รายงาน: 3 ปี 10 เมษา ภาพรวมไต่สวนการตาย และเรื่องเล่าจากคำเบิกความ
ผู้คนทั่วไปน่าจะยังจดจำเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553
ได้ในฐานะหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงในยุคการเมืองสมัยใหม่ มันเป็น
“จุดแตกหักแรก” ที่เกิดความสูญเสียชีวิตมากมายในพื้นที่ทางการเมืองเดิมๆ
บริเวณใกล้ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ผ่านไป 3 ปี สถานการณ์การเมืองเริ่มเข้าสู่ความมีเสถียรภาพ
มีประเด็นร้อนต่างๆ เข้ามาสู่ความสนใจของเรามากมาย แต่ในวาระ 10 เมษายน
ถือเป็นโอกาสที่จะทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ในแง่มุมของการประมวลภาพ
“กระบวนการยุติธรรม” ที่เกี่ยวข้องกับความตายทางการเมืองครั้งนี้
เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย เป็นประชาชน 20 ราย ทหาร 5 ราย
(ดูรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)
แต่รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ
.ค.2553 หรือ ศปช. รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย คือ
1.นายอนันต์ สิริกุลวาณิชย์ อายุ 54 ปี ถูกยิงด้วยเอ็ม 16
ที่ลำคอในเหตุการณ์ 10 เม.ย.53
และได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลางเสียชีวิตเมื่อ 15 พ.ค.53
2.นายอนันท์ ชินสงคราม อายุ 38 ปี
โดนแก๊สน้ำตาที่สะพานมัฆวานในช่วงบ่าย หลังจากนั้นมีอาการหายใจไม่ออก
แน่นหน้าอก หมอวินิจฉัยว่ามีอาการปอดอักเสบ จากนั้นป่วยจนทำงานไม่ได้
และเสียชีวิตจากอาการปอดติดเชื้อเมื่อวันที่ 6 ต.ค.53
โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตใน 2 จุดหลัก ได้แก่ ถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว และ
ถนนดินสอ บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา ในเหตุการณ์มี “ชายชุดดำ”
โผล่เข้ามาด้วยทำให้ลำดับเวลาของการเสียชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ
ซึ่งรายงานของแต่ละองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ก็มีส่วนสำคัญบางจุด
ก็ยังไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม
ข้อมูลเบื้องต้นจากปากคำประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุและข้อมูลของศูนย์ข้อมูล
ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.)
ก็ระบุตรงกันว่าเริ่มมีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตทั้งแต่ช่วงหัวค่ำก่อนการ
ปรากฏตัวของชายชุดดำ
นอกจากนี้แล้ว ในจำนวน 25 รายนั้น ยังมีผู้เสียชีวิต 1 รายคือ
นายเกรียงไกร คำน้อย
ที่ถูกยิงตั้งแต่ช่วงบ่ายที่มีการปะทะกันที่บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ และอีก
1 รายคือ นายมนต์ชัย แซ่จอง ถูกแก๊สน้ำตาและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีส่วนที่อยู่ในขั้นต่อนของการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกว่า ไต่สวนการตายแล้ว 5 ราย แยกเป็น 2 คดี
คดีแรก ประกอบด้วย ฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ชาวญี่ปุ่น ช่างภาพรอยเตอร์ , วสันต์ ภู่ทอง, ทศชัย เมฆงามฟ้า
คดีที่สอง ประกอบด้วย จรูญ ฉายแม้น , สยาม วัฒนานุกูล
