วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กรณี ส. ศิวรักษ์ เรียกร้องให้ตรวจสอบอาบัติปาราชิกอธิการบดีมหาจุฬาฯ

กรณี ส. ศิวรักษ์ เรียกร้องให้ตรวจสอบอาบัติปาราชิกอธิการบดีมหาจุฬาฯ
            ตามที่สาธารณชนทราบกัน บทบาทของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ คือบทบาทวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบชนชั้นนำที่มีมีอำนาจทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นที่มีอำนาจบารมีเหนืออำนาจทางการเมือง เช่นสถาบันกษัตริย์ องคมนตรี ผู้มีอำนาจทางการเมือง เช่นนักการเมือง ทหาร ผู้มีอำนาจทางศีลธรรม เช่นสถาบันสงฆ์ ผู้มีอำนาจในการชี้นำทางความคิดของสังคม เช่นมหาวิทยาลัย นักวิชาการ ปัญญาชน สื่อมวลชน
            การวิจารณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ครอบคลุมทั้งเรื่องการกระทำของตัวบุคคล หลักการ อุดมการณ์ โครงสร้างหรือระบบ และแม้ว่าท่วงทำนองจะดูเผ็ดร้อน แต่หากพิจารณาในรายละเอียดก็จะเห็นว่าในการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนมากจะมีการชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย และมีข้อเสนอให้เรานำไปคิดต่อเสมอๆ ซึ่งก็เป็นเสรีภาพของเราที่จะเห็นด้วยหรือโต้แย้งก็ได้ อาจารย์สุลักษณ์เองก็บอกว่า ท่านไม่ต้องการที่จะมีสถานะเป็น “ปูชนียบุคคล” แต่ยินดีให้ใครมาถ่มน้ำลายรดได้ ด่าได้ (เหมือนที่ท่านด่าคนอื่นๆ) แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่เหตุผล จุดยืนว่าเพราะอะไรจึงวิจารณ์ จึงด่า และทำเช่นนั้นเพื่ออะไร
             เฉพาะปัญหาเรื่องพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ เป็นปัญหาที่อาจารย์สุลักษณ์วิจารณ์อย่างรอบด้านและต่อเนื่องมายาวนานตลอดชีวิตในบทบาทปัญญาชนของท่านพอๆ กับที่วิจารณ์ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ นั่นแสดงว่าอาจารย์สุลักษณ์เห็นว่า พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์มีความสำคัญต่อทั้งการก่อให้เกิด “หายนะและวัฒนะในสังคมไทย” (สำนวนของ อ.สุลักษณ์เอง)
             เท่าที่ผมอ่านงานเกี่ยวกับพุทธศาสนาของอาจารย์สุลักษณ์ (แม้ยังไม่มาก) พอที่จะจับสาระสำคัญได้ว่า อาจารย์สุลักษณ์เห็นว่า หลักการพุทธศาสนาควรนำมาประยุกต์สนับสนุนหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพของสังคมประชาธิปไตย สถาบันสงฆ์ควรเป็นอิสระจากรัฐ มีบทบาทเตือนสติชนชั้นผู้มีอำนาจ ควรอยู่ข้างชนชั้นล่างที่ถูกกดขี่ ต้องรู้เท่าทันโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมและรุนแรง พระสงฆ์ควรรับใช้สังคม เป็นกัลยาณมิตรทางปัญญาแก่ชาวบ้าน โดยเคารพการแสวงหาสัจจะ ปกป้องความถูกต้อง และแปรพุทธธรรมมาสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยปัญญาและกรุณา
             อย่างไรก็ตาม แม้อาจารย์สุลักษณ์จะเห็นว่าพุทธศาสนาควรเป็นอิสระจากรัฐ (ดังที่อาจารย์ยกย่องกลุ่มชาวพุทธที่พยามเป็นอิสระ มีวิถีปฏิบัติเป็นตัวของตัวเองอย่างสวนโมกข์และสันติอโศก เป็นต้น) แต่อาจารย์ก็เห็นว่า คณะสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมต้องตรวจสอบกันเองทางพระธรรมวินัย หรือสังคมต้องตรวจสอบพระสงฆ์เหล่านี้ด้วย ตรงนี้ผมเห็นด้วยว่า แม้เราจะเห็นว่าพุทธศาสนาควรเป็นอิสระจากรัฐ แต่ขณะที่ยังไม่เป็นอิสระจากรัฐ การตรวจสอบทางพระธรรมวินัยยังมีความจำเป็น เพราะเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1) สถาบันสงฆ์ภายใต้มหาเถรสมาคมอ้างอิงพระธรรมวินัยนิกายเถรวาทรองรับ “ความชอบธรรม” ของสถานะความเป็น “สังฆะ” ของตนเอง ทำให้สังฆะในระบบนี้ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม เพราะสังคมเชื่อว่ามีสถานะเป็นสังฆะที่อยู่ในกรอบพระธรรมวินัยเถรวาท
