วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554


ใครทำน้ำท่วม
โดย ...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม , ธนพล บางยี่ขัน

         "ผมเดาว่าอีก 15 วัน มันจะหยุดและเริ่มลดเหมือนบ้านผมที่นนทบุรี แต่ภาพรวมของประเทศเราผ่าน Worst Case มาแล้ว เรามาถึง at the end จากนี้เราต้องอยู่กับมันให้ได้ แล้วก็มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม"

         คาดการณ์อีกครั้ง 15 วันจบ จาก ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ที่ประกาศออกทีวีให้คนปทุมธานีดอนเมือง รังสิต อพยพด่วน หลังเห็นสัญญาณไม่ดีจากการซ่อมประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าว ก่อนจะถูกตำหนิจากคนในรัฐบาลด้วยกันว่า สร้างความแตกตื่นเพราะรัฐบาลยืนยันกรุงเทพมหานคร (กทม.)ไม่มีท่วมแน่ สุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าคำเตือนของปลอดประสพเป็นจริง กทม. หลายพื้นที่จมน้ำ! นับแต่นั้น "บิ๊กปลอด" ก็ถอยฉากออกจาก ศปภ.มาทำหน้าที่เตือนภัยส่วนตัว ที่เป็นข่าวพาดหัวมากกว่า ศปภ.

         เวลาที่เหลือจากนี้ กทม.ชั้นในจะรอดไหม ?
         เจ้าตัวบอกไม่อยากตอบ ถ้าจะท่วมก็นิดเดียวอย่างเก่งก็หัวเข่า แต่สถานการณ์โดยรวมมาถึงปลายทางแล้ว มวลน้ำตอนนี้เหลือ 8,000-1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ค้างทุ่งประมาณ 25%ลงมาอย่างเก่งก็ 3,000-4,000 ล้าน ลบ.ม. ที่จะไหลมาอยู่รอบ กทม. แต่ใน 1 หมื่นล้าน ลบ.ม.ก็ต้องค้างอยู่ประมาณ 3,000-4,000 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการเกษตร

       "ก้อนใหญ่แบบไหลพลั่กๆ มาที่ กทม. ไม่มีแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ ส่วนตะวันตกหรือย่านฝั่งธนฯ จะท่วมเกือบทุกเขต ปัญหาคือ น้ำไม่ระบายไปด้านตะวันออกลงอ่าวไทย เพราะแม่น้ำบางปะกงสูงกว่าย่านรังสิต 2 เมตร เช่นเดียวกับที่ริมทะเล แถวคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ก็สูงเพราะเป็นสันทรายดังนั้น ถ้าจะออกได้เร็วก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปั๊ม ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ปั๊มจริง"

             วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ในมุมมองปลอดประสพ ถือว่ารุนแรงกว่าปี 2538 มาก เป็นรองก็แค่ปี 2485 แต่ถ้าให้แจกแจงสาเหตุมาจากอะไร เขาบอก นอกจากภัยธรรมชาติที่มากกว่าทุกครั้ง ยังมาจากปัจจัยหลายส่วน เช่น เมื่อต้นปี ก่อนที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งมี ธีระ วงศ์สมุทร เป็น รมว.เกษตรฯ และผู้ว่าการ กฟผ.ขณะนั้น ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนภูมิพล กับเขื่อนสิริกิติ์น้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับทุกปีที่ผ่านมา เพราะต้องการเก็บน้ำไว้ทำนาปรัง โดยเชื่อใน "โครงการประกันรายได้"

          "พวกผมเป็นรัฐบาลในเดือน ก.ย. พอปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในเดือนนั้น ฝนก็ยังตกหนักอีก เลยทำให้ความเสียหายมันรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลเก่าจะมาว่าพวกผม ก็ว่าได้หลังเดือน ก.ย.ว่า ปล่อยน้ำมาก เหตุที่ปล่อยมากเพราะ กฟผ.กลัวเขื่อนพัง แต่การที่ไม่ปล่อยก่อนเดือน ก.ย.เพราะรัฐบาลที่แล้วต้องการจะเก็บไว้ทำนาปรัง สรุปรัฐบาลที่แล้วปิดเขื่อนแต่เราเป็นคนปล่อย"