โดยทั้งสองคดีนี้ใช้พยานร่วมกัน แต่เหตุที่ไม่อาจรวมกันได้เนื่องจากตำรวจส่งเรื่องให้อัยการล่าช้ากว่ากันมาก
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือ คดีของ มานะ อาจราญ ซึ่งนับเป็นคดีเดียวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ที่ศาลมีคำสั่งแล้วว่า “เสียชีวิตโดยไม่ทราบผู้ยิง”
มานะ อาจราญ
เสียชีวิตขณะอายุ 24 ปี เป็นพนักงานสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน)
ถูกยิงที่ศีรษะกลางดึกของวันที่ 10 เม.ย.53
ภายในสวนสัตว์ขณะที่เพิ่งออกเวรจากการเฝ้าบ่อเต่าและเกิดเหตุการณ์ชุลมุน
ขึ้นพอดี
คดีของมานะนับเป็นกรณีที่ 2 ที่ศาลมีคำสั่งไม่ทราบผู้ยิง ส่วนคดีแรกคือ คดีของนายบุญมี เริ่มสุข
ส่วนการไต่สวนการตายอีก 4
กรณีก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์บริเวณถนนพระราม 4
ในช่วงเดือนพฤกษภาคมปีเดียวกัน
โดยศาลมีคำสั่งชัดเจนว่ากระสุนมาจากทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่ คือ นายคำ พันกอง, นายชาญณรงค์ พลสีลา, นายชาติชาย ชาเหลา, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ น้องอีซา
มาโนช อาจราญ พ่อของเขาเคยเบิกความต่อศาลว่า
เชื่อว่าความตายของบุตรชายเกิดจากการกระทำของทหาร
เนื่องจากในวันดังกล่าวทหารเข้ามาในสวนสัตว์และถืออาวุธปืนเอ็ม 16
เข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม ที่่ผ่านมาได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ จำนวน 400,000 บาท กองคลัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 50,000 บาท
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 30,000 บาท และจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 7.2
ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายสองงวด
จึงไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มและไม่ติดใจดำเนินคดีต่อ (อ่านข่าวที่นี่)
พลอากาศตรี นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม
แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพมานะ ระบุว่า มานะเสียชีวิตจากการถูกกระสุนปืนลูกโดด
ที่มีความเร็วสูงที่บริเวณศีรษะ ทำลายเนื้อสมองฉีกขาด
ในทางปฏิบัติกระสุนชนิดดังกล่าวจะพบในปืนที่ใช้ในการสงคราม เช่น ปืนเอ็ม 16
และปืนอาก้า (อ่านข่าวที่นี่)
“บาดแผนกระสุนปืนลูกโดด 1 แห่ง
เข้าที่ศีรษะซีกขวาหลัง กะโหลกศีรษะแตกหลายชิ้นกระจายทั่วกะโหลก
เนื้อสมองฉีก เลือดออกใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นในกระจายไปทั่วสมอง”
แพทย์เบิกความ เหตุการณ์ในค่ำคืนนั้นเกิดขึ้นหลังจากความรุนแรงที่ถนนดินสอและสี่แยกคอก
วัวในช่วงหัวค่ำจบลงแล้ว แต่ยังมีทหารอีก 4
กองร้อยพักอยู่ในลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิต
จนกระทั่งกลางดึกก็เกิดความวุ่นวายเมื่อทหารบริเวณนั้นวิ่งหนี
“อะไรบางอย่าง” จากลานจอดรถด้านนอกเข้าสู่ด้านในสวนสัตว์
ร.ต.ต.ณรงค์ คำโพนรัตน์
ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกองร้อยปราบจลาจลในวันเกิดเหตุ เบิกความไว้ว่า
ทหารเริ่มเข้ามาบริเวณสวนสัตว์ดุสิต ตั้งแต่เวลา 18.00 น. มีทั้งสิ้น 4
กองร้อย กองร้อยละ 120 นาย อาวุธประจำกายประกอบด้วย ปืนเอ็ม-16 ปืนทาโว่
(TAR-21 หรือ Tavor) ปืนลูกซอง และกระบอง ต่อมาในเวลาประมาณ 23.00 น.
