คดีปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษากรณีที่กัมพูชายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาที่ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของการตีความคำพิพากษาข้อเขียนนี้จะขออธิบายการตีความคำพิพากษาโดยจะไม่ขอกล่าวถึงประเด็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายของฝ่ายไทยและข้อเท็จจริงเพื่อรักษารูปคดีในระหว่างที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลโลก
1. การตีความคำพิพากษาของศาลโลกคืออะไร
ในกรณีที่รัฐคู่พิพาทสงสัยในความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาว่ามีความหมายแคบกว้างเพียงใดหรือมีความหมายว่าอย่างไรรัฐคู่ความก็สามารถร้องขอให้ศาลโลกทำการตีความคำพิพากษาได้
สำหรับตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตีความคำพิพากษาของศาลโลกได้แก่ ธรรมนูญของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 60 ซึ่งบัญญัติว่า “คำพิพากษาของศาลเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลต้องตีความตามคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” สำหรับวัตถุประสงค์ของการตีความคำพิพากษาคือการทำให้กระจ่างแจ้ง (Clarify) ในประเด็นที่คู่ความมีความเห็นต่างกันหรือไม่ตรงกันไม่ว่าจะเป็นประเด็นข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง แต่การตีความคำพิพากษาจะต้องไม่ใช่เป็นการขยายความหรือแก้ไข (Modify) บทปฎิบัติการหรืออธิบายในประเด็นที่มิได้ปรากฎอยู่ใน submission หรือมีลักษณะเป็นการขอให้พิจารณาคดีใหม่
2. เขตอำนาจในการตีความคำพิพากษา
ในเรื่องเขตอำนาจศาลในการตีความนี้ มีประเด็นที่สำคัญที่ต้องพิจารณาดังนี้
2.1 เขตอำนาจในการตีความคำพิพากษานี้มาจากไหน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โดยปกติทั่วไปเขตอำนาจของศาลมีอยู่ 2 ประเภท คือ เขตอำนาจในการพิจารณาตัดสินคดีที่มีข้อพิพาท (contentious jurisdiction) กับเขตอำนาจที่ติดตัวมากับศาลที่เรียกว่า incidental jurisdiction ซึ่งได้แก่อำนาจในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อำนาจในการตีความและอำนาจในการแก้ไขคำพิพากษา[1] ดังนั้น เขตอำนาจศาลในการตีความคำพิพากษาของตนจัดว่าอยู่ในประเภทเป็น incidental jurisdiction ศาลโลกในคดีการขอให้มีการตีความในกรณีของไหล่ทวีประหว่างประเทศตูนิเซียและลิเบีย ปีค.ศ. 1985 ได้อธิบายว่าเขตอำนาจในการตีความคำพิพากษานี้เป็นเขตอำนาจพิเศษ (special jurisdiction) ที่มาจากมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยตรง ความน่าสนใจของคดีนี้อยู่ที่ว่า คดีนี้ประเทศตูนิเซียและลิเบียได้ทำความตกลงพิเศษ (Special agreement, Compromis) ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเพื่อให้ระงับข้อพิพาทและในข้อ 3 ของความตกลงนี้กำหนดว่าในกรณีที่ศาลโลกได้ตัดสินแล้วและหากต้องการให้ศาลโลกอธิบายหรือให้ความกระจ่าง ทั้งคู่จะต้องไปหาศาลโลกด้วยกัน แต่ปรากฏว่าตูนิเซียกลับมายื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาฝ่ายเดียว ศาลโลกได้อธิบายว่าแม้รัฐคู่พิพาทจะทำความตกลงดังกล่าวแต่ก็ไม่เป็นเหตุตัดสิทธิอีกฝ่ายหนึ่งที่จะยื่นคำร้องฝ่ายเดียวให้ศาลโลกตีความ[2] ตามข้อที่98 ของ Rules of Court
นอกจากนี้ นักกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง Shabtai Rossene[3] Merrills[4] Kaikobad[5] เห็นว่า อำนาจในการตีความคำพิพากษาของศาลมาจากธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามมาตรา 60 โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากรัฐคู่พิพาทอีกครั้งหนึ่ง การให้ความยินยอมยอมรับเขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดี (คดีดั้งเดิม) ตามมาตรา 36 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลในการตีความคำพิพากษาด้วย อย่างไรก็ตาม คำร้องของรัฐคู่ความจะรับฟังได้หรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาตามมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและศาลโลกจะตีความคำพิพากษาเองไม่ได้หากคู่ความมิได้ร้องขอไม่ว่าคำขอนั้นจะกระทำร่วมกัน(Jointly)หรือกระทำฝ่ายเดียว(Unilaterally)ก็ตาม
