บทสนทนาส่งท้ายปีเก่าและรับกระแสลงประชามติในปีใหม่ กับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ โดยใบตองแห้ง, บ.ก.ฟ้าเดียวกัน และบ.ก.ข่าวประชาไท ชี้ข้อจำกัดทางกฎหมายของการลงประชามติแก้ รธน. พร้อมตั้งคำถามสำคัญถึงรัฐบาล เป้าหมายเชิงโครงสร้างของรัฐบาลคืออะไร
เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของปี 2555 ก็คือการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา โดยพรรคร่วมรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็ต้องสะดุดลงเมื่อเดินมาถึงการโหวตวาระสาม เมื่อมีผู้นำเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า การกระทำของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
แม้นักกฎหมายมหาชนจำนวนไม่น้อยออกมาแย้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยคำร้อง แต่ศาลก็รับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยที่ชวนสงสัยออกมาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีอำนาจวินิจฉัยคำร้อง ตามมาตรา 68 วรรค 2 และวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคร่วมรัฐบาลไม่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ห้ามแก้ รธน. ทั้งฉบับ ต้องประชามติก่อน พร้อมเสนอว่า “ควร” จะให้มีการลงประชามติ
ถ้าจำกันได้ ในช่วงเวลานั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชัดเจนถึงผลบังคับ แต่ที่แน่ๆ ในทางการเมือง ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคไทยรักไทยใช้หาเสียงเลือกตั้งกับประชาชนไว้นั้น ส่อแววว่าจะพบกับอุปสรรคขวากหนามโดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นก้างชิ้นใหญ่
ปลายปี กระแสการลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญกระหึ่มขึ้นมาจากฟากรัฐบาล ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านไปปราศรัยกับประชาชนเริ่มรณรงค์แต่ไก่โห่ให้นอนหลับทับสิทธิลงประชามติ เนื่องจากข้อกำหนดการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 นั้นกำหนดให้ต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาลงคะแนนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และเสียงโหวตเห็นด้วยต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของประชาชนที่ออกมาลงประชามติ
ขวากหนามกองใหญ่ก็ปรากฏให้เห็นอีกครั้ง ประชาไทสนทนากับวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เพื่อถามความเห็นของเขาในเรื่องนี้ รวมไปถึงท่าทีของรัฐบาลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาเห็นว่า รัฐบาลนี้หวาดกลัวมากเกินไป
ผู้ร่วมสนทนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ผู้มีลีลาเฉพาะตัว, ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.นิตยสารฟ้าเดียวกัน และพิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวประชาไท
000
การลงประชามติ มีปัญหาทางกฎหมาย
พิณผกา: เรื่องลงประชามติ เงื่อนไขของการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นกับดักอันใหญ่ สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง
วรเจตน์: ตอนนี้ผมคิดว่ารัฐบาลเองดูเหมือนมีแนวโน้มว่าจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ทีนี้ประเด็นก็คือว่าเรายังไม่ทราบรายละเอียด จริงๆ คือจะจัดหรือไม่ อันนี้ก็ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการออกมา แต่สมมติว่าเราเชื่อตามที่รัฐบาลได้แสดงท่าทีออกมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งการโฟนอินของคุณทักษิณที่เขาใหญ่ ก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
