สหภาพรัฐสภาโลกชี้ การถอนสภาพสส. ของ ''จตุพร'' ขัดหลักสิทธิฯสากล
Posted: 13 Dec 2012 04:47 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)
สืบเนื่องจากการถอดถอนสถานะของสมาชิกรัฐสภา
ของนายจตุพร พรหมพันธ์ุ อดีตส.ส. พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มนปช.
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 55 จากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
โดยอ้างเหตุผลว่านายจตุพรมิได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. 54 เนื่องจากถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยข้อหาก่อการร้ายจากการมีส่วนร่วมในการชุมนุมที่ผิดกฎหมายระหว่างเดือนเม.ย. -พ.ค. 53 ซึ่งเป็นช่วงการประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉินภายใต้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 55 สภาบริหารแห่งสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (The Governing Council of the Inter-Parliamentary Union) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นรัฐสภา 162 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้มีมติเอกฉันท์เห็นควรให้ประเทศไทยทบทวนมติการถอดถอนสถานะสมาชิกผู้แทนรัฐสภาและสมาชิกภาพของพรรคการเมืองของจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตสภาผู้แทนราษฎรและแกนนำกลุ่มนปช. เนื่องจากมองว่าขัดกับหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี โดยมติดังกล่าวระบุว่า
"ข้อบทใน ICCPR ที่ประกันให้บุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (ข้อบทที่ 14) และ "ได้รับการจำแนกออกจากผู้ต้องโทษ และต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปให้เหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องโทษ” (มาตรา 10(2)(a)) และยังชี้ให้เห็นว่าการวินิจฉัยว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรา 102(4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้เพียงผู้ที่ต้องโทษตามคำสั่งศาลแล้วเท่านั้นที่จะสูญเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อมีการยื่นเรื่องเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่รวมถึงผู้ที่ยังเป็นแค่จำเลย"
สหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศจึงแสดงความกังวลต่อประเทศไทยว่า นายจตุพรได้ "ถูกพิจารณาว่าขาดคุณสมบัติด้วยเหตุผลที่ขัดแย้งโดยตรงกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย" และเรียกร้องให้ทบทวนคำตัดสินดังกล่าว และระบุว่าจะติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
0000
ประเทศไทย
คดีเลขที่ TH/183 - นายจตุพร พรหมพันธุ์
มติที่มีการรับรองเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมสภาบริหาร IPU (IPU Governing Council) สมัยประชุมที่ 191
(ควีเบก 24 ตุลาคม 2555)
สภาบริหารสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ
ได้พิจารณากรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศไทย โดยเป็นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Committee on the Human Rights of Parliamentarians) และเป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติการรับข้อร้องเรียนกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาของสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ
ได้พิจารณาข้อมูลจากผู้ร้องที่ให้มาแล้วว่า
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีบทบาทสำคัญในระหว่างการชุมนุมของ
คนเสื้อแดงกลางกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553
ช่วงหลังการชุมนุม นายจตุพรและแกนนำนปช.คนอื่น ๆ
ได้ถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนร่วมในการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ประกาศใช้ ในเวลาต่อมา มีการสั่งฟ้องคดีต่อนายจตุพรและแกนนำคนอื่น ๆ ในข้อหาก่อการร้าย ทั้งในส่วนของการวางเพลิงเผาทำลายอาคารหลายแห่งซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากแกนนำนปช.ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้แล้ว ต่างจากแกนนำนปช.คนอื่น ๆ เนื่องจากนายจตุพรมีตำแหน่งเป็นสส. เขาจึงได้รับการประกันตัวอย่างรวดเร็ว
