วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดเผยล่าสุด "คำสั่งรักษาด่านฯ ศอฉ." สั่งการทหาร-ตำรวจหลายหน่วย


เปิดเผยล่าสุด "คำสั่งรักษาด่านฯ ศอฉ." สั่งการทหาร-ตำรวจหลายหน่วย

             ขณะที่ ผบ.ทบ.บอกคำสั่งรักษาด่านฯ ศอฉ. ไม่ใช่เอกสารลับ ท้าสื่ออยากให้เป็นเรื่องก็เอาออกมาเยอะๆ ยันการเผยแพร่เอกสารไม่เป็นการกดดันอะไรทั้งสิ้น แต่อยู่ที่เรื่องอะไรควรไม่ควร ขณะที่ดีเอสไอเตรียมเรียกทหารที่เกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมเข้าให้ปากคำ 22 ส.ค. นี้

              ตามที่เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ทีผ่านมา ประชาไท เผยแพร่เอกสาร “สยก.ศอฉ. ที่ กห.0407.45 (สยก.)/130” เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งมีทั้งหมด 5 แผ่น โดยในข้อ 2.5 ระบุว่า “ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้” นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

               ต่อมาด้วยการให้สัมภาษณ์เมื่อ 19 ส.ค. 55 ของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพ (ทบ.) ที่ออกมายอมรับเอกสารดังกล่าวว่าเป็นเอกสารจริง แต่ไม่กังวล และที่ผ่านมาได้อธิบายให้สังคมเข้าใจมาโดยตลอดว่าการปฏิบัติงานของ ศอฉ. ยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก (อ่านข่าวทีเกี่ยวข้อง)

ประยุทธ์บอกคำสั่งรักษาด่าน ศอฉ. ไม่ใช่เอกสารลับ

ท้าสื่ออยากให้เป็นเรื่องก็
เอาออกมาเยอะๆ

             ล่าสุด วันนี้ (20 ส.ค.) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดเผยเอกสาร “สยก.ศอฉ. ที่ กห.0407.45 (สยก.)/130” ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า เอกสารดังกล่าว ไม่ใช่เอกสารลับ แต่อยากให้สื่อระมัดระวังในการนำเสนอในสิ่งที่จะทำให้เป็นเรื่อง แต่ถ้าอยากให้เป็นเรื่องก็เอาออกมาเยอะๆ ไม่เป็นไร

             ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกมาเผยแพร่เอกสารเป็นการสร้างความกดดันให้ ผบ.ทบ.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มากดดันอะไรตนทั้งสิ้น แต่อยู่ที่อะไรควรไม่ควร ไม่อยากจะพูดแล้ว เบื่อ

             โดยการท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันนี้ถือเป็นการออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า เอกสาร “สยก.ศอฉ. ที่ กห.0407.45 (สยก.)/130” เป็นเอกสารจริง ขณะที่ก่อนหน้านี้ในการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 16 ส.ค. 55 กล่าวแต่เพียงว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ เป็นเพียงปืนติดลำกล้องเพื่อใช้ระวังป้องกัน ซึ่งในตลาดนัดก็มีขายสำหรับใช้ยิงนก ขณะที่เมื่อก่อนหน้านี้เมื่อ 16 พ.ค. 53 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ก็ปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ มีเพียง “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ทำหน้าที่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ต่ำหรือตามถนนหนทางโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีบุคคลผู้ใดถืออาวุธหรือจะเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะใช้การยิงคุ้มครอง (อ่านข่าวย้อนหลัง)

             ทั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคมปี 2554 คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้นำรายงานบัญชีสรุปรายการเบิกจ่ายกระสุนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งแต่ 11 มี.ค. 53 จนถึงเสร็จสิ้นการโดยมีการเบิกกระสุนจากคลังแสงทหารบกกว่า 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด ใช้ไป 117,923 นัด เผยมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง 3,000 นัด ส่งคืน 880 นัด ขณะที่เบิกกระสุนซ้อมเพียง 10,000 นัด ส่งคืน 3,380 นัด (อ่านข่าวย้อนหลัง)

เปิดเอกสารใหม่ คำสั่งรักษาด่าน ศอฉ.ฯ

สั่งการไปหลายหน่วยทั้งทหาร-
ตำรวจ


           ใบปะหน้าของเอกสารที่ กห.0407.45 (สยก.)/130 ลงวันที่ วันที่ 17 เม.ย. 53 “เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่” เรียน ผอ. ศอฉ. โดย พล.อ. รอง เสธ.ศอฉ. (3) ท้ายเอกสารมีข้อความว่า “อนุมัติตามเสนอในข้อ 4” ลงนามโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ ผอ.ศอฉ. และยังมีนายทหารยศนายพล 2 นาย (ไม่สามารถอ่านลายมือชื่อได้) ร่วมลงนามในหนังสือสั่งการด้วย