ปัญหาก็คือ การออกเสียงให้มีการลงประชามตินั้นจะทำในประเด็นไหน ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจน ดูเหมือนว่าหลายคนเชื่อมโยงการจัดให้มีการลงเสียงประชามติ กับการลงมติวาระสาม เพราะเราคงจำกันได้ว่าตอนนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเสนอต่อรัฐสภายังค้างการพิจารณาอยู่ในวาระสาม คือผ่านมาสองวาระ แล้วก็มีคนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็เลยไม่มีการลงมติในวาระสาม เรื่องมันก็ยังค้างอยู่ แล้วก็ยังไม่ตกไปด้วย เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญบอกว่าถ้าพ้นวาระสองให้รอไว้ 15 วัน มันก็ยังคาอยู่ จะตกไปก็ต่อเมื่อสภานี้ครบวาระ ร่างฯ ที่ค้างอยู่ก็จะตกไปเลย แต่ตอนนี้สภายังดำรงอยู่ อันนี้ก็จะค้างอยู่ จึงต้องมีการหยิบยกขึ้นมาตัดสินใจกัน
แต่ทีนี้ผมเข้าใจว่าตอนนี้รัฐบาลอาจจะต้องการความชอบธรรมในการตัดสินใจ คือ ถ้าประชาชนมาออกเสียงประชามติเห็นด้วยมากก็อาจจะทำให้กล้าที่จะเดินหน้าผ่านวาระสามต่อไป ถ้าประชาชนมาออกเสียงน้อยหรือไม่เห็นด้วยก็อาจจะทำให้วาระสามตกไป ผมคิดว่าจะเป็นแบบนี้
แต่ถ้าเป็นแบบนี้ การที่รัฐบาลตัดสินใจทำประชามติ อาจจะมีปัญหาในทางกฎหมายตามมาอยู่เหมือนกัน เพราะเหตุว่าการทำประชามติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้มีอยู่สองลักษณะ คือ การทำประชามติที่มีลักษณะให้เกิดข้อยุติขึ้น กับการทำประชามติในเชิงปรึกษาหารือ
การทำประชามติในลักษณะซึ่งให้มีข้อยุตินั้นจะผูกพันการตัดสินใจของรัฐ คือการทำประชามติอันนั้นจะมีผลเป็นการตัดสินใจปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นยุติตามนั้น อีกอันคือการทำประชามติแบบหารือซึ่งไม่ผูกพัน เป็นเพียงแค่ประชาชนให้ความเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับรัฐบาลเท่านั้นเอง
ถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำประชามติแบบมีข้อยุติ ปัญหาเกิดขึ้นตามมาก็คือว่า ต่อให้ประชาชนเสียงข้างมาก คำว่า ’ข้างมาก’ ผมหมายความว่ามีคนมาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ประมาณ 24 ล้านคน แล้วคนที่มาออกเสียงนั้น เห็นด้วยกับการโหวตผ่านวาระสามเป็นเสียงข้างมาก คำถามที่ตามมาก็คือว่า มันจะมีผลยุติอย่างไร มันจะมีผลยุติว่าจะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทุกคนจะต้องผูกพันตามนี้ คือต้องโหวตให้ผ่านวาระสามหรือเปล่า นี่คือประเด็นที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าออกเสียงแบบให้มีข้อผูกพัน จะผูกพันอย่างไรก็ไม่ผูกพันสมาชิกรัฐสภาอยู่ดี เพราะว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว.นั้น อยู่ภายใต้หลักที่ว่า ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติสั่งการใดๆ การออกเสียงไปทางใดทางหนึ่งเป็นเรื่องไปสั่งเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้จะผ่านประชามติข้างมากก็ตาม ก็ไม่เป็นเครื่องการันตีว่าส.ส. หรือส.ว. ต้องโหวตผ่าน แล้วก็ไม่มีผลเป็นการตัดสินใจด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกมากๆ เพราะว่าเอาอำนาจสูงสุดของประชาชนมาใช้ ประชาชนบอกเห็นด้วยให้ผ่านวาระสาม ให้ส.ส. และส.ว. โหวต พอโหวตแล้วบางคนก็ไม่โหวตตาม และก็ไม่ผูกพันเขาอีกด้วย
เพราะฉะนั้นการทำประชามติแบบมีข้อยุติผมคิดว่ามันไม่ผลอะไร คือต่อให้คุณทำก็จะไม่มีผลผูกพัน ส.ส. และส.ว. ในทางกฎหมาย โอเค อาจจะมีคนแย้งว่ามันก็จะมีผลในทางการเมือง ในทางสนับสนุนการตัดสินใจ แต่ในทางกฎหมายนั้นไม่มีผล แล้วเมื่อในทางกฎหมายไม่มีผล มันก็ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตจำนงออกเสียงประชามติ เพราะว่าในทางหลักประชาธิปไตย เราถือว่าประชาชนมีอำนาจได้ในสองลักษณะ คือใช้อำนาจรัฐที่เขาเป็นเจ้าของได้โดยตรง อีกประการก็คือใช้อำนาจผ่านการออกเสียงเลือกตั้ง ก็คือการเลือกผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจแทนตัวเอง ซึ่งการใช้อำนาจโดยตรงต้องถือว่าเป็นการใช้อำนาจระดับสูงสุดแล้วในระบอบนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าออกเสียงให้เป็นข้อยุติ ต้องยุติตามนั้น แต่ถ้าเกิดออกเสียงเป็นยุติแล้วยังต้อไปโหวตวาระสามอีก แล้วจะโหวตผ่านก็ได้ ไม่ผ่านก็ได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องโจ๊ก เพราะฉะนั้นถ้าจะทำประชามติเกี่ยวกับวาระสาม ผมคิดว่าจะมีปัญหาแน่ๆ
