วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


เลว โง่ ขลาด  โดย ใบต้องห้อง

เลว โง่ ขลาด
โดย คุณ ใบตองแห้ง (อ้างอิงจาก voice TV )

              พิธีรดน้ำศพอากงที่หน้าศาลอาญา โดนก่นด่าว่าทำให้รถติดยาวเหยียด ก็ต้องน้อมรับและชี้แจงว่า มันเป็นปรากฏการณ์ไม่คาดหมาย ไม่มีใครคิดว่ามวลชนจะออกมามากมายถึงเพียงนั้น ทั้งที่ป่าวประกาศกันไม่ทันชั่วข้ามวัน ไม่มีใครเป็นผู้นำ ไม่มีการจัดตั้งอะไรทั้งสิ้น

                 คำถามคือ ขั้วอำนาจต่างๆ ในสังคมไทยมองเห็นปรากฏการณ์นี้ไหม และยอมรับหรือยังว่า มาตรา 112 ก่อให้เกิดปัญหาในกระบวนการยุติธรรม เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ของวิกฤติสังคมไทย และต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “ปรองดอง” อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

               อย่าดูหมิ่นว่ามีคนแค่นับพัน เพราะนั่นแค่คนที่มาอย่างฉุกละหุกจากในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ผู้คนที่มีอารมณ์ร่วม ที่มาไม่ทัน ที่ไม่ได้มา มีอีกเท่าไหร่

               ความตายของอากง สะท้อนปัญหา 112 อย่างชัดเจน ทั้งบทบัญญัติและการบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมการณ์ที่กำกับการบังคับใช้และตีความ ซึ่งไม่ใช่อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นอุดมการณ์ราชาธิปไตย

               อากงผู้ชราและเจ็บป่วยไม่ได้ประกันตัว ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิผู้ต้องหาและจำเลยได้ประกันตัวสู้คดีหากศาลเห็นว่าไม่หลบหนีและไม่มีอิทธิพลไปทำลายพยานหลักฐาน อากงเคยถูกคุมขัง 63 วันในชั้นสอบสวน แล้วได้ประกันตัวไป 3 เดือนเศษ แต่เมื่อส่งฟ้องศาล กลับไม่ได้ประกันทั้งที่พฤติกรรมพิสูจน์แล้วว่าไม่หลบหนี อากงถูกคุมขังมา 1 ปีกับอีกเกือบ 4 เดือน ยื่นขอประกันตัว 8 ครั้งถูกปฏิเสธ กระทั่งสุขภาพทรุดลงและเสียชีวิต

               แต่สรุปว่า เราต้องโทษรัฐบาลในฐานะผู้ดูแลกรมราชทัณฑ์ ใช่ไหม

              ทำไมอากงไม่ได้ประกันตัว ทำไมจำเลยคดี 112 เกือบทั้งหมดไม่ได้ประกันตัว นอกจากปัญหาเชิงอุดมการณ์แล้วยังเกี่ยวกับอัตราโทษ ซึ่งกำหนดไว้สูง 3-15 ปี ศาลไม่สามารถตัดสินจำคุกต่ำกว่า 3 ปี อากงโดน 5 ปีคูณ 4 เป็น 20 ศาลก็บอกว่าโทษสูงอย่างนี้ขืนให้ประกันจำเลยก็หลบหนี

              เรายอมรับได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูน ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท สมควรต้องรับโทษ แต่ไม่มีประเทศประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศใดในโลก กำหนดโทษสูงเช่นนี้ 5X4=20สูงยิ่งกว่าฆ่าคนตายบางคดี และสูงกว่าสมัยที่เรายังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ

             ข้อแรก บทบัญญัตินี้สะท้อนปัญหาเชิงอุดมการณ์ ฆ่าคนตายยังมีโทษน้อยกว่าส่ง SMS ข้อความดูหมิ่นจาบจ้วง 4 ครั้ง มันสะท้อนอุดมการณ์ที่เกินเลยไปจากความเคารพรักเทิดทูนองค์ประมุขในระบอบประชาธิปไตย

