วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

มื่อศาลยุติธรรม (ไทย) ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าศาลเจ้า

เมื่อศาลยุติธรรม (ไทย) ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าศาลเจ้า
            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 3 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งหน่วยงานตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

จากบทบัญญัติดังกล่าวของรัฐธรรมนูญทำให้เห็นถึงการแบ่งหน้าที่ตามหลักของการไม่รวบอำนาจไว้ที่บุคคลคนเดียวหรือองค์กรเดียวอย่างชัดเจน นั่นคือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสามองค์กรดังกล่าวมีฐานอำนาจที่มาจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในทางกฎหมายของรัฐไทย โดยแต่ละองค์กรต่างทำหน้าที่ของตนที่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ

กรณีของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีนั้นผู้เขียนจะขอละไว้ไม่พูดถึงในกรณีนี้เพราะตามบทบัญญัติของกฎหมายเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำการตรวจสอบผู้แทนของตนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งสื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสององค์กรกับประชาชนอย่างชัดเจนแต่ในกรณีของศาลนั้นเราเพิ่งจะได้เห็นการออกมาตอบโต้บทความของนักวิชาการต่างๆไม่ว่าจะโดยอธิบดีศาสลอาญาหรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง จึงเป็นที่น่าคิดว่าเมื่อศาลเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแล้วนั้นเหตุใดศาลจึงตั้งตัวเองให้มีความศักดิ์สิทธิยิ่งกว่าอีกสององค์กรข้างต้น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาศาลอาญาได้มีคำวินิจฉัยในคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ของนาย สมยศ  โดยศาลได้ตัดสินให้นาย สมยศ มีความผิดตามฟ้องและลงโทษจำคุกเป็นเวลาสิบปีสำหรับความผิดตามมาตรา112 หลังจากศาลได้มีคำวินิจฉัยนี้ได้มีปฏิกริยาจากสาธารณชนเป็นวงกว้างทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในส่วนที่เห็นด้วยนั้นผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงแต่ในส่วนของความเห็นแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลนั้นในบางความเห็นแย้งศาลกลับออกมาตอบโต้ว่าเป็นการ หมิ่นศาลละเมิดอำนาจศาลเช่น จดหมายเปิดผนึกของนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระเป็นต้น นอกจากนี้ในกรณีของนาย อำพน หรือ อากงนั้น ศาลได้เคยออกมาตอบโต้แล้วครั้งหนึ่งซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนจำนวนมาก จึงทำให้ต้องกลับมานั่งทบทวนกันในทางหลักกฎหมายว่าเหตุใดเราสามารถวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลได้ทั้งทางตรงทางอ้อม ทั้งสุภาพและหยาบคายเราสามารถวิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้แทนของเราได้เช่นเดียวกัน

แต่ในกรณีของศาลนั้นกลับมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าวิจารณ์ได้แต่ต้องเป็นไปตามหลักวิชาและวันดีคืนดีผู้วิจารณ์อาจโดนข้อหาหมิ่นศาลซึ่งเป็นกรณีที่ค่อนข้างน่าขบขันเนื่องจากคนวินิจฉัยก็ดี นั่นคือองค์กรศาลยุติธรรมเองเหมือนกับเป็นการประมานว่า อย่าวิจารณ์ข้านะข้ามีกฎหมายคุ้มครองและข้าเองเป็นคนที่ใช้กฎหมายนั้นตัดสินพวกเจ้า

