ปัญหา การใช้และตีความกฎหมายอาญามาตรา 112
ศราวุฒิ ประทุมราช ผู้อำนวยการสถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน
กล่าวได้ว่า มาตรา๑๑๒ ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ใน ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
[1] เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรี)ได้ตรา "ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙" เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ การจัดหมวดหมู่เช่นนี้ ทำให้ความผิดดังกล่าวเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ใครก็ตามสามารถนำเรื่องที่มีการ กล่าวหรือโฆษณาด้วยประการใดก็ตามไปแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้กระทำ แม้ข้อกล่าวหานั้นจะมีมูลหรือไม่ก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจมักเร่งดำเนินการสอบสวนและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา และรีบดำเนินคดีต่อศาล โดยไม่ยอมให้มีการประกันตัว อ้างเหตุเป็นคดีร้ายแรง เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี เช่น กรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วอยส์ ออฟ ทักษิณ และนักสหภาพแรงงาน ที่เพิ่งถูกพิพากษาจำคุกไปเมื่อเร็วๆนี้ กรณีนายอำพล หรืออากง ที่ถูกจำคุก ๒๐ ปี และเสียชีวิตในเรือนจำ นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นายธัญฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล บุคคลเหล่านี้ ไม่ได้รับการประกันตัว นับแต่ถูกจับกุม
การจัด มาตรา ๑๑๒ ไว้ในหมวดความั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้และการตีความการบังคับมาโดยตลอด ทั้งๆที่ในคำอธิบายของอาจารย์ผู้สอนกฎหมาย วิชากฎหมายอาญาภายหลังการจัดทำประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ นั้น อธิบายว่า ความผิดฐานตามมาตรา ๑๑๒ นั้นมีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ ซึ่ง หมายถึง การใส่ความบุคคลตามมาตรา ๑๑๒ ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลตามมาตรา ๑๑๒ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แม้คำพูดดังกล่าวจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียหาย ก็ถือว่าหมิ่นประมาทแล้วตามมาตรานี้ได้ “ดูหมิ่น” มีความหมายเช่นเดียวกับการกระทำในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๓๖ หรือตามนัยแห่งการกระทำในความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดาตามมาตรา ๓๙๓
ปัญหาการตีความมาตรา ๑๑๒
ประการแรก ตีความโดยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติไว้ว่า
“ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ” นั้น ควรมีความหมาย ที่อธิบายแยกกัน ดังนี้
ความหมายที่แท้จริงของ “ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ”[2]
ในประเพณีการเมืองการปกครองของไทย นับแต่ปี ๒๔๗๕ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น มีความหมายโดยปริยายว่าบุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วย แต่สังคมไทยยังให้การเคารพยกย่องพระมหากษัตริย์ เพราะทรงเป็นประมุขของปวงชนชาวไทย
ในประเทศไทยบุคคลทุกคนย่อมมีฐานะเสมอกัน ยกเว้นพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะเสด็จไปที่ใดๆทางราชการต้องจัดให้มีการเคารพเป็นการเฉลิม พระเกียรติ และเป็นหน้าที่ของราษฎรที่จะต้องทำความเคารพดุจกัน การไม่เคารพพระมหากษัตริย์หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่มีโทษตามกฎหมาย แต่เป็นโทษทางสังคมที่จะถูกตำหนิติเตียนจากสังคม ฯลฯ
เพื่อให้ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ กฎหมายได้คุ้มครองพระมหากษัตริย์สูงกว่าบุคคลธรรมดา เช่นการประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จะถูกลงโทษตามกฎหมายอาญาหนักกว่ากระทำต่อบุคคลธรรมดา
ในทางปฏิบัติเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ เคารพสักการะ รัฐไทยโดยสภาผู้แทนราษฎรได้ถวายเงินรายปีให้แก่พระมหากษัตริย์เป็นจำนวนสูง กว่าเงินเดือนข้าราชการทั่วไป
นอกจากนี้การที่มีการเขียนบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะนั้น ย่อมมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง ต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและจะต้องไม่ทรงปรึกษาหารือกับ นักการเมืองใดๆ นอกจากคณะองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี
หากมีพระราชประสงค์จะพบกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองผู้ใด ต้องขอให้รัฐบาลจัดถวาย และควรมีพระราชดำรัสต่อหน้ารัฐมนตรีเพื่อแสดงความเป็นกลาง
