วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รัฐสภา กับ ศาล โปรด “ถอยคนละก้าว”


รัฐสภา กับ ศาล โปรด “ถอยคนละก้าว”

รัฐสภา กับ ศาล โปรด “ถอยคนละก้าว”
Posted: 08 Jun 2012 04:36 AM PDT (อ้างอิงจาก เวบไซท์ประชาไท)
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ 
http://www.facebook.com/verapat    

            บทความโดย “วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ” เสนอแนะ "ทางออก" ของปัญหาความขัดแย้งระหว่าง รัฐสภา และ ศาล รธน. ทำได้ไม่ง่าย  แต่หากเราจะช่วยกันทำจริง และจริงใจ

            ผู้เขียนขอย้ำ หลักกฎหมาย” ว่า สิ่งที่ ศาลรัฐธรรมนูญ” เรียกชื่อว่า คำสั่ง” ให้ “รัฐสภา” รอการพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระที่ 3 นั้น เป็นสิ่งที่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ “ไม่อาจมีผลผูกพันต่อรัฐสภา” ได้ (คำอธิบายดูที่http://on.fb.me/NkNvdE ) ซึ่งบัดนี้สมาชิกเสียงข้างมากในสภา ก็ดูจะเห็นไปในทางนั้น

            ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น คือ เราจะยึด หลักกฎหมาย” ที่ว่านี้อย่างไรให้นำไปสู่ ผลทางการเมือง ที่น่าปรารถนา ?

            “รัฐสภา” พึงระวังว่า หากเสียงข้างมากเร่งเดินหน้า “ปฏิเสธ ศาลทันทีทันใดอย่างย่ามใจ ก็อาจทำให้ ผู้ไม่หวังดี ฉกฉวยโอกาสทางการเมืองมาทำลายประชาธิปไตย ตลอดจนชักนำมวลชนไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

            “ศาล” ก็พึงระวังว่า ฐานแห่งอำนาจตุลาการ คือ ความชอบธรรมและเหตุผลแห่งการใช้อำนาจตามกรอบแห่งกฎหมาย หากศาลย่ามใจจนใช้อำนาจเกินเลยให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย ศาลก็จะกลายเป็นผู้ทำลายฐานอำนาจของตนในที่สุด

             เมื่อเป้าหมายสูงสุดของกฎหมาย คือ ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและความมั่นคงของประชาธิปไตย ผู้เขียนจึงขอเสนอให้ “รัฐสภา” และ “ศาล” โปรด ถอยคนละก้าว” และนำ หลักกฎหมาย” มาผสานเข้ากับ ความแยบยลทางการเมือง เพื่อหาทางออกร่วมกัน ตาม ข้อเสนอ 7 ลำดับขั้น ดังต่อไปนี้

             ขั้นที่ 1. รัฐสภาไม่ควรเร่งเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที แต่ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายและแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ว่า รัฐสภาควรปฎิบัติตาม ข้อเสนอ 7 ลำดับขั้น ฉบับนี้ (หรือข้อเสนออื่นๆหรือไม่ โดยการรอนั้น มิต้องถือเป็นการปฏิบัติตาม คำสั่ง ที่ว่าหรือไม่ แต่เป็นการตัดสินใจของรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสหารือเท่านั้น

             ขั้นที่ 2. สมาชิกรัฐสภาควรร่วมประกาศคำสัตย์ต่อปวงชนว่า เมื่อใดที่การแก้ไข มาตรา 291 ได้เสร็จสิ้นจนเกิดบทบัญญัติหมวดใหม่ คือ หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียบร้อยแล้ว สมาชิกรัฐสภาจะร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อเพิ่มข้อความให้ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้มีโอกาสตรวจสอบ “ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ยกร่างโดย ส.ส.ร. ว่า มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ หรือไม่

             ขั้นที่ 3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ควรสำนึกในบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (1)() และ มาตรา 244 (3) ประกอบกับมาตรา 244 วรรคสอง ทำการพิจารณาสอบสวนและจัดทำ ข้อเสนอแนะ” อย่างเร่งด่วนว่าเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” หรือแม้แต่ ประธานรัฐสภา” ควรปฏิบัติต่อสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า คำสั่ง หรือไม่ ดังนี้:

             “ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า คำสั่ง นั้น แท้จริงแล้วก็คือ คำขอ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ซึ่งย่อมไม่มีข้อกำหนดหรือวิธีพิจารณาข้อใดที่จะมาขัดหรือแย้งได้ ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเสนอแนะว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” หรือแม้แต่ ประธานรัฐสภา ย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าจะสามารถปฏิบัติตาม คำขอ” ดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ การใช้ดุลพินิจดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย    

              ขั้นที่ 4. หาก รัฐสภา มีความเห็นไปในทางเดียวกันกับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า คำสั่ง นั้น ก็คือ คำขอ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213  และเมื่อพิจารณาความเห็นของ อัยการสูงสุด” ที่พบว่าคำร้องที่เกี่ยวข้องนั้นปราศจากมูลการกระทำตามมาตรา 68 แล้วไซร้   รัฐสภา  ย่อมชอบที่จะใช้ดุลพินิจไม่ปฏิบัติตาม คำขอ” ของศาลดังกล่าว และ ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็ย่อมพึงตระหนักใน การถ่วงดุลอำนาจโดยสภาพระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ” อีกทั้งพิจารณาถึง คำสัตย์ของสมาชิกรัฐสภา (ตามข้อเสนอลำดับขั้นที่ 2 ข้างต้น) เพื่อสามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งที่ตนเรียกว่า คำสั่ง นั้น ก็คือ คำขอ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213  เช่นกัน

