เปิดใจผู้กำกับ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง: หนังแห่ง ‘พรมแดน’ ประเทศ-ความคิด ที่ 18+ อดดู
Thu, 2013-04-25 01:20
The Boundary หรือ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง นับเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 แล้วที่ถูกคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่ง “ห้ามฉาย” ในราชอาณาจักร ตามหลังรุ่นพี่อย่าง Insects in the Backyard และ Shakespeare Must Die
ประชาไท พูดคุยกับผู้กำกับหนุ่มวัย 30 ปี นนทวัฒน์ นำเบญจพล
ไล่ไปตั้งแต่การสำรวจแนวคิดเบื้องหลังการสร้าง แรงบันดาลใจ
เส้นทางวิบากในการเข้าถึงข้อมูล การตีความชื่อเรื่อง
พล็อตเรื่องและข้อโต้แย้งต่อเหตุผลในคำพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งหยิบยกประเด็นอ่อนไหวสูงสุด 2 ประการในสังคมเรื่อง สถาบันมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ
แรงบันดาลใจในการทำเรื่องนี้คืออะไร?
หนังโฟกัสไปที่ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
แต่ว่าตอนแรกผมไม่ได้สนใจประเด็นกัมพูชาเลยแม้แต่นิดเดียว
ผมสนใจปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เสียมากกว่า
จากกรณีของม็อบแดงที่ราชประสงค์
เมื่อก่อนผมก็เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่ได้สนใจการเมือง
แต่วันหนึ่งก็พบว่าการเมืองเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นทุกวัน จนมา
peak สุดก็ตอนที่มีการปราบปรามการชุมนุม มีคนตายไปเกือบร้อย
ผมรู้สึกว่ามันเศร้า สะเทือนใจมาก บวกกับช่วงนั้นพอเปิด facebook
แล้วเจอเพื่อนเก่าที่สนิทกัน นิสัยดีๆ หลายๆ
คนเขาสนับสนุนและรู้สึกยินดีที่มันเกิดการฆ่ากันเกิดขึ้น
ผมเลยรู้สึกตกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย
แล้วก็เกิดการตั้งคำถามตรงจุดนั้น
จนวันหนึ่งผมได้เจอกับทหารคนหนึ่ง เขาเลือกส่งตัวเองไป 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่นราธิวาสประมาณปีหนึ่ง
แล้วเขาก็ถูกส่งมาในการสลายการชุมนุมม็อบแดงเมื่อเดือนเมษายน 2553
แต่เขาปลดประจำการไปก่อนเดือนพฤษภาที่มีการฆ่ากันเยอะๆ
ช่วงนั้นที่เจอเขาคิดจะเดินทางกลับบ้านเกิดเขาที่ศรีสะเกษ
ก็เลยสนใจว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ
ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองไทยเขามีทัศนคติยังไง พบเจออะไรมาบ้าง
ก็ขอตามเขาไปที่จังหวัดศรีสะเกษด้วยซึ่งเขาก็ยินดี ได้ไปตามถ่ายสารคดี
ไปอยู่บ้านเขา ถ่ายชีวิตเขา คุยกับเขาว่าคิดยังไง
เขาก็เล่าเรื่องการเป็นทหารว่าทำอะไรบ้าง
ผมอยู่ศรีสะเกษ ตอนนั้นปี 2011 พอดีจังหวะนั้นเกิดกรณีพิพาทขึ้น
มีการปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ผมก็เลยไปถ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
มีชาวบ้านอพยพ มีคนที่บ้านไฟไหม้ มีคนที่สามีตาย ไปถ่ายที่จังหวัดสุรินทร์
แถวปราสาทตาควายที่กลายเป็นหมู่บ้านร้าง มีรอยกระสุน
พอได้มุมมองทางฝั่งไทยที่ถูกกระทำเยอะ ๆ
ผมก็รู้สึกว่ามันมีข้อมูลด้านเดียวถ้าออกไปสู่สายตาชาวโลกจะดูไม่ดีเพราะเรา
ก็เป็นคนไทย ผมเลยคิดว่าควรไปถ่ายจากฝั่งกัมพูชาด้วย
สุดท้ายก็ได้มุมมองจากฝั่งกัมพูชา เป็นชาวบ้านและทหารบริเวณชายแดน
เข้าไปถ่ายในกัมพูชา เขาอนุญาตหรือ ?