            ข้อสอง มันขัดต่อหลักความสมควรแก่เหตุที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อเทียบกับโทษดูหมิ่น หมิ่นประมาท บุคคลธรรมดา หรือเจ้าพนักงาน หรือโทษอุกฉกรรจ์อื่นๆ

            ข้อสาม มันส่งผลต่อความยุติธรรม จำกัดสิทธิมนุษยชน เมื่อโทษสูงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ศาลไม่ให้ประกันตัว ถ้าจำเลยจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองบริสุทธิ์ ก็อาจต้องถูกคุมขังอยู่ถึง 4-5 ปี จำเลยส่วนใหญ่จึงแสวงหาทางออกด้วยการไม่ต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพ หรือไม่อุทธรณ์ฎีกา เพื่อให้คดีสิ้นสุด แล้วถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พึ่งพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ทรงพระราชทานอภัยโทษทุกรายไป

             แต่แม้จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ถามว่าจำเลยได้รับความยุติธรรมแล้วหรือไม่ ถ้าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ตัวอย่างเช่นอากง ซึ่งคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังไม่ทำให้สาธารณชนสิ้นสงสัย ว่าอากงเป็นผู้ส่ง SMS จริงหรือไม่ สมมติไม่จริง อากงก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา เพื่อพิสูจน์ว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความจ้วงจาบหยาบช้า แต่อากงไม่มีโอกาสนั้น เพราะท้ายที่สุดอากงจำยอมถอนอุทธรณ์ หากไม่ตาย อากงอาจได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ความผิดก็จะติดตัวอากงไปชั่วลูกชั่วหลาน

              นี่คือปัญหาที่เกิดกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งความตายของอากงได้จุดประเด็นขึ้น และเป็นเรื่องที่ควรถกเถียงหาหนทางแก้ไข หาทางออกไม่ให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นอีก เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขวิกฤติสังคมไทย
แต่ท่าทีของฝ่ายต่างๆ ที่สะท้อนออกมากับการเคลื่อนไหว กลับเป็นข้อกล่าวหา “หากินกับศพ” หรือไม่ก็เป็นท่าทีขลาดเขลา ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แก้ ไม่เกี่ยว ปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้น
เลว ไอ้เลว อีเลว

             เปล่า ผมไม่ได้ด่าดาราดังที่ออกมาเหยียบย่ำอากงว่าลงนรกเสียแผ่นดินจะได้ดีขึ้น ผมสมเพชมากกว่า เพราะคนเป็นดาราควรรู้ว่าการแสดงออกแบบนั้น จะทำให้ตัวเองได้คะแนนนิยมมากขึ้นหรือลดลง ดาราคนดังจำนวนไม่น้อยอาจคิดอย่างเธอ แต่พวกเขารู้ว่าการแสดงออกผิดกาลเทศะไม่เป็นผลดีกับตัวเอง

            มันไม่ใช่แค่เรื่องของความเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย แต่ปกติประเพณีไทยจะให้อภัยคนตาย ไม่ว่าคุณโกรธ เกลียด กันแค่ไหน ตายแล้วก็อโหสิ มีน้อยมากที่จะมาเหยียบย่ำซ้ำเติม ตรงนี้น่าคิดว่าอะไรที่มันฝังอยู่ในสมองน้อยๆ ของดาราสาวนมใหญ่ จนทำให้เธอล้ำเส้น

             น่าคิดว่าสังคมไทยปลูกฝังอะไรไว้ในสมองน้อยๆ ของผู้คนจำนวนมาก

             พวกที่เลว และเลวมาก ตัวจริง ก็คือพวกที่ออกมากล่าวหาว่า เสื้อแดงจะเอาศพอากงมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ “หากินกับศพ” ซึ่งมีทั้งสื่อบางส่วน แกนนำพันธมิตรบางคน ฝ่ายค้านบางคน และกระทั่งเสื้อแดงบางคน