ขณะผูกเปลนอนอยู่ใต้ต้นโพธิ์สวนสัตว์ดุสิตใกล้ลานจอดรถ
ทหารได้วิ่งเข้ามาจากประตูทางเข้าสวนสัตว์ฝั่งรัฐสภา ถือปืนวิ่งเข้ามา
ต่างคนต่างหลบที่ลานจอดรถ ชนเก้าอี้ระเนระนาด จากนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้น
ทหารที่นอนหมอบอยู่ได้ยิงปืนในทิศทางเฉียงขึ้นฟ้า 45 องศา
พยานได้ยินเสียงปืนมาจากรอบทิศทาง ดังเป็นชุดๆ
เงียบไปสักพักหนึ่งก็ดังขึ้นมาอีก จากนั้นทหารก็สั่งว่า "แนวยิงให้หยุดยิง"
เสียงปืนซึ่งดังเป็นเวลา 30 นาทีจึงสงบลง
ขณะที่ รปภ.ของสวนสัตว์เบิกความไว้ว่า เวลาประมาณ
23.00 น. ทหารตะโกนว่า "มันมาแล้ว"
ทหารด้านนอกสวนสัตว์ได้วิ่งเข้าไปในสวนสัตว์และได้ยินเสียงปืนมาจากข้างนอก
ส่วนทหารหลบอยู่ในอาคารจอดรถ ที่วิ่งเข้าไปในสวนสัตว์ก็มี
และยังมีทหารที่นอนหมอบอยู่ด้วยกันที่ยิงปืนประจำกายไปทางรัฐสภา
นอกจากนี้ในกล้องวงจรปิด
เมื่อเปิดดูพบว่ามีรถกระบะคันหนึ่งขับมุ่งหน้ามาทางพระที่นั่งอนันตสมาคม
แล้วขับกลับไป แต่ไม่สามารถยืนยันว่าคนที่อยู่ในรถมีลักษณะอย่างไร
และมีอาวุธหรือไม่
ส่วนเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ พ.ต.ท.สราวุธ บุญศิริโยธิน
เบิกความว่า จากการสอบสวนเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่ พร้อมระบุว่า คืนเกิดเหตุ เวลาประมาณ
23.00-23.30น. ขณะทหารหลายร้อยนาย ซึ่งบางส่วนพักใต้อาคารจอดรถสวนสัตว์
บางส่วนกั้นรถอยู่ที่ถนนอู่ทองใน มีรถกระบะสีเข้ม
วิ่งจากแยกอู่ทองในผ่านสวนสัตว์ ไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
ครู่หนึ่งแล่นกลับมาชะลอตรงข้ามประตูทางเข้าสวนสัตว์ หน้ารัฐสภา
จากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ทหารแตกตื่นวิ่งเข้าสวนสัตว์
ขณะที่ปากของทหารนั้น มีทั้งระดับปฏิบัติการและผู้บังคับบัญชาซึ่งมาจากค่ายสุรนารี
ร.ท.จักรพันธ์ ตัณฑสมบูรณ์
ผู้บังคับหมวดกองร้อยทหารปืนใหญ่
อยู่ที่กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่สอง ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา
เบิกความไว้ว่า ขณะกำลังพลได้พักบริเวณอาคารจอดรถของสวนสัตว์ดุสิต
หลังพักได้ 15 นาที ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดจากฝั่งสภา
กำลังพลที่อยู่ด้านหน้าประตูวิ่งเข้ามาด้านในที่จอดรถบอกว่า "มันมาแล้ว"
ทำให้กำลังพลที่พักอยู่วิ่งไปหลบทางด้านหลัง ระหว่างนั้น
ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ไม่ทราบทิศทาง แต่แยกได้ว่าเป็นเสียงปืนเล็ก
ไม่ใช่ปืนกล
พร้อมยืนยันว่าเฉพาะกองร้อยของเขาไม่มีการยิงตอบโต้เพราะเจ้าหน้าที่ที่มี
ปืนจะยิงเมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น
โดยนอกจากกองร้อยของตนแล้วก็มีกองอื่นที่เข้ามาพักพร้อมกัน
นอกเหนือจากนั้น ยังมีการตรวจพบหลักฐานในคดี คือ ปลอกกระสุน .223 จำนวน 2
ปลอกตกอยู่ห่างจากจุดพบศพ 25 เมตร และพบโล่ปราบจลาจล กระบอง
และเสื้อสีเขียวระบุชื่อ "บารมี ชีพไธสง" ในที่เกิดเหตุ
พ.ต.อ.ณัฎฐ์ บูรณศิริ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช.
เบิกความ กระสุนขนาด 5.56 มม. หรือ .223 ใช้ได้กับปืน M16 HK33
ซึ่งทั้งทหารและตำรวจมี และใช้ได้กับทราโว่ ซึ่งมีแต่ทหารเท่านั้นที่มีใช้
ส่วนอาก้านั้นใช้ไม่ได้
พ.ต.ท.มานิต เกษมศิริ รอง ผกก.สน.ดุสิต
ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า
มีการขออาวุธปืนจากกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1
ซึ่งมีการเบิกจ่ายปืน M16 จำนวน 29 กระบอกมาใช้ในช่วงดังกล่าว
แต่พบว่าปลอกกระสุนไม่ได้มาจากปืนทั้ง 29 กระบอก ทั้งนี้ ในช่วงดังกล่าว
ทหารแจ้งว่าอาวุธปืนที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ถูกแย่งปืนไป
โดยได้แจ้งความไว้ด้วย แต่ภายหลังก็ตรวจยึดคืนได้จากสถานที่ชุมนุมของ นปช.