ตอนแรกผมพยายามข้ามไปทางชายแดนแต่ก็เข้าไม่ได้
ผมเลยบินไปที่พนมเปญแล้วก็พยายามหาคนพาไปชายแดน ก็ไม่มีใครยอมพาไป
เพราะเราเป็นคนไทย เขาก็กลัวว่าเป็นสปายมาหรือเปล่า
ค่อนข้างเสี่ยงนะ
สนุกดี จนหนังผมได้ไปได้ทุนที่เทศกาลหนังปูซานที่เกาหลี
พอดีมีผู้กำกับที่ไปฉายหนังในเทศกาลหนังปูซานเหมือนกัน ชื่อ ดาวี่
เขาเป็นคนกัมพูชาที่ไปโตที่ฝรั่งเศสก็มาช่วยเป็น co-producer และช่วยหา
connection ให้ ตอนแรกก็แนะนำให้ทำ permit
ขอเป็นทางการก่อนว่าอยากไปถ่ายที่ไหนบ้าง อะไรบ้าง
แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ผมเขียนมาเขาบอกว่ามันไม่สามารถไปขอได้
ก็เลยต้องไปแบบกองโจร ใช้กล้องเหมือนนักท่องเที่ยว
จริง ๆ ตอนแรกใช้เวลานานมากกว่าจะหา connection ได้
พอดีว่าดาวี่ไปฉายหนังที่นิวยอร์กแล้วเจอคนกัมพูชาซึ่งมีครอบครัวอยู่
จังหวัดพระวิหารพอดี แต่เราก็ต้องบอกทุกคนว่าไม่ใช่คนไทย
ไม่อย่างนั้นจะถ่ายทำลำบาก เลยบอกว่าเป็นนักท่องเที่ยว สัญชาติ Chinese
American พอเราไม่ใช่คนไทยแล้ว ทุกอย่างก็ very easy ง่ายสุดๆ เขาก็พร้อมจะบอกว่าคนไทยทำอะไรกับเขาไว้บ้าง
สรุปแล้วเรื่องนี้เป็นสารคดีหรือภาพยนตร์
มันเป็นสารคดี เพราะทุกอย่างถ่ายจากเหตุการณ์จริง
ความต่างของสารคดีกับภาพยนตร์แบบเล่าเรื่องทั่วไป คือ
ภาพยนตร์จะมีการควบคุมสภาพแวดล้อม มีการใส่บทพูดให้กับนักแสดง
แต่เรื่องนี้ไม่ เรื่องนี้ให้สภาพแวดล้อมพาเราไป
หนังยาวเท่าไร
96 นาที
ชื่อเรื่องดูเหมือนจะเป็นอีกจุดที่มีการตีความเยอะ ที่มาของชื่อเรื่องมาจากไหน ต้องการหมายถึงอะไร
ชื่อเรื่อง Boundary หรือเขตแดนนั้น
นอกจากมันจะเป็นเรื่องของเขตแดนไทย-กัมพูชาแล้ว
มันก็ยังพูดถึงเรื่องเขตแดนในความคิดของผู้คน มันมี fact
อย่างหนึ่งแต่คนก็ยังมอง fact นั้นต่างกัน คนหนึ่งก็ว่าอย่าง
อีกคนก็ว่าอย่าง
ตอนแรกผมตั้งชื่อเรื่องก็ไม่ได้คิดเลยว่าแรง และคนจะโยงไปถึงสถาบัน
ตอนแรกพยายามหาชื่อไทยให้เหมาะ ภาษาอังกฤษมันชื่อว่า boundary
ซึ่งแปลว่าเขตแดน ก็พยายามคิดอยู่ จะชื่อพรมแดนจะดีไหม ยังดูสะเหร่อนะ
(หัวเราะ) วันหนึ่งก็ไปถามแม่ แม่ผมก็เป็นอาจารย์สอนมนุษยศาสตร์ ปรัชญา
เขาก็นึกๆ ให้ แล้วจู่ๆ ก็ร้องเพลงสมัยเขาขึ้นมาชื่อเพลงฟ้าต่ำแผ่นดินสูง
เป็นเพลงที่ดังมากในยุค 70 รุ่นป้าๆ เขาจะร้องคาราโอเกะกัน
เนื้อหาของเพลงพูดถึงความรักที่แม้ว่าจะมีพรมแดนมากั้นก็สามารถข้ามพรมแดนมา
อยู่ร่วมกันได้ ออกแนวปรองดอง ร้องโดยคุณเกศิณี วงษ์ภักดี แต่งโดยคุณรัก
รักพงศ์ คือ สมณะโพธิรักษ์ ที่ก่อตั้งสันติอโศก
