้าเพจ Thailand Anti-Hoax Center ต่อต้านข่าวลือผิดๆ เช่น จริงไหมข่าวสะพานปทุม-รังสิตหัก,จริงไหมเรื่องว่าอาจารย์จุฬาหาว่าให้นิสิตจุฬาฯมาช่วยงานศปภ.ต้องเปลี่ยนเป็นเสื้อแดงก่อน ฯลฯ

-ชั่วซ้ำซาก! "ปั้นคำสนทนาในหลวง-นายกฯ"
http://redusala.blogspot.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น