|
ท้าดวลคดี...สลายแดงVSตัดตอนค้ายาขึ้นศาลโลก!
| |
|
|
“คดีดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่านโยบายการฆ่าตัดตอนถือว่าเข้าข่าย 2 ใน 4 ฐานความผิด ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับฟ้อง คือเป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และภัยรุกราน กรณีนี้เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และภัยต่อมวลมนุษยชาติ จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง ผู้เสียหายสมควรได้รับการเยียวยา 7.75 ล้านบาททันที ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณ กว่าหมื่นล้านบาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เคย เอาเงินมาไถ่บาปกรณีรับจำนำลำไยให้พี่ชายมาแล้ว เรื่องนี้ก็ควรช่วยไถ่บาปเรื่องฆ่าตัดตอนให้พี่ชาย หาเงินมาดำเนินการเรื่องนี้ด้วย บาปหนาจะได้ลดลงบ้าง”
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมา หลังจากศาลอาญาชั้นต้นพิพากษาคดีความผิดต่อชีวิตที่อัยการฝ่ายพิเศษฟ้องตำรวจ 6 นายที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยตำรวจ 3 นายถูกตัดสินประหารชีวิต และที่เหลือให้จำคุก กรณีฆ่าอำพรางเด็กอายุ 17 ปี ที่สืบเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดและเกิดการฆ่าตัดตอนในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ที่กาฬสินธุ์มีผู้ถูกยิงทิ้งช่วงปี 2546-2548 ถึง 21 คน
คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นหลักฐานชั้นดีที่ทำให้เห็นว่า 2,500 ศพในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณมีจริง ถือเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เข้าข่าย 2 ใน 4 ฐานความผิดที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับไว้พิจารณา ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือยื่นต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Interna tional Criminal Court หรือ ICC) เพื่อเอาผิดผู้ที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการฆ่าตัดตอนไปแล้ว
นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งคณะทำ งานเพื่อรวบรวมคดีการฆ่าตัดตอน เฉพาะในภาคอีสานมีผู้เสียชีวิตถึง 1,440 ศพ ซึ่งทั้งหมดพิสูจน์แล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดังนั้น ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการฆ่าตัดตอนสามารถเป็นโจทก์ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเอาผิดผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังได้ โดยจะใช้หลักฐานจากคดีที่ศาลตัดสินครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสืบหาว่ากระบวนการมาจากนโยบายฆ่าตัดตอนของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ และมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด
ยัน “ทักษิณ” เป็นผู้ก่อการร้าย
นายชวนนท์ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณและนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บิดเบือนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 เพราะข้อเท็จจริง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหมดและถูกตั้งข้อหาการก่อการร้าย จึงกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ทั้งที่นายอภิสิทธิ์ยืนยันพร้อมให้ตรวจสอบทุกขั้นตอนและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมา แต่ พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างผิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศและอัยการได้รับทราบข้อมูลตรงนี้แล้ว จะทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นว่าใครที่อยู่เบื้องหลัง และใครพยายามจะล้างผิดโดยไม่มีกระบวนการสอบสวนตามกฎหมายในประเทศ
ขณะที่นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะนำคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติดฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศว่า ขณะนี้มีจำนวน 40 คดีที่อยู่ในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถือว่ายังมีความล่าช้ามาก ขณะที่อีก 8 คดีที่อยู่ในการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพิ่งจับคนผิดได้ 1 คดีคือ กรณีที่ตำรวจร่วมกันฆ่าตัดตอนเยาวชนอายุ 17 ปีที่กาฬสินธุ์