ส่วนถ้าจะเป็นการทำประชามติแบบปรึกษาหารือ ก็แน่นอนว่ามันไม่ผลอะไร ก็อาจจะอ้างได้ว่า เรืองนี้ไม่ใช่กิจการของคณะรัฐมนตรีเลย กรณีการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่ได้รับการส่งต่อมาในรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็คือเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม มันไม่ใช่กิจการของคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะไปของปรึกษาหารือทำไม การปรึกษาหารือนั้นคือการปรึกษาหารือในกิจการบางอย่างที่ครม. เห็นว่าควรจะฟังความเห็นของประชาชน เช่น ประเทศไทยควรจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ อันนี้อาจจะถามในเชิงปรึกษาหารือได้ แต่เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งตอนนี้รัฐสภาเป็นคนใช้อำนาจนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะทำประชามติแบบปรึกษาหารือก็จะมีข้อแย้งว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีโดยตรง การทำประชามติแบบนี้ก็จะมีประเด็นที่ถูกแย้งขึ้นมา
อาจจะมีคนอ้างว่า ก็ทำตามศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไง แต่ถ้าไปอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดีๆ ศาลไม่ได้วินิจฉัยแบบมีสภาพบังคับเลยว่าต้องทำประชามติ แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้มีปัญหามากๆ ทั้งในทางกฎหมายและในแง่ของการเอาไปปฏิบัติ
คือผมฟังคำวินิจฉัยวันนั้นผมก็ยังงงว่าตกลงศาลต้องการอะไร ต้องการจะบอกอะไรกันแน่ ความชัดเจนในคำวินิจฉัยนี้แทบจะไม่มี รู้อย่างเดียวก็คือว่ามีผลในทางการเมืองเป็นการเบรกการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะอ้างศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลังยัน ผมก็คิดว่าไม่แน่นะว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยอมรับว่าคำวินิจฉัยของตัวเองให้ใช้เป็นหลังพิงได้ อาจบอกว่า “ควรจะ” ทำประชามติเท่านั้นเอง แต่ว่าปัญหาก็คือว่าการจะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่คนจัดทำประชามติจะต้องรับผิอดชอบในทางข้อกฎหมายเอง
พูดง่ายๆ ในความเห็นผม คือ บัดนี้ฝ่ายซึ่งไม่ต้องการให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตอนนี้ ผมว่าเขาเดินยิ้มกริ่มอารมณ์ดีกันทุกคน ถูกไหมฮะ ถามว่าทำไมเขายิ้มกริ่มอารมณ์ดี คำตอบก็คือเมื่อรัฐบาลถอย ไม่ยอมโหวตวาระสามตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้งที่ตอนนั้นมันชัดเจนมากๆ ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้เข้าสู่การพิจารณา แล้วก็เสียงของนักวิชาการตอนนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นข้างมากมีความเห็นว่าควรจะต้องโหวตวาระสาม การสั่งเบรกคุ้มครองชั่วคราวเขาก็สั่งไปที่สำนักเลขารัฐสภา ไม่ได้สั่งไปที่ตัวรัฐสภาสักหน่อย แต่ว่าฝ่ายสภาไปฟังแล้วก็ไม่โหวตวาระสาม ฝ่าย ครม. เองก็กลัวว่าถ้าโหวตวาระสามแล้วนำขึ้นทูลเกล้าแล้วเดี๋ยวจะเป็นปัญหากับฝ่ายที่มีการกลั่นกรองเรื่องเสนอให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นการกลัวไปก่อนหน้า ทั้งๆ ที่ความจริงก็คือว่า ถ้าเกิดนำขึ้นทูลเกล้าฯ องค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะวีโต้ เมื่อวีโต้ก็กลับมาที่สภา กลับมาที่สภา สภายืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ร่างฯ ก็ตก นี่คือกติกา คือถ้าเกิดทำไปตามกติกา ทำไปตามหลักการที่ถูกต้อง ผมว่าไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย
ที่นี้ก็กลัวกันว่ารัฐบาลจะล้ม ผมถามว่าจะล้มได้อย่างไร เพราะว่านี่คือกิจการที่เป็นอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งระบบของเราให้ไว้กับรัฐสภาเป็นผู้ใช้
พิณผกา: แต่สิ่งที่กังวลกันก็คือ พอเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญมีการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ก็คาดกันว่าถ้าขืนดึงดันต่อไป ไปแก้รายมาตรา ก็อาจจะต้องเข้าไปสู่การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทุกมาตรา
วรเจตน์: ก็ถูก คือผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่เขากลัวกันคือกลัวว่าการทำแบบนี้ การลงมติต่อไปเดี๋ยวจะกลายเป็นประเด็นถูกหาว่าล้มล้างการปกครอง กลายเป็นต้องถูกยุบพรรค ส.ส. ต้องมีคดีความต่อเนื่องกันไป ผมคิดว่าถ้าเราปล่อยให้ความกลัวแบบนั้นเข้าครอบงำมาก เราก็คงไม่ต้องทำอะไรกัน
คือผมเข้าใจได้ว่า โอเค ตุลาการภิวัตน์สำแดงเดชมาหลายครั้งแล้ว พวกนี้ก็อาจจะมีความกลัวอยู่ แต่ผมถามว่าการใช้อำนาจในทางกฎหมาย พอถึงจุดๆ หนึ่งถ้ามันขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิงมันก็เป็นชนวนทำให้เกิดการเปลี่ยนในทางโครงสร้างทั้งหมด ผมถามว่าแล้วจะกลัวอะไร คนจำนวนมากที่เขาเฝ้าติดตามการเมืองอยู่เขาก็เห็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่มีความชอบธรรม ฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ไม่มีความชอบธรรม นี่คือกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนการธรรมดาที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นเอง มันจะกลายเป็นเรื่องที่จะต้องถูกยุบพรรคไปได้อย่างไร แต่ถ้าถามว่าถ้าเกิดถึงขั้นนั้นจริง แน่นอนมันก็เป็นการสู้กันในทางความเป็นจริงน่ะ ผมก็พยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ทีนี้บางคนก็อาจจะบอกว่า นี่ไง เขาต้องการปลดสลักความขัดแย้งก็เลยไม่ลงวาระสาม ถอยมา จะได้ไม่มีการปะทะกัน แต่ผมว่า ถ้ากลัวแบบนี้ มันก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็อย่าคิดจะแก้รัฐธรรมนูญเสียเลย ประกาศไปเลยว่าเราจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปตลอดชั่วกัลปาวสาน เพราะว่าถ้าไปแตะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อไร กลไกรัฐธรรมนูญนั้นจะออกมาขับเคลื่อน นักวิชาการฝ่ายที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะออกมาขัดขวาง ออกมาตีความกฎหมายในทางขัดขวางการแก้ไขทั้งหมด คุณห้ามแตะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็บอกมาเลย ก็อย่าไปแตะมัน แล้วสุดท้ายประชาชนที่เขาต้องการแก้เดี๋ยวเขาหาวิธีการเองในการที่จะไปจัดการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะการแก้ตามระบบไม่ได้ มันก็ต้องแก้ด้วยวิธีการอื่น อันนี้เป็นธรรมชาติ เป็นสัจธรรมธรรมดา
การที่เขาบอกให้แก้แปลว่าเขาต้องการเปิดให้มีการพูดคุยและแก้ตามระบบ แต่ถ้าใครก็ตามที่พยายามทำตามระบบ แก้ตามระบบแล้ว คนที่อยู่ในระบบนั้นกลับขวางไม่ให้มีการแก้ไปตามระบบ อ้างสาเหตุโน้นสาเหตุนี้มา สุดท้ายก็ต้องไปสู่การปะทะ จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่อาจจะหลีกเลี่ยงแทบจะไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
ธนาพล: แล้วถ้าพยายามคิดในแง่ของเพื่อไทยที่เขาโดนทั้งในแง่ของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีของคุณสมัคร คุณสมชาย นี่เป็นเหตุผลพอที่จะกลัวศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า
วรเจตน์: มันก็คงเป็นเหตุผลอันหนึ่ง แต่ผมถามว่าถ้าเกิดแบบนี้ยังกลัว วันหน้าคุณจะเจออื่นๆ อีก นึกออกไหมครับว่า ไม่ใช่ว่าการถอยครั้งนี้จะทำให้กลไกทางกฎหมายอื่นๆ ขับเคลื่อนเข้าบดขยี้หรือดำเนินการต่อไป ใจผมยังคิดอย่างนี้ด้วยซ้ำไปว่า สภาพที่เป็นอยู่แบบนี้ เอาเข้าจริงมันคือการพยายามจะบอกว่าให้รัฐบาลอยู่ในวาระต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมคิดว่ามี ส.ส. จำนวนหนึ่ง มีผู้ที่เป็นรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งเชื่อว่าสภาพแบบนี้เขาไม่ได้เสียเปรียบอะไร เพราะว่าเมื่อเขาลงเลือกตั้งแม้ภายใต้กติกาปี 50 เขาก็ชนะการเลือกตั้ง อย่างน้อยเขาก็ยังยึดกุมอำนาจทางบริหารอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วในการที่เขายึดกุมอำนาจในทางบริหารเขาก็ค่อยๆ ใช้วิธีการในการเจรจาประนีประนอมกับองค์กรต่างๆ เขาก็ยังยึดกุมอำนาจอีกส่วนหนึ่งได้ดีกว่าไปเสี่ยง เพราะถ้าเกิดไปเสี่ยง มันอาจจะหลุดไปทั้งหมดเลยก็คือว่าอำนาจไม่มีเลย