2) มหาเถรสมาคมอ้างว่า การออกกฎหมายปกครองคณะสงฆ์โดยรัฐ เป็นกฎหมายที่สนับสนุนการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เช่น ในกรณีที่พระรูปใดรูปหนึ่ง (แม้กระทั่งพระสังฆราช) ถูกพิสูจน์ว่าต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งตามกติกาพระธรรมวินัยต้องสละสมณเพศ แต่ผู้นั้นไม่ยอมสละก็มีกฎหมายบังคับให้สละ เป็นต้น
3) ฉะนั้น ตามข้อ 1) และ 2) กรอบอ้างอิงความชอบธรรมของสถานะแห่ง “สังฆะ” ภายใต้มหาเถรสมาคมจึงได้แก่ “กรอบพระธรรมวินัย” แม้จะมีกฎหมายก็เพื่อสนับสนุนกรอบพระธรรมวินัย ไม่ใช่กฎหมายใหญ่กว่าพระธรรมวินัย
            โดยข้อเท็จจริงแล้ว แม้เราจะโต้แย้งได้ว่า สังฆะภายใต้มหาเถรสมาคมที่มีโครงสร้างเป็นเผด็จการใช่สังฆะตามกรอบพระธรรมวินัยเถรวาทจริงหรือไม่ หรือภายใต้ระบบมหาเถรสมาคมนั้นพระธรรมวินัยใหญ่กว่ากฎหมายจริงหรือไม่ (เช่น หากพระธรรมวินัยใหญ่กว่ากฎหมายจริง ทำไมครูบาศรีวิชัยที่มีคุณสมบัติตามพระธรรมวินัยเป็นอุปัชฌาย์ได้ แต่กลับเป็น “อุปัชฌาย์เถื่อน” และมีความผิด เพราะไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมายของมหาเถรฯเป็นต้น) หรือสังฆะตามระบบที่เป็นอยู่นี้มีศักยภาพเป็นผู้นำทางจิตปัญญาของชาวพุทธมากน้อยเพียงใด ฯลฯ แต่ข้อโต้แย้งเช่นนี้ควรเป็นข้อโต้แย้งเพื่อเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐในอนาคตมากกว่าที่จะเป็นข้อโต้แย้งเพื่อไม่ให้คณะสงฆ์ตามที่เป็นอยู่ปัจจุบันตรวจสอบกันในกรอบอ้างอิงทางพระธรรมวินัยตามที่คณะสงฆ์ปัจจุบันใช้เป็นกรอบอ้างอิงความชอบธรรมผดุงสถานะแห่งสังฆะของตน
            ฉะนั้น แม้อาจารย์สุลักษณะจะเห็นว่าคณะสงฆ์ควรเป็นอิสระจากรัฐ แต่การเรียกร้องให้คณะสงฆ์ตามเป็นอยู่จริงที่ยังไม่เป็นอิสระจากรัฐตรวจสอบกันตามกรอบพระธรรมวินัย ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า ระบบสงฆ์ที่อ้างอิงความชอบธรรมจากรอบพระธรรมวินัย จะทำผิดพระธรรมวินัยอย่างไรก็ได้
             กรณีที่อาจารย์สุลักษณ์เรียกร้องให้ตรวจสอบอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) คือพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) พระราชาคณะชั้นรองสมเด็จและเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เรื่องต้อง “อาบัติปาราชิก” ด้วยข้อกล่าวหา 2 ข้อ คือ 1) มีความสัมพันธ์กับสีกาอ้อ 2) ยักยอกเงินวัด ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ได้ดำเนินการตามที่เขียนไว้ในบทความชื่อ “สถาบันสงฆ์” ว่า
             ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือ นายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าคณะภาค ๑ ตลอดจนเจ้าคณะหนกลาง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีมหาจุฬาฯ ว่าถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ควรฟ้องหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ และผู้เขียน ถ้าเป็นอลัชชีตามข้อกล่าวหา ก็ควรให้ลาสมณเพศไป แต่ไม่ได้รับคำตอบเอาเลย จึงเขียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งตอบมาว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับอธิกรณ์ของสงฆ์