“กรณีนี้ถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าข่ายที่จะสามารถนำ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและคดีฆาตกรรมระดับสากลได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงสามารถนำเข้าสู่การพิ จารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้เหมือนกัน”
นายไกรศักดิ์กล่าวว่า วิธีการฟ้องร้องเอาผิดมีอยู่หลายช่องทาง อาทิ ศาลอาญาประเทศเยอรมนี ศาลกลางสหรัฐอเมริกา ก็สามารถรับฟ้องคดีเหล่านี้ได้หากเห็นว่าเป็นคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าประเทศใดในโลกก็สามารถเข้ามาคุ้มครองมนุษยชาติได้หากมีกลุ่มผู้ได้รับความเสียหาย และพยานสามารถดำเนินการยื่นฟ้องร้องได้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นหน่วยงานหรือบุคคลใดดำเนินการ ส่วนการจะนำไปยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในทางปฏิบัติแม้จะไม่มีผลผูกพัน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบันและรัฐสภายังไม่ได้รับรอง แต่การไปยื่นไว้ก่อนก็สามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานได้
“เหวง” ท้า ปชป. สู้ในศาลโลก
ในขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐ มนตรี ได้ถากถางพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่จะนำคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติดสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไปขึ้นศาลโลกว่า “เปลืองค่าเครื่องบิน”
เช่นเดียวกับนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่า ไม่รู้สึกหวั่นไหวแม้แต่น้อย เพราะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมีนโยบายหรือสั่งให้ใครไปฆ่าใคร และมีการตั้งกรรม การตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายชุดและสรุปว่าไม่มีรัฐบาลใดสั่งให้ฆ่าตัดตอน ทั้งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตในทุกคดีเกิดจากสาเหตุใดบ้าง เป็นการตายที่เกี่ยวกับยาเสพติด หรือเป็นการฆ่ากันเองในระหว่างผู้ค้ายา หรือเกิดจากการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเท่าใด การตายของแต่ละ คนจึงต้องพิสูจน์และสอบสวนแต่ละคดีไป ใครถูกว่าไปตามถูก ใครผิดว่าไปตามผิด ตรงข้ามกับนายอภิ สิทธิ์กรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งน่าสนใจว่าหากขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศจริง คดีใดจะถึงมือศาลก่อนกัน
โดย นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้แถลงท้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เอาเรื่องฆ่าตัดตอนและการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงให้ศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาคู่ไปเลยว่าใครจะถูกลงโทษ ใครเป็นฆาต กรสั่งฆ่าประชาชน โดยได้ขอให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประ เทศ พิจารณายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่าง ประเทศ เพื่อให้ดำเนินคดีกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในฐานะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งนายสุรพงษ์รับปากจะสั่งการให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศพิจารณา หากไม่มีปัญหาอะไรจะเดินหน้าทันที และในเวลา 1-2 เดือนอาจได้เห็นฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนถูกเรียกตัวไปสอบ สวนที่กรุงเฮก
ให้อำนาจศาลย้อนหลังเฉพาะกรณีได้
กรณีรัฐบาลไทยสามารถยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีโดยไม่ต้องลงสัตยาบันได้หรือไม่นั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า ทำได้ทั้งรัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคี โดยสามารถทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี ซึ่งมีประ เทศที่ทำสำเร็จมาแล้วคือยูกันดาและไอวอรีโคสต์