แต่เขาก็ลืมนึกต่อไปว่าการทีเขาไม่เสี่ยงทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่ความจริงบางเรื่องมีหลักการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ชอบธรรม และมีคนเห็นด้วยอยู่จำนวนไม่น้อย มันทำให้ที่สุดแล้วมันไม่มีหลักประกันหรอกว่าเขาจะไม่ถูกกลไกเหล่านี้เข้าบดขยี้ แต่อันนี้อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่านี่เป็นเรื่องของรัฐบาลเอง ไม่ใช่เรื่องของผม ผมแค่ชี้ให้เห็นว่าก็คงมีคนจำนวนหนึ่งคิดแบบนี้
สมมติว่าตอนนี้ หนึ่งในคนที่สัมภาษณ์ผมเป็นรัฐมนตรี คุณเป็นรัฐมนตรีอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คุณมีตำแหน่งอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อะไรที่คุณคิดครับ สิ่งที่คุณคิดก็คือว่าคุณจะทำอย่างไรให้รัฐบาลนี้อยู่ได้นานที่สุด ใครเสนออะไรก็ตามที่คุณระแวงว่าจะทำให้รัฐบาลอายุสั้นถ้าเกิดไปเอาตาม อย่างที่รัฐมนตรีบางคนเรียกว่า “พวกช่างยุ” อะไรประมาณนี้ เขาก็ไม่เอา ถูกไหมครับ ซึ่งไอ้พวกนี้ความเห็นของผมก็คือฟังไปเฉยๆ แต่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากหลักการไง แล้วถ้าเกิดเราคิดว่าบ้านเมืองเราปกครองกันในเชิงหลักการ มันต้องคิด
แน่นอน การที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าผมไม่คิดทางการเมืองนะ คือ คุณต้องประเมินกำลังในทางการเมือง แต่อย่างที่ผมบอกว่า การที่คุณถอยตลอดเวลาเพื่อรออะไรบางอย่างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยตัวของมันเองมันไม่เป็นผลดีกับระบบทั้งหมด ผมว่าสุดท้ายคนก็จะเห็นว่าการทำแบบนี้มันไม่เป็นผลดีกับระบบ ไม่เป็นผลดีกับโครงสร้างทั้งหมด ไม่มีใครได้ประโยชน์เลยนอกจากคนซึ่งกุมอำนาจอยู่ทุกฝ่ายในเวลานี้ ผมหมายความว่า ไม่ใช่ฝ่ายรัฐมนตรีที่เขาอยู่ในตำแหน่งเท่านั้น หรือ ส.ส. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ แต่ผมหมายถึงฝ่ายที่อยู่ที่องค์กรอิสระ ฝ่ายศาล ทุกฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจในระดับบนของสังคมเขาก็เจรจากันแล้ว เขาก็อยู่กันไปแบบนี้ ซึ่งถามว่าคนทั่วๆ ไปที่เขาอยากจะเห็นประเทศนี้ปกครองโดยหลักการที่ถูกต้องได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย แล้วก็มีแต่ความสูญเสีย แต่ไม่ได้อะไรเลย ซึ่งในแง่นี้มันไม่แฟร์
ธนาพล: มันมีอีกประเด็นหนึ่ง คือถ้าเกิดผ่านวาระสาม แล้วในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็เท่ากับส่งนายกเข้าสู่....
วรเจตน์: ไม่จริงเลยครับ อันนี้เป็นการสมมติคาดหมายไปล่วงหน้าด้วย ก็อย่างที่ผมบอกว่าถ้าเกิดในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย มันก็เข้าสู่กลไกปกติไงครับ คือพระราชทานกลับคืนมาหรือทรงใช้อำนาจวีโต้ วีโต้ สภาก็มาประชุมกันสิครับ ถ้าคุณยืนยันด้วยคะแนนเสียงสองในสาม ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่ลงพระปรมาภิไธยอีกก็นำไปประกาศเสมือนหนึ่งว่าลงพระปรมาภิไธยแล้ว ถ้าคุณยืนยันไม่ถึงสองในสาม มันก็ตก นี่ก็มีกลไกตามรัฐธรรมนูญรองรับเป็นขั้นเป็นตอนอยู่
ธนาพล: แปลว่า “ต้องชน”
วรเจตน์: ผมไม่เรียกว่าชน ผมเรียกว่า ทำไปตามระบบที่รัฐธรรมนูญวางเอาไว้ เพราะว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญไงครับ ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ได้แก้หรอก เราเห็นไหมว่า ความแสนกล ความเจ้าเล่ห์ และรวมทั้งไหวพริบปฏิภาณและความหลักแหลมของฝ่ายซึ่งไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีมาตั้งแต่ตอนให้รับรัฐธรรมนูญ จากที่ผมเคยพูดตอนนั้นว่าทั้งปลอบและทั้งขู่ ปลอบคือ บอกว่าคุณรับไปก่อนเถอะ แล้วเดี๋ยวคุณมาตั้ง ส.ส.ร. แก้ได้ง่าย ไปดูสิว่าใครพูดไว้ในวันดีเบตรัฐธรรมนูญ แล้วตอนนี้คนพูดอยู่ในตำแหน่งอะไร นั่นคือการปลอบให้รับ