         อีกประการที่ ปลอดประสพ ซัดตรงๆ การทำหน้าที่กรมชลประทาน "ผมขอตำหนิ กรมชลฯ ใส่ใจกับน้ำท่า (น้ำแม่น้ำ) มากเกินไป ละเลยน้ำทุ่ง(น้ำตามพื้นดิน) ทั้งที่กระทรวงวิทย์ใช้ดาวเทียม คีออส ถ่ายภาพน้ำทุ่งมายันตลอด แต่กรมชลฯ ก็ไม่ยอมรับความจริง กระทั่งเกิดน้ำท่วมที่อยุธยา กรมชลฯ จึงเริ่มยอมรับว่ามันมีน้ำทุ่ง และก็ควบคุมน้ำทุ่งไม่ได้ ที่จริงถ้ากรมชลฯ ใส่ใจเรื่องน้ำทุ่ง และยอมรับว่ามันมีน้ำทุ่ง ฟังความเห็นของคนที่รู้เรื่องน้ำทุ่ง สถานการณ์จะดีกว่านี้"

         ได้พูดเรื่องนี้ใน ศปภ.ไหม?...
         รมว.วิทยาศาสตร์ฯเสียงเข้ม "ผมพูดตั้งแต่ยังไม่เป็น ศปภ.ด้วยซ้ำซึ่งกรมชลฯ แย้งว่า มีน้ำที่ประตูน้ำบางไทรเท่าไรเขื่อนชัยนาทเท่าไร นครสวรรค์เท่าไร มีน้ำไหลกี่คิวเซค ไม่เคยใช้ภาษาว่ามีกี่ล้านตัน ก็ต้องยอมรับว่ากรมชลฯ ไม่มีคนที่มีประสบการณ์ด้านการระบายน้ำเพราะเขาไม่ได้สร้างและเขาก็ไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อน ส่วนใหญ่มาจากสายก่อสร้างทั้งนั้น ตรงนี้จึงเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ วันข้างหน้ากระทรวงเกษตรฯ ต้องอย่าปล่อยให้การเมืองมาชี้นำจนกระทั่งโครงสร้างของราชการไม่ครอบคลุมต่อสาระที่เป็นประโยชน์ของสังคม

         ปลอดประสพ ยังตำหนิกรมชลฯ อีกว่า การให้ข้อมูลของกรมชลฯ ไม่ตรงตามที่คนอยากรู้ว่าน้ำไปถึงไหนแล้ว จะท่วมบ้านเขาไหม ท่วมนานเท่าไร เมื่อไรจะระบายออกไป

"กรมชลประทานบอกไม่หมด แต่ผมไม่ได้ว่าเขาปกปิดข้อมูลนะ"

        แล้วทำไมเขาไม่บอก... "ก็เขาไม่สนใจไง เขาไปทำอย่างอื่นไง ผมถึงได้เตือนบ่อยๆ ว่า น้ำมาถึงตรงนั้นแล้วนะ ตรงนี้แล้วนะ จะเดือดร้อน ให้ขึ้นชั้นสองนั่นคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ แล้วผมก็ลงพื้นที่ไปวัดระดับน้ำเองเลย"

        เขาย้ำว่า ใน ศปภ.ไม่มีใครวิเคราะห์เรื่องระดับน้ำที่เข้าท่วมแต่ละพื้นที่อย่างจริงจัง กรมชลฯ ก็ไปทำอย่างอื่น เมื่อกรมชลฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักไม่คิดทำแล้วใครจะไปทำได้ ก็ต้องเดากันหมด ซึ่งมันไม่ควรเดาในภาวะอย่างนี้

         "ความจริงผมไม่อยากวิจารณ์ถึงขนาดนั้นว่าใครไปเลือกที่ไหนว่าควรจะมีน้ำหรือไม่มีน้ำ ไม่อยากจุดประเด็น แต่มั่นใจว่ากรมชลประทาน แต่ไหนแต่ไรรัฐมนตรีว่าการจะคุมเองทุกสมัย มันแปลว่าอะไร เพราะงบประมาณเยอะหรือไม่"

