วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555


การเมืองอ่อนแอ สร้างยุทธศาสตร์เข้มแข็งไม่ได้

การเมืองอ่อนแอ สร้างยุทธศาสตร์เข้มแข็งไม่ได้! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

การเมืองอ่อนแอ สร้างยุทธศาสตร์เข้มแข็งไม่ได้!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข 
คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ 
ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 
ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 41

"ไม่เคยมีสูตรวิเศษสำหรับชัยชนะ"
Colin S. Gray 
นักยุทธศาสตร์ร่วม

             นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แล้ว รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ รุมเร้าอย่างมาก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึงมาก่อน และเป็นปัญหาที่รัฐและสังคมไทยไม่เคยมีการเตรียมตัวอย่างจริงจังก็คือ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่

             จนต้องยอมรับว่า รัฐบาลมีอาการ "เซ" อยู่พอสมควรกับปัญหาเช่นนี้ แต่รัฐบาลก็ดูจะอาศัย "ความขยัน" ของนายกฯ เป็นปัจจัยในการปิดจุดอ่อน

             แต่เมื่อระยะเวลาผ่านพ้นจากปัญหาภัยจากน้ำท่วมขนาดใหญ่แล้ว สังคมไทยเองก็มีปัญหาความมั่นคงซึ่งรอคอยการมียุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล เพื่อกำหนดทิศทางในการก้าวเดินสู่อนาคต โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังจากปีใหม่ 2555 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็ยิ่งมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ต้องมีทิศทางยุทธศาสตร์ของไทยที่ชัดเจนในการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับปัญหาความมั่นคงที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต

             สำหรับนายกรัฐมนตรีซึ่งมีภูมิหลังและความคุ้นเคยมาจากภาคธุรกิจ ในด้านหนึ่งอาจจะต้องยอมรับว่าสิ่งที่เธอต้องเผชิญในบริบทของงานความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นเรื่องราวที่แตกต่างจากชีวิตในภาคธุรกิจโดยสิ้นเชิง

ในอีกด้านหนึ่ง เธออาจจะคิดถึงการพึ่งพากลไกภายในระบบ

             แต่ความเป็นจริงนับจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ก็เห็นได้ชัดเจนว่า กลไกในระบบไม่ว่าจะเป็นบทบาทของรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง หรือบทบาทขององค์กรที่จะต้องทำหน้าที่เป็น "ฝ่ายอำนวยการ" ให้แก่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในเรื่องของยุทธศาสตร์และความมั่นคง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นั้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด

             พร้อมๆ กับรัฐบาลเองก็ไม่ได้แสดงบทบาทของการกำกับดูแลในฐานะของฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็น "ผู้กำหนดนโยบาย" เท่าที่ควร

             ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดข้อสังเกตอย่างมากว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สนใจงานความมั่นคง"

             การตั้งข้อสังเกตเช่นนี้อาจถูกโต้แย้งจากรัฐบาลได้ไม่ยากนัก โดยรัฐบาลสามารถหยิบยกเอาเรื่องของการต่อสู้กับ "สงครามยาเสพติด" ขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อยืนยันว่า รัฐบาลนี้สนใจเรื่องงานความมั่นคง

             แต่ว่าที่จริงแล้ว การต่อสู้กับปัญหายาเสพติดถือได้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงที่สำคัญนั้น เป็นประเด็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในสังคมไทยปัจจุบัน

             การเปิดฉากทำ "สงครามต่อต้านยาเสพติด" มีส่วนโดยตรงต่อการทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้นในสายตาประชาชน และที่สำคัญก็อาจช่วยทำให้เสียงทางการเมืองของรัฐบาลดีขึ้นด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสงครามต่อต้านยาเสพติดได้กลายเป็น "ยุทธศาสตร์ความมั่นคง" ที่สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

             และว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนในหลายๆ พื้นที่ให้รัฐบาลสนใจและปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในระดับชุมชน

             ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ ภารกิจเช่นนี้สอดรับกับ "จริต" ของรองนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งที่กำกับดูแลงานความมั่นคงในส่วนของตำรวจ

             และสงครามชุดนี้ก็ยังสอดรับอย่างเหมาะสมกับบทบาทของผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ที่เติบโตขึ้นมาจากสายงานต่อต้านยาเสพติด

            ผลพวงจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้สงครามต่อต้านยาเสพติดถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ พื้นที่

            อย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความตื่นตัวในสังคมและชุมชน และในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลชุดนี้ อันก่อให้เกิดเสียงตอบรับในทางการเมืองโดยเฉพาะในระดับชุมชนหลายแห่งอย่างมาก