ปรากฏว่าอาจารย์สมภาร พรมทา ได้แสดงความเห็นท้ายบทความดังกล่าวว่า


อ่านข้อเขียนของท่านอาจารย์สุลักษณ์ชิ้นนี้แล้วไม่ค่อยสบายใจ เข้าใจว่าท่านอาจารย์หวังดีกับคณะสงฆ์ และพวกเราก็สมควรขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่มีน้ำใจห่วงใยดูแลพระพุทธศาสนา ท่านอาจารย์อายุมากแล้ว ก็ยังไม่ยอมเพิกเฉยในสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังมาในทางลบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ น้ำใจอันนี้ผมเคารพ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ
แต่ความไม่สบายใจนั้นอยู่ที่วิธีการที่ท่านอาจารย์ใช้ อย่างแรกเลยก็คือ การฟังความมาเพียงเท่านั้นก็เอามาเสนอต่อสาธารณชนทันที แม้ท่านอาจารย์จะไม่สรุปว่าใครผิดหรือไม่ แต่ท่านอาจารย์ก็ทราบว่า ท่านผู้เสียหายในกรณีนี้ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ว่าไปแล้ว ท่านเหล่านี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะมาต่อกรทางสื่อกับท่านอาจารย์ได้ ท่านเป็นพระ ดังนั้นต่อให้ท่านอาจารย์ท้าทายว่า ไม่จริงก็ไปฟ้องศาลซิ ท่านก็ไม่ทำดอกครับ นึกถึงจิตใจของลูกศิษย์ท่านเหล่านี้ซิครับว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร
เรื่องราวที่ท่านอาจารย์เอามาเล่าต่อนี้ ผมเองก็รับรู้มา จากแหล่งเดียวกันกับท่านอาจารย์ และแหล่งอื่นๆที่มากกว่าที่ท่านอาจารย์รับรู้มา เมื่อค่อยๆชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอที่เราจะเป็นห่วง ผมจึงเงียบ เวลานี้ก็ยังเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ สมมติว่าวันหนึ่งผมแน่ใจในข้อมูล ผมก็จะดำเนินการเงียบๆ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างหวังดีกับทุกฝ่าย และอย่างเจียมตัวว่าเราอาจเข้าใจผิดได้ ต้องให้เกียรติท่านที่เรามีข้อมูลในทางลบกับท่าน และต้องสันนิษฐานในเบื้องต้นก่อนว่า ท่านเหล่านี้บริสุทธิ์
ท่านอาจารย์อาจไม่ทราบว่า ทำไมร้องเรียนไปยังคณะสงฆ์แล้วท่านเงียบ ไม่ตอบกลับท่านอาจารย์มา ท่านไม่ตอบหรอกครับ เพราะพระวินัยให้ดุลยพินิจแก่ท่าน (อนิยตสิกขาบท) ว่า ก่อนจะดำเนินการต่อ อุบาสกหรืออุบาสิกาที่ร้องเรียนอธิกรณ์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่คณะสงฆ์เชื่อมั่นอย่างไร้ข้อสงสัยว่าหวังดีกับพระศาสนาและเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ ที่ท่านเงียบก็แปลว่าท่านเห็นว่า ท่านอาจารย์สุลักษณ์ไม่เข้าข่าย ผมตีความอย่างนั้น
ว่าไปแล้ว คณะสงฆ์ไทยเวลานี้ แม้จะมีเรื่องไม่ดีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายอะไรหนักหนาดอกครับ ผมเป็นคนในรู้ดี ท่านอาจารย์ต่างหากที่เป็นคนนอก
ขอกราบเรียนแลกเปลี่ยนกับท่านอาจารย์เพียงเท่านี้ก่อน ท่านอาจารย์รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

  ผมเองไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงยังไม่ได้แสดงความเห็นอะไร ต่อมาจึงถามกับท่านจันทร์ และท่านจันทร์ก็ให้ผมส่งบทความและความเห็นของอาจารย์สมภารข้างต้นไปให้ดู จากนั้นท่านจันทร์ก็นำความเห็นของอาจารย์สมภารไปอ่านให้อาจารย์สุลักษณ์ฟัง จึงเป็นที่มาของความเห็นของอาจารย์สมภารที่โพสต์ท้ายบทความชื่อ “ส.ศิวรักษ์กับคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง” ของท่านจันทร์ ว่า