ปัญหาที่ต้องนำมาขบคิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจของศาลนั้นในทางตำราเรียนแล้วนั้นศาลถือเองว่าคำวินิจฉัยของศาลถูกควบคุมโดยทางดิ่ง (vertical) อยู่แล้วโดยการควบคุมแบบเป็นลำดับชั้นจากชั้นต้นไปจนถึงชั้นสูง ไม่มีการควบคุมจากภายนอกทำให้ศาลเป็นองค์กรที่ค่อนข้างอิสระไม่ยึดโดยงกับอาณัติใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งต่างจากรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีที่สามารถถูกตรวจสอบได้ทั้งจากภายในและภายนอก ทีนี้เมื่อเกิดคำวินิจฉัยที่คลุมเครือ จะมีกระบวนการอย่างไรในการควบคุมหรือเอาแค่การตรวจสอบก็พอเพื่อที่จะตรวจสอบได้ว่า คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลนั้น น่าเชื่อถือ และ ยุติธรรม สำหรับใคร  ทั้งที่มีข้อเสนอจากนักวิชาการจำนวนมากเรียกร้องขอให้ศาลมีจุดเกาะเกี่ยวหรือจุดเชื่อมโยงกับประชาชนแต่ข้อเสนอนี้เสมือนการผายลมเพราะไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรจากองค์กรศาลเอง

ตัวอย่างของความน่าเชื่อถือของคำวินิจฉัยของศาลเช่น ในกรณีของนาย อำพล ศาลกล่าวว่า "แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้อง...ก็ตาม แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน ซึ่งจากพยานเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใด ๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง...ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะน่าทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง...ข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา...จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง"

คำวินิจฉัยนี้มีปัญหาอะไร หากคนที่เรียนกฎหมายหรือทราบหลักการพื้นฐานกฎหมายจะทราบว่าใน ทางกฎหมายอาญานั้น มีหลักอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า  Beyond the reasonable doubt หรือการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย แต่จากคำวินิจฉัยนี้แสดงให้เห็นว่าศาลเองไม่ได้เดินไปตามหลักนี้แต่กลับให้เหตุผลไปในอีกทิศทางหนึ่งซึ่งไม่สามารถหาตรรกของคำวินิจฉัยนี้ได้เลยครั้นจะรออุทธรณ์ก็สายไปเสียแล้วเพราะนายอำพน หรืออากงได้เสียชีวิตไปแล้ว ปล่อยให้คำพิพากษานี้คาใจและเป็นข้อกังขาแก่สังคมมาจนปัจจุบัน ปัญหาคือการให้คำอรรถาอธิบายของศาลแก่สาธารณชนนั้นเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่หากสาธารณชนไม่เห็นด้วยจะวิจารณ์ได้หรือไม่

กรณีล่าสุดศาลได้ออกมาตอบโต้นายวีรพัฒน์ นักกฎหมายอิสระที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของนายวีระพัฒน์อย่างชัดเจนด้วยการประกาศว่าจะนำเอายุทธโธปกรณ์ทั้งหมดมาเช็คนายวีรพัฒน์ ศาลอ้างว่าหากเป็นการวิจารณ์ทางวิชาการศาลสามารถรับได้ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ คำว่า วิชาการ ของศาลนั้น ศาลท่านตีความอย่างไร ด้วยความเคารพต่อศาล(ผู้เขียนต้องแสดงความเคารพต่อศาลให้เห็นก่อนเพราะผู้เขียนเป็นเพียงนักเรียนกฎหมายที่ยังรักตัวกลัวอยู่) คำว่าวิชาการนั้น อาจมีได้หลายความหมายแต่หากพูดกันแบบชาวบ้านนั่นก็คือการอ้างอิงจากหลักวิชา ที่ได้ร่ำเรียนมาทั้งจากหนังสือและจากครูอาจารย์ผู้สอน แน่นอนว่าศาลได้ให้เหตุผลว่าศาลยอมรับคำวิจารณ์เเต่ต้องเป็นในวงกว้างไม่ใช่เเเค่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มีอคติต่อศาล ในวงกว้าง รวมถึงประชาชน เเละผู้ที่เข้าใจถึงระบบการทำงานของศาล

