|
iLaw : บทวิเคราะห์คำพิพากษาคดี ‘สมยศ’ บรรทัดฐานการตีความ ‘เนื้อหา’
ชื่อเดิม: มองบรรทัดฐานจากศาล ในคำพิพากษาคดีสมยศ
“จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน
ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความปิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑
ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๒ กระทงแล้ว จำคุก ๑๐ ปี”
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Voice of Taksin หรือ เสียงทักษิณ
มีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นบรรณาธิการของนิตยสารที่ตีพิมพ์บทความ 2
ชิ้น เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาดมาดร้าย พระมหากษัตริย์
และโทษของเขาคือ จำคุก 10 ปี
ดูรายละเอียดคดีนี้ และบันทึกสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้ที่ ฐานข้อมูลไอลอว์ คลิกที่นี่
ผล
ของคำพิพากษาคดีนี้ดึงดูดให้สังคมเพ่งมองมาที่ปัญหาการบังคับใช้ประมวล
กฎหมายอาญามาตรา 112
กับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและเสรีภาพการแสดงออกในสังคมไทยมากขึ้น
ลองดูกันว่าคำพิพากษาคดีนี้ วางบรรทัดฐานอะไรไว้บ้าง
ข้อความใด “หมิ่นฯ” หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องนำสืบให้ศาลเห็น
ก่อน หน้าคดีนี้ มีคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
หลายคดีที่ไม่นำสืบพยานเพื่อพิสูจน์ “ความหมาย” ของข้อความที่นำมาฟ้อง
ไม่ว่าจะเป็นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่อยากให้พูดถึงเนื้อหาที่อาจจะพาดพิงสถาบัน
กษัตริย์อย่างโจ่งแจ้ง หรือไม่ต้องการให้ใช้เวลาสืบพยานยาวนานเกินไป
หรือศาลเชื่อจริงๆ ว่าการพิจารณาว่าข้อความใด “หมิ่นฯ” หรือไม่ เป็น
“ปัญหาข้อกฎหมาย” ที่อยู่ในดุลพินิจของศาลแต่เพียงผู้เดียว
ไม่ว่าจะเหตุผลใด ก็ส่งผลให้การพิจารณาคดีมาตรา 112
ในอดีตแทบไม่แตะต้องเนื้อหาตามคำฟ้องเลย หลายคดี
ศาลพิพากษาไปโดยที่แม้แต่ศาลเองก็ไม่ได้อธิบายว่า
ข้อความตามคำฟ้องนั้นหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อย่างไร
เพียงแต่เว้นพื้นที่ไว้ให้ทั้งจำเลยและประชาชนคิดและเข้าใจไปตามฐาน
ประสบการณ์ของตัวเอง
อาจกล่าวได้ว่า คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
เป็นคดีที่มีการนำพยานมาเบิกความในประเด็นเนื้อหากันอย่างตรงไปตรงมา
เปิดเผย และพูดตรงประเด็นที่สุดของยุคสมัยนี้
โจทก์มีพยานไม่ต่ำกว่า 10 ปากที่มาอธิบายว่า
อ่านบทความแล้วตีความอย่างไรให้หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ
โดยมีนายทหารฝ่ายความมั่นคง 3 นาย นักศึกษากฎหมาย 3 คน
ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฝ่ายกฎหมายกรมสรรพากร
เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันฯ รวมถึงมีศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ
ซึ่งเป็นนักกฎหมายและนักประวัติศาสตร์ ผู้มีชื่อเป็นพยานโจทก์ในคดีตามมาตรา
112 หลายคดีก่อนหน้านี้มาเบิกความด้วย
โดยพยานโจทก์ทั้งหลายต้องอธิบายโดยละเอียดในศาลว่า อ่านข้อความส่วนไหน
แล้วเห็นว่าผู้เขียนพาดพิงถึงใครในเหตุการณ์ใด (ยกเว้นศ.ธงทอง
ที่กล่าวว่าบทความชิ้นที่สองนั้นอ่านแล้วไม่ทราบว่าหมายถึงใคร)
ขณะที่ฝ่ายจำเลย มีพยานทั้งหมด 7 ปาก รวมทั้งตัวจำเลยเอง ที่เบิกความว่า
อ่านบทความแล้วไม่สามารถตีความว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพราะเหตุใด
โดยมีพยานหลากหลายระดับการศึกษา ทั้ง นักวิชาการด้านกฎหมาย
ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ทุกคนเบิกความตรงกันว่า อ่านบทความทั้งสองแล้ว
คิดว่าผู้เขียนเขียนถึงระบอบอำมาตย์ ไม่คิดว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์