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ประเด็นที่ว่า การตีความคำพิพากษาจำต้องได้รับความยินยอมจากรัฐคู่ความก่อนหรือไม่นั้นมิใช่เป็นเรื่องใหม่แต่เคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ชั้นร่างอนุสัญญา The Hague Convention for the Pacific Settlement of InternationalDisputes 1907 แล้ว โดย Sir Edward Fry ผู้แทนของประเทศอังกฤษเห็นว่า ปัญหาเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทใหม่ ดังนั้น จำต้องได้รับความตกลงใหม่ (new compromis)[6] แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฎิเสธจากที่ประชุมแต่ที่สุดก็ได้มีการประนีประนอมว่าคู่พิพาทสามารถเสนอให้ศาลสามารถตีความคำพิพากษาได้ตราบเท่าที่ไม่มีความตกลงห้ามมิให้กระทำ[7]
3.ความยินยอมของรัฐคู่ความในการยอมรับอำนาจศาลตามาตรา 36 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศสิ้นสุดลง (Effect of lapse of title of jurisdiction) จะมีผลกระทบต่อเขตอำนาจของศาลในการตีความคำพิพากษาหรือไม่
ประเด็นนี้หมายความว่า หากความยินยอมของรัฐในการยอมรับอำนาจศาลโลกทั้งสามวิธี กล่าวคือกรณีการยอมรับเขตอำนาจศาลโลกโดยการทำความตกลงทวิภาคีที่เรียกว่า “Special agreement” หรือคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกตามมาตรา 36 วรรคสองที่เรียกว่า “Optional clause declaration” หรือการยอมรับแบบที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาที่เรียกว่า “Compromissory clause” ได้สิ้นสุดลง (lapse) จะมีผลกระทบต่อเขตอำนาจศาลในการตีความคำพิพากษาหรือไม่ นักกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง Zimmermann เห็นว่า เขตอำนาจในการตีความคำพิพากษาเป็นไปตามมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่ขึ้นอยู่กับการให้ความยินยอมยอมรับเขตอำนาจศาลโลกในคดีดั้งเดิมแต่อย่างใด[8]
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติของศาล ศาลโลกเคยตัดสินในคดีการร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาในคดี Avena ปีค.ศ. 2008 ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก โดยศาลโลกกล่าวว่า แม้ประเทศสหรัฐจะได้ถอนตัวจาก Optional Protocol ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการกงสุล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2005 แต่ศาลโลกก็ยังมีเขตอำนาจตีความคำพิพากษาตามมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอยู่ การสิ้นสุดของความยินยอมของการยอมรับเขตอำนาจศาลในคดีดั้งเดิม (lapse of jurisdiction of the original case) ไม่มีผลกระทบต่อเขตอำนาจศาลโลกในการตีความ[9]
นอกจากนี้ ในความเห็นแย้งของผู้พิพากษานามว่า Donoghue ที่เป็นองค์คณะพิจารณาการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่กัมพูชาร้องขอในกรณีปราสาทพระวิหารก็แสดงความเห็นว่า “รัฐไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอมแยกต่างหากในการตีความคำพิพากษาตามมาตรา 60 การให้ความยินยอมต่อเขตอำนาจศาลเหนือคดีที่มีข้อพิพาทได้รวมความยินยอมในการตีความคำพิพากษาในอนาคตด้วยแล้ว” [10] และผู้พิพากษา Donoghue ยังกล่าวชัดเจนว่า “The Court’s jurisdiction to interpret the Court’s 1962 Judgment survives the expiration of the declaration that Thailand made in 1950 pursuant to Article 36 paragraph 2, of the Statute of the Court.”[11]
3.1 การตีความนี้มีขอบเขตหรือข้อจำกัดระยะเวลาหรือไม่
ผู้พิพากษาศาลโลกสองท่านคือ Buergenthal[12] และ Donoghue[13] รวมทั้งศาสตราจารย์ Shabtai Rosenne[14] และ Kaikobad[15] ที่เห็นว่าการตีความคำพิพากษาศาลโลกไม่ถูกจำกัดด้วยระยะเวลา (no time-limits) ซึ่งต่างจากการขอแก้ไขคำพิพากษา (Revision) ซึ่งตกอยู่ภายใต้อายุความ 6 เดือนนับแต่วันที่ค้นพบข้อเท็จจริงใหม่หรือภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
4.เงื่อนไขในการตีความ
เงื่อนไขสำคัญที่ขาดเสียมิได้ (conditio sine qua non) ในการตีความคำพิพากษาคือ ประการแรก ต้องมีข้อพิพาท (Dispute) เกิดขึ้นและประการที่สอง การตีความที่ว่านี้ต้องจำกัดเฉพาะความหมาย (Meaning) หรือขอบเขต (Scope) ของคำพิพากษาเท่านั้น