อีก moment หนึ่งที่ชอบชื่อฟ้าต่ำแผ่นดินสูง คือ
วันที่ผมไปยืนที่เขาพระวิหาร ตรงจุดที่สูงที่สุดแล้วผมไปยืนตรงหน้าผา
ผมเห็นว่าจุดที่ผมยืนอยู่มันเห็นแผ่นดินสูงกว่าเส้นขอบฟ้า
ผมเลยเลือกชื่อนี้ แล้วความหมายมันก็ดูย้อนแย้งกับเรื่องเส้นเขตแดน
แล้วก็ตีความได้หลากหลายดี
ถ้าดูจากคำพิจารณาของคณะ
กรรมการเซ็นเซอร์ก็มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย
คาดหมายอยู่แล้วไหมว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่น่าผ่านการพิจารณา
อย่างที่เขายกมาในข้อที่พูดถึงสถาบัน ผมตกใจมาก มันเป็น scene
ที่ผมถ่ายที่ราชประสงค์ปี 2010 ช่วงปีใหม่ มีคนไปร่วมฉลองปีใหม่เต็มไปหมด
แล้วพิธีกรบนเวทีก็พูดก่อนที่จะ countdown
กันว่าร่วมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษา
ซึ่งเสียงมันแทบจะเป็นบรรยากาศ เบามากๆ เบาขนาดที่ผมไม่ได้แปล subtitle
ภาษาอังกฤษไว้
แปลว่าไม่ได้มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงสถาบันชัดเจน
ไม่เลยๆ มีแค่นั้น ถ้าคนได้ดูจริงๆ จะเห็นว่าไม่ได้พูดประเด็นสถาบันเลย
แต่ถ้าคนจะตีความเรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูงไปในทางนั้น
ก็จะตีความไปในทางการปกครองได้ เช่น มีคนบริเวณชายแดนพูดว่า
สุดท้ายคนที่ซวยก็คือพวกเขาที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น แต่คนที่เย้วๆ
ก่อเรื่อง หรือสร้างสถานการณ์ขึ้นมามันไม่ใช่พวกเขา
เป็นคนที่อยู่สูงกว่าพวกเขา แค่นั้น
ในคำพิจารณาแบนยังระบุชัดเจนว่า
“เหตุที่นำมาเผยแพร่อ้างว่าเป็นสารคดี
แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการสรุปความคิดเห็นของผู้จัดทำ” เรื่องนี้คิดยังไง
แล้วสารคดีจะต้องเป็นยังไงล่ะครับ
คือคณะกรรมการเขียนเหตุผลในการแบนว่าเป็นเรื่องการเขียน caption
ไม่สอดคล้องกับภาพ ซึ่ง caption เหล่านั้นมันจะแทนทัศนคติของผม
อันที่จริงมันก็ไม่ชิงสรุปความ มันไม่ได้มีมุมมองของผมคนเดียว
ถ้าไปถามคนที่เคยดูหนังเรื่องนี้
เขาจะบอกว่าเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะพยายามนำเสนอให้เป็นกลางที่สุดแล้ว
นอกจากจะมีทัศนคติของผมในช่วงต้นๆ
อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่าผมเกิดความสงสัย แต่ตัวผมในเรื่องก็ค่อยๆ fade
หายไป กลายเป็นมุมมองของคนในพื้นที่ กลายเป็นมุมมองของชาวบ้านพูดแทน
แถมชาวบ้านก็ไม่ใช่แค่ฝั่งไทย ไปฟังชาวบ้านเขมรด้วยซ้ำ
ถึงมันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนไทยพูดว่าเขมรเขาเอาเขตแดนรุกเข้ามาทางฝั่ง