โดยยกตัวอย่างกรณีไอวอรีโคสต์ที่ไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ให้รับเขตอำนาจศาลตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2545 เพื่อให้ศาลโลกจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้นย้อนหลังได้ แต่ไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะได้ลงนามธรรมนูญกรุงโรมไว้แล้ว โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสามารถลงนามในสัตยาบันได้ทันที ไม่ต้องผ่านช่องทางรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่คดีต้องเข้าข่าย 4 ฐานความผิดร้ายแรงคือ การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาช ญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม สหภาพเพื่อประชา ธิปไตยประชาชน (Union for People’s Demo cracy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของคนเสื้อแดงในยุโรป ได้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่า 100,000 รายชื่อ เพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยนางกรรณิการ์ นีลเซ่น ผู้แทนสหภาพ เปิดเผยว่า การล่ารายชื่อนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม ซึ่งขณะนี้ได้เพียง 2,000 กว่ารายชื่อ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 10,000 รายชื่อ จึงจะยื่นเสนอกฎหมายต่อสภาได้ แต่สหภาพกำหนดจะยื่นต่อรองประธาน รัฐสภาในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ได้เท่าไรก็จะยื่นเท่า นั้นก่อน แล้วจะล่ารายชื่อส่งให้ในภายหลัง
นอกจากนี้สหภาพยังยื่นหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐไทยให้สัตยาบันตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2554 ซึ่งรัฐบาลตอบกลับมาว่าติดกฎหมายภายในประเทศหลายมาตรา ทางสหภาพจึงส่งจดหมายถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ให้รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาว่า เป็นข้ออ้างที่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนดให้เห็นความคืบหน้า เพราะประเทศที่มีระบอบการปกครองเช่นเดียวกับไทย เช่น อังกฤษ เบลเยียม แคนาดา ญี่ปุ่น ลักเซม เบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และสวีเดน ก็มีข้อบัญญัติในลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา 8 ของไทย แต่ก็ให้สัตยาบันไปแล้ว และข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของบางประเทศ เช่น เบลเยียม บัญ ญัติไว้ใน Article 91 ที่ว่าพระมหากษัตริย์จะถูกละเมิดมิได้และเหล่ารัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองแทน หรือเดนมาร์กบัญญัติคล้ายกับ Section 13 ที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะจะล่วงละเมิดมิได้และรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองเช่นกัน
ปัญหาขณะนี้จึงอยู่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ตระหนักดีว่าอะไรเป็นอะไร จะกล้า “ทำความจริงให้ปรากฏ” หรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมักจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตยาบัน มิใช่เพียงเพราะฝ่ายความมั่นคงและกองทัพท้วงติงว่าจะมีผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูงเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเพราะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยกลัวว่าจะมีการโยงไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณกรณีฆ่าตัดตอนอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาขู่ในขณะนี้ก็เป็นได้ ทั้งที่หลักฐานและความผิดกรณีฆ่าตัดตอนในทางคดีนั้นถือว่าอ่อนมากเมื่อเทียบกับกรณีสังหารโหด 98 ศพที่มีหลักฐานมากมาย ทั้งพยานบุคคล ภาพถ่าย วิดีโอ และข่าวต่างๆที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องกล้า!
เมื่อวิเคราะห์จากช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้ากรณีฆ่าตัดตอนสามารถเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณได้จริง พรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่ปล่อยไว้ และคงจะให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งแต่เป็นรัฐบาลแล้ว หรือใช้กระบวนการยุติธรรมในประเทศดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ทำไม่ได้เพราะแม้แต่คณะกรรมการที่มีคนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่สามารถระบุความผิดประเด็นนี้ได้ชัดเจน ยิ่งนำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จึงเข้าทำนอง “ปากกล้าขาสั่น” มากกว่า