แม้ สุดท้าย ศาลจะใช้ดุลพินิจของตนเองพิจารณาข้อความ
และเลือกที่จะให้น้ำหนักพยานฝั่งโจทก์มากกว่า
แต่สิ่งที่แทบไม่เคยเห็นก่อนหน้านี้เลยคือ
ศาลนำคำเบิกความของพยานมาประกอบการตีความแล้วเขียนไว้ในคำพิพากษา ด้วย
คดี ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข สร้างบรรทัดฐานให้เห็นถึง
การสืบพยานที่ให้โอกาสทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยสืบพยานในประเด็นการตีความ
เนื้อหาได้โดยไม่ต้องปิดลับหรือขังเอาไว้ในแดนสนธยาที่ประชาชนเข้าไม่ถึง
การสืบพยานลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น
เพื่อให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อให้จำเลย
และประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลในคำพิพากษาได้อย่างดี
และเพื่อให้เรื่องที่ควรจะให้สาธารณชนเข้าใจไม่ต้องปิดลับอีกต่อไป
กรณีกล่าวพาดพิงโดยไม่ระบุชื่อ ก็ผิดหมิ่นประมาทได้
คดี นี้จำเลยต่อสู้ว่า
บทความทั้งสองชิ้นไม่ได้พาดพิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่กล่าวถึงระบอบอำมาตย์ โดยบทความชิ้นแรกมีเนื้อความทำนองว่า
“คนแก่โรคจิต” วางแผนฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
และมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวทำนองว่า ตระกูลนี้เหมือนกันทั้งตระกูล
เอาเขามาชุบเลี้ยงจนใหญ่โต พอได้ทีก็โค่นนายตัวเอง
ซัดว่าสติไม่ดีแล้วก็จับลงถุงแดงฆ่าทิ้งอย่างทารุณ ส่วนบทความชิ้นที่สอง
มีเนื้อความทำนองว่า “หลวงนฤบาล” แห่ง “โรงแรมผี”
คอยบงการการเมืองไทยมาตลอดตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
รวมทั้งอยู่เบื้องหลังการสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ทั้งสองบทความไม่ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หรือพระบรมวงศานุวงศ์เลย แต่โจทก์นำสืบว่า
ผู้เขียนบทความจงใจให้ผู้อ่านเข้าใจว่าหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขณะที่พยานจำเลยเบิกความว่า อ่านบทความแล้วเข้าใจว่าหมายถึงระบอบอำมาตย์ แม้จะไม่มีการกล่าวชื่อบุคคลที่ถูกพาดพิงโดยตรง แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า
“เมื่อพิจารณาจากคำว่า
"โคตรตระกูลนี้มันก็เหมือนกันทั้งนั้น"
ย่อมหมายความถึงพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เมื่อเทียบกับคำว่า
"กรรมจะมาสนองกรรมเอาในตอนนี้" ที่เป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน
ผู้อ่านย่อมเข้าใจได้ว่า
ผู้เขียนหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”
“ผู้เขียนจงใจให้ผู้อ่านเข้า
ใจได้ว่า หลวงนฤบาลอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล
โดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งหลังจากการเลือกตั้ง แล้วยังมีอำนาจเหนือรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์
ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสอง
อันเป็นการสนับสนุนให้ผู้อ่านเข้าใจว่า
ผู้ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้น
ย่อมหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”
คำ พิพากษาฉบับนี้ ย้ำแนวทางการใช้กฎหมายว่า
แม้ข้อความจะไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลใดโดยตรง
แต่ถ้าอ่านโดยรวมแล้วเข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใด
ก็เข้าข่ายการหมิ่นประมาทได้ นั่นหมายความว่า การกล่าวแบบใช้ชื่อสมมติก็ดี
การใช้ตัวอักษรย่อก็ดี หรือการกล่าวอ้อมๆ ให้ตีความกันเองก็ดี
ไม่อาจทำให้ผู้กล่าวข้อความนั้นหลบเลี่ยงจากความผิดตามกฎหมายได้
ศาล กล่าวไว้ในคำพิพากษาด้วยว่า
แม้ข้อความที่กล่าวนั้นอาจชวนให้ตีความถึงบุคคลหลายคนได้ก็ตาม