ในวันที่ 10 เมษายน 2554 นายจตุพรเข้าร่วมการชุมนุมรำลึกซึ่งจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกการครบรอบปีการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงของรัฐบาล ในการกล่าวปราศรัย เขาได้วิจารณ์รัฐบาลและกองทัพไทยที่ได้อ้าง “การปกป้องราชบัลลังก์” เพื่อหาทางเอาผิดกับขบวนการคนเสื้อแดง และยังมีการสังหารคนเสื้อแดงเมื่อปีก่อนหน้านี้ นายจตุพรยังได้วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำวินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างถึงคลิปวีดิโอที่หลุดรอดออกมาและเผยให้เห็นการสมคบคิดกันระหว่างผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญบางท่านกับเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง หลังจากนั้นเป็นเหตุให้กองทัพบกได้ส่งตัวแทนแจ้งความดำเนินคดีกับนายจตุพรในข้อหากล่าวปราศรัยในลักษณะที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และแม้จะมีการสอบสวนอีกหนึ่งปีต่อมาและพบว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูลความจริง แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังร้องขอศาลอาญาให้ยกเลิกเงื่อนไขการประกันตัวของเขา และศาลก็มีคำสั่งเช่นนั้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นเหตุให้นายจตุพรถูกควบคุมตัวที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพจนกระทั่งวันที่ 2 สิงหาคม 2554
หนึ่งสัปดาห์หลังยกเลิกการประกันตัว มีการใส่ชื่อนายจตุพรไว้ในบัญชีรายชื่อสมาชิกรัฐสภาของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เห็นชอบต่อบัญชีรายชื่อนั้นหลังจากตรวจพบว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการตรวจสอบล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าว ทนายความของนายจตุพรได้ร้องขอต่อศาลอาญาหลายครั้งให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออนุญาตให้ออกจากเรือนจำชั่วคราวเพื่อลงคะแนนเสียง แต่ศาลปฏิเสธคำขอ เป็นเหตุให้นายจตุพรไม่สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ตามข้อมูลจากผู้ร้อง การที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงได้ถูกฝ่ายตรงข้ามใช้ประโยชน์ โดยอ้างเป็นหลักฐานว่าเขาขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภา ในเบื้องต้น กลต.รับรองผลการเลือกตั้งเช่นนั้น และอนุญาตให้นายจตุพรสาบานตนเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาคนใหม่ ซึ่งมีการประชุมในวันที่เขาได้รับการปล่อยตัว แต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 กกต.มีมติ 4-1 ว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภา และขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องนี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่าเหตุที่นายจตุพรถูกควบคุมตัวในวันเลือกตั้ง และเป็นเหตุให้ไม่สามารถไปลงคะแนนเสียงได้ เป็นเงื่อนไขทำให้เขาขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภา โดยศาลให้เหตุผลว่านายจตุพรถูกห้ามไม่ให้ไปลงคะแนนเสียงตามมาตรา 100(3) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ในวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อห้ามและเป็นเหตุให้มีการจำกัดสิทธิการเลือกตั้งของเขา และหมายถึงว่าเขาต้องสูญเสียสมาชิกภาพของพรรคการเมืองไปโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญวาดวยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และการสูญเสียสมาชิกภาพพรรคการเมือง (ตามมาตรา 101(3) และ 106(4) ของรัฐธรรมนูญ) เป็นเหตุให้เขาขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภา
พิจารณาว่า ผู้ร้องยืนยันว่า การแจ้งข้อหาอาญาต่อนายจตุพรเนื่องจากบทบาทของเขาในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ขาดความเหมาะสมอย่างยิ่ง โดยอ้างว่าข้อหาการเข้าร่วมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายเป็นผลมาจากการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และการตั้งข้อหาก่อการร้ายต่อนายจตุพรและแกนนำคนเสื้อแดงคนอื่น ๆ ซึ่งมีการสั่งฟ้องเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 มีสาเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยตามความเห็นของผู้ร้อง ในขณะที่คนเสื้อแดงถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าก่อความรุนแรงหลายครั้ง แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าบรรดาแกนนำได้วางแผนให้กระทำความรุนแรงเหล่านั้น หรือทราบล่วงหน้าว่าจะมีการกระทำเช่นนั้น และพิจารณาอีกว่า จะมีการไต่สวนคดีนี้ขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555
พิจารณาต่อไปว่า นายจตุพรได้ถูกศาลตัดสินลงโทษในวันที่ 10 กรกฎาคม และ 27 กันยายน 2555 ในความอาญาสองคดีให้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาหกเดือนทั้งสอง
คดี (ให้รอลงอาญาไว้สองปี) และโทษปรับเป็นเงินจำนวน 50,000