ไทย และฝั่งไทยก็เขตแดนกระเถิบเข้าไปทางฝั่งเขา
คณะกรรมการก็เขียนให้เหตุผลในการแบนบอกว่ามันเป็นข้อมูลที่ยังอยู่ในชั้นศาล
ยังไม่ได้เป็นข้อมูลที่ออกมาเป็นเอกสารสรุปชัดเจนเหมือนกรณีที่มีคนตายที่
ราชประสงค์ คือ มันเป็นมุมมองของชาวบ้าน ชาวบ้านเขาคิด ชาวบ้านเขาพูด
แล้วไม่ได้มีแค่มุมมองเดียวด้วย แต่มีหลายมุมมอง debate กันอยู่ในหนัง
ผมก็ เอ๋ มันยังไง ต้องเป็นเอกสารด้วยเหรอ แล้วการขึ้น caption มาไม่สอดคล้องกับภาพ มันทำไม ทำไมได้เหรอ ผมก็สงสัยอยู่เหมือนกัน
หนังเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำนานเท่าไร
ประมาณ 2 ปีกว่า ส่วนใหญ่จะนานตอนหา connection ในเขมร
คณะกรรมการใช้เวลาพิจารณาเท่าไร
ผมส่งเป็นดีวีดีไป ใช้เวลาพิจารณาอาทิตย์กว่า
เพราะตามกฎหมายต้องพิจารณาในเวลา 15 วัน
ถ้าเกิดเลยจากนั้นยังไม่ได้รับการพิจารณาจะยกประโยชน์ให้กับผู้ยื่น
ถือว่าผ่านไปเลย พออาทิตย์กว่าๆ เขาก็โทรมา
เข้าใจว่าโดยกระบวนการต้องมีการให้คนทำหนังเข้าไปชี้แจง /หารือกันว่าจะมีการเซ็นเซอร์หรือไม่ จุดไหน
ตอนแรกพอรู้ว่าหนังไม่สามารถฉายได้ ก็คุยกับคนหนึ่ง
เหมือนเขาจะเป็นคณะกรรมการด้วย เขาบอกเหตุผลมาอย่างที่ได้เห็นกันอยู่ในข่าว
ผมก็พยายามขอไปชี้แจงแต่เขาไม่ยอม ผมถามเขาว่าจะตัดส่วนไหนได้บ้าง
เพื่อแก้ไข เขาก็บอกว่ามันแทบจะทั้งเรื่อง น่าจะแก้ไม่ได้
สักพักก็มีผู้ชายอีกคนชื่อคุณประดิษฐ์ เป็นผู้ใหญ่สักคนในกองพิจารณา
เขาก็ให้คำพิจารณามาดูได้
แล้วบอกว่าเราสามารถปรับแก้ตามนี้แล้วยื่นมาใหม่ได้อีกครั้ง
ซึ่งพอคุณประดิษฐ์เดินไป คุณคนแรกก็บอกเลยว่า ถึงจะปรับแก้ยังไง
กรรมการก็ชุดเดิมอยู่ดีนะคะ ผมก็เลยตีความไปเองว่า
เขาคงต้องการบอกว่าแก้ไปก็เท่านั้นแหละ
แล้วตัดสินใจได้หรือยังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ หลังจากที่ผลออกมาแบบนี้
ปรึกษาผู้ใหญ่แล้ว เขาก็แนะนำให้อุทธรณ์เหมือนทุกเรื่องที่ผ่าน
แม้ว่าทั้งสองเรื่องที่ผ่านมามา (เชคสเปียร์ต้องตาย, insects in the
backyard) อุทธรณ์ไปแล้วจะไม่คืบหน้าอันใด ชะงักอยู่อย่างนั้น
ก็คงต้องทำไปในทางกฎหมาย แต่ในด้านอื่น ผมก็คงจะใช้การพูด
การเขียนข้อมูลที่ผมได้มาและเพื่อเคลื่อนไหวให้คนไทยได้รู้ว่า
การทำอย่างนี้ถือว่าไม่ให้เกียรติคนไทยได้คิด
ผมขอเรท 18+ โดยผมมองว่าคนที่อายุ 18
ปีขึ้นไปเขามีสิทธิที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้แล้ว
น่าจะมีวิจารณญาณในการรับชม
เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อในชุดข้อมูลที่ผมนำเสนอได้โดยตัวของเขาเอง
