วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

2+2=5 และ 3+3=9



คณะรัฐประหารบอกว่า 2+2=5  
...ตุลาการภิวัฒน์บอกว่า 3+3=9


           หลังรัฐประหาร 2549 ประชาชนถูกสอนว่า 2+2 ต้องเท่ากับ 5 หลังจากผ่านไปปีเศษ ก็มีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนยืนยันเลือกพรรคพลังประชาชน เหมือนเป็นการยืนยันว่า 2+2=4

           แต่วันนี้กลุ่มอำนาจเก่าไม่ใช้กำลังทหารมาบังคับอีกแล้ว พวกเขาเสนอทฤษฎีใหม่ว่า 3+3=9 การต่อสู้จึงกลายเป็นการถกเถียงตีความว่าเครื่องหมายระหว่างเลข 3 สองตัวซึ่งเป็นรูปกากบาท คืออะไรกันแน่ 

ถ้าตั้งตรงก็เป็นเครื่องหมาย +  

ถ้าตะแคงก็เป็นเครื่องหมาย x   

ถ้าหากว่าเอียงนิดหน่อย ก็กลายเป็นปัญหาเพราะ อาจจะมีผลลัพธ์ได้สองอย่างคือ 6 หรือ 9
       
           ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ศาลก็เข้ามามีอำนาจอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ไม่ว่าใครจะอ้างกฎหมาย คิดวาทกรรมสวยหรูแค่ไหน เป้าหมายก็ยังเป็นการยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน  

ถ้าเปรียบเทียบการต่อสู้ในปี 2549 และ 2554 จะพบว่าในปี 2549 ฝ่ายประชาธิปไตยมีอำนาจตามโครงสร้างเกือบครบ ทั้งรัฐธรรมนูญ ส.ส. รัฐบาล แต่ฝ่ายอำนาจเก่า มีกำลังมวลชนจัดตั้งและทหาร  

             ในเดือนกันยายน 2549 สัจธรรมที่ประธานเหมาเคยกล่าวไว้ก็ปรากฏเป็นจริง "อำนาจรัฐมาจากกระบอกปืน" ทั้งกระบอกปืนใหญ่จากรถถังและกระบอกปืนเล็กอย่าง M-16 ไม่ต้องลั่นกระสุนแม้แต่นัดเดียวก็ยึดอำนาจไว้ได้  

แม้ฝ่ายประชาธิปไตย มีจำนวนมาก ก็เปรียบเสมือนเพียงฝูงแกะ คนส่วนใหญ่จึงจำต้องยอมรับว่า 2+2=5

             แต่ในปี  2553-2554 ฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาลมี ส.ส. น้อยกว่า รัฐธรรมนูญก็เป็นฉบับเผด็จการกลับรุกจนกระทั่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้ไม่มีกำลังทหารแต่พวกเขามีกำลังจากประชาชนและคนเสื้อแดงสนับสนุน  

             การเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2554 ถ้าหากไม่มีพลังของประชาชนสนับสนุน รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ต้องลอยไปกับกระแสน้ำไม่เกินต้นปี 2555 แน่นอน

           - การต่อสู้ในปี 2553-2554-2555 พิสูจน์ว่าพลังของประชาชนสามารถสกัดกั้นการรัฐประหารที่พวกกลุ่มอำนาจเก่าอยากจะทำไม่ให้เกิด แต่พวกตุลาการภิวัฒน์ ใช้ความพยายามครั้งใหม่ทำให้คนเชื่อว่า 3+3=9  

การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงเป็นเรื่องท้าทายแต่จะได้ประโยชน์


การกำหนดยุทธศาสตร์
และแนวทางการต่อสู้ของแต่ละฝ่ายวันนี้


ผู้วิเคราะห์อยากให้ย้อนดูว่าตลอดเหตุการณ์หลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายประชาธิปไตยได้เดินตามยุทธศาสตร์หลายเรื่อง  
เช่น ปี 2553 ยุทธศาสตร์คือให้มีการยุบสภา  
ในปี 2554 ยุทธศาสตร์คือการเอาชนะเลือกตั้ง  
และในปี 2555 ยุทธศาสตร์คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ
ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและมีความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม
ถ้าหากปี 2555 แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จก็มิได้หมายความว่าจะพ่ายแพ้ย่อยยับไปในการต่อสู้ แต่ก็ยังมีเวลาเดินหน้าเพื่อต่อสู้ตามจังหวะก้าวต่อไป 
ตลอดทั้งปี 2555 การขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งจำเป็นต้องใช้แนวทางการต่อสู้แบบประสานทั้งนอกสภาในสภา 
ใช้ยุทธวิธีผ่านทั้งองค์กรอิสระ ส.ส และ ส.ว ศาลต่างๆ กลุ่มมวลชนจัดตั้ง เล่นเกมให้เข้าจังหวะกัน
           ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าเล่นแต่ในสภาคือแก้รายมาตราล้วนๆ มีแต่เสียเวลา ถ้าเปิดเกม แก้รายมาตราเฉพาะที่เป็นอุปสรรค และเดินหน้าทำประชามติจะเดินได้ทั้งนอกและในสภา สมใจอยากด้วยกันทุกฝ่าย ประชาชนมีส่วนร่วม จะถกเถียงและอธิบายปัญหาทุกเรื่องผ่านสื่ออะไรก็ได้ มีเวลา 90 วัน ก็ตั้ง 90 เวที ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะพูดสิ่งที่เป็นสัจธรรมมากกว่ากัน 

           ผู้อาวุโสวิเคราะห์การต่อสู้ทุกยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา พบว่าแนวทางการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน คือต้องเดินหน้า ขยายจำนวนประชาชนที่ก้าวหน้า ขยายคุณภาพด้วยการติดอาวุธความคิดให้มีความเข้าใจ และยกระดับความรู้ทางการเมืองและทางกฎหมาย ทั้งคนเสื้อแดงคนเสื้อเหลืองคนเสื้อฟ้ายังต้องการความรู้เพิ่ม เพื่อใช้กระจายข่าวสารและตัดสินใจ นี่จึงเป็นโอกาสของการเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง 

สรุปว่า เมฆฝนทุกลูกที่กล่าวมาหรือแม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เป็นแค่ฝนตามฤดูกาล  
แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ฝนธรรมดา เป็นพายุฝนที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษตามธรรมชาติ

เราต้องหาวิธีป้องกันความเสียหาย และหาทางใช้ประโยชน์จากน้ำฝนให้มากที่สุด 
เพราะนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่เลี้ยงชีวิตพวกเราอยู่ใต้ฟ้าเมืองไทยไม่ต้องกลัวฝนและฟ้าร้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น