ค่ำวาน ออกไปเดินเล่นสูดอากาศเพราะเพิ่งฟื้นไข้ ภรรยาเดินออกไปหา ส่งโทรศัพท์ให้บอกท่านอาจารย์ ส. จะขอคุยด้วย พอแนบโทรศัพท์เข้ากับหู ท่านอาจารย์ก็ "ใส่" ผมแบบไม่ยั้ง เรื่องที่ผมเขียนติงท่าน เรื่องที่ท่านวิจารณ์ท่านอธิการบดีมหาจุฬา ไม่เห็นหน้ากัน เลยไม่ทราบว่าน้ำเสียงที่ดุดัน รุกแบบเอาเป็นเอาตาย นั้นเป็นสีหน้าของมิตรหรือศัตรู พอท่านใส่ชุดใหญ่พอแล้ว ผมก็ขอโอกาสพูดบ้าง อย่างผู้น้อย ดูท่านไม่ค่อยฟัง พูดแทรก ตัดบท ผมก็เลยไม่มีแก่ใจจะชี้แจงอะไร แต่ก็ได้พูดไปกับท่านว่าผมมีวิธีคิดวิธีทำงานแบบของผม ท่านถามผมว่า ทำไมยังอยู่กับพวกอลัชชี พวกนี้มันเหี้ยทั้งนั้น สำหรับผม ไม่มีอลัชชี ไม่มีเหี้ย มีแต่มนุษย์ที่ผิดพลาดได้ด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งผมเองด้วย หากอยากช่วยเพื่อนมนุษย์ อย่าด่า ผมไม่เชื่อว่าด่าแล้วจะช่วยใครได้
เดินกลับเข้าบ้านแบบมึนๆ ถามภรรยาว่า โทรศัพท์เครื่องที่ใช้นี้มีที่เก็บเสียงที่เพิ่งรับไว้ไหม ภรรยาบอกไม่มี แล้วถามว่าทำไมเหรอ ผมก็ไม่ตอบอะไร บอกเพียงว่าถามอย่างนั้นเอง ที่ถามเพราะตอนนั้นรู้สึกว่า หากมีการอัดเสียงไว้ ก็น่าจะดีที่จะเอามาเปิดให้คนอื่นฟัง จะได้ช่วยวินิจฉัยว่าท่านอาจารย์ของเราที่ใครๆก็ยกย่องว่าเป็นปัญญาชนสยามท่านพูดกับผมอย่างไรบ้าง สมควรไหมที่ผู้ใหญ่จะกระหนาบผู้น้อยอย่างนั้น แต่ไม่มีก็ดีเหมือนกัน สายลมพัดแล้วก็ผ่านไป แค่ผ่านไปนะครับ สายลมแห่งความจริงนั้นยังอยู่
ที่เขียนเรื่องนี้มาเล่าก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับท่านจันทร์ ไม่รู้นะครับ ท่านอาจารย์ ส.นั้นผมรู้สึกว่าท่านอ่านยาก คนที่อ่านยากอย่างนี้ผมจะไม่เข้าหา พยายามอยู่ห่างๆ การพูดกันทางโทรศัพท์นั้นก็เป็นครั้งแรกที่ผมกับท่านพูดจากัน ไม่นับการทักทายกันตามมารยาทในงานสาธารณะ สำหรับผม คนที่จะเป็นหลักของสังคมต้องมีคุณสมบัติอย่างแรกเลยคืออ่านง่าย เย็น นิ่ง พูดน้อย แต่หนักด้วยสาระ และมีเมตตาที่คนอื่นรับรู้ได้ ท่านอาจารย์ของเราท่านออกไปทางเอะอะ สอนคนอื่นว่าให้ใช้ไตรสิกขาของพระพุทธเจ้า แต่ตัวท่านใช้บ้างหรือไม่ ผมไม่ทราบ
แต่ที่สุด ผมก็มองว่าท่านอาจารย์ส.เป็นบุคคลที่มีค่าของสังคมไทย สำนักพิมพ์ที่ท่านจัดตั้งนั้นเป็นแหล่งปัญญาที่ผมคิดว่าดีที่สุด มั่นคงมายาวนานที่สุด ของบ้านเรา ฝีมือทางการประพันธ์และเป็นบรรณาธิการหนังสือของท่านคือต้นแบบหนึ่งที่ผมใช้อยู่ในชีวิต
อีกสักสองสามเดือนผมก็คงลืมเหตุการณ์เมื่อค่ำวาน เพราะที่ผ่านมา มีเรื่องที่ถูกด่าหนักกว่านี้ก็ลืมมาเยอะแล้ว ขอกราบนมัสการแลกเปลี่ยนเท่านี้แหละครับ


   โดยส่วนตัวผมเคารพทั้งอาจารย์สุลักษณ์และอาจารย์สมภาร งานทางความคิดของทั้งสองท่านมีประโยชน์ต่อสังคมคนละด้าน งานของอาจารย์สุลักษณ์ทำให้เราเข้าใจปัญหาของพุทธศาสนาและระบบสังคมการเมืองไทย และกระตุ้นให้เกิดการคิดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ส่วนงานของอาจารย์สมภารคือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ผ่านการวิจัยประยุกต์ความรู้ทางพุทธศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ เพื่อตอบปัญหาทางวิชาการ รวมทั้งปัญหาจริยศาสตร์ร่วมสมัย เช่นประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม นิติปรัชญา ชีวจริยธรรม ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่างานของอาจารย์สมภารจะเป็นประโยชน์ระยะยาวแก่พุทธศาสนาและสังคมไทย