             แต่ความโดดเด่นของสงครามต่อต้านยาเสพติดของรัฐบาลก็จะต้องไม่ทำให้รัฐบาลคิดแต่เพียงว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาความมั่นคงหลักที่รัฐบาลต้องเผชิญเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้ (ไม่ว่าจะโชคดีหรือโชคร้ายก็ตาม) กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจนอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความท้าทาย" ด้านความมั่นคงที่สำคัญ

             และการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ล้วนแต่ต้องการการมียุทธศาสตร์ที่ดี เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน

             เพราะต้องตระหนักอย่างมากว่า ในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงเช่นในปัจจุบันนั้น รัฐบาลจะเดินไปข้างหน้าโดยปราศจากยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนไม่ได้

             และจะต้องตระหนักเสมอว่า การบริหารจัดการความมั่นคงเป็นประเด็นสำคัญของรัฐบาลทั่วโลกในปัจจุบัน

              ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะ "โชคร้าย" ที่กลไกความมั่นคงหลักซึ่งจะต้องเป็น "ฝ่ายอำนวยการ" ให้แก่รัฐบาล เช่น ในกรณีของสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น ก็เป็นอะไรที่หวังพึ่งไม่ได้...

              และบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า "พึ่งไม่ได้เลย!"

              ด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สมช. บางส่วนมีความใกล้ชิดอย่างมากกับรัฐบาลชุดที่แล้ว

              รวมถึงบางคนอาจจะมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดในการล้อมปราบการชุมนุมของคนเสื้อแดงมาแล้ว

              พวกเขาจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

             พวกเขาบางคนยัง "ฝันหวาน" อีกด้วยว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในท้ายที่สุดจะมีชะตากรรมไม่แตกต่างจากรัฐบาลสมัครหรือรัฐบาลสมชาย แล้วกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมก็จะกลับเข้าสู่อำนาจ และพวกเขาก็จะมีโอกาสรับใช้รัฐบาลอนุรักษนิยมอย่างสุดจิตสุดใจ จนไม่ต้องกังวลกับฝ่ายการเมืองที่มาจากพรรคเพื่อไทย

            ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่ สมช. จะกลายเป็น "แหล่งซ่องสุม" ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในสายงานความมั่นคง และบางครั้งก็ออกอาการ "เท้าราน้ำ" ในรัฐนาวาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอย่างยิ่ง

             แต่รัฐบาลนี้ ก็ "แสนดี" ที่ไม่กล้าโยกย้ายผู้บริหารใน สมช. และทั้งยังปล่อยให้พวกเขามีเสรีภาพในการทำนโยบายความมั่นคงเอาเอง โดยปราศจากการกำกับของฝ่ายการเมือง (ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย)

            ทั้งที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ปรับผู้บริหาร สมช. ออกเพราะถือว่า "ไม่ใช่พวก" แต่รัฐบาลนี้กลับ "เงียบ" จนไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายผ่าน สมช. ได้

            ซึ่งหากสรุปโดยรวมก็คือ ปัญหาการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถกำกับงานความมั่นคงได้จริง! 

             ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็พึ่งพากองทัพไม่ได้เท่าที่ควร ดังเป็นที่รู้กันดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับฝ่ายทหารนั้นเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ในตัวเอง

             เพราะในความเป็นจริงของการเมืองไทย กองทัพไม่ใช่เป็นเพียงฐานของกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมเท่านั้น หากแต่ยังมีบทบาทอย่างชัดเจนในการค้ำจุนรัฐบาลอนุรักษนิยมชุดเก่า และยังแสดงออกในการต่อต้านพรรคเพื่อไทยอย่างมากก่อนการเลือกตั้ง

             แม้กองทัพจะมีบทบาทเชิงบวกในการช่วยเหลือรัฐบาลในภาวะน้ำท่วม แต่ความสัมพันธ์เชิงบวกยังคงเป็นปัญหา ดังสะท้อนได้ชัดจากท่าทีของแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังกังวลต่อการรัฐประหาร และเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงรวมกำลังต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร

              ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกอย่างดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยความใส่ใจ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร สำหรับรัฐบาลนี้
              และจะเป็นประเด็นที่มีนัยอย่างสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐบาลในอนาคต

              การกำหนดยุทธศาสตร์ของปัญหานี้ยังจะมีส่วนเกี่ยวพันอย่างมากกับปัญหาการตีความคำตัดสินเดิมของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งหลายๆ ฝ่ายคาดว่าการตีความนี้น่าจะเกิดในช่วงปลายปี 2555