อดีตพลทหารบารมี ชีพไธสง
ซึ่งมีของกลางที่ระบุชื่อของเขาตกในที่เกิดเหตุ เบิกความว่า
หลังเหตุการณ์วุ่นวายจบลง เมื่อมีการรวมตัวเพื่อเช็คยอดคนและอาวุธ
ปรากฏว่ากระบองของตนหายไปตอนไหนไม่ทราบ โดยก่อนหน้านั้นพกไว้ที่เอว ทั้งนี้
หลังเกิดเหตุ ดีเอสไอเคยมาสอบที่กองพัน
เนื่องจากพบเสื้อลายพรางชุดฝึกมีชื่อของตนตกอยู่ในที่เกิดเหตุ
ซึ่งได้ให้การว่าเป็นเสื้อที่นายนพพลหยิบผิดไป
อดีตพลทหารนพพล ป้ายนอก ซึ่งถูกพาดพิง เบิกความว่า
เวลาประมาณ 23.00น. ได้ยินเสียงปืน 1 นัด และมีทหาร ตำรวจ
เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ วิ่งเข้ามา
ตนเองได้หยิบเสื้อฝึกและชุดเกราะวิ่งไปทางด้านหลัง
เสื้อฝึกซึ่งเป็นของพลทหารบารมี ชีพไธสง
ที่เขาหยิบผิดมานั้นไปเกี่ยวกับเก้าอี้จึงทิ้งไว้
เมื่อไปถึงริมสระน้ำเห็นชายคนหนึ่งเดินมาจากรถมอเตอร์ไซค์มาที่ช่องขายตั๋ว
ซึ่งอยู่ด้านขวามือที่เขาหมอบอยู่ ชายคนดังกล่าวสวมเสื้อสีขาว
กางเกงยีนส์สีฟ้า พร้อมพูดว่า “มึงจะออกมาหรือไม่ออกมา ไม่ออกมากูจะยิง”
ซึ่งไม่ทราบว่าพูดกับใคร
พอพูดจบชายคนดังกล่าวก็ยิงปืนพกสั้นสีเงินเฉียงขึ้นฟ้า 3 นัด
เมื่อเห็นท่าไม่ดีเขาจึงถอยลงสระ
จากนั้นก็ไม่เห็นชายคนนั้นอีกเพราะปูนที่ขอบสระบังไว้
แช่น้ำอยู่เกือบชั่วโมงจึงมีทหารจากกองพันอื่นมาเรียกให้ขึ้นไป
(อ่านข่าวที่นี่)
จากคำเบิกความของอดีตพลทหารฯ นพพล ป้ายนอก นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏ
“ชายชุดขาว” ในเหตุการณ์ภายในสวนสัตว์ดุสิต
และเป็นเหตุผลสำคัญที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาล
อีกส่วนหนึ่งคือคำเบิกความของ พ.ต.ท.สราวุธ บุญศิริโยธิน
พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ
ซึ่งเบิกความเกี่ยวกับการตรวจสอบวิถีกระสุนว่า
พบรอยกระสุนปืนที่ต้นหมากเขียวและใบวาสนา
ซึ่งมีความสูงในระดับเดียวกับความสูงของศีรษะผู้ตาย
เมื่อลองลากดูพบว่าเป็นแนวเดียวกันไปถึงบริเวณที่พบปลอกกระสุนและบริเวณที่
ทหารหมอบอยู่ จากวิถีกระสุนคาดว่าเป็นการยิงในท่ายืน
และไม่สามารถยิงจากระยะไกลได้ เพราะมีซุ้มใหญ่และต้นไม้บัง
วันดังกล่าวไม่มีรายงานว่ามีบุคคลตกค้างในสวนสัตว์
ท้ายที่สุด ศาลมีคำสั่งในคดีนี้ว่า ยังไม่ทราบใครผู้ยิงนายมานะจนเสียชีวิต
“ศาลพิเคราะห์จากการเบิกความที่ผ่านมาว่า
ผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุว่าผู้ยิงเป็นทหารหรือ
บุคคลใด ไม่มีพยานยืนยันการใช้อาวุธปืนของทหาร” (อ่านข่าวที่นี่)
ศาลระบุด้วยว่า แม้มีการนำสืบว่ามีพยานอยู่ใกล้ที่เกิด
เหตุแต่ก็ไม่ใช่จุดที่นายมานะถูกยิงเสียชีวิตและไม่ใช่จุดที่พบทหารหมอบอยู่
อีกทั้งเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่เข้าเวรคู่กับนายมานะได้วิ่งออกมาหลังได้ยิน
เสียงปืนก็พบกับทหารที่หมอบอยู่ ทหารก็ไม่ได้มีท่าทีจะทำร้ายเขา
หากทหารกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ทำร้ายนายมานะ