              ขั้นที่ 5. หาก การถ่วงดุลอำนาจโดยสภาพระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นได้เช่นนี้  รัฐสภา ย่อมชอบที่จะเดินหน้าลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระที่ 3 ต่อไป และเมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็ย่อมชอบที่จะใช้อำนาจตาม ข้อ 23 แห่งข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ เพื่อ จำหน่ายคำร้อง ด้วยเหตุว่าประเด็นหรือวัตถุแห่งการพิจารณาตาม มาตรา 68 ได้สิ้นสุดไปแล้ว (ไม่ว่าการกระทำที่กล่าวอ้างจะเข้ากรณี มาตรา 68 หรือไม่)

              ขั้นที่ 6. ทันทีที่ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” มีผลบังคับใช้ สมาชิกรัฐสภาต้องรักษาคำสัตย์ โดยดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอีกครั้งเฉพาะในส่วนที่เพิ่มให้ ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้มีโอกาสตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. จะได้ยกร่าง (เฉพาะประเด็นตามข้อเสนอลำดับขั้นที่ 2.) ทั้งนี้โดยไม่เป็นการกระทบต่อกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้อง

              ขั้นที่ 7. จากนั้นทุกฝ่ายควรร่วมกันเดินหน้าจรรโลง กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งพึงได้รับ การตรวจสอบถ่วงดุลโดยปวงชนชาวไทย” อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะโดยกระบวนการขั้นตอนเลือกตั้ง ส.ส.ร. ไปจนถึงการเคารพ วิจารณญาณทางประชาธิปไตย” ของปวงชนผู้ไปลงประชามติเพื่อแสดงเจตจำนงกำหนดอนาคตของตนเองในท้ายที่สุด

--------------------------------------------------------------
ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำแถลงโดยอัยการสูงสุด
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ 
นักกฎหมายอิสระ 
http://www.facebook.com/verapat         

         เมื่อผมได้ฟังคำแถลงของอัยการสูงสุดเสร็จแล้ว รู้สึกเสียดายว่า แทนที่จะสามารถชมเชยอัยการฯได้เต็มปาก กลับต้องบอกว่าอัยการฯ อาจกำลังใช้อำนาจหน้าที่เกินกรอบตามรัฐธรรมนูญ จนคำแถลงของอัยการฯ ฟังประหนึ่งคล้ายคำวินิจฉัยของศาล

         จริงอยู่ว่าอัยการฯ ท่านอ้างกฎหมายได้น่าคล้อยตามหลายข้อ และพยายามแถลงรายละเอียดเพื่อไม่ให้สังคมเคลือบแคลง โดยแม้อัยการฯ จะบอกว่าดูเรื่อง "มูล" ของการกระทำเท่านั้น และไม่ได้วินิจฉัยแทนศาลก็ตาม แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นจากการแถลงดังกล่าว ก็คือ อัยการฯได้ใช้อำนาจเกินเลยถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 โดยอัยการฯ กำลังสร้างบรรทัดฐานว่า ต่อไปนี้ "การใช้อำนาจหน้าที่" ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา สามารถถูกตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงโดย "อัยการสูงสุด" ตาม มาตรา 68 ได้

          ซึ่งผมต้องย้ำให้ชัดว่า ผมไม่เห็นด้วย และก็สังหรณ์ไว้แล้วว่า อัยการฯอาจพลาดท่า ผมเขียนไว้ในบทความฉบับนี้ตั้งแต่เรื่องนี้ยังไม่เป็นประเด็น ( http://on.fb.me/LpqdCF )

          สิ่งที่ถูกต้องคือ อัยการฯท่านต้องแถลงให้ชัดว่า คำร้องทั้งหลายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้น ล้วนเป็นเรื่อง "การใช้อำนาจหน้าที่" จึงย่อมไม่ใช่ "การใช้สิทธิเสรีภาพ" ตาม มาตรา 68 วรรค 1 ดังนั้น อัยการฯ จึงไม่สามารถไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่  (หากพบว่ามีมูลเป็น "การใช้สิทธิเสรีภาพ" ก็ค่อยตรวจสอบมูลในส่วนอื่นต่อไป)

          หากอัยการฯไม่ "กรอง" คดีโดยแยกแยะการกระทำที่เป็นหรือไม่เป็น "การใช้สิทธิเสรีภาพ" เสียก่อน แต่กลับเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดของเรื่องที่เสนอมา อัยการฯก็กำลังสร้างบรรทัดฐานที่เพิ่มภาระให้อัยการฯต้องทำการตรวจสอบเรื่องทุกเรื่องที่มีใครเสนอมา ซึ่งสิ้นเปลืองทั้งเวลา งบประมาณแผ่นดิน และอาจไปสร้างภาระให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่ต้องมาชี้แจงให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วย

           หากคำแถลงเป็นเช่นนี้ ต่อไปหากอัยการสูงสุดท่านไหนใจใหญ่ ก็อาจยื่นคำร้องอีกสารพัดเรื่องต่อศาลได้ เพราะไม่ว่าจะเป็น “การใช้สิทธิเสรีภาพ” หรือ “การใช้อำนาจหน้าที่” ก็ดูประหนึ่งจะตรวจสอบได้ทั้งหมด

ข้อมูลที่มา เวบไซท์ประชาไท  http://www.prachatai.com
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น