             อีกทั้งในปัจจุบันก็เห็นได้ว่า ศาลโลกออก "มาตรการชั่วคราว" หลังจากเกิดการสู้รบขึ้นในช่วงต้นปี 2554 และมาตรการชั่วคราวกำหนดให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลโลกกำหนดเป็น "เขตปลอดทหารชั่วคราว" ซึ่งประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่คาราคาซัง เพราะไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไทย/กองทัพไทย จะทำอย่างไรกับปัญหานี้

              สภาพเช่นนี้ทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป แม้หลายๆ คนจะเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศในปัจจุบันไม่มีปัญหาแล้วก็ตาม

             แต่ก็ต้องตระหนักว่า กระบวนการตีความของศาลโลกยังดำเนินต่อไป และต้องคิดเสมอว่า หากการตีความมีผลเป็น "ลบ" และเป็น "มาตรการบังคับ" ต่อไทยแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอย่างไร

            ผลที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นโอกาสให้ "กลุ่มเสื้อเหลือง" ฟื้นตัวหรือไม่

            และที่สำคัญก็คือ จะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลอีกหรือไม่

             ในอีกด้านหนึ่ง ผลจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าก็ต้องการการกำหนดยุทธศาสตร์ของไทย เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า หากรัฐบาลไทยไม่กำหนดยุทธศาสตร์รองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ประเทศไทยอาจจะถูกทิ้งให้ "ตกขบวน" และไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

             ปัญหาการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ไทย รัฐบาลอาจจะต้องคิดอย่างจริงจังมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเห็นได้ชัดเจนจากการขยายตัวของจีนทั้งในพม่าและในลาว ตลอดรวมถึงการขยายบทบาทในลำน้ำโขง (หลังจากเกิดกรณีสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ)

             การเชื่อมต่อทางการเมืองและความมั่นคงของความสัมพันธ์ไทย-จีน ยังคงเป็น "วาระความมั่นคง" ที่จะต้องพูดคุยและถกแถลงกันให้กว้างขวาง และพิจารณาด้วยความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง 

            ปัญหาคู่ขนานอีกส่วน ได้แก่ กรณีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรากฐานของระบบพันธมิตรเดิมของไทย

            การส่งสัญญาณถึงการเตรียมปรับบทบาทและนโยบายของสหรัฐ ในภูมิภาค ตลอดรวมถึงผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2555 อันเป็นปัจจัยโดยตรงในการกำหนดตัวบุคคลในการทำนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐ ในอนาคต ทำให้รัฐบาลไทยน่าจะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันใหม่

             โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของทิศทางนโยบายของสหรัฐ ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ที่อีกมุมหนึ่งถูกขับเคลื่อนเพื่อรองรับต่อการเปิดประเทศของพม่า

              ปัญหาการก่อการร้ายสากลก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลอาจจะต้องทำความเข้าใจมากขึ้น การกำหนด "ยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้าย" จะเป็นหัวข้อสำคัญของรัฐบาล ดังเหตุที่เกิดขึ้นใน 2 กรณีที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นสัญญาณ "นาฬิกาปลุก" เตือนใจว่า รัฐบาลจะละเลยต่อหัวข้อเช่นนี้ไม่ได้ และต้องเตรียมตัวที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ไทยอาจจะไม่โชคดีเช่น 2 ครั้งที่ผ่านมาก็ได้!

               นอกจากนี้ การกำหนดท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางในอนาคตก็เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของไทยต่อปัญหาปาเลสไตน์ ปัญหาบทบาทของอิสราเอล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันก็คือปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งหากเกิดการสู้รบในกรณีนี้จริง ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อวิกฤตน้ำมัน และจะทำให้โลกพลังงานได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือทำให้ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานทั้งของโลกและของไทยได้รับผลโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

               เรื่องราวเหล่านี้ยังไม่นับรวมปัญหาความมั่นคงในภาคใต้ และการเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ในโลกของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดรอบๆ ไทยนั้น รัฐบาลต้องเตรียมยุทธศาสตร์รองรับเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายในการก้าวเดินสู่อนาคต

                แต่ในสภาพที่การเมืองไทยวันนี้ยังมีความยุ่งยากและความเปราะบางดำรงอยู่ จนกลายเป็น "ความอ่อนแอ" ของระบอบการเมืองนั้น เราจะคาดหวังให้ระบอบการเมืองที่อ่อนแอสร้างยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งได้อย่างไร !
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น