เจ้าหน้าที่อีกคนก็คงถูกยิงเช่นกัน
นอกจากนี้ ศาลยังให้เหตุผลเกี่ยวกับวิถีกระสุนว่า
ผู้ตรวจแนววิถีกระสุนนั้นจำลองแนววิถีกระสุนได้เพียงจุดยิงกว้างๆ
ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นจุดเดียวกับที่ทหารหมอบอยู่
อาจเป็นการยิงมาจากที่อื่นได้อีก ส่วนปลอกกระสุน 2
ปลอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น
ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นกระสุนที่ใช้ยิงผู้ตายหรือไม่
เพราะไม่มีหัวกระสุนมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอาวุธปืน 29
กระบอกที่กองกำลังค่ายสุรนารีเบิกใช้ก็ไม่ตรงกับปลอกในที่เกิดเหตุ
สำหรับการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เมษา ส่วนที่คืบหน้าที่สุดขณะนี้เห็นจะเป็น ชุดคดีของ ฮิโรยูกิ - วสันต์ - ทศชัย ซึ่งเสียชีวิตที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ
คดีนี้เริ่มกระบวนการไต่สวนมาตั้งแต่ราวเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
และสืบพยานไปแล้วหลายปาก
ยังคงเหลือพยานซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
พยานเจ้าหน้าที่
ของรัฐที่เป็นผู้เชียวชาญการตรวจพิสูจน์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไป
ปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุม รวมถึงพนักงานสอบสวน รวมกันแล้วเหลือไม่เกิน 20
ปาก จึงมีการบริหารคดีโดยกำหนดการสืบพยานอีก 7 นัด ในวันที่ 18 และ 19
มิ.ย.56 ซึ่งจะเป็นพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารเข้าเบิกความ
หลังจากนั้นจะเป็นวันที่ 16, 17 และ 24 ก.ค. และ 6, 7 ส.ค. 56
คดีนี้น่าสนใจตรงที่ที่ผ่านมามี “ประจักษ์พยาน” ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ
ขึ้นเบิกความหลายราย ซึ่งล้วนระบุไปในทิศทางเดียวกันว่ากระสุนมาจากแนวทหาร
เห็นฮิโรยูกิกำลังถ่ายภาพทหารที่บาดเจ็บ 2 ราย
และถ่ายภาพผู้ชุมนุมที่ถูกยิงกะโหลกเปิดก่อนเขาจะถูกยิงล้มลง
ร.ต.ต.ชาตรี อุตสาหรัมย์ จากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเข้าไปติดตามและหาข่าวในที่ชุมนุมขณะเกิดเหตุ เบิกความไว้ว่า
เวลา 19.00 น. เศษ
ซึ่งขณะนั้นมีการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างทหารกับ นปช.
หลังจากนั้นทราบว่าบริเวณสี่แยกคอกวัวมีการปะทะกันเช่นกันจึงได้เดินไป
และเดินกลับมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกครั้ง
เมื่อเดินมาถึงร้านแมคโดนัลด์ซึ่งอยู่บริเวณหัวมุมถนนก่อนเลี้ยวเข้าถนน
ดินสอ โรงเรียนสตรีวิทยา พบว่าบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
มีการนำศพคลุมธงชาติ 2 ศพ
ในขณะนั้นได้ยินเสียงคล้ายระเบิดและเสียงปืนในลักษณะต่อเนื่อง แต่ไม่ถี่
จากประสบการณ์ เสียงปืนที่ได้ยินเป็นเสียงปืนยาว
ส่วนเสียงคล้ายประทัดเห็นว่าเกิดจากการที่กลุ่ม นปช.