         การที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ดูกระทรวงเกษตรฯ แต่เป็นของพรรคชาติไทยพัฒนา ปรับครม.ครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะคุมเองหรือไม่เพื่อให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมเกิดเอกภาพ ปลอดประสพ ตอบว่า ความจริงพรรคเพื่อไทยพูดตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านแล้วว่า เมื่อเราหาเสียงเรื่องชาวนา คนรากหญ้า เราก็ควรดูกระทรวงเกษตรฯ ด้วย ฉะนั้น หลังน้ำท่วมเสร็จ เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นทางการเมืองที่ สส.ในพรรคเพื่อไทยจะนำมาอภิปรายกัน เราเคารพพรรคร่วมรัฐบาลเพราะไปเชิญมา แต่ที่พูดเพราะเป็นข้อเท็จจริง ไม่มีเจตนาให้ร้ายหรือรังเกียจ

         การทำงานใน ศปภ.ที่ดูไม่มีความเป็นเอกภาพมีคณะกรรมการหลายชุดพะรุงพะรังทำให้เป็นปัญหาต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในการแก้วิกฤตน้ำท่วมหรือไม่ "ปลอดประสพ"ตอบแบบอึดอัดเหมือนอยากระบายออกมา


         "ไม่รู้...ผมมุ่งแต่เรื่องของผม ไม่อยากก้าวก่ายคนอื่นเพราะเราก็ไม่ได้รู้จริง แต่ผมก็ไม่เชื่อว่าใครจะรู้จริงเท่าไรหรอก...เรื่องคณะกรรมการหลายชุดอาจจะพัฒนาไปตามสถานการณ์มั้งช่วงหลังผมก็ไม่อยากยุ่งทางด้านเทคนิคมากเกิน ผมก็ให้ ดร.รอยล จิตรดอน ดร.อานนท์สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นข้าราชการสายตรงมาจากผม และลูกน้องเขาอีก 3-4 คนไปช่วยส่วนผมก็ถอยออกมาช่วยประชาชน ไม่ใช่ผมถอนตัว แต่ผมรู้มันเป็นเรื่องเทคนิค ตอนนี้ผมก็ยังช่วยอยู่"

          ปลอดประสพ พูดเสียงเข้มว่า ถ้าสิ่งที่ผมเตือนว่าน้ำจะท่วม กทม.แน่ และทุกคนเชื่อตาม แนวทางการทำงานจะไปทางนั้นหมดว่า พื้นที่ไหนจะท่วมก่อนหรือหลัง จะลึกตื้นแค่ไหน และดูว่าใครจะเดือดร้อน การบริหารจัดการตรงไหนจะมีปัญหา มันจะถูกแก้ไปตั้งแต่วันนั้น แต่เมื่อไม่เชื่อว่ามันไม่ท่วม ไปเชื่อว่าบริหารจัดการได้ มันก็ไม่ได้มีความพยายามไปสู่จุดที่ผมพูด

          ทำไมเขาไม่เชื่อท่าน ?
          เจ้าตัวรีบตอบ ก็มันไม่เคยเกิดขึ้น เขาอาจมองว่าผมเป็นคนกล้าโดยนิสัยอยู่แล้ว ไม่ได้คิดว่าผมพูดบนพื้นฐานทางวิชาการ 100%

          ผมไม่เหมือนคนอื่นนะ ผมมีประสบการณ์ทำเรื่องน้ำมานาน ผมมีลูกน้องและเพื่อนที่ทำเรื่องนี้ ช่วงนี้ก็มีฝรั่ง (ฮอลแลนด์) มาช่วยประเมินด้วย ซึ่งเขาก็ประเมินหนักกว่าผมตั้งเยอะ กระทรวงวิทย์ฯ ก็มีข้อมูลป้อนให้ และผมก็ลงพื้นที่ ก่อนที่ผมจะพูด ผมไปดูแล้วดูอีกคลองลาดพร้าวผมไป 3-4 ครั้ง ฝั่งตะวันตก ผมบินไปดู นั่งรถไปดู 5 รอบแล้ว ฉะนั้นก่อนผมจะพูดจะผ่านการสังเคราะห์หมด ผมจะพูดส่งเดชได้ไง แล้วผมเป็นใคร ถามจริงเหอะ"