ผมพยายามจะเรียกร้องข้อนี้ว่า ถ้ามีการจัดเรทติ้งแล้วไม่ควรจะมีการแบน ผมอยากให้เคารพสติปัญญาแล้วก็ให้เกียรติผู้ชมได้ตัดสินด้วยตัวเขาเอง
มองวงการภาพยนตร์ไทยยังไง โดยเฉพาะเมื่อเจอกรณีนี้ด้วยตัวเอง
ผมว่าช่วงนี้หนังไทยเป็นช่วงขาขึ้น มีหนังดีๆ
ออกมาเยอะเลยแล้วก็ทำเงินกัน ในต่างประเทศก็ให้ความสนใจดี
ถ้ากองตรวจสอบพิจารณาภาพยนตร์ยังคงมีทัศนคติหรือมุมมองต่อภาพยนตร์อย่างนี้
ผมคิดว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการภาพยนตร์ถอยหลัง
คิดว่าโดยรวมหนังตัวเองแรงไหม
ไม่คิดว่าแรงเลย เพราะผมถามคนที่ดูมา เขาก็ไม่ได้ว่ามันแรง
หลายคนก็บอกว่าเป็นหนังที่คนไทยควรได้ดูด้วยซ้ำ
เพราะน่าจะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น
และโดยความตั้งใจแล้วก็ตั้งใจว่าอยากให้คนยอมรับความเห็นต่าง ความคิดต่าง
ผมพยายามนำเสนอ fact หนึ่งขึ้นมา
และจะมีคนที่พูดในมุมมองที่ตรงข้ามกันอยู่ตลอดในหนัง
คิดว่าหนังเรื่องนี้ คนที่มีแนวคิดชาตินิยมมากๆ อนุรักษ์นิยม หรือแม้แต่กลุ่มเคลื่อนไหวทวงคืนปราสาทพระวิหารดูได้ไหม
นี่คือกลุ่มที่ผมต้องการที่สุดเลยที่อยากให้ดูหนังเรื่องนี้ ผมก็อยากรู้มากเลยว่าเขาจะคิดยังไง
หนังการเมืองที่เป็น mass
ไม่ค่อยมี ถ้ามีก็เป็นลักษณะแนวมาก สัญญะซับซ้อนมาก
ตอนทำมีแอบกังวลกับโจทย์เรื่องว่าจะไปสร้างความแตกแยกทางความคิด
เหมือนที่คนบางส่วนเป็นห่วงไหม
กังวลไหม
ผมรู้สึกว่าหนังผมมีแค่คนกลุ่มเดียวที่ผมไม่มั่นใจว่าเขาจะรู้สึกยังไง คือ
กลุ่มทวงคืนเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมอยากให้ดูที่สุด
ผมมองว่าถ้ามันออกไปจริงๆ มันน่าจะเกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กัน เกิด
debate ในหนังผมพยายามจะนำเสนอให้เข้าใจความเห็นต่างและการอยู่ร่วมกันด้วย
คนดูน่าจะได้ย้อนมองตัวเอง โดยเฉพาะคนที่อาจจะมองอะไร bias สุดๆ
มันน่าจะมีแง่มุมที่ทำให้เขาเปิดใจกว้างมากขึ้น
ผมก็เลยไม่ค่อยกังวลและอยากให้คนได้ดูมากกว่า
หลังจากเป็นประเด็นขึ้นมาได้รับผลกระทบในทางสังคมอย่างไรไหม ท่ามกลางสภาวะที่มีความขัดแย้งกันทางความคิดค่อนข้างสูง
วันนี้ยังไม่ค่อยมีผลกระทบในชีวิตเท่าไร ยกเว้นรับโทรศัพท์ทั้งวัน
(หัวเราะ) เท่าที่ดู feedback จาก facebook อะไรอย่างนี้
ส่วนใหญ่น่าจะร้อยละ 95 เลยที่เชียร์เรา
แต่ก็มีบางคนที่อาจจะอนุรักษ์นิยมมากๆ ที่ฟังชื่อเรื่องแล้วแบบว่า
เรียกว่ายังไงดีล่ะ แทบดิ้นอะไรแบบนี้ เขาก็ด่าเลยว่าสมควรแล้ว
ทั้งที่เขายังไม่ได้ดูเลยว่าเป็นยังไง