ใช้ระเบิดขวดที่ทำจากขวดเครื่องดื่มชูกำลังใส่น้ำมันขว้างไปยังที่ทหาร
ปฏิบัติการอยู่ จากการสังเกตการณ์ไม่พบมีกลุ่ม นปช.
ยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหาร
จากนั้นได้เดินไปฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสตรี
วิทยาโดยเดินตาม กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีประมาณ 30 กว่าคน
บริเวณนั้นมีรถทหารจอดขวางประมาณ 2
คันในลักษณะป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านไปได้ ขณะที่กลุ่ม
นปช.ขว้างระเบิดขวดข้ามแนวรถที่ขวางนั้น
ก็มีเสียงปืนยาวดังจากแนวหลังรถของทหารที่เป็นลักษณะตอบโต้กันไปมา
เห็นกลุ่ม นปช. แบกร่างผู้บาดเจ็บย้อนออกมาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2 คน
คาดว่าน่าจะถูกกระสุนที่ยิงมาจากหลังแนวรถของทหาร
หลังจากนั้นพยานได้เดินกลับไปบริเวณฝั่งหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา
โดยยืนบริเวณบาทวิถีหน้าโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นกลุ่ม นปช.
ได้เดินผลักดันไปถึงกลางถนนดินสอ พยานเห็นเจ้าหน้าที่แต่งกายทหาร
โดยเห็นครั้งละ 1 คน ทหารชะโงกหน้าดูเหตุการณ์อยู่บนบาทวิถีข้างถนน
ฝั่งไปทางสะพานวันชาติและถืออาวุธปืนยาวที่ปากกระบอกปืนชี้ขึ้นฟ้า
ขณะนั้นมีแสงสว่างจากหลอดไฟหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา
อาวุธปืนยาวนั้นไม่น่าจะออกมาจากทางด้านข้าง แต่เป็นลักษณะที่พุ่งตรงมายัง
นปช. หลังจากที่กลุ่ม นปช.ได้เดินผ่านโรงเรียนสตรีวิทยา
ได้มีเสียงปืนยาวยิงตอบโต้กลับมาทำให้ กลุ่ม นปช.
ต้องถอยร่นกลับที่บริเวณหัวถนนดินสออีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งระหว่างพยานได้ยืนสังเกตการณ์ที่บริเวณบาทวิถีหน้าโรงเรียน
ขณะนั้นได้ยินเสียงของหนักกระแทกพื้นห่างจากพยาน 1 เมตร และเห็นชายร่างใหญ่
ทราบภายหลังว่าเป็นนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ในลักษณะนอนหงาย
สะพายกล้องแบบนักข่าว หันมุมกล้องชี้ไปบนท้องฟ้า
ร่างนั้นนอนบนบาทวิถีหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาศีรษะหันไปทางโรงเรียน
ปลายเท้าชี้ไปทางบ้านเลขที่ 149 ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา
ในเบื้องต้นจะเข้าไปปฐมพยาบาล
แต่เห็นร่างนายฮิโรยูกิมีจุดแดงบริเวณหน้าอกซ้าย
จากนั้นจุดแดงดังกล่าวได้ขยายออกและมีเลือดไหล
จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาคิดว่าแผลลักษณะนี้เกิดจากอาวุธปืนที่มีความ
เร็ว สูง จึงได้ประคองนายฮิโรยูกิ
และตะโกนแจ้งให้ผู้ชุมนุมบริเวณนั้นทราบว่ามีนักข่าวถูกยิง
ผู้ชุมนุมได้ช่วยกันแบกร่างนายฮิโรยูกิ ไปที่รถพยาบาล
ขณะนั้นฮิโรยูกิมีลักษณะตาค้าง
นายอุดร วรรณสิงห์ แนวร่วม นปช. มีอาชีพทำนา จากจังหวัดร้อยเอ็ด เบิกความว่า