          ปลอดประสพ ยกตัวอย่าง เรื่องที่เคยเสนอแต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ เช่น เคยบอกในที่ประชุมกับ ผวจ.นครสวรรค์ ให้ระวังเขื่อนที่กั้นรอบแม่น้ำเจ้าพระยาจะพัง ต้องจัดเวรยาม 24 ชั่วโมง และทำเขื่อนสองชั้น ซักซ้อมชาวบ้านเปิดไซเรนเพื่อหนีหาจุดอพยพ สุดท้ายเขื่อนก็พังจริงจากนั้นได้กลับมาพูดใน ครม. โดยย้ำว่าขอฝาก รมว.มหาดไทย ไปบอกทุกแห่งไว้ที่ทำเขื่อนดินเพราะอาจเกิดปัญหาถ้าแช่น้ำนาน มันจะแตก แล้วพอมาเห็นนิคมฯ ทั้งหลายเห็นก็รู้ ฉะนั้นเวลาจะป้องกันนิคมใหญ่ๆ มันไม่มีทางเอาอยู่

         "เราพยายามสร้างเขื่อนดินสูง 3-4 เมตรในเวลากะทันหัน มันจะเอาอยู่ได้ยังไง เขื่อนดินเท่าลูกแมว น้ำก็มาเป็นพายุ แน่นอนเราต้องสู้ก่อน แต่เวลาที่สู้ เอาไปย้ายของไม่ดีกว่าหรือ เห็นมั้ยสุดท้ายก็พังหมด ผมเห็นนวนครแตกไปต่อหน้าผม ผมพูดก่อนไม่ถึง 15 นาทีถ้าผมไม่เตือนให้รีบหนี ก็จะมีคนเจ็บตัวมากกว่าอีก"

          แล้วทำไมรัฐบาลถึงไม่ส่งสัญญาณเตือนแรงๆ คนจะได้เตรียมการเนิ่นๆ ปลอดประสพบอก ไม่รู้เหมือนกัน ...อันนี้แล้วแต่จุดยืน ของผมในฐานะที่ทำเรื่องการเตือนภัย หรือ Early Warning ผมจึงถูกฝึกให้เตือนล่วงหน้ามากๆตามทฤษฎีที่ถือว่า ชีวิตของมนุษย์สำคัญกว่าการที่ใครจะมาโกรธหรือตกใจ ผมไม่สนใจหรอกใครจะตกใจ แต่ผมให้คุณรอดก็พอ คุณจะตามด่าทีหลังไม่เป็นไร เพราะผมถูกด่าคนเดียว

          คำวิจารณ์ที่ว่า ถ้ารัฐบาลบริหารงานแก้ปัญหาดีกว่านี้อาจช่วยลดความรุนแรงลงได้จริงแค่ไหน...ปลอดประสพ ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ "ไม่รู้...ไม่กล้าตอบ (หัวเราะ)...เอางี้ ผมตอบได้แต่เพียงว่า แม้แต่ตัวผมเอง ก็ยังรู้สึกว่ารู้น้อยไป ผมอยากรู้มากกว่านี้ จะได้ช่วยคนได้มากกว่านี้ แต่ทำไงได้ ผมรู้แค่นี้

เมื่อ'ปลอด'ประสบภัย

           แม้จะรั้งตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) แต่อีกด้าน "ปลอดประสพ"ยังคงมีสถานะเป็น "ผู้ประสบภัย" น้ำท่วมไม่แตกต่างจากชาวบ้านอีกหลายๆ คน เป็นคนแรกที่แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า จนสร้างความแตกตื่นโกลาหลวันนั้น แต่กลายเป็นจริงในเวลานี้ สภาพบ้านพักบนเนื้อที่กว่า30 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้สะพานพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ของเขาก็ไม่อาจรอดพ้นมวลน้ำก้อนมหึมาครั้งนี้ได้

          ค่ำของวันนั้น หลังจาก "ปลอดประสพ"ออกแถลงเตือนประชาชน เขาก็รีบกลับบ้านย่านไทรม้าแห่งนี้ เล่าให้ภรรยาและลูกฟังถึงสิ่งที่เขาเชื่อว่าน้ำจะท่วมเข้าที่บ้านแน่ แต่กลับถูกด่าบานเลย