การขู่คือการบอกว่า เฮ้ย ถ้าพวกคุณไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คมช. กับ ครม. สามารถไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขและประกาศใช้ได้เลยโดยที่ไม่ต้องฟังเสียงพวกคุณ นี่คือการขู่
แล้วพอรัฐธรรมนูญผ่านมาแล้วเกิดอะไรขึ้น กลไกต่างๆ มันวางไว้เป็นหมากล้อมตัวรัฐธรรมนูญทั้งหมด พอไปแตะปุ๊บ เป็นปัญหาทันทีเลย แล้วตอนนี้ก็ไปยกเรื่องคุณทักษิณ เรื่องมาตรา 391 คดีอะไรพวกนี้มาเพื่อมาใช้อ้าง และในขณะที่ฝ่ายซึ่งควรจะออกมาสู้ในทางหลักการไม่ออกมาพูดในทางหลักการเลย
ผมถามว่าคดีต่างๆ ของคุณทักษิณนั้นทำไมคุณไม่พูดในทางหลักการล่ะ ไม่เห็นมันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลย แล้วมันเป็นการพูดไปในหลักการที่ถูกต้องเหมือนกับนิติราษฎร์เสนอลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร สำหรับผม ผมบอกจริงๆ นะ คดีของคุณทักษิณ คดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ วันนี้ต่อให้คุณทักษิณยอมรับอะไรไปก็ตามในส่วนของเขาเอง จะบอกว่าไม่นิรโทษกรรมอะไรก็ตาม ผมยืนยันว่าคดีนี้มีปัญหาในทางกฎหมาย แล้วคุณต้องกล้ายืนยันในหลักการแบบนี้ว่าการตัดสินคดีนี้มันมีปัญหาในทางกฎหมายจริงๆ คุณทักษิณ คุณจะมีท่าทีอย่างไร คุณจะแข็งกร้าวในตอนแรก คุณจะอ่อนในตอนต่อมาไม่เกี่ยวกับประเด็นนี้ เพราะนี่คือประเด็นในทางหลักการ
แล้วผมเชื่อว่าถ้าเกิดรัฐบาลยืนยันประเด็นในทางหลักการแบบนี้ เอาหลักการมาพูดให้คนฟัง ผมคิดว่าคนที่มีใจเป็นกลางจำนวนหนึ่งในสังคม เขาก็คงจะเห็นว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับตัวบุคคลแต่มันเกี่ยวกับเรื่องหลักการ คุณทักษิณจะพูดยังไงวันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับผม ผมก็ยืนยันว่าที่ผมได้พูดไปทั้งหมดเกี่ยวกับ 2 คดีนี้ ผมยังยืนยันว่ามันไม่ถูกต้องในทางกฎหมาย
มีบางคนประเมินบอกว่า เข้าสู่สภาแล้วอาจจะไม่ผ่าน ก็ให้มันรู้ไปว่ามันไม่ผ่าน ไม่ผ่านก็ดี คุณก็ได้มาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ไม่ผ่านก็ไม่ได้หมายความว่าแก้ไม่ได้ ถ้าวาระสามไม่ผ่านโหวตในสภา สำหรับผมนะครับ คุณเดินหน้าโหวตวาระสาม ถ้าไม่ผ่านในสภา มันไม่ได้หลักการอะไรบอกว่ารัฐบาลจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ถ้าไม่ผ่านสภา เพราะว่าส.ส. ไม่เห็นด้วยหรืออะไรก็ตาม ก็ทำประชามติเลย ถึงตอนนั้นทำเลยครับ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีคำถามอีกว่า ประชามติแบบนี้ทำได้หรือเปล่า เพราะมาตรา 165 ก็ระบุว่า การกระทำที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญนั้นกระทำไม่ได้ นี่ก็เป็นกลไกที่เขาซ่อนเอาไว้ แต่ในกรณีอาจจะเป็นการทำกฎหมายออกมาเพื่อถามประชาชนให้ลงประชามติเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ความเห็นของประชาชนเพราะไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าประชาชนเห็นจริงๆ อย่างไร ถ้ามีคนมาค้านว่าทำไม่ได้ คุณก็ต้องมีกฎหมายอันหนึ่งรองรับภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแล้วก็ถามประชาชนเสียในตอนนั้น
ธนาพล: ถ้าคิดกลับกันว่ารัฐบาลเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย แล้วค่อยไปหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่ารัฐบาลนี้จะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ
วรเจตน์: (หัวเราะ) ก็รัฐบาลก็หาเสียงมาแล้วไงครับในครั้งที่แล้ว ก็มันเป็นนโยบายอันหนึ่งที่รัฐบาลหาเสียงมาแล้ว คุณจะไปหาเสียงอีกกี่รอบล่ะ เดี๋ยวไปหาเสียงคราวหน้า ก็โอเค ถูกฝังรอไปอีก 4 ปี อ้าว คราวนี้หาเสียงใหม่เป็นรูปธรรมว่าจะแก้หมวดนี้ๆ แล้วพอโดนค้านอีก รัฐบาลก็ไปหาเสียงว่าจะแก้หมวดนี้ๆ ต่อไป ก็ไม่ได้แก้
ธนาพล: รัฐบาลก็บอกได้สิว่า การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็เป็นประชามติโดยตัวมันเองอยู่แล้วเพราะว่ารัฐบาลก็ไปหาเสียงแล้ว เป็นความชอบธรรมที่จะเดินหน้าวาระสาม