แต่หากมีข้อความ “ส่วนหนึ่ง” ที่ตีความได้ถึงบุคคลที่เสียหายแล้ว
ก็ถือว่าเป็นความผิดต่อบุคคลที่เสียหายแล้ว
ศาลวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ในคำพิพากษาว่า
“แม้จะมีข้อความบางตอนอ้าง
ว่า มีการวางแผนมาจากโรงพยาบาลพระรามเก้า
อันมิใช่ที่ประทับรักษาพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย
เดชก็ตาม บทความในส่วนดังกล่าวก็น่าจะหมายถึงบุคคลอื่นตามที่จำเลยต่อสู้
แต่ก็ไม่ทำให้ข้อความในส่วนอื่นข้างต้นที่หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่
หัวภูมิพลอดุลยเดชเปลี่ยนแปลงไป”
ผู้พิพากษา นอกจากจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจผ่านการเลือกให้น้ำหนักกับพยาน
ที่แม้คดีนี้จะมีพยานโจทก์บางส่วน เช่น ศ.ธงทอง จันทรางศุ
เบิกความว่าอ่านบทความชิ้นที่สองแล้วไม่รู้ว่าหมายถึงผู้ใด
แต่ศาลก็สามารถใช้วิจารณญาณของตนลงโทษว่าการเผยแพร่บทความดังกล่าวมีความผิด
ได้ ผู้พิพากษายังเป็นผู้ใช้ดุลพินิจตีความเนื้อหาด้วยว่าข้อความนั้นหมิ่น
ประมาทใคร
หากยอมรับกันได้ว่า
ข้อความที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงบุคคลที่เสียหาย
โดยตรง และข้อความบางส่วนยังอาจสื่อถึงบุคคลอื่นก็ได้ด้วย
ก็เท่ากับมอบอำนาจดุลพินิจในการวินิจฉัยให้ผู้พิพากษาในคดีนั้นๆ
ใช้ความเข้าใจของตนเองในการตีความได้ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนในการตีความ
และอาจกระทบต่อบรรยากาศของการแสดงออกในสังคมได้
ศาลยืนยันให้บรรณาธิการสิ่งพิมพ์ ต้องรับผิดในเนื้อหา
ตาม ที่ทราบกันแล้วว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2551
ยกเลิกบทบัญญัติ ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484
ที่เคยกำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดในเนื้อหาที่ตีพิมพ์ หมายความว่า
ตามกฎหมายปัจจุบันเพียงแค่การเป็น “บรรณาธิการ”
ของสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย
ไม่ได้ทำให้ผู้นั้นต้องมีความผิดด้วยเสมอไป
แต่พระราชบัญญัติจดแจ้ง
การพิมพ์ก็ไม่ได้มีบทยกเว้นความรับผิดมาคุ้มครองบรรณาธิการ
ดังนั้นบรรณาธิการผู้ใดจะมีความผิดตามกฎหมายใดหรือไม่
ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ความผิดตามองค์ประกอบของกฎหมายนั้นๆ
ซึ่งในคดีของนายสมยศ คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
หลักพื้นฐานที่ สุดของการพิสูจน์ความผิดในคดีอาญา คือ
“จำเลยต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด” ซึ่ง “เจตนา” นั้น
ต้องมาจากการที่จำเลย “รู้”
ถึงองค์ประกอบทุกอย่างที่จะทำให้การกระทำนั้นเป็นความผิดเสียก่อน เมื่อ
“รู้” แล้วแต่ก็ยัง “ทำ” จึงจะมีความผิด
ในคดีนี้ นายสมยศต่อสู้ว่า บทความที่ส่งมาลงตีพิมพ์
เป็นบทความต่อเนื่องจำนวน 12 ชิ้น
ผู้เขียนส่งงานให้กองบรรณาธิการตั้งแต่ก่อนที่ตนจะรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ
และเนื่องจากผู้เขียน คือ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียง
ตนจึงให้เกียรติผู้เขียนโดยไม่แก้ไขบทความแต่อย่างใด
และบทความตามฟ้องนี้ตนได้อ่านแบบคร่าวๆ เพราะต้องเร่งปิดต้นฉบับ
อ่านแล้วไม่ได้คิดว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
แต่คิดว่าเป็นการกล่าวถึงระบอบอำมาตย์
เท่ากับนายสมยศได้ปฏิเสธชัดแจ้งแล้วว่า ตนไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งปราศจาก
ข้อสงสัยว่า
จำเลยได้อ่านบทความแล้วและรู้อยู่แล้วว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
โดยจำเลยมีสิทธิที่จะไม่นำลงตีพิมพ์ได้
แต่ก็ยังเลือกที่จะนำลงตีพิมพ์เผยแพร่
จึงจะถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาในการกระทำความผิด
แต่ทางนำสืบในคดีนี้