เงื่อนไขประการแรกหมายความว่า ศาลโลกจะรับคำร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาได้ (Admissible) ได้ก็ต่อเมื่อ มีข้อพิพาทเกิดขึ้นจริง คำว่า “ข้อพิพาท” นั้น หมายถึงความเห็นต่างกันหรือความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในประเด็นข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงในบทปฏิบัติการ ลำพังอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าบทปฏิบัติการมีความคลุมเครือ (Obscure) แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามีความชัดแจ้งแล้ว ไม่เพียงพอที่จะถือว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้น ดังนั้น ศาลโลกจึงไม่อาจตีความได้ และข้อพิพาทที่ว่านี้ต้องเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้นจริงๆ (actual dispute) มิใช่เพียงแค่ข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้ (potential dispute)
เงื่อนไขประการที่สองหมายความว่า การตีความจำกัดเฉพาะความหมายหรือขอบเขตของบทปฏิบัติการหรือเหตุผลในคำพิพากษาที่ไม่สามารถแยกออกจากบทปฏิบัติการได้เท่านั้น ศาลโลกจะตีความในประเด็นที่มิได้ปรากฏในบทปฏิบัติการหรือที่ศาลโลกมิได้ตัดสินไม่ได้ การตีความคำพิพากษาเดิมจะต้องไม่เป็นการขยายหรือแก้ไขบทปฏิบัติการในคำพิพากษาเดิมแต่จะต้องรักษา “สิ่งที่ได้รับการตัดสินและผูกพันคู่ความ"” (res judicata) ให้มากที่สุด มิฉะนั้นแล้ว การตีความจะกลายเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษา (ซึ่งกระทำไม่ได้) หรือเป็นการขอแก้ไขคำพิพากษาซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการขอตีความ
4.วัตถุแห่งการตีความ
วัตถุแห่งการตีความ (Object of interpretation) โดยศาลโลกได้แก่คำตัดสินของศาลหรือส่วนที่เป็นบทปฏิบัติการ (Operative part) ซึ่งก็คือส่วนตอนท้ายของคำพิพากษาที่เรียงประเด็นตัดสินและมีชื่อของผู้พิพากษาที่ลงคะแนนตัดสินว่ามีผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะว่าท่านใดลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นด้วย นอกจากนี้แล้ว ผู้พิพากษาศาลโลกยังสามารถตีความ “เหตุผล” ที่ปรากฏในคำพิพากษาได้ด้วยแต่มีเงื่อนไขว่าเหตุผลนั้นต้องเป็นส่วนที่ไม่สามารถแยกได้ออกจากบทปฏิบัติการ (inseparable from the operative part) สรุปก็คือวัตถุแห่งการตีความได้แก่บทปฏิบัติการและเหตุผลที่ไม่อาจแยกออกจากบทปฏิบัติการได้
นอกจากนี้แล้ว คำพิพากษาที่จะเป็นวัตถุแห่งการตีความได้นั้นอาจเป็นคำพิพากษาชั้นเนื้อหาหรือคำพิพากษาเกี่ยวกับการคัดค้านเบื้องต้นของเขตอำนาจศาล (Preliminary objection) ก็ได้ ในอดีตที่ผ่านมาศาลโลกเคยตัดสินการตีความคำพิพากษาเกี่ยวกับการคัดค้านเบื้องต้นของเขตอำนาจศาลในคดี Request for Interpretation of the Judgment of 11 June 1998 in the Case concerning the Land and Maritime Boundary between Cameroon and Nigeria โดยศาลโลกได้กล่าวว่า ตามมาตรา 60 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่ได้แยกความแตกต่างประเภทของคำพิพากษา ดังนั้น คำพิพากษาชั้นเนื้อหากับคำพิพากษาเกี่ยวกับการคัดค้านเบื้องต้นของเขตอำนาจศาลจึงเป็นวัตถุแห่งการตีความตามาตรา 60 ได้[16] ส่วนการตีความคำพิพากษาการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (Provisional measures) นั้นที่ผ่านมายังไม่ปรากฎรัฐคู่ความเสนอคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษากรณีของการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแต่อย่างใด
5.ช่องทางในการตีความคำพิพากษา
ตามธรรมนูญศาลโลกและ Rules of Procedure ของศาลข้อที่ 98 ของ Rules of Court ของศาลโลกที่แบ่งวิธีการร้องขอให้ศาลโลกตีความออกเป็นสองวิธีคือการยื่นคำร้องให้มีการตีความฝ่ายเดียว (an application) กับการแจ้งให้ทราบว่ามีการทำความตกลงพิเศษ (Notification of a Special Agreement) กับรัฐคู่พิพาทเพื่อให้ศาลโลกตีความ สรุปก็คือ วิธีการให้ศาลโลกตีความทำได้ 2 วิธี ได้แก่รัฐคู่พิพาททั้งสองฝ่ายซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการทำความตกลงพิเศษที่เรียกว่า Special Agreement เสนอให้ศาลโลกตีความ หรือการยื่นคำร้องฝ่ายเดียว โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน อย่างไรก็ดี ศาลจะรับการร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลโลก สำหรับกรณีของกัมพูชาได้ใช้ช่องทางนี้ยื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความฝ่ายเดียว
6. หลักความสุจริตของผู้ขอตีความ
หลักความสุจริต (good faith, bona fide) เป็นหลักกฎหมายพื้นฐานสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศที่ครอบคลุมใช้กับหลายเรื่องรวมถึงกรณีการขอตีความคำพิพากษาด้วย[17] ผู้พิพากษาศาลโลกอย่างน้อย 2 ท่านที่ย้ำความสำคัญของหลักความสุจริตของรัฐที่ขอตีความคือท่าน Weeramantry และ Shigeru Oda ความสุจริตนี้หมายความว่า คำขอการตีความคำพิพากษาจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการอำพราง (disguise) ขอแก้ไขคำพิพากษาหรือการเปิดเป็นประเด็นข้อพิพาทใหม่ โดยผู้พิพากษา Weeramantry กล่าวในคดี Request for Interpretation of the Judgment of 11 June 1998 in the Case concerning the Land and Maritime Boundary between Cameroon and Nigeria ว่า การขอให้ตีความจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการอำพรางขอแก้ไขคำพิพากษาหรือเปิดการพิจารณาเป็นคดีใหม่ในสิ่งที่ศาลได้ตัดสินแล้ว ส่วนผู้พิพากษา Oda กล่าวในคดี Application for Revision and Interpretation of the Judgment of 24 February 1982 in the Case concerning the Continental Shelf (Tunisia/Libyan Arab Jamahiriya) ว่าการร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาของตูนีเซียนั้น ไม่ใช่เป็นการขอให้การตีความแต่เป็นการอำพรางขอแก้ไขคำพิพากษา[18] ส่วนการร้องขอให้ตีความคำพิพากษาของกัมพูชานั้นผู้เขียนเห็นว่ามีลักษณะเป็นการอำพรางการขอแก้ไขหรือขยายคำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 แต่ทำในรูปของการขอตีความโดยกัมพูชาประสงค์จะอ้างสิทธิเหนือพื้นที่รอบๆ (vicinity) ปราสาทพระวิหารหรือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกระทำไม่ได้
7.ผลแห่งการตีความ
การตัดสินของศาลโลกเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษานั้นมีสถานะเป็น “คำพิพากษา” เหมือนกับการตัดสินในเนื้อหาของคดี (merits) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผลของการตัดสินกรณีของการตีความคำพิพากษานั้นกระทำในรูปแบบของ “คำพิพากษา” ซึ่งย่อมอยู่ในขอบเขตของการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกตามมาตรา 94 วรรคแรกของกฎบัตรสหประชาชาติด้วย มีข้อสังเกตว่า แม้ว่ามาตรา 94 จะใช้คำว่า “คำตัดสิน” (Decision) มิได้ใช้คำว่า “คำพิพากษา” (Judgment) ก็ตาม แต่นักกฎหมายระหว่างประเทศส่วนใหญ่ก็ตีความคำว่า คำพิพากษาอยู่ในความหมายของ “คำตัดสิน” ตามมาตรา 94 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติด้วย[19] ผลก็คือ คำพิพากษากรณีการตีความคำพิพากษานั้นมีผลผูกพันให้รัฐคู่พิพาทจำต้องปฏิบัติตามคำตัดสินตามมาตรา 94 (1) แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ
บทสรุป
การเตรียมการต่อสู้คดีในครั้งนี้เป็นผลมาจากการร่วมแรงร่วมใจของหลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองเขตแดน เจ้าหน้าที่ทหาร ทีมที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศชาวต่างประเทศทั้งสามท่านคือศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ดศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ และศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่างๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ และอีกหลายฝ่าย หวังว่าผลของคำพิพากษาที่จะตัดสินในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้จะให้ความยุติธรรมแก่ประเทศไทยและเป็นผลดีต่อประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ผู้เขียนคาดการณ์ว่าคำร้องขอตีความคำพิพากษาของกัมพูชาไม่สามารถรับพิจารณาได้ (Inadmissible) เนื่องจากไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปีพ.ศ. 2505 เพราะว่าหลังจากที่ศาลโลกตัดสินคดีมาเกือบ 50 ปี ความประพฤติหรือทางปฎิบัติภายหลัง (subsequent conduct) ของกัมพูชาได้อธิบาย (clarify) ขอบเขตเเละความหมายของบทปฎิบัติอยู่ในตัวเองอย่างชัดแจ้งที่สุดแล้วว่าขอบเขตพื้นที่รอบๆอยู่ตรงไหนหลังจากที่ไทยทำรั้วลวดหนามล้อมตัวปราสาท