              กลุ่มหลังต้องเรียกว่าทั้งเลวและงี่เง่า ไร้สมอง คิดแต่จะปกป้องรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมและประชาธิปไตย อ้างไปเรื่อยว่าจะทำให้เกิดรัฐประหาร โถ ถ้ารัฐบาลทำลายอุดมการณ์ของตัวเองไปเรื่อยๆ สิครับ ถึงจะเกิดรัฐประหาร โดยมวลชนสมน้ำหน้า

              กลุ่มแรกต้องบอกว่าเลว และเลวมาก เพราะพวกเขาส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาก่อน กลับมาโจมตีการเรียกร้องความยุติธรรมจากความตายของอากง ถามว่าพวกคุณ หรือพูดได้ว่าพวกเรา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันเมื่อก่อนเคยทำไหม ก็ทำมาตลอด เมื่อผู้นำชุมชน นักต่อสู้ นักเคลื่อนไหว ถูกยิงตาย เอ้า ยกตัวอย่างเจริญ วัดอักษร ได้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมและขยายผลเรื่องปกป้องสิทธิชุมชนไหม คุณเรียกว่าหากินกับศพไหม

ถ้าจะพูดกันอย่างนั้น พวกนักอนุรักษ์ก็หากินกับศพสืบ นาคะเสถียร มาไม่รู้กี่สิบปี

            คนพวกนี้ไม่ใช่สลิ่มแต่กำเนิด แต่เสแสร้งด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง พวกเขาทำมาหากินด้วยการอ้างสถาบันทำลายล้างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอด แล้วก็ยังหวังจะอ้างสถาบันล้มล้างรัฐบาล คำถามก็คือคนพวกนี้ เคารพรักเทิดทูนสถาบันจริงหรือไม่ หรือเห็นเป็นแค่อาวุธทางการเมือง ตรงนี้ต่างหากคือความแตกต่างระหว่างดารานมโตกับพวกเขา ที่ทำให้เรียกว่า “เลว” ได้เต็มปาก

โง่ ขลาด

           โง่ ขลาด ไม่กล้ายึดมั่นจุดยืน คือรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ตลอดจนแกนนำ นปช.บางคน

           พวกเขาขี้หดตดหายกับข้อหา “ล้มเจ้า” เสียจนไม่ยอมต่อสู้เพื่อความเป็นจริงที่ว่า สถาบันสูงสุดถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องอ้างอิงทางการเมือง หากต้องการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นยาวนาน 6 ปี เราจะต้องพัฒนาประชาธิปไตยให้มีความชัดเจนเรื่องอำนาจของปวงชน พร้อมๆ กับเทิดสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไปจากความขัดแย้งทางการเมือง

          ซึ่งการแก้ไขความไม่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญและปัญหาที่เกิดขึ้นจากมาตรา 112 ก็เป็นส่วนหนึ่ง

            มันจะไม่เป็นความจริงได้อย่างไรครับ ในเมื่อรัฐประหาร 19 กันยา 2549 หนึ่งในสี่ข้ออ้างก็คือ ทักษิณ “หมิ่นเหม่” จากนั้นเมื่อเกิดขบวนการต่อต้านรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ กระทั่งเติบโตมาเป็นเสื้อแดง ก็ถูกข้อหา “ล้มเจ้า” อยู่ตลอด จนคนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งแกนนำ นปช.เอง ถูกหางเลข-เลขที่ออก 112

            เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาจบ ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหากันเพียงการแสดงความจงรักภักดี สดุดี เทิดพระเกียรติ ไม่ขาดปาก แล้วไม่แก้ไขปมที่ทำให้สถาบันถูกดึงมาสร้างความขัดแย้ง