บาทในข้อหาหมิ่นประมาทนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แต่คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ทั้งสองคดี ระลึกไว้ว่า ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกเน้นย้ำในรายงาน (A/HRC/17/27 วันที่ 16 พฤษภาคม 2554) เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ลดการเอาผิดทางอาญาจากการหมิ่นประมาท
ระลึกว่า ไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) เป็นเหตุให้มีพันธกรณีต้องคุ้มครองสิทธิตามที่กำหนดไว้ในกติกา
- กังวลอย่างมากว่า นายจตุพรได้ถูกพิจารณาว่าขาดคุณสมบัติด้วยเหตุผลที่ขัดแย้งโดยตรงกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย
- พิจารณาว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้มีการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ “ต้องคุมขังอยู่โดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ในวันเลือกตั้ง เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในข้อบทที่ 25 ของ ICCPR ที่ประกันสิทธิที่จะ “มีส่วนร่วมในการปฏิบัติรัฐกิจ” และ “ออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระ” ทั้งนี้โดยไม่มี “ข้อจำกัดอันไม่สมควร”
- พิจารณาว่า ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความเห็นว่าการไม่อนุญาตให้สมาชิกรัฐสภาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำเพื่อใช้สิทธิในการเลือกตั้ง เป็น “ข้อจำกัดอันไม่สมควร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบข้อบทใน ICCPR ที่ประกันให้บุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (ข้อบทที่ 14) และ "ได้รับการจำแนกออกจากผู้ต้องโทษ และต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปให้เหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องโทษ” (มาตรา 10(2)(a)) และยังชี้ให้เห็นว่าการวินิจฉัยว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรา 102(4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้เพียงผู้ที่ต้องโทษตามคำสั่งศาลแล้วเท่านั้นที่จะสูญเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อมีการยื่นเรื่องเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่รวมถึงผู้ที่ยังเป็นแค่จำเลย
- จึงมีความกังวลกับการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพพรรคการเมืองของนายจตุพรสิ้นสุดลง ในขณะที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเขาได้กระทำความผิดใด ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำปราศรัยของเขา ซึ่งอันที่จริงเป็นเพียงการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของเขาอย่างชัดเจน และได้รับการยืนยันจากการสั่งไม่ฟ้องคดีในเวลาต่อมา และยังกังวลกับการที่ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นสมาชิกภาพพรรคการเมืองของเขา ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างนายจตุพรกับพรรคของเขาเอง และไม่ปรากฏว่ามีข้อพิพาทระหว่างเขากับพรรคของเขาให้เป็นประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาเลย
- หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตามข้อมูลข้างต้น หน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่ของไทยจะกระทำทุกวิถีทางเพื่อทบทวนการตัดสมาชิกภาพของนายจตุพร และประกันว่าข้อบัญญัติทางกฎหมายที่เป็นอยู่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และต้องการยืนยันความเห็นอย่างเป็นทางการในประเด็นนี้
- กังวลเกี่ยวกับเหตุผลและข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่นำมาใช้เพื่อตั้งข้อกล่าวหาต่อนายจตุพร และความเป็นไปได้ที่ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมตัวเขาอีกครั้งหนึ่ง ต้องการได้รับสำเนาคำฟ้องที่เกี่ยวข้อง และได้รับทราบผลของการพิจารณาในครั้งต่อไป พิจารณาว่าจากข้อกังวลในกรณีนี้ อาจเป็นประโยชน์ที่จะเสนอให้มีการส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดี และร้องขอให้เลขาธิการพิจารณากรณีนี้
- และกังวลเกี่ยวกับ การที่นายจตุพรได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกตัดสินและลงโทษในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นความกังวลที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่า การหมิ่นประมาทไม่ควรถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องการยืนยันว่า ทางการไทยจะพิจารณาทบทวนกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่ ต้องการได้รับสำเนาคำตัดสินของศาลชั้นต้น และได้รับแจ้งถึงขั้นตอนในชั้นอุทธรณ์คดี
- ร้องขอให้เลขาธิการส่งมอบมติฉบับนี้ให้กับหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่และผู้ร้อง
- ร้องขอให้คณะกรรมการตรวจสอบกรณีนี้ต่อไป และให้รายงานกลับมาในเวลาอันเหมาะสม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น