โจทก์นำพยานที่เป็นพนักงานคนอื่นของนิตยสารมาเบิกความ เช่น
ช่างภาพของนิตยสาร ซึ่งเบิกความว่า
ในกระบวนการคัดเลือกบทความที่จะลงตีพิมพ์ ไม่ได้มีนายสมยศเพียงคนเดียว
แต่มีคนอื่นเข้าร่วมประชุมด้วย โดยคนอ่านบทความก่อนตีพิมพ์จริงๆ คือ
พนักงานพิสูจน์อักษร ขณะที่พนักงานพิสูจน์อักษรก็
เบิกความเพียงแต่ว่าบทความทั้งหมดต้องส่งให้นายสมยศเท่านั้น
และเมื่ออัยการถามว่า นอกจากจำเลย
มีคนอื่นร่วมตัดสินใจคัดเลือกบทความหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ทราบ
ส่วนพนักงานฝ่ายสมาชิก ก็เบิกความเพียงว่า เมื่อมีบทความส่งเข้ามาทางอีเมล
ก็จะบันทึกไว้ที่เครื่องเพื่อให้นายสมยศอ่าน
แต่จำเลยจะมาอ่านเมื่อไรนั้นไม่ทราบ
และไม่ทราบว่าจำเลยได้ตรวจหรือแก้ไขหรือไม่
ดังนั้น เท่ากับข้อเท็จจริงในส่วนที่ว่า จำเลยได้อ่านบทความทั้งสอง
และทราบดีว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ
และจำเลยในฐานะบรรณาธิการเป็นผู้มีสิทธิตัดทอน แก้ไข หรือไม่ตีพิมพ์
แต่ก็ยังตัดสินใจตีพิมพ์ จึงแสดงถึงเจตนาของจำเลยได้นั้น
เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยได้
ศาลวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้เพียงว่า
“จำเลย
ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์
ทำงานอยู่องค์การพัฒนาเอกชนที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
และทำงานสื่อสารมวลชน จึงย่อมรู้อยู่แล้วว่า บทความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น
แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่มีความจริง”
และที่สำคัญ ในประเด็นเจตนาของจำเลยนั้น ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า
“การ
เสนอข่าวของจำเลยย่อมต้องตรวจสอบและวิเคราะห์บทความก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
จำเลยในฐานะบรรณาธิการบริหาร
ย่อมต้องมีวิจารณญาณและมาตรฐานสูงกว่าบุคคลทั่วไป
พร้อมเป็นผู้คัดเลือกบทความที่จะต้องลงพิมพ์ ย่อมต้องใช้ความระมัดระวัง ...
แต่จำเลยยังคงคัดเลือกบทความลงพิมพ์ในนิตยสารดังกล่าว
จัดให้พิมพ์เป็นรูปเล่มและจัดจำหน่ายเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนา ....”
เท่ากับว่า ศาลวางแนวการวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาคดีนี้แล้วว่า
เพียงแค่โจทก์พิสูจน์ว่า จำเลยมีชื่อเป็น “บรรณาธิการ”
อยู่บนปกหนังสือเท่านั้น ก็มีผลโดยอัตโนมัติว่า
จำเลยต้องมีวิจารณญาณและมาตรฐานที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป ต้องอ่านบทความ
และต้องมีอำนาจเต็มในการคัดเลือกบทความว่าจะลงตีพิมพ์หรือไม่
โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เจตนาในการกระทำความผิดฐานนั้นๆ อีกต่อไป
ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการแก้ไขกฎหมายการพิมพ์
ไม่ถูกต้องตามหลักภาระพิสูจน์
และไม่ได้ตีความกฎหมายอาญาอย่างแคบเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลย
แม้จะมีบรรทัดฐานหลายอย่างที่น่ากังวลจากคำพิพากษาในคดีนี้ เช่น
การรวบรัดว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบในเนื้อหาโดยไม่เน้นการพิสูจน์เจตนา
การใช้ดุลพินิจเพื่อเลือกให้น้ำหนักพยานเพื่อตีความเนื้อหาที่หมิ่นฯ
การลงโทษฐานหมิ่นประมาททั้งๆ ที่ไม่มีการเอ่ยถึงบุคคลผู้เสียหาย
แต่บรรทัดฐานอีกด้านหนึ่งที่เห็นได้ในคดีนี้ คือ
การเขียนคำพิากษาให้ละเอียด การอธิบายวิธีการใช้ดุลพินิจ
กล่าวอ้างถึงความเห็นของพยานต่างๆ
ซึ่งเป็นความพยายามของศาลที่จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แบบเพื่อหลีกเลี่ยงข้อ
ครหาถึงความยุติธรรมกับนักโทษในคดีการเมือง |
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น