บทความพิเศษโดย : นายฉลาด ยามา ทนายความ
วันที่ 1 ธันวาคม 2554 จะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อไร? ที่เขียนบทความตั้งหัวข้อไว้ว่า “จะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อไร?” เป็นคำถามที่มีต่อรัฐบาลคณะนี้หรือคณะรัฐบาลปัจจุบัน ถามว่าทำไมจึงตั้งคำถามนี้ ขอตอบว่าที่ต้องตั้งคำถามเช่นนี้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างจากคณะ สสร. บุคคลคณะที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นบุคคลจาดคณะรัฐประหาร(คมช.) จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงไม่สอดคล้องต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย นอกจากไม่สอดคล้องต่อการปกครองดังกล่าวแล้ว ก็ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมแต่ประการใด คำตอบอีกคำตอบหนึ่งก็คือ คำว่าประชาธิปไตย มีความหมายต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ มีความหมายในแง่ของปรัชญาก็หมายถึงว่า เป็นจิตวิญญาณของประชาชนทั้งชาติทีเดียว เปรียบก็คือ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนจริงๆ ถ้าขาดการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยหรือการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะเกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองกันไม่สิ้นสุด นอกจากความขัดแย้งจะเกิดและดำรงอยู่และดำเนินการต่อไปไม่มีสิ้นสุด ท้ายสุดที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะเกิดกาลียุคและท้ายสุดจริงๆประชาชนจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะความขัดแย้งนั่นเอง เหตุท้ายสุดนี้ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากันอย่างรุนแรง จากนั้นก็จะสงบลงได้ ต่างพวกต่างฝ่ายก็จะแยกแผ่นดินกันอยู่ จะทำให้แผ่นดินประเทศไทย ที่เรียกว่าเป็นพระราชอาณาจักร ก็จะไม่เป็นพระราชอาณาจักรอีกต่อไป ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นผลจากการที่ประเทศนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยการใช้กติกาการปกครองประเทศขัดหรือไม่สอดคล้องต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ผลของการที่เป็นเช่นนี้ เราจะโทษใคร และเมื่อเหตุการณ์มันเดินไปจนถึงจุดดังกล่าว ใครจะต้องรับผิดชอบ มีใครตอบได้ไหม??? คงยากส์!!!!! ความสำคัญของการที่ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะเกิดผลร้ายแรงตามที่กล่าวจริงหรือ ขอตอบว่าจริงและจริงที่ปราศจากความสงสัยใดๆทั้งสิ้น โดยมีเหตุผลรับรองได้และเป็นเหตุผลที่ประชาชนทั้งประเทศ รวมไปถึงชาวโลกส่วนมากด้วย เหตุผลดังกล่าวก็คือความไม่เป็นธรรมไม่มีในประเทศนี้ ความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมอย่างเที่ยงตรงไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศเลย นับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ความยุติธรรมจริงๆหายไป แต่มีความอยุติธรรมเข้ามาแทนที่ ที่พี่น้องเสื้อแดงและประชาชนทั่วไปเรียกกันว่า “สองมาตรฐาน” และความเป็นสองมาตรฐานก็ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน และมองไปในอนาคตก็ยังไม่ทราบว่า “สองมาตรฐาน จะหมดไปเมื่อไร” ไม่มีใครจะคาดเดาหรือกำหนดได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร? หรือจะรอให้ต้นไม้ความอยุติธรรมต้นนี้ มีดอกออกผลเสร็จแล้วเช่นนั้นหรือ ผู้เขียนไม่พึงประสงค์จะให้ต้นไม้ความอยุติธรรมออกดอกและมีผลเกิดขึ้นในแผ่นดิน เพราะต้นไม้อยุติธรรมหรือต้นไม้ที่เป็นพิษนี้มันมีพิษร้ายถึงกับทำให้แผ่นดินแตกแยกเป็นเสี่ยงๆถึงขนาดนั้น ท่านเห็นว่าความร้ายของความอยุติธรรมหรือต้นไม้เป็นพิษมันร้ายจริง ปัญหานี้ใครจะเป็นผู้แก้ไขขจัดความอยุติธรรม หรือต้นไม้เป็นพิษให้หมดไปจากแผ่นดินของประเทศไทย หรือราชอาณาจักรไทยได้ การแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องยากมาก แม้ว่าวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักในการหาเสียง ได้เสนอนโยบายต่อประชาชนว่า ถ้าได้รับเลือกตั้งมีเสียงเกินครึ่ง (เสียงรวม 500) จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 นี่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยในหลายๆนโยบายได้สัญญากับประชาชน หรือจะเรียกว่าเป็นสัญญาประชาคมนั่นเอง ครั้นการเลือกตั้งเสร็จ พรรคเพื่อไทยมีประชาชนทั่วประเทศมอบความไว้วางใจเลือกพรรคเพื่อไทย ได้ส.ส.เขตและ ส.ส.สัดส่วน มีจำนวนเกินครึ่งคือได้ 265 เสียง มากกว่าครึ่ง 15 เสียง มีความชอบธรรมตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศตามนโยบายที่ได้เสนอต่อประชาชนในขณะรณรงค์การเลือกตั้ง ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะต้องจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ได้เสนอไว้แก่ประชาชนทั้งประเทศ ขณะนี้ถ้านับตั้งแต่วันที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้บริหารประเทศมาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2554 ถ้านับถึงวันที่เขียนบทความ (วันที่ 1 ธันวาคม 2554) ก็เป็นเวลาถึง 98 วัน เวลาที่ผ่านมารัฐบาลก็มีเหตุที่รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตมหาอุทกภัย และขณะนี้ก็ยังไม่จบเสร็จเด็ดขาด เป็นทุกขภัยอันยิ่งใหญ่ซึ่งไม่เคยเกิดกับประเทศมาก่อน จะละเลยไม่แก้ปัญหาไม่ได้แน่ๆ และก็ได้แก้ปัญหาในเรื่องวิกฤตมหาอุทกภัยคงจะเสร็จในเวลาอีกไม่นาน ในท่ามกลางที่ต้องแก้ปัญหาอันร้ายแรงดังกล่าว ก็เป็นการกระทำที่ชอบ แต่ถ้าหากจะมุ่งแต่เพียงแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศ หากไม่ทำเช่นนี้ ความเป็นรัฐบาลก็จะบกพร่องอย่างร้ายแรง และไม่สมควรที่จะทำหน้าที่เป็นรัฐบาลด้วยซ้ำ เพราะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ถ้านำหลักกฎหมายมากล่าวกันก็ถือได้ว่ารัฐบาลละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่ต้องนำหลักกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ และดังว่านี้มีมากมายหลายเรื่องจริงๆโดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการบริหารงานของรัฐ เพียงแต่ว่ารัฐจะจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนและจำเป็นที่จะจัดการให้แก่ประชาชนเท่านั้น การบริหารงานของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมนั้น จะมีปัญหากี่ปัญหาก็ตาม จะต้องแก้ไขไปพร้อมๆกัน จะละเลยปัญหาหนึ่งปัญหาใดมิได้ ผู้เขียนเห็นว่ามีปัญหาที่สำคัญและต้องแก้ไขโดยด่วน 98 วันที่ผ่านมานานมามากแล้วที่ไม่ยอมหยิบยกเอาปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง นำขึ้นมาแก้ไขแต่อย่างใด ปัญหาดังกล่าวคือ “การแก้รัฐธรรมนูญ” ตามที่สัญญากับประชาชนไว้ การละเลยหรือรอที่จะนำปัญหานี้มาแก้ไข ขอเรียนท่านว่าอาจจะไม่มีโอกาสที่จะทันได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาเพื่อแก้ไขได้เลย เพราะประชาธิปไตยที่เราได้มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จะมีอายุไปได้อีกกี่วันและกี่เดือน หรือจนครบวาระ ท่านก็ไม่สามารถทำนายและรู้อนาคตของรัฐบาลได้ เพราะอะไรรัฐบาลอาจจะรู้แล้วหรือไม่รู้ ที่ว่าไม่รู้นี่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ผู้เขียนขอสมมติเอาว่า รัฐบาลไม่รู้ก็แล้วกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องรีบแจ้งให้รัฐบาลทราบโดยด่วน จะช้าแม้แต่วันเดียวก็จะช้าไปด้วยซ้ำ ปัญหาที่จะชะลอการแก้รัฐธรรมนูญ หรือจะใช้เวลาในโอกาสอันควรนั้นไม่ได้โดยเด็ดขาด เหตุเพราะวันนี้หลายคนเข้าใจว่าเราได้รัฐบาลเป็นของประชาชนแล้ว ขอเรียนว่าท่านเข้าใจถูก แต่ถูกเพียงว่าเราได้จากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เรายังไม่ได้อำนาจการบริหารงานราชการโดยเด็ดขาด เหตุเพราะกลไกของรัฐเกือบทุกหน่วยงานของประเทศยังอยู่ในอำนาจของพวกอำมาตย์และอำนาจมือที่มองไม่เห็น กลไกต่างๆไม่อาจที่จะสลัดหน่วยงานของตนออกจากอำนาจดังกล่าวได้ มีตัวอย่างให้เห็นกันอย่างจะๆ ก็เหตุการณ์แก้ปัญหาวิกฤตมหาอุทกภัย ไม่บอกท่านก็ทราบว่ามีหน่วยงานไหนบ้างที่เข้าเกียร์ว่างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการ ศปภ. แม้เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ให้ความร่วมมือหรือปฏิบัติตามคำสั่งก็มีให้เห็นปรากฏให้ทราบแล้ว เพราะอำนาจดังกล่าวยิ่งใหญ่จริงๆ ยากที่คนใดคนหนึ่งจะหยุดยั้งอำนาจนี้ได้และยังจะดำรงอยู่ได้แต่จะนานแค่ไหนก็อยู่ที่ประชาชน และจริงๆแล้วประชาชนจำนวนหนึ่งคือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” เขาตาสว่างและรู้แล้วว่าอำมาตย์และมือที่มองไม่เห็นยังมีฤทธิ์เดชอันร้ายแรงมาก แม้ว่าอำนาจของอำมาตย์และมือที่มองไม่เห็นจะมีอำนาจควบคุมกลไกต่างๆของรัฐไว้เกือบทั้งหมด ก็มีวิธีแก้ไขไม่ให้อำนาจตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคนพวกนี้ได้ ก็คือแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉบับนี้โดยด่วน มิฉะนั้นท่านจะเสียโอกาสอันสำคัญ เช่น รัฐบาลของพรรคพลังประชาชนนำโดย นายกสมัคร สุนทรเวช ซึ่งไม่ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงตกกระทะหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปอย่างน่าเสียดายเป็นประวัติศาสตร์ไว้ให้เราแก้ไขมิใช่หรือ กำหนดกรอบการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันนี้เลยครับ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แม้จะมีรัฐประหารก็ต้องเสี่ยง เพราะถ้าเราไม่เสี่ยง เราตายไม่มีโอกาสรอด แต่ถ้าเราเสี่ยง โอกาสรอดมีมากกว่าตาย เลือกเถิดครับ เสี่ยงแก้รัฐธรรมนูญเลย ไม่ต้องไปวิตกกับอะไร เพราะเป็นความชอบธรรมที่สมบูรณ์ที่สุดในการกำหนดวันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550นี้ ไม่ได้เสี่ยงนะ แต่เป็นความชอบธรรมของรัฐบาลที่บอกว่าเสี่ยงก็คือว่า ถ้าพวกอำมาตย์และมือที่มองไม่เห็น จะทำอะไรประชาชนพร้อมแล้วที่จะอยู่เคียงข้างรัฐบาล อย่าให้ประชาชนต้องถามว่า “จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อไร?” |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น