วรเจตน์: จริงๆ มันเป็นความชอบธรรมอยู่แล้ว ต้องเข้าใจแบบนี้ว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่สุดท้ายทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางเป็นไปได้ เราอย่าไปฝันว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกัน คนที่เสียประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทางที่เขาจะเห็นด้วยอยู่แล้ว เราตัดคนพวกนี้ทิ้งไปเลย คนที่มีความคิดความเชื่อบางอย่างฝังใจเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญเขาก็จะไม่มีทางเห็นด้วย แต่ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่เปิดให้ทุกคนเอาความเห็นขึ้นมาบนพื้นที่สาธารณะ แล้วแต่ละฝ่ายดีเบตกันถึงข้อดีข้อเสียแล้วตัดสินใจ และผมว่าวันนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าฝ่ายที่ต้องการผลักให้เกิดการแก้ไขเจอเล่ห์เหลี่ยมแสนกลของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดการแก้ไขตั้งแต่ตอนรับรัฐธรรมนูญมา แล้วเขาไม่เคยเปลี่ยนอุปนิสัยพื้นฐานอันนี้เลย ไม่ว่าระยะเวลาจะผ่านไปกี่ปี อุปนิสัยพื้นฐานเจ้าเล่ห์แสนกลอันนี้ไม่เคยเปลี่ยน
แฟ้มภาพ ประชาไท
พักเรื่องประชามติ แก้มาตราที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน
พิณผกา: แต่ถ้ามองในแง่ร้ายไปเลย นี่พูดในฐานที่ยังมองว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ข่าวเรื่องรัฐบาลจะเสนอให้ออกเสียงลงประชามติโดยคนที่มีสิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งตามแนวทางนี้ ความเป็นไปได้ก็ต่ำมากที่จะได้ถึงระดับนั้น
วรเจตน์: ใช่ มันมีความพยายามไงว่า จะต้องได้เสียงเห็นด้วยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ซึ่งผมคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้
พิณผกา: ซึ่งถ้าประชามติไม่ผ่าน รัฐบาลก็มีความชอบธรรมทีจะอธิบายคนฝั่งที่เชียร์ตัวเองและผิดหวัง โดยการอ้างประชามติได้เหมือนกัน
วรเจตน์: ก็เป็นไปได้ คือสุดท้ายผมว่าเป็นไปได้หลายอย่าง คือรัฐบาลอาจจะรู้อยู่แล้วว่าข้างหน้าเจอด่านเยอะ ไม่อยากจะฝ่าด่านแบบนี้ แต่จะปล่อยให้ตกวาระสามก็เสีย โอเค ในด้านหนึ่งรัฐบาลอาจจะไม่ต้องลาออก แต่ก็เสียเพราะเป็นกฎหมายสำคัญแล้วรัฐบาลทำให้ผ่านไม่ได้ จริงๆ โดยสภาพก็อาจจะต้องยุบสภาแล้วก็เลือกตั้งพร้อมกับทำประชามติในวันเลือกตั้งไปเลย ถ้าจะพูดถึงกลไกในทางระบอบ
แต่จริงๆ ถ้าถามผมตอนนี้ ถ้าเกิดคุณจะทำประชามติหรือโหวตอะไรก็ตาม คุณเจอกลไกรัฐธรรมนูญหมด สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจะต้องทำก่อนในบางมาตรา ถ้าต้องทำก่อนนะ และผมคิดว่าจะดีกว่าการทำประชามติด้วย นั่นก็คือการพุ่งไปที่การแก้บางหมวด ซึ่งเรื่องแรกที่จะต้องแก้ก็คือเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญนั้น พูดง่ายๆ ว่า ที่เราเป็นปัญหาทุกวันนี้เพราะเราถูกล็อคด้วยตัวคำวินิจฉัยด้วยส่วนหนึ่งที่สภากลับไปยอมรับ คุณต้องไปปลดตรงนี้ก่อน คุณต้องทำหมวดนี้ ไม่ใช่ออกเสียงประชามติ แต่ประเด็นก็คือมีคนบอกว่า ขนาดวาระสามยังไม่กล้าเลย คุณจะไปแก้เรื่องนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าเกิดคุณไม่กล้าลงวาระสาม เพราะเหตุกังวลว่าเดี๋ยวจะไปติดประเด็นแก้ทั้งฉบับเป็นเรื่องทำไม่ได้ ผมคิดว่าที่ดีกว่าไปทำประชามติคือไปทำเรื่องศาลรัฐธรรมนูญก่อน ต้องทำตรงนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทางแก้ได้ ถ้าแก้ได้ ก็จะแก้แบบประนีประนอมกันอย่างที่สุด คือฝ่ายการเมืองจะได้อะไรบางอย่างมา เช่น เลิกมาตรา 237 คือเรื่องทำผิดคนเดียวยุบทั้งพรรค อาจจะปรับเรื่องสิทธิเสรีภาพบางอย่างนิดหน่อย กลไกตรวจสอบนิดหน่อย แต่หลักๆ นั้นผมคิดว่าจะไม่ได้อะไร อำนาจอิสระจะคงอยู่แทบจะเป็นแบบเดิม อำนาจศาลก็จะไม่ถูกแตะ ผมว่าเป็นแบบนั้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำแบบนี้คุณจะถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ทันที แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็จะเข้ามาบอกทันที