ในประเทศนั้นมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ไม่เป็นพรรคพวกของพรรคการ เมือง ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของราษฎรทุกคน ทั้งคนทั่วไปที่สนับสนุนนักการเมืองฝ่ายค้านหรือสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และไม่ว่าแต่ละคนจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่หรือ ฝักใฝ่การเมืองแบบใด ซึ่งโดยนัยนี้จะต้องถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ โดยจะเห็นได้จากประเพณีทางการเมืองที่เมื่อมีการกระทำสำคัญของรัฐ เช่นการยุบสภา การเปิดหรือ ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทน ราษฎร ต้องมีพระบรมราชโองการที่มีการทรงลงพระปรมาภิไธย หรือ ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติใดก่อนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ต้องมีการลงพระปรมาภิไธยเสมอ ซึ่งกรณีเหล่านี้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาแต่อดีต ถ้าหากมีการกระทำที่ไม่ ถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ย่อมไม่ทรงประทานพระปรมาภิไธย อันจะทำให้การกระทำนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ โดยพระราชทานกลับคืนมาให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ เนื่องจากในร่างดังกล่าวมีถ้อยคำและรายละเอียดเนื้อหาที่บกพร่องถึง ๑๓ จุด ได้แก่ การใช้ถ้อยคำและข้อความผิด อ้างมาตราเชื่อมโยงผิด เป็นต้น ส่งผลให้ร่างดังกล่าวต้องตกไป นอกจากกฎหมายฉบับนี้แล้ว ยังมีร่าง พ.ร.บ.เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่ได้ทรงยับยั้งร่างกฎหมายไว้ในคราวเดียวกัน เนื่องจากมีการระบุลักษณะของเหรียญผิดพลาด
[3]
นอกจากนี้ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ยังได้อธิบายไว้ว่า คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” นั้น
[4] อาจพิจารณาได้ ๓ ทาง คือ ในทางรัฐธรรมนูญ ในทางอาญา และในทางแพ่ง
ในทางรัฐธรรมนูญ หมายถึงใครจะตำหนิติเตียนพระมหากษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญไม่ได้ การอภิปรายถึงพระมหากษัตริย์ในทางเสื่อมเสียพระเกียรติ ประธานรัฐสภา ต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้น หรือ ญัตติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ ย่อมทำไม่ได้ หรือพระราชดำรัสในวาระต่างๆของพระมหากษัตริย์ที่กระทำในนามของรัฐบาลหรือ รัฐมนตรี เช่น การเปิดประชุมรัฐสภา นั้น สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำของคณะรัฐมนตรีที่ไม่ถวายคำแนะนำในพระราช ดำรัสนั้น หรือไม่ถวายคำแนะนำในการดำเนินนโยบายหรือโครงการตามที่ปรากฏในพระราชดำรัส นั้นๆ
สำหรับในทางอาญา และในทางแพ่ง เจ้าพนักงานจะจับกุมพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะศาลย่อมไม่รับฟ้องขอให้พระมหากษัตริย์เป็นจำเลย ไม่ว่าจะได้ทรงกระทำผิดทางอาญาในฐานะที่ยังดำรงตำแหน่งกษัตริย์หรือพ้นจาก ตำแหน่งไปแล้ว พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็จริง แต่อยู่นอกกฎหมายธรรมดา ถ้ากล่าวถึงกฎหมายย่อมไม่ใช้บังคับแก่องค์พระมหากษัตริย์ หรือในทางแพ่งก็เช่นเดียวกันจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ว่าไม่ทรงชำระหนี้ หรือเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ชำระหนี้ตามสัญญาย่อมไม่ได้
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะฟ้องร้องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหา กษัตริย์ไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องร้องนิติบุคคล หรือหากเป็นการฟ้องร้องทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็สามารถฟ้องผู้จัดการทรัพย์สิน ส่วนพระองค์ได้
ส่วนบทบัญญัติที่ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ” นั้น มาจากพัฒนาการทางการเมืองของอังกฤษเป็นผลให้พระมหากษัตริย์ถูกจำกัดพระราช อำนาจ ทั้งในการตรากฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน จนในที่สุดได้พัฒนาไปสู่การ “ทรงอยู่ เหนือการเมือง” และ “ไม่ทรงรับผิดชอบทางการเมือง” ทรงทำหน้าที่เป็นประมุขอย่างเดียว โดยกิจกรรมทางการเมืองจะทรงทำตามบทบัญญัติกฎหมาย และจารีตประเพณี โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อันเป็นผลให้องค์พระประมุขทรงพ้นจากความรับผิดเพราะผู้รับสนองพระบรมราช โองการต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทน พระมหากษัตริย์จึงกลายเป็นสถาบันที่ผู้ใดจะละเมิดหรือว่ากล่าวฟ้องร้องไม่ ได้ (the King can do no wrong)
ประเทศไทยได้นำระบบรัฐสภาแบบอังกฤษมาปรับใช้ จึงนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘ ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” โดยสิ่งใดที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๑๙๕ ว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมี
รัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นใน
รัฐธรรมนูญ นี้ บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน”