สุดท้าย ขอถามถึงแบ็คกราวน์ในการทำหนังว่าเข้ามาสู่เส้นทางนี้อย่างไร
สำหรับเรื่องนี้ก็อย่างที่บอกว่าแต่ก่อนก็เหมือนวัยรุ่นกรุงเทพฯ ทั่วไป
ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน แล้วมาถึงจุดที่บอกว่า วันหนึ่งมีคนตายเยอะ ๆ
แล้วเพื่อนที่สนิทสนมกันเขาไปสนับสนุนการฆ่าล้าง ผมว่ามันไม่ใช่แล้ว
ส่วนการเข้าสู่เส้นทางการทำหนัง จริงๆ ตอนเรียนผมเรียน visual design
เป็นออกแบบ graphic design อยากเรียนภาพยนตร์แหละแต่เอ็นไม่ติด เรียนไป 2-3
ปีก็เบื่อแต่โชคดีว่าเราเรียน visual design เลยทำอะไรก็ได้ที่เป็น visual
ส่งอาจารย์ตอนจบ ผมเลยเลือกทำสารคดี ตอนนั้นกลุ่มเพื่อนเป็นเด็กเล่น
sketboard เขาเล่ากันเก่งมาก เล่นทั้งวี่ทั้งวัน แต่ประเด็นของเรื่องคือ
เขาไปเล่นที่ไหนก็ยังโดนคนไล่ พ่อแม่ก็ด่า แต่เขาก็ยังเล่นอยู่
หนังก็เลยพูดถึงกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ต้องการหาพื้นที่ยืน
อันนั้นเรื่องแรกที่ทำกับเพื่อน หนังยาว 40 นาที เสร็จแล้วก็ไปยื่นขอทุนดู
ได้ทุนก้อนเล็กๆ จาก GTH ก็ทำต่อไปจนเสร็จ ชื่อ ‘โลกปะราชญ์’
มาจากคำว่าปราชญ์ผสมประหลาด ใน youtube ก็มีอยู่ part หนึ่งสั้นๆ
จากนั้นก็ได้เจอพี่ปุ่น (ธัญสก พันสิทธิวรกุล) ที่ทำหนังอิสระ
ตอนนั้นมีกลุ่มไทยอินดี้
เขาเห็นก็ชอบแล้วก็เอาหนังเรื่องนี้ไปฉายตามงานเทศกาลหนังต่างๆ
เราก็เลยได้รู้จักคนที่อยู่ในสังคมทำหนังอิสระ สืบเนื่องต่อกันมาเรื่อยๆ
ทำหนังสั้นมาเรื่อยๆ
เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ทำแบบเต็มรูปแบบฉายตามโรงทั่วไป
ใช่แล้ว เรื่องนี้ได้ทุนมาจากเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ได้ทุนมาจากสิงคโปร์
แล้วก็ฉายเปิดตัวที่ Berlin
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของที่นั่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แล้วก็มาฉายที่มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์ เพิ่งจัดไปเมื่อเดือนเมษายนนี้เอง
ก็มีคนได้ดูพอสมควร แล้วก็ไปฉายที่ธรรมศาสตร์ทีที่ห้องเรียนประวัติศาสตร์
ในชั้นเรียนของอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) และอาจารย์อัครพงษ์ (ค่ำคูณ)
มีการพูดคุยกันถึงหนังและ background ของผู้คนในพื้นที่นั้น
ทีนี้เราก็รู้สึกว่าให้คนได้ดูส่วนหนึ่งแล้ว อยากจะลองให้วงมันกว้างขึ้น
เพราะมี feedback ในทางที่ดี คนก็ชอบและเชียร์ให้เราได้ฉายในวงกว้าง
ก็เลยส่งเซ็นเซอร์ดูเพื่อจะเอาเข้าโรงภาพยนตร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น