เขาเป็นผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณถนนดินสอ
กลุ่มผู้ชุมนุมผลักดันทหารให้ออกจากบริเวณนั้น
แต่ทหารได้ยิงแก๊สน้ำตาหลายนัดจากหลังรถถังมาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม
จึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมแตกออก
ระหว่างนั้นมีกระแสลมตีแก๊สน้ำตาย้อนกลับไปทางเจ้าหน้าที่ทหารๆ
จึงได้ถอยร่นไปทางสะพานวันชาติ ขณะนั้นพยานได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น 2
ครั้งท้ายรถหุ้มเกราะของทหาร โดยพยานยืนอยู่บริเวณทางม้าลายปากถนนดินสอ
หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จุดที่ระเบิดลงนั้นห่างจากตัวพยานประมาณ 10 เมตร
ทหารก็แตก พากันวิ่งหนีกันไปทางสะพานวันชาติ
ส่วนผู้ชุมนุมและพยานก็ได้ตามเข้าไปด้วย พอวิ่งตามไปหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา
ตรงทางม้าลาย เห็นทหาร 2 นายนอนบาดเจ็บร้องขอความช่อยเหลือบริเวณบาทวิถี
ฝั่งตรงข้ามโรงเรียน หลังรถถัง
ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเข้าไปช่วยเหลือได้ยินเสียงปืนดังจากทางแนวทหารทาง
สะพานวันชาติ โดยทหารตั้งแนวทั้ง 2 ข้างบาทวิถี
ส่วนตรงกลางจะมีรถถังที่ถอยกลับไปกลับมาอยู่
ทหารจ้องเล็งอาวุธปืนมาทางกลุ่มผู้ชุมนุม
เหตุที่สามารถเห็นได้เนื่องจากมีแสงสว่างจากหลอดไฟตามถนน
รวมทั้งเห็นประกายไฟซึ่งคาดว่าออกมาจากปลายกระบอกปืนด้วย
แนววิถีที่ทหารยิงมานั้นสูงประมาณหน้าอกและศีรษะ จากนั้นมีคนร้องว่า
“โดนแล้วๆ” ขณะนั้นตนเองยืนอยู่ตรงทางม้าลายเข้าโรงเรียน
ขณะนั้นหันไปดูต้นเสียง เห็นผู้ชายสวมเสื้อสีแดงถือธงแดง
ทราบชื่อภายหลังว่านายวสันต์ ภู่ทอง(ผู้ตายที่ 2) ล้มลง
หันหัวมาทางโรงเรียน นอนตรงทางม้าลายนั้น ปลายเท้าหันไปทางตรงข้ามโรงเรียน
ขเห็นเลือดและมันสมองกลิ้งมาที่พยานยืนห่างไปเพียง 3-4 เมตร
เมื่อเห็นนายวสันต์ล้มลง
จึงวิ่งไปหลบที่บริเวณต้นไม้ ต้นที่ 2 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา
ขณะนั้นมีชายแบกกล้องในลักษณะนักข่าวมาถ่ายภาพตรงนั้น
เดินอยู่หน้าพยานห่างไปประมาณ 3 เมตร ทราบภายหลังว่าเป็นนายฮิโรยูกิ
พอเสียงปืนดังขึ้น ชายคนดังกล่าวก็ล้มบริเวณบาทวิถีหน้าโรงเรียน
ก่อนที่จะล้มชายคนดังกล่าวหันหน้าไปทางทหาร 2
นายที่นอนเจ็บอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียน การล้มเป็นการล้มแบบนอนหงาย
โดยกระสุนมาจากแนวทหาร
เสียงปืนดังและมีประกายไฟพุ่งมาทางชายที่แบกกล้องแล้วก็ล้มลงในจังหวะเดียวกัน
ในระหว่างที่จะเข้าไปช่วยนายฮิโรยูกิ
ปรากฏเสียงปืนดังขึ้นอีก พยานจึงหลบเข้าที่เดิม
ในระหว่างหมอบหลบเห็นชายอีกคนล้มลงอยู่เลยร่างนายวสันต์ไปทางแนวทหารประมาณ 3
เมตร บนถนนฝั่งตรงข้ามโรงเรียน ทราบชื่อภายหลังว่า
นายสยาม วัฒนานุกูล
และใกล้ตรงที่ทหารบาดเจ็บ 2