         "ลูกก็บอกไม่เป็นไรนะพ่อ แต่ผมก็บอกทุกคนว่ายังไงก็คงท่วมแน่ รวมทั้งตัวเรา ฉะนั้นก็เก็บของดีกว่า ทุกคนก็ช่วยกันเก็บ เก็บอยู่หลายวัน โดยเฉพาะบ้านลูกที่เตี้ยกว่าเพื่อนพอเริ่มท่วมก็ให้คนเกือบ 30 คน อพยพไปอยู่พัทยา เอาคนใช้ คนเลี้ยงหลานไปด้วย"

         บ้านของ "ปลอดประสพ" รัฐมนตรีที่ร่ำรวยที่สุดในรัฐบาลประกอบไปด้วย 3 หลัง เขาอยู่อาศัยเองหนึ่งหลังตรงกลาง และอีก 2 หลังข้างๆ ของลูกๆ

           ด้วยความเชื่อลึกๆ ก่อนหน้านี้ว่า อย่างไรน้ำต้องท่วมแน่ ทำให้เขาเตรียมแผนป้องกันแต่เนิ่นๆ ด้วยการทำคอนกรีตเสริมรอบบ้าน50 ซม. และขนของขึ้นไปอยู่ที่สูง สุดท้ายน้ำก็เอ่อขึ้นมาเกินแนวที่กั้นไว้เข้ามาท่วมพื้นที่เฉลี่ยน้ำสูงเกือบ 1 เมตร ซึ่งตั้งแต่ปลูกบ้านมาตั้งแต่ปี 2475 ยังไม่เคยพบอะไรจะมากเท่านี้

          "เป็นความเชื่อของผม และผมก็ปฏิบัติจริงๆ ในครอบครัว เป็นความเชื่อเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เป็นความเชื่อที่ผมถูกฝึกมา ผมไม่ได้ทำอะไรวิเศษพิสดาร ผมถูกฝึกมาอย่างนี้ ยังมีหลายคนที่น้ำท่วมแล้วตอนนั้น เพราะไม่ยอมเชื่อ จนพูดกันเป็นโจ๊กกันเล่นๆ ว่า ถ้าเชื่อผมก็สบายไปแล้ว"


           หลังจากน้ำท่วมบ้าน "ปลอดประสพ" ส่งภรรยาและลูกไปยัง จ.ชลบุรี ขณะที่ตัวเขาเองยังอยู่ที่บ้านหลังนี้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต โดยใช้เรือออกมาจากบ้าน ก่อนจะต่อรถยนต์ออกไป ศปภ.และตรวจพื้นที่

           ที่น่าสนใจคือ บรรดาสัตว์เลี้ยงหายากจำนวนมากในบ้านที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น นกยูงอินเดีย 5-6 ตัวที่เกิดในบ้านหลังนี้ ห่าน 3 ตัว เป็ดป่าเกือบ20 ตัว เป็ดธรรมดากว่า 20 ตัว ไก่ป่าเกือบ 20 ตัว ฯลฯ ที่ต้องกลายเป็น "สัตว์ประสบภัย" จากเดิมเลี้ยงอยู่พื้นดินรอบบ้านต้องขยับมาอาศัยอยู่ในบ้าน บนหลังคาระเบียงบ้าน ขณะที่ตัวเขาเองก็นอนชั้นสอง

           "อย่างนกยูง ผมกินข้าวอยู่ มันยังมาแย่งผมกินข้าวด้วย มันหิวมันก็มาเกาะ ผมก็บอกเอ้ย ไป สุดท้ายก็ต้องแบ่งข้าวให้มันกิน เพราะปกติมันกินยอดไม้อ่อนๆ หรือหาหนอน แต่หนอนอยู่ในดิน จะไปหายังไง เพราะน้ำมันท่วม มันก็มาแย่งผมกิน"

            นอกจากสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังมีสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงเข้ามาหลบน้ำท่วมในบ้านโดยไม่ได้รับเชิญ ทั้งงูจงอางตัวใหญ่ที่มาขดอยู่บนต้นไม้ หรือแมงป่องที่มาหลบอยู่แถวผ้าเช็ดเท้า พอคนในบ้านไปจับผ้าก็โดนต่อยบวมใหญ่