แต่ถ้าคุณปรับเรื่องศาลรัฐธรรมนูญก่อน ศาลรัฐธรรมนูญทำเรื่องนี้ลำบากแล้วเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทันทีถ้าคุณเข้ามาตัดสินเรื่องนี้ เพราะมันเป็นการแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับพวกคุณ
เพราะฉะนั้นข้อเสนอที่นิติราษฎร์เคยเสนอไปเรื่องยุบศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ นี่เป็นการเสนอที่ไม่ได้เสนอโดยอารมณ์ความรู้สึกนะครับ แต่เสนอจากการคิดตรึกตรองว่าถ้าคุณจะปลดล๊อคคุณต้องปลดตัวนี้ก่อน นี่คือตัวสำคัญที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าถ้าจะขยับทำเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเสียงก็จะอึงคนึงเซ็งแซ่เหมือนกัน แต่ผมจะบอกว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็เป็นปัญหาหมด
ธนาพล: ถึงที่สุดนี่ไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมายเลย แต่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ
วรเจตน์: เรื่องการเมืองล้วนๆ
ธนาพล: ดังนั้น ถึงที่สุดแล้วตอนนี้มีคนพยายามทำให้เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมาย มันเป็นเรื่องการเมือง
วรเจตน์: ถูกต้อง คือที่พูดว่าเป็นเรื่องการเมือง จริงๆ เป็นมาหลายปีแล้วนะ คือกฎหมายมหาชนมันคือกฎหมาย มีเกณฑ์ของมันอยู่ที่ใช้ในการวินิจฉัยบางอย่าง บางเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ก็อาจจะมีความเห็นต่างกันได้ ก็ต้องว่ากันโดยข้างมากว่าอย่างไรก็เอาตามนั้น แต่หลายเรื่องมันยุติโดยหลักการที่ถูกต้อง มีถูกมีผิด แต่ตอนนี้มันถูกทำให้แทบจะเป็นการเมืองหมด ทุกคนร่วมกระโจนเข้าไป มีดีเบตในปัญหาบางอย่างแล้วไม่ต้องสนใจหลักการอะไร พูดไปจากความต้องการ ความปรารถนาทางการเมืองของตัวเองถ่ายเดียว แล้วก็เอากฎหมายมาตีให้มันเละ ให้มันมั่วเข้าไว้ ยิ่งกฎหมายมันเละมันมั่วเท่าไรมันยิ่งทำอะไรไม่ได้ มันจะเกิดสภาพแบบนี้ครับ คือความโกลาหลในทางกฎหมาย
ใบตองแห้ง: ตัวกฎหมายประชามติ และรธน. 165 ก็เป็นปัญหาด้วยสิ ทำไมถึงไม่มีผลผูกพัน
วรเจตน์: ประชามตินั้นมี 2 แบบ คือประชามติแบบมีข้อยุติ และประชามติแบบปรึกษาหารือ ประชามติแบบมีข้อยุติ คือประชามติแบบมีผลผูกพัน ส่วนประชามติแบบหารือนั้นไม่ผูกพัน พูดง่ายๆ คือตอนทำประชามตินั้น รัฐต้องบอกตั้งแต่แรกเลยว่าประชามติแบบนี้เป็นประชามติแบบมีข้อยุติ หรือประชามติแบบขอความเห็นเพื่อหารือเท่านั้น ประชามติแบบมีข้อยุติคือเมื่อประชาชนชี้อย่างไรต้องผูกพันตามนั้น
ใบตองแห้ง: แต่เนื่องจากวาระสาม มันไม่สามารถเป็นประชามติแบบข้อยุติได้
วรเจตน์: ถูกต้อง มันทำไม่ได้เพราะดุลยพินิจในการโหวตวาระสามมันอยู่ที่ ส.ส. และสว. และที่จริงเรื่องนี้มีคนบอกว่าการทำประชามติก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัตินั้น ไม่ใช่นะครับ สภาไม่ได้อำนาจนิติบัญญัติ แต่เป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งเวลาที่เขาโหวตเขาได้รับการประกันตามรัฐธรรมนูญว่าเขามีอิสระในการโหวต ผมถึงบอกว่ามันกลายเป็นโจ๊ก เพราะถ้าทำแบบมีข้อยุติคุณจะเจอทันทีเลย หลัก Free Mandate คือถ้าทำแบบมีข้อยุติมันไม่ต้องโหวตวาระสามสิ มีข้อยุติหมายถึงประชาชนโหวตให้แก้ตามร่างที่ค้างเอาไว้ คุณนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยเลย ซึ่งทำไม่ได้ ต้องมาโหวตวาระสามอยู่ดี ซึ่งก็ไม่ผูกพันส.ส. ส.ว. อยู่ดีในการโหวต ผมจึงมองว่าจริงๆ ต้องไม่สนใจเรื่องประชามติแต่แรกเลย แต่ผมไม่ทราบว่ามันเกิดอะไรขึ้นในแง่ของการวิเคราะห์ข้อกฎหมายของฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล อาจเพราะด้านหนึ่งนักการเมืองคิดเอาง่ายๆ ว่า ก็ไปถามประชาชนสิ ประชาชนว่าไงก็จะได้มีเสียงสนับสนุน ถ้าประชาชนไม่เอาด้วยก็เลิกไป คือคิดแบบนี้ไง แต่ว่ามันมีกลไกที่มารองรับ แล้วประชามติแบบ 165 ก็เป็นปัญหาในตัวบทด้วย
ใบตองแห้ง: ผมคิดว่าฝ่ายการเมืองเขาก็ตีความกฎหมายแบบเราแหละ แต่เขาตีความทางการเมืองว่าถ้าเขาผ่านวาระสาม เขาก็อาจจะโดนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เล่นเกมประชามติดีกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น