นายนั้นก็มีชายที่ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ตรงนั้นอีกคน
ทราบชื่อภายหลังว่านายจรูญ ฉายแม้น
หลังจากนั้นเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงหาทางวิ่งออกจากบริเวณที่เกิด
เหตุมาที่ร้านแมคโดนัลด์
(อ่านข่าว ที่นี่ และ ที่นี่ )
นายเพชรพงษ์ โพธิยะ ประจักษ์พยานอีกคนหนึ่ง เบิกความว่า
ตลอดการ
ชุมนุมไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง มีแต่หนังสติ๊ก
และไม่พบว่ามีการทำลายสถานที่ราชการ หรือเผาทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด
ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18.00 น. เห็นรถหุ้มเกราะ 3 คัน
มาจอดบริเวณถนนดินสอ และมีเจ้าหน้าที่เดินตามหลังรถ ถืออาวุธปืนยาว
บางนายชี้ปากกระบอกปืนขึ้นฟ้า
บางนายชี้ปากกระบอกปืนในแนวระนาบมาทางผู้ชุมนุม ก่อนปะทะกับผู้ชุมนุม
แต่ยังไม่ใช้อาวุธปืนยิงเข้ามา
หลังจากปะทะ
กัน 20 นาที กลุ่มนปช.ที่ถอยร่นไปบริเวณอนุสาวรีย์ประชา ธิปไตย
รวมตัวผลักดันเจ้าหน้าที่และยึดรถหุ้มเกราะ
บางคนใช้ไม้เสียบล้อรถไม่ให้ขับต่อไปได้ บางคนขึ้นไปบนรถหุ้มเกราะ
และตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ออกมา ก่อนพาเจ้าหน้าที่ 5 นาย
ไปเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ เจ้าหน้าที่บางนายในรถหุ้มเกราะแต่งชุดสีดำ
ระหว่างที่ผู้ชุมนุมพาไปบนเวทีนั้น ก็มีผู้ชุมนุมถืออาวุธปืนตามหลังไปด้วย
แต่ไม่ทราบว่าเอามาจากในรถหุ้มเกราะหรือไม่
จากนั้นพยานและกลุ่มผู้ชุมนุมถ่ายรูปกับรถหุ้มเกราะเป็นที่ระลึก
สักพักได้ยินเสียงระเบิด 2 ครั้งติดต่อกัน บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา
พยานจึงนั่งหมอบอยู่ข้างรถหุ้มเกราะ
ก่อนได้ยินเสียงปืนยิงไล่มาตามพื้นจากฝั่งสะพานวันชาติ
ขณะนั้นเห็น
ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถูกยิงที่ต้นขา
ส่วนผู้ชุมนุมอีกรายโดนยิงที่แขนจนขาดรุ่งริ่ง
และเห็นชายที่โบกธงขึ้นไปอยู่บนรถหุ้มเกราะ ก่อนถูกยิงตกลงมา
ขณะที่หันหน้าไปทางผู้ชุมนุม ก็เห็นผู้ชุมนุมขว้างขวดน้ำตอบโต้เจ้าหน้าที่
พยานหลบอยู่จนกระทั่งเสียงปืนสงบลงในเวลา 20.30 น.
จึงเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมหามร่างของชายคนหนึ่งไปบนเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ
สภาพกะโหลกศีรษะเปิด ทราบภายหลังว่าเป็นนายวสันต์
และเห็นผู้ชุมนุมหามร่างชายที่มีสัญลักษณ์ค ล้ายผู้สื่อข่าว
ไปที่รถพยาบาลที่จอดอยู่บริเวณร้านแมคโดนัลด์
ระหว่างนั้นได้ยินเสียงผู้ชุมนุมตะโกนว่าผู้สื่อข่าวถูกยิงตาย
ทราบภายหลังว่าเป็นนายฮิโรยูกิ
(อ่านข่าว ที่นี่)
สำหรับอีกการไต่สวนการตายอีกคดีหนึ่ง คือ กรณีของ จรูญ - สยาม
นั้น เพิ่งสืบพยานนัดแรกไปเมื่อ 12-13 มี.ค.ที่ผ่านมา และนัดต่อไปในวันที่
30 เม.ย.นี้
