วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เมื่อความจริงถูกบิดเบือน


เมื่อความจริงถูกบิดเบือน
วันที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 7863 ข่าวสดรายวัน
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObWIzSXpNREE1TURZMU5RPT0%3D&sectionid=
TURNd05nPT0%3D&day=TWpBeE1pMHdOaTB3T1E9PQ%3D%3D 
'ภาพข่าว'เล่าไม่หมด เมื่อความจริงถูกบิดเบือน
สกู๊ปพิเศษ


           ในยุคโลกาภิวัตน์ อินเตอร์เน็ตและโทรทัศน์ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารกันถ้วนหน้า ต่างจากในสมัยก่อนที่มีเพียงหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือฟังเขาเล่าต่อๆ กันมา
          ข่าวสารต่างๆ รายงานกันฉับไวพร้อมภาพ ในหลายโอกาสก็ถึงกับรายงานสดจากที่เกิดเหตุทีเดียว 
           ในหนังสือวิชาสปช. ตั้งแต่สมัยประถมฯ มีข้อสอบถามว่า สื่อใดน่าเชื่อถือที่สุด ระหว่าง ก. วิทยุ ข. หนังสือพิมพ์ ค.โทรทัศน์ คุณครูก็ต้องเฉลยว่าเป็นโทรทัศน์ทุกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า 'เราดูทีวี เรามองเห็นภาพ' เท่ากับว่า ข่าวใดที่มีภาพให้เราเห็นนั้น น่าเชื่อถือเป็นพิเศษ
           สอดคล้องกับคำพังเพยไทยที่ว่า 'สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น' สำนวนฝรั่งก็มีคำว่า A picture is worth a thousand words หรือที่แปลว่า ภาพๆ เดียวเล่าเรื่องราวได้หลายพันคำ อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น
         ยกตัวอย่างกรณีภาพแคมป์ผู้อพยพชาวบอสเนียที่สร้างกระแสฮือฮาในโลกตะวันตกเมื่อปี 2535
         ในขณะนั้นกำลังเกิดวิกฤตความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวเซิร์บ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยูโกสลาเวีย กับชาวบอสเนียที่ต้องการแยกดินแดนเป็นเอกราช ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลายไปถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 
          เมื่อนักข่าวภาคสนามส่งภาพผู้ลี้ภัยที่ผอมแห้งจนเห็นซี่โครงยืนเกาะรั้วลวดหนามอยู่ในค่าย ผู้อพยพเมืองทรอโนโพยี ส่งมายังต้นสังกัดที่อังกฤษ สื่อหลายสำนักเล่นภาพนี้ลงหน้าหนึ่งทันที
          สาธารณชนตะลึงกับภาพที่เห็น เพราะชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างชาวยิวในค่ายกักกันนาซีเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เชื่อว่าภาพนี้จุดกระแสสนับสนุนการแทรกแซงในยูโกสลาเวียโดยกองกำลัง 'นาโต้' ในเวลาต่อมา
          แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความจริงก็ปรากฏว่านักข่าวถ่ายภาพยืนอยู่ในบริเวณที่มีรั้วลวดหนามล้อมรอบ บรรดาผู้ลี้ภัยยืนอยู่ข้างนอก ซึ่งค่ายดังกล่าวไม่มีรั้วลวดหนามเลย และผู้อพยพก็เลือกเข้ามาอยู่เอง มิได้ใกล้เคียงค่ายกักกันนาซีดังที่ชาวตะวันตกเข้าใจ 
           ภาพประวัติศาสตร์ของสำนักข่าวเอพี ที่แสดงรูปนายพลเวียดนามใต้ (พันธมิตรของสหรัฐ) ประหารชีวิตชาวเวียดนามเหนือในชุดพลเรือน กลางถนนเมืองไซง่อน ปี 2511 ซึ่งชนะรางวัลพูลิตเซอร์ในปีถัดมา ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามในอเมริกาอย่างมาก เพราะดูเหมือนทหารเวียดนามใต้ป่าเถื่อน แต่แท้จริงแล้ว เหตุการณ์ในภาพคือชายในรูปเป็นสมาชิก ใต้ดินของเวียดกงที่แทรกซึมเข้ามาสังหารทหารและประชาชนในเวียดนามใต้ ก่อนจะถูกจับได้และประหารชีวิตนอกจากสื่อมวลชนแล้ว โลกอินเตอร์เน็ตก็นำเสนอ 'ภาพ' ที่ชวนไขว้เขวหลายครั้ง
         กรณีเมื่อเร็วๆ นี้ มีภาพศพไหม้เกรียมในแอฟริกา ที่ส่งต่อกันใน 'ฟอร์เวิร์ดเมล์' อย่างแพร่หลาย พร้อมคำบรรยายว่าเป็นศพชาวคริสต์ที่ถูกชาวมุสลิมเผาทั้งเป็นในไนจีเรีย ทั้งที่ความจริงเป็นภาพเหยื่อผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบรรทุกน้ำมันระเบิดในประเทศคองโก
         ขณะที่ภาพทหารสวมรองเท้าบู๊ตเหยียบหน้าอกเด็กหญิงอาหรับ ก็เผยแพร่กันในหมู่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวปาเลสไตน์กล่าวหาว่าเป็นฝีมือทหารอิสราเอล แต่จากการตรวจสอบ พบว่ารูปนี้เป็นภาพผู้ประท้วงที่แต่งกายล้อเลียนทหารอิสราเอล และแสดงท่าทางประชดการรุกรานปาเลสไตน์ด้วยการเหยียบเด็กสาวในรูป 
         สังเกตว่ากรณีเหล่านี้ มิใช่การตัดแต่งภาพ แต่เป็นภาพจริงๆ ที่ความหมายบิดเบือนเพราะการเล่าเรื่องที่ผิดจากความเป็นจริง
          ดังนั้น ในสมัยปัจจุบัน ผู้รับข่าวสารคงต้องมีภาษิตใหม่ว่า 'สิบตาเห็นไม่เท่าการใช้วิจารณญาณ'
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น