ดังนั้น การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาขู่เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ตามคำท้าทาย หรือแม้แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคยเรียกร้องให้เอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณกรณีฆ่าตัดตอน จึงไม่น่าจะออกมาคัดค้าน ตรงกันข้ามกลับควรส่งเสริมให้รัฐบาลประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเพื่อเอาผิดทักษิณหากมีความผิดจริง
จึงเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่งหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดแต่ถอยและเกี๊ยะเซียะกับกลุ่มผู้มีอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบเพียงเพื่อให้ได้เป็นรัฐ บาลนานที่สุด ขลาดกลัวแม้แต่จะ “ทำความจริงให้ปรากฏ” ทั้งที่มีโอกาสและหลักฐานชัดเจนที่จะเอาผิดกับคนสั่งและคนฆ่าประชาชน และเป็นโอกาสที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยุติวิกฤตบ้านเมืองโดยการ “ทำความจริงให้ปรากฏ” ใครผิดก็ว่าตามผิด ใครถูกก็ว่าตามถูก ซึ่งการยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศคงไม่มีใครหรือสีใดไปประท้วงถึงกรุงเฮก หรือจะมีอำนาจนอกระบบใดๆเข้าไปแทรกแซงศาลอาญาระหว่างประเทศได้
ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นกระทู้เรียกร้องเรื่องการรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวไว้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะสานต่อได้ทันที
นอกจากนี้ น.ส.จารุพรรณยังทวีตตอบโต้การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เพิ่งจะมาสนใจเรื่องฆ่าตัดตอน ส่งให้ ICC ตามรอยเสื้อแดง โดยส่งนายกษิต (ผู้ก่อการร้ายปิดสนามบิน, จำเลย ICJ, ขึ้นชื่อเรื่องมาร ยาททรามกับประเทศเพื่อนบ้าน) ไปเป็นผู้ดำเนินการ นั้น ต้องขอไว้อาลัยต่อการตัดสินใจของพรรคประ ชาธิปัตย์ครั้งนี้อย่างสุดจิตสุดใจ เพราะมองเห็นผลลัพธ์สุดท้ายที่มีแต่เสียกับเสียแบบกู่ไม่กลับคือ
ประการแรก คนทั้งโลกจะตั้งคำถามว่าทำไมเพิ่งมาสนใจ ICC ความจริงใจต่อเรื่องฆ่าตัดตอนแทบจะไม่มี เป็นแค่เกมตอบโต้ไปวันๆ ประการที่ 2 ไม่พ้นข้อหาเด็กลอกการบ้านตามเคย ลอกหนทางของเสื้อแดงที่จะแสวงหาความเป็นธรรมสากลให้กับประเทศไทย โถ..พรรคนักกฎหมายขี้คุย ประการที่ 3 การจะไปฟ้อง ICC บ้างก็เท่ากับยอมรับอำนาจ ICC แล้ว ก็มีความยินดีที่จะส่งนายอภิสิทธิ์ไปประเดิมสอบสวนคนแรก ประการที่ 4 การส่งนายกษิตไปนับว่าเลือกได้ถูกคนแล้ว ดิฉันไม่กังวลอะไรเลย นอกจากจะทำให้ประเทศไทยขายหน้าอะไรอีก และสุดท้าย ขอบอกว่าช่วยดำเนินการให้ไว เพราะอยากเห็นปรากฏการณ์เปรียบเทียบ “ความเป็นธรรมไทย” กับ “ความเป็นธรรมสากล”
รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่ควรทำเหมือน “หลับตา ข้างหนึ่ง” และปล่อยให้ “คนตายนอนตาสว่าง” ต่อไป เพราะอาจเสียมวลชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะญาติวีรชนคนเสื้อแดงที่ต้องสูญเสียจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภา 2553”
การ “ทำความจริงให้ปรากฏ” โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจรับคำท้าจากพรรคประชาธิปัตย์ และประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ความจริง และพิจารณาคดีทั้งกรณี “มีคนตาย 98 ศพภายในรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมน ตรี” และกรณีที่ “พรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวหานโย บายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีคนบริสุทธิ์ต้องตายไปเป็นจำนวนมาก” จึงเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นแม้ว่าจะต้องกระทบกับ พ.ต.ท.ทักษิณก็ตาม
คำถามถึง “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” ก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์กล้าพอหรือไม่? พ.ต.ท.ทักษิณใจถึงพอหรือไม่?
ส่วนคำถามถึง “อภิสิทธิ์” นั้นไม่มี เพราะไหนจะเรื่อง “วิบากกรรม สด.9” ในอดีต จนถึงข้อหา “ฆาตกร (เกือบ) ร้อยศพ มือเปื้อนเลือด..” ถ้ายังอยู่เย็นเป็นสุขได้..ก็ไม่ปรกติแล้ว!
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 372 วันที่ 11 – 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555
หน้า 16 - 17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน |
|
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น