            แต่กรณีอธิการบดีมหาจุฬาฯ ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบอาจารย์สมภารที่ว่า “..สมมติว่าวันหนึ่งผมแน่ใจในข้อมูล ผมก็จะดำเนินการเงียบๆ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างหวังดีกับทุกฝ่าย และอย่างเจียมตัวว่าเราอาจเข้าใจผิดได้ ต้องให้เกียรติท่านที่เรามีข้อมูลในทางลบกับท่าน และต้องสันนิษฐานในเบื้องต้นก่อนว่า ท่านเหล่านี้บริสุทธิ์” เพราะผมไม่เชื่อว่าการตรวจสอบกันอย่าง “เงียบๆ” เช่นนั้นจะอธิบายความโปร่งใสได้ และอันที่จริงมันไม่มีเหตุผลว่าทำไมการตรวจสอบบุคคลสาธารณะจึงต้อง “ดำเนินการอย่างเงียบๆ” การดำเนินการอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาโดยผู้ที่ออกมาร้องเรียนแสดงตัวตนพร้อมประกาศรับผิดชอบหากโดนฟ้องกลับ ผมก็ไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นการ “ไม่ให้เกียรติ” หรือเป็นการผิดหลักของการต้องสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหายังเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ไปได้อย่างไร
             ในโลกของความเป็นจริงมีตัวอย่างของการตรวจสอบ “ผู้หลักผู้ใหญ่” อย่างเงียบๆ แล้วเอาผิดได้บ้างหรือเปล่าครับ เราพบว่าทั้งในทางโลกและวงการสงฆ์การตรวจสอบจะได้ผลเฉพาะเรื่องที่เป็นข่าวดังๆ หรือสาธารณชนรับรู้และให้ความสนใจอย่างจริงจังเท่านั้น กรณีอาจารย์สุลักษณ์ร้องเรียนอธิการบดีมหาจุฬาฯ ยิ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่ฟ้องอย่างชัดแจ้งว่า แม้ปัญหาจะถูกนำเสนอต่อสาธารณะแล้ว คณะสงฆ์หรือหน่วยงานรับผิดชอบจะไม่ทำอะไรซะอย่าง ใครจะทำไม
             ฉะนั้น เรื่องที่ควรจริงจังก็คือว่า ผู้ถูกกล่าวหาคือบุคคลสาธารณะ ผู้กล่าวหาทั้งอาจารย์สุลักษณ์และท่านจันทร์ ก็เป็นบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะท่านจันทร์นั้นเล่าว่า “สามีของสีกาอ้อมาพบท่านจันทร์และบอกเล่าความสัมพันธ์ของภรรยาตนกับอธิการบดี มจร.ให้ฟัง” และเรื่องนี้มันก็ปรากฏต่อสาธารณะแล้ว ทว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้วิธี “นิ่งเฉย” มหาจุฬาฯ คณะสงฆ์ และหน่วยงานรับผิดชอบนิ่งเฉย ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง หากเชื่อในเกียรติยศและความบริสุทธิ์ของตนเอง อธิการบดีและมหาจุฬาฯ ต้องให้มีการตรวจสอบข้อกล่าวหานี้โดยด่วน ด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ก็ไหนพระเทศนาให้ชาวบ้านฟังอยู่เสมอๆ ว่า “ทองแท้ไม่กลัวไฟ”
             ผมคิดว่า ทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหา ต่างเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงและมีเกียรติในสังคม วิธีที่เคารพเกียรติของทุกฝ่าย และเคารพหลักพระธรรมวินัย รวมทั้งเคารพความรู้สึกของลูกศิษย์ลูกหาและสังคม มีวิธีเดียวเท่านั้นคือ คณะสงฆ์ที่รับผิดชอบต้องนำปัญหานี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ใครผิดใครถูก
            การไม่ยกปัญหานี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างเปิดเผยโปร่งใส รังแต่จะเสื่อมเสียแก่อธิการบดีและมหาจุฬาฯ รวมทั้งทำให้ “สถาบันสงฆ์” เสื่อมความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น