            แน่นอน เราไม่โทษรัฐบาลฝ่ายเดียว เพราะอุปสรรคสำคัญคือพวก “สายอำมาตย์” ที่ยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้วสุดโต่ง ไม่ยอมให้แก้ไขอะไรเลย ขณะที่ฝ่ายค้านฝ่ายแค้น ก็ตั้งป้อมสกัดกั้น เพราะยังต้องการใช้ข้อกล่าวหาเรื่องสถาบันเป็นอาวุธทำลายล้างสูง ในการโค่นล้มรัฐบาล

             แต่นั่นแหละ ที่เรียกร้องต้องการความกล้าหาญ ความมั่นคงในจุดยืนประชาธิปไตย และความจริงใจที่จะแก้วิกฤติโดยเทิดสถาบันออกไปจากความขัดแย้ง เป็นที่รักเคารพของปวงชนตลอดไป

             รัฐบาลต้องกล้าที่จะแสดงจุดยืน เสนอปัญหาทั้งต่อสาธารณะ และต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พยายามให้มีการหารือทั้งที่ลับที่แจ้ง ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะอย่างน้อย ความตายของอากง ก็ส่งผลสะเทือนกว้างขวาง ทั้งในและต่างประเทศ ที่สำนักข่าวต่างๆ รายงานข่าว วิเคราะห์ข่าวกันอื้ออึง

            ไม่ใช่เรื่องมันบานปลายซะขนาดนี้แล้ว ก็ยังแบะแบะ ไม่แก้ค่ะ ไม่เกี่ยวค่ะ

             ผมไม่ได้บอกว่ารัฐบาลจะต้องอ้ารับ สั่ง ส.ส.300 คน เสนอแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์เข้าสภาวันนี้พรุ่งนี้ รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เสียงเสื้อแดง หรือเสียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีปัญหา เรื่องนี้ต้องแก้ไข ไม่ใช่อยู่เฉยๆ วิธีแก้ไขทำอย่างไร ก็ต้องให้มีการหารือกันทุกฝ่าย

   ก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็มีคนชงลูกให้แล้ว ทั้ง คอป.ของ อ.คณิต ณ นคร ที่เห็นว่า 112 ต้องแก้ ทั้งอานันท์ ปันยารชุน ทั้ง 8 ราชนิกูลที่ทำหนังสือถึงนายกฯ ถามว่าคนเหล่านี้เป็นเสื้อแดงไหม เป็นพวกของรัฐบาลไหม ก็ไม่ใช่ ถ้ารัฐบาลกล้าหาญ ก็สามารถมอบหมายให้ คอป. หรือไม่ก็คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพเปิดหารือกับทุกฝ่าย เชิญทุกกลุ่มมาช่วยกันคิดว่าจะแก้ 112 หรือไม่อย่างไร

       การตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลเลยนะครับ แค่แสดงความกล้าหาญเปิดให้มีการหารือ ซาวเสียง ของสาธารณชน ตามวิถีประชาธิปไตย พร้อมไม่พร้อม ควรแก้ไขหรือไม่ ให้สังคมหาคำตอบ

     ตรงกันข้าม ถ้ารัฐบาล พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ไม่กล้าหาญ ไม่แสดงจุดยืน นอกจากเสียศรัทธาโดนก่นด่าจากมวลชน ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ความเชื่อมั่นไว้วางใจจากพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว หรือได้ความปรานีจากฝ่ายค้านฝ่ายแค้นเสียเมื่อไหร่ ยังไงๆ พวกเขาก็จะพยายามโค่นล้มรัฐบาลอยู่ดีนั่นแหละ

     ฉะนั้นถ้ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังเดินไปเช่นนี้ ก็จะเสียค่าโง่อยู่ดี

ผู้จงรักภักดีทีแท้จริง

              กลุ่มบุคคลที่ควรจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤติคือ ผู้จงรักภักดีที่แท้จริง ซึ่งมองเห็นปัญหาของการดึงสถาบันลงมาสู่ความขัดแย้ง และจะต้องหาทางช่วยคลี่คลาย โดยไม่เอาจุดประสงค์ทางการเมืองของตนเป็นที่ตั้ง

             ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นเพียงอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน (แม้ผมจะเห็นไม่ตรงกับท่าน) และ 8 ราชนิกูล (ซึ่งบางคนเคยด่าประณามเสื้อแดงเผาเมือง แต่ท่านก็ยังมีสติเห็นว่า 112 คือปัญหา)

             ผมไม่เข้าใจว่าคนอื่นๆ มองปัญหาแบบมืดบอด มีแต่โมหะ จนเห็นด้านเดียว ไม่ยอมแก้ไขปรับเปลี่ยนอะไรเลย หรืออย่างไร จึงเห็นแต่ทัศนะอย่าง พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร
             โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลในสถาบันตุลาการ ซึ่งน่าจะตระหนักว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลสะท้อนอย่างไร

              การแก้ไขวิกฤติของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริง ที่มีสติปัญญา จะต้องเข้ามามีบทบาท ไม่ว่าทางลับทางแจ้ง ในการถอดสลักความขัดแย้ง ส่วนที่เกิดจากการอ้างอิงสถาบัน แล้วปล่อยให้ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อสู้กันไปในระบอบประชาธิปไตยปกติ

              ซึ่งการถอดสลักไม่ใช่บอกให้หยุดพูด หยุดพาดพิง หยุดอ้าง และพร้อมใจกันแซ่ซ้องสดุดีอย่างเดียว แต่ต้องแก้ปัญหาที่เป็นจริงด้วย โดยปัญหาที่เกิดจาก 112 ก็อยู่ในนั้น

              เช่นกัน ผมไม่ได้เรียกร้องว่าต้องแก้ไข 112 ตามแนวทางนิติราษฎร์เป๊ะ นั่นเป็นเรื่องหลักการ ที่ต้องใช้เวลาโน้มน้าวความเห็นของสังคม แต่ทำอย่างไรก็ได้ แก้ไขปัญหาที่มันเป็นอยู่ตอนนี้ สมมติเช่น ใครที่คดีสิ้นสุด ก็ช่วยกันเร่งรัดกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ ใครที่เขาต่อสู้คดี อย่างเช่นสมยศ ก็หาช่องทางให้เขาได้ประกัน ใครที่แจ้งความจับกันให้มั่ว ก็กำหนดเงื่อนไขให้กลั่นกรองคดี ตัวบทบัญญัติเมื่อมีปัญหาเรื่องโทษ ก็ลดโทษลงอย่างน้อยไม่ให้มีโทษขั้นต่ำ

   ทำให้มันจบสิครับ ช่วยกันถอดสลักความขัดแย้ง เพื่อรักษาสถาบัน แล้วถ้าฝ่ายค้านฝ่ายแค้น ยังอ้างสถาบันมาโจมตีรัฐบาลหรือมวลชนเสื้อแดง ผู้หลักผู้ใหญ่อย่างนายกฯ อานันท์หรือหมอประเวศ ก็ออกมาด่าเสียบ้าง ทหารผู้จงรักภักดีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้จักเบรกเสียบ้าง (ไม่ใช่เบรกแต่การแห่ศพอากง) ความขัดแย้งมันก็จะกลับไปสู่ภาวะปกติ คือด่ากันเรื่องแพงทั้งแผ่นดิน เรื่องรถไฟฟ้า เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ฯลฯ

               ปัญหาคือ ผู้จงรักภักดีที่มีสติ มีปัญญา หาได้เยอะจริงหรือเปล่า และทำไมหนอ เราถึงเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์ที่อ้างความจงรักภักดีไม่ขาดปาก ให้ทำอย่างนี้ไม่ได้เลย

                                                                                                ใบตองแห้ง
                                                                                                12 พ.ค.55
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น