วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

"พ.อ.สรรเสริญ" รับเอกสารเป็นของจริง

"พ.อ.สรรเสริญ" รับเอกสารเป็นของจริง-ยัน ศอฉ.ยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก
(อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)
             เผยในฐานะโฆษก ศอฉ. ได้อธิบายสังคมให้เข้าใจตลอด และถ้ามีผู้ใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บ “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ก็จำเป็นต้องปฏิบัติงาน เชื่อช่วงนี้มีการสร้างกระแสว่ากองทัพทำร้ายประชาชน 

             ตามที่ประชาไท เผยแพร่เอกสาร “สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.)” เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยในข้อ 2.5 ระบุว่า “ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้” นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) 

พ.อ.สรรเสริญรับเป็นเอกสารจริง แต่ไม่กังวลเพราะอธิบายไปแล้ว

             ล่าสุดเมื่อวานนี้ หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานว่า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวโดยยอมรับว่า เป็นเอกสารฉบับจริงแต่ผู้ที่นำเอกสารฉบับนี้มาปล่อยเข้าใจว่ามีนัยยะเรื่องอื่น เพราะเอกสารมีอยู่ 5 แผ่น แต่เลือกนำแผ่นสุดท้ายมาปล่อย ทั้งนี้ ไม่ใช่อะไรที่เป็นเรื่องใหม่เป็นเรื่องเก่าแล้วทั้งหมด ตนในฐานะโฆษก ศอฉ.ในตอนนั้น ได้เล่าให้สังคมเข้าใจมาโดยตลอดว่าการปฏิบัติงานของ ศอฉ. ยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเอกสารผ่านที่ 1,2,3,4 แต่แผ่นสุดท้ายเราได้อธิบายความว่า หากเราปฏิบัติจากเบาไปหาหนักนั้นไม่สามารถจะระงับยับยั้งการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายก่อให้เกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ได้ เราก็จำเป็นที่ต้องใช้พลแม่นปืนระวังป้องกัน

            “กองทัพบกไม่เคยใช้สไนเปอร์ เราเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่าพลแม่นปืนระวังป้องกัน ส่วนใครจะไปเรียกอะไรก็เรื่องของเขา แต่ส่วนใหญ่พยายามจะเรียกให้มันดูน่ากลัวว่า สไนเปอร์ คือ พลซุ่มยิง ไม่ได้บ่งบอกว่าซุ่มยิงอะไร อย่างไรก็ตาม พลแม่นปืนระวังป้องกัน หากมีผู้ใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บ พลแม่นปืนระวังป้องกันจำเป็นต้องปฏิบัติงานของเขา นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดว่า หากผู้ที่ถืออาวุธสงครามปะปนอยู่กับประชาชนหากทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ หากอ่านในเอกสารให้ละเอียดจะมีข้อความเหล่านี้อยู่" พ.อ.สรรเสริญ ระบุ

            พ.อ.สรรเสริญ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสดด้วยว่า หากเราพบบุคคลผู้ที่มีอาวุธสงครามปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วกำลังจะใช้อาวุธทำร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ถึงชีวิตหรือบาดเจ็บ และเราไม่สามารถป้องกันด้วยวิธีอื่นได้ พลแม่นปืนระวังป้องกันเขามีหน้าที่ต้องดำเนินการตามภารกิจ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไปยิงทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเรื่องทั้งหมดได้อธิบายความไปหมดแล้วตั้งแต่สมัย ศอฉ. ทั้งนี้ เราไม่ได้วิตกกังวลต่อเอกสารที่ถูกปล่อยออกมา เพราะเป็นเรื่องเดิม เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไม ไม่เอามาปล่อยให้หมดทั้ง 5 แผ่น ทำไมเลือกเอาแผ่นสุดท้ายมา เพราะเอกสารแผ่นที่ 1-4 พูดถึงมาตรการจากเบาไปหาหนัก สังคมจะได้ไม่เห็นและทำให้สังคมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่มีคำสั่งที่ชัดเจนให้ยิง นี่คือนัยยะสำคัญที่ต้องการจะปล่อยเรื่องนี้


           “2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความพยายามจากกลุ่ม จากฝ่ายบุคคล เพื่อสร้างกระแสทำให้สังคมเขาใจคลาดเคลื่อนให้เห็นว่ากองทัพทำอะไรที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ กองทัพทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมซึ่งเขาปล่อยข้อมูลเพื่อเสริมภาพที่เขากำลังพยายามสร้างอยู่ แต่เราคงไม่กังวลเพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ เราได้ชี้แจงมาหมดแล้ว” โฆษก ทบ. กล่าว 

เปิดคำสั่งรักษาด่าน ศอฉ. ประชาไทเผยแพร่หมด
แล้วทั้งฉบับนับตั้งแต่นำเสนอครั้งแรก

            อนึ่ง สำหรับเอกสาร “สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.)” เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 นั้น ผู้สื่อข่าวประชาไทได้เผยแพร่แล้วทั้งฉบับ นับตั้งแต่การรายงานครั้งแรก ไม่ได้เผยแพร่เพียงแผ่นเดียวอย่างที่ พ.อ.สรรเสริญแถลงกล่าวหา โดยสามารถอ่านเอกสารทั้งหมดได้ที่ข่าวนี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)


           เอกสาร “สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.)” เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) 

           นอกจากนี้ในรายงานดังกล่าว ประชาไทยังนำเสนอ เอกสาร “กห.0407.45 (สยก./130)” ลงวันที่ วันที่ 17 เม.ย. 53 “เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่” เรียน ผอ. ศอฉ. ลงนามโดย พล.อ. รอง เสธ.ศอฉ. (3) ลงนามวันที่ 18 เม.ย. 54 โดยในท้ายเอกสารมีข้อความว่า “อนุมัติตามเสนอในข้อ 4” ลงนามโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ ผอ.ศอฉ. โดยลงนามวันที่ 18 เม.ย. 53 ด้วย


             เอกสารที่ กห.0407.45 (สยก./130) ลงวันที่ วันที่ 17 เม.ย. 53 “เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ ด่านตรวจ และสายตรวจเคลื่อนที่” เรียน ผอ. ศอฉ. โดย พล.อ. รอง เสธ.ศอฉ. (3) ท้ายเอกสารมีข้อความว่า “อนุมัติตามเสนอในข้อ 4” ลงนามโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ในฐานะ ผอ.ศอฉ.

            ทั้งนี้ในการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 16 ส.ค. 55 กล่าวปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ เป็นเพียงปืนติดลำกล้องเพื่อใช้ระวังป้องกัน ซึ่งในตลาดนัดก็มีขายสำหรับใช้ยิงนก ขณะที่เมื่อ 16 พ.ค. 53 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ก็ปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ มีเพียง “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ทำหน้าที่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ต่ำหรือตามถนนหนทางโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีบุคคลผู้ใดถืออาวุธหรือจะเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะใช้การยิงคุ้มครอง (อ่านข่าวย้อนหลัง) 

และต่อมาเมื่อเดือนมีนาคมปี 2554 คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้นำรายงานบัญชีสรุปรายการเบิกจ่ายกระสุนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งแต่ 11 มี.ค. 53 จนถึงเสร็จสิ้นการโดยมีการเบิกกระสุนจากคลังแสงทหารบกกว่า 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด ใช้ไป 117,923 นัด เผยมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง 3,000 นัด คืนเพียง 880 นัด ขณะที่เบิกกระสุนซ้อมเพียง 10,000 นัด ส่งคืน 3,380 นัด (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น