            ความเสียหายจากน้ำท่วมเที่ยวนี้ ยังทำให้รถยนต์ของเขาและครอบครัวเสียหายไปแล้วกว่า 4 คัน โดยเฉพาะที่น่าเสียดายเป็นพิเศษคือ รถยนต์โบราณตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษที่เวลานี้ทำได้เพียงแค่การจอดไว้โดยยกหัวรถขึ้นเพื่อให้พ้นน้ำซึ่งคันปัจจุบันที่ใช้อยู่ต้องไปยกท่อไอเสียให้สูงพ้นน้ำ ซึ่งโดนร้านโขกราคาไป 1,500 บาท จากเดิมเคยทำแค่ 500 บาท

           ยังไม่นับรวมกับ "ต้นไม้" ที่เขาปลูกไว้เต็มพื้นที่ หลายต้นเริ่มเหี่ยวเฉาจากน้ำที่เจิ่งนองโดยเฉพาะต้นทุเรียนที่เขาเสียใจเป็นที่สุด

            สถานการณ์ ณ เวลานี้ "ปลอดประสพ"มองว่า "จบแล้ว" รอแค่น้ำลดลง และเชื่อว่าวันที่ 7 พ.ย. น้ำในถนนในบ้านพักจะแห้ง แต่งานใหญ่ในช่วงหลังน้ำลดคือ การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมเข้าบ้าน ที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้

           "ต่อไปนี้ไม่ยอมแล้ว ผมจะทำเขื่อนเป็น 2 ชั้นแล้ว เขื่อนล้อมทั้งบ้าน แต่ที่บ้านผมมันใหญ่30 กว่าไร่ ต้องทำเนินดินรอบใหญ่หนึ่งรอบแล้วก็จะทำรอบเล็กอีกรอบ คุมบ้านผม 3 หลังไว้ เดี๋ยวจะเริ่มทำตอนหน้าแล้ง ใช้เป็นดิน ไม่มีอะไรดีกว่าดินเหนียว ต้องยอมซื้อดิน ให้เขาเอามาลงหน้าบ้านใส่เรือค่อยๆ ทำไปทั้งปี"

           แวบไปถามรัฐบาลนี้โชคร้ายหรือไม่ที่มาเจอวิกฤตน้ำท่วมพอดี เจ้าตัวรับสภาพ มันเป็นจังหวะบังเอิญ แต่ถ้าเราผ่านวิกฤตนี้ได้ วันหน้าเราก็ผ่านวิกฤตอย่างอื่นได้อีก "มันก็หนักนะ เพราะมันทำความลำบากให้กับคน ต่อให้ทำดีอย่างไร มันก็เกิดความลำบาก

            แล้วใครมันจะชอบเขาเดือดร้อนน้ำท่วมบ้าน ท่วมรถ คนก็ต้องวิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา เขาเลยต้องหาเหตุด่า ในยามนี้จะให้คนรักคนสรรเสริญไม่มีทาง ถ้าคิดอย่างนั้น โกหกตัวเองอีก"

            ปลอดประสพ ทิ้งท้ายสำหรับคนกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่กำลังลุ้นระทึกว่าน้ำจะท่วมบ้านหรือไม่ ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มันเป็นบทเรียนให้กับคนไทยว่า การที่ กทม.จะถูกน้ำท่วมแค่เอวเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ "จะเอะอะโวยวายก็ไม่ได้ประโยชน์ แล้วคนกรุงเทพฯ ก็อย่าคิดว่าตัวเองวิเศษกว่าคนอื่น

            เมื่อก่อนคนกรุงเทพฯ ดูข่าวน้ำท่วมก็คงรู้สึกเพียงแค่สงสารอยากจะช่วย แต่วันนี้ไม่พอแล้ว คนกรุงเทพฯ จะต้องคิดว่ามันสามารถเกิดกับตัวเองได้ คนกรุงเทพฯ จะสูงกว่าคนอื่นไม่ได้ บ้านผมถึงไหล่ชาวอยุธยาล่อไปมิดหัว แล้วมันทำไงล่ะ"
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น