ประเด็นนี้ ผู้เขียนอยากจะบอกกับศาลว่าในวงกว้างรวมถึงประชาชนและผู้ที่เข้าใจถึงระบบการทำงานของศาล นั้นมีกี่คน เมื่อการทำงานของศาลนั้นตัวศาลเองเป็นองค์กรปิดที่ไม่ยอมเปิดให้องค์กรภายนอกเข้าไปตรวจสอบ แล้วคำว่าวงกว้างนี่หมายถึงใครครับ ด้วยความเคารพ หากศาลไม่เปิดองค์กรให้ประชาชนเข้าใจการทำงานนั่นหมายความว่าประชาชนตาดำๆไม่มีสิทธิ์วิจารณ์ศาลได้เลย นี่ขนาดนักวิชาการยังโดนศาลขู่สักขนาดนี้ แล้วชาวบ้านจะเหลือเหรอครับนายท่าน แม้ท่านจะอ้างว่าใน กต เองมีผู้ทรงตุณวุิฒิที่ตั้งมาจากวุฒิสภา แต่ท่านพิจารณาสัดส่วนก่อนครับว่ามีจำนวนเท่าไหร่และคนนอกนั้นเป็นใครมาก่อน

ต่อข้อหาหมิ่นศาลนั้น คำว่าหมิ่นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า ก. แสดงกิริยาท่าทาง พูดจา หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเชิงดูถูกว่ามีฐานะต่ำต้อยหรือไม่ดีจริงไม่เก่งจริงเป็นต้น, ดูหมิ่น หรือ ดูหมิ่นถิ่นแคลน ก็ว่า. ในจดหมายเปิดผนึกของนายวีระพัฒน์เองนั้นผู้เขียนอ่านแล้วยังไม่มีการแสดงข้อความว่ามีลักษณะที่ศาลกล่าวอ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นศาลเองก็ยังทรงสิทธิ์ในการตีความซึ่งผู้เขียนก็เคารพในจุดนี้

เมื่อศาลเองยกตัวเองให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนศาลก็พึงที่จะยอมรับคำวิจารณ์ทั้งแง่ดีและแง่ร้ายและนำไปปรับปรุงและพัฒนาองค์กรเพื่อให้ตัวศาลเองมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อย่างแท้จริง และยิ่งในกรณีล่าสุดนั้นผู้เขียนเข้าใจ(เอง)ว่านานาชาติและนายวีรพัฒน์เองต้องการวิจารณ์มาตรา 112เกี่ยวกับความสมเหตุสมผลทั้งหลายในแง่ปรัชญาและแนวคิดแต่ศาลกลับตีความไปได้ว่าอาจเป็นการหมิ่นศาล ผู้เขียนเกรงว่าอีกหน่อยศาลจะหมดซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรมไปมากกว่านี้ เมื่อศาลลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง ผู้เขียนขอฝากบทกลอนไว้ถึงศาลดังนี้ อันนินทากาเร เหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน แม้องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา หวังว่าหากศาลได้อ่านบทกลอนนี้แล้วศาลควรที่จะยอมรับคำวิจารณ์และนำไปพัฒนาตัวองค์กรให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ผู้เขียนมักจะนึกถึงคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ไม่มีหนทางอื่นจะบรรเทาความเสียหายได้จึงมาขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง หากศาลยังถือตนว่าตนเองศักดิ์สิทธิใครก็วิจารณ์ไม่ได้แล้วไซร้ อีกหน่อยหากประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำเห็นว่าศาลสร้างความศักดิ์สิทธิด้วยวิธีการเช่นนี้อีกหน่อยศาลคงได้เป็นที่พึ่งของประชากรผู้หวังรวยทางลัดอีกประการเป็นแน่โดยการนำเอาแป้งมาทาตามใต้ถุนบันไดรั้วของศาลเพื่อหาเลขเด็ดเฉกเช่นที่เคยทำมากับบรรดาศาลเจ้าต่างที่ว่าศักดิ์สิทธินักหนา ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ด้วยความเคารพ



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ3 มีนาคม 2556 เวลา 23:30

    “…ช่วยกันคิดคือ หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากันแก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือดปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ ตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่ากรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง…”
    พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕

    ตอบลบ