            ทั้งนี้ นอกจากเอกสาร “สยก.ศอฉ. ที่ กห.0407.45 (สยก.)/130” ที่มีการนำเสนอไปนั้น ประชาไทยังนำเสนอใบปะหน้าของ เอกสารดังกล่าว โดยหน้าเอกสารเรียนไปยัง “ผอ. ศอฉ.” ลงนามโดย “พล.อ. รอง เสธ.ศอฉ. (3)” (ไม่สามารถอ่านลายมือชื่อได้) ลงนามวันที่ 18 เม.ย. 54 โดยในท้ายเอกสารมีข้อความว่า “อนุมัติตามเสนอในข้อ 4” ลงนามโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ ผอ.ศอฉ. โดยลงนามวันที่ 18 เม.ย. 53 นอกจากนี้ยังมีนายทหารอีก 2 นาย ลงนามในเอกสารดังกล่าว คือ พล.อ. (ไม่สามารถอ่านลายมือชื่อได้) ระบุตำแหน่งเป็น เสธ.ศอฉ. และ พล.อ. (ไม่สามารถอ่านลายมือชื่อได้) ระบุตำแหน่งเป็น ผช.ผอ.ศอฉ.(3)

             เอกสาร  “ส่วนราชการ สยก.ศอฉ.” ที่ “ต่อ กห 0407.45/130” ลงวันที่ 18 เม.ย. 55 ลงนามโดย  พล.ต. ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รอง หน.สยก.ศอฉ. ทำการแทน หน.สยก.ศอฉ.  เสนอต่อ บช.น. ระบุท้ายหนังสือสั่งการว่า "เพื่อกรุณาทราบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป" โดยท้ายเอกสารระบุการแจกจ่ายไปยังหน่วยงานทหาร-ตำรวจหลายหน่วย

             และล่าสุดวันนี้ (20 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวประชาไท เผยแพร่เอกสาร “ส่วนราชการ สยก.ศอฉ.” ที่ “ต่อ กห 0407.45/130” ลงวันที่ 18 เม.ย. 55 เรื่อง “เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธ เพื่อ รปภ.ที่ตั้งหน่วย และสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่” ลงนามโดย พล.ต. ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รอง หน.สยก.ศอฉ. ทำการแทน หน.สยก.ศอฉ.  เสนอต่อ บช.น. โดยแนบสิ่งที่ส่งมาด้วยคือ “สำเนาหนังสือ สยก.ศอฉ.ลับ - ด่วนมากที่ กห. 0407.45/130 ลง 17 เม.ย. 53” หรือคำสั่งรักษาด่านฯ ศอฉ. ดังกล่าว โดยระบุท้ายหนังสือสั่งการว่า “เพื่อกรุณาทราบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ไม่เพียงแต่ บช.น. เท้านั้น ในท้ายเอกสารระบุถึง “รายการแจกจ่าย” ว่ามีการแจกจ่ายคำสั่งดังกล่าวไปยังหน่วยงานทางทหารทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจหลายหน่วย ได้แก่ กกล.รส.ทภ.1, ศปก.ตร., บช.น., ศปก.ทอ., ศปก.ทร., พล.ม.2 รอ., นปอ., พล.ร.9, พล.1 รอ., บก.ควบคุม ทภ.2, บก.ควบคุม ทภ.3 และ บก.ควบคุม พล.ป.

เตรียมเรียกทหารที่ปฏิบัติการเข้าให้ปากคำที่ดีเอสไอ 22 ส.ค. นี้


              ด้านวอยซ์ทีวี รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดี ดีเอสไอและหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับพลตำรวจตรีอนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และหัวหน้าชุดสืบสวนชันสูตรพลิกศพกรณีการเสียชีวิตของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช.ในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประชุมร่วมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการรวบรวมหลักฐานเพื่อสรุป สำนวนคดีการเสียชีวิตของแนวร่วม นปช.ทั้ง 98 ศพ โดยมีการเปิดเผยว่าในวันที่ 22 สิงหาคม 2555 คณะทำงานสอบสวนชัณสูตรพลิกศพได้นัดให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าให้ ข้อมูลกับพนักสอบสวนจำนวน 1 นาย แต่ พ.ต.อ.ประเวศน์ไม่ได้เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าให้การนั้นเป็น พลซุ่มยิงหรือไม่ เปิดเผยเพียงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุม ปี 2553 เท่านั้น

             นอกจากนี้ ดีเอสไอจะเชิญผู้ชำนาญการด้านอาวุธ 1 คน เข้าสอบปากคำเพื่อขยายผลเพิ่มเติมบางจุด โดยต้องการให้ผู้ชำนาญการด้านอาวุธให้รายละเอียดถึงประเภทของอาวุธ  ตลอดจนอานุภาพอาวุธแต่ละชนิดที่มีภาพปรากฏผ่านสื่อ   โดยผู้ชำนาญคนดังกล่าวมาจากฝ่ายตำรวจซึ่งไม่กังวลว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายทหารเนื่องจากเป็นผู้ชำนาญการที่ได้รับการรับรองจากศาลแล้ว

             นอกจากสำนวนการเสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐและส่งให้ตำรวจดำเนินการจำนวน 22 ราย แล้ว  ดีเอสไอจะส่งสำนวนการสอบสวนการเสียชีวิตที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มอีก 5 รายในจำนวนนี้เป็นกรณีเสียชีวิตที่บริเวณบ่อนไก่ อย่างไรก็ตาม  หลังมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแล้วพบว่ามีพยานที่เป็นญาติผู้เสียชีวิตทยอยให้ข้อมูลมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

http://www.prachatai.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น