[5]
ดังนั้นในทางหลักกฎหมาย ต้องตีความว่า บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘ ที่ว่า
“ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ”
“ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ” เป็น บทบัญญัติเพื่อถวายพระเกียรติและยกย่องพระมหากษัตริย์ ตามหลัก the King can do no wrong ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดใดๆเพราะ มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญแทนพระมหา กษัตริย์
ประการที่สอง การตีความมาตรา ๑๑๒
หลักการตีความกฎหมายอาญาของประเทศไทยนั้น นักนิติศาสตร์ต่างถือว่า การตีความโดยขยายความ เป็นวิธีการที่ต้องห้าม ซึ่งการตีความโดยเคร่งครัดตามถ้อยความของตัวบท สามารถกระทำได้โดยมีเหตุผลว่า กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ถูกจับกุม คุมขัง เป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกาย รัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อประชาชนย่อมมีข้อจำกัด
แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เหมือนกฎหมายแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้การตีความกฎหมายเป็นการตีความอย่างกว้างเพื่อเอาผิดกับผู้ต้องหาหรือ จำเลย เพื่อแสดงความจงรักภักดีของผู้ดำเนินคดี การกระทำหลายอย่างถูกตีความว่าเป็นความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เช่น การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี
[6] การตีความว่าพระบรมมหาราชวังหมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วย
[7] กรณีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อเร็วๆนี้ การวิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่มิใช่บุคคลภายใต้องค์ประกอบความผิดของมาตรา ๑๑๒ ก็ถูกดำเนินคดี เป็นต้น ทำให้การตีความคำว่าหมิ่นประมาทและดูหมิ่น เป็นไปอย่างกว้างและไม่มีขอบเขต ไม่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอันเป็นสิทธิของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อมีการตีความใช้มาตรานี้ ร่วมกับความเข้าใจผิดของข้อความที่ว่า “ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แล้วการตีความมาตรานี้ยิ่งมีความกว้างขวาง ไม่เคร่งครัดตามแบบการตีความการใช้กฎหมายอาญาในความผิดฐานอื่น
ดังนั้นหากประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลากรใน
กระบวนการยุติธรรมที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ในนามของพระ มหากษัตริย์ ต้องการแสดงความจงรักภักดีในทางที่ถูกต้อง จะต้องไม่ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษผู้อื่นที่กล่าวพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ ส่วนราชการในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาลต้องไม่ตีความใช้ มาตรา ๑๑๒ อย่างกว้างขวาง โดยการนำการตีความตามมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญมาใช้อย่างเข้าใจความหมายของมาตรานี้ดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้ สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะของ ประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องมีการบังคับให้เคารพ สักการะไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด
[1] ประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ความผิดลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด ๑ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา ๑๐๗-มาตรา ๑๑๒
[2] เรียบเรียงจาก หนังสือ คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ และ ธรรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย จัดพิมพ์โดย หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน สำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า ๑๕- ๒๔
[5] จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/
[6] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๙๔/๒๕๒๑ ขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า "เฮ้ยเปิดเพลงอะไรโว้ยฟังไม่รู้เรื่องและจำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
[7] คำพิพากษาฎีกา ที่ ๒๓๕๔/๒๕๓๑ นายวีระ มุสิกพงศ์ จำเลย ศาลฎีกา เห็นว่าข้อความที่จำเลยกล่าวว่า"ทำไมถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลาง พระบรมมหาราชวังนั่นออกมาเป็นพระองค์วีระซะก็หมดเรื่อง" เป็นข้อความที่จาบจ้วงล่วงเกินองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ คือ พระบรมราชินีนาถและพระบรมโอรสาธิราชด้วย เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถและองค์รัชทายาท พิพากษาให้ลงโทษจำคุกกระทงละ ๒ ปี รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๔ ปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น