[1] J.G. Merrills, International Dispute Settlement, (Great Britain: Cambridge University Press,1993),หน้า 116
[2] Application for Revision and Interpretation of the Judgment of 24 Februaiy 1982 in the Case concerning the Continental Shelf (Tunisia/Libyan Arab Jamahiriya) (Tunisia v. Libyan Arab Jamahiriya), Judgment, I. C. J. Reports 1985,หน้า 216
[3] Shabtai Rossene, Interpretation, Revision and Other Recourse from International Judgments and Awards, (the Netherlands: Martinus Nijhoff Publisher,2007),p.4 ศาสตราจารย์ Rosense กล่าวว่า “ The exercise of that construction-competence does not require any further expression of consent by either party; their consent to jurisdiction over the original case carries through to the interpretation phase should there be one.”
[4] J.G. Merrills, อ้างแล้ว, หน้า 116
[5] Kaikobad Kaiyan, Interpretation and Revision of International Boundary Decisions, (the United Kingdom: Cambridge University Press, 2007),pp.102-104 Kaikobad กล่าวว่า “…one the court is vested with jurisdiction to hear a dispute between the parties, a litigants state need not seek ad hoc consent from the other litigant party to refer the dispute to the Court for the purposes of clarifying the meaning of the judgment.”
[8]Andreas Zimmermann et al (ed.)The Statute of the International Court of Justice: A Commentary,(Great Britain: Oxford University Press,2006),หน้า 1288
[9] Request for Interpretation of the Judgment of 31 March 2004 in the Case Concerning Avena and Other Mexican Nationals (Mexico v. United States of America) Request for the Indication of Provisional Measures (2008), วรรค 44
[10]โปรดดู Dissenting opinion of Judge Donoghue ในคดี Request for interpretation of the Judgment of 15 June 1962 in the case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) (Cambodia v.Thailand) Provisional Measures, Order of 18 JULY 2011, วรรค 7
[11] โปรดดูความเห็นแย้งของ Donoghue ในคดี Request for interpretation of the Judgment of 15 June 1962 in the case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) (Cambodia v. Thailand)Provisional Measures, Order of 18 JULY 2011,วรรค 6
[12] โปรดดูความเห็นแย้งของ Buergenthal ในคดี Request for Interpretation of the Judgment of 31 March 2004
in the Case concerning Avena and Other Mexican Nationals (Mexico v. United States of America) (Mexico v. United States of America), Provisional Measures, Order of 16 July 2008, I.C.J. Reports 2008,วรรค 25
[13] โปรดดูความเห็นแย้งของ Donoghue วรรค6
[14] Shabtai Rosenne, An International Law Miscellany, (the Netherlands: Martinus Nijhoff Publishers,1993) หน้า 81
[15] Kaikobad Kaiyan, Interpretation and Revision of International Boundary Decisions, (the United Kingdom: Cambridge University Press, 2007),p.129
[16] Request for Interpretation of the Judgment of 11 June 1998 in the Case concerning the Land and Maritime Boundary between Cameroon and Nigeria (Cameroon v. Nigeria), Preliminary Objections(Nigeria v. Cameroon), Judgment, I. C. J. Reports 1999,วรรค 10
[17] Kaikobad Kaiyan, ,p.135
[18] Separate opinion of Judge Oda, Application for Revision and Interpretation of the Judgment of 24 Februaiy 1982 in the Case concerning the Continental Shelf (Tunisia/Libyan Arab Jamahiriya)(Tunisia v. Libyan Arab Jamahiriya), Judgment, I. C. J. Reports 1985, p.245
[19] Bruno Simma & et al (editor)The Charter of the United Nations: A Commentary, (Great Britain: Oxford University Press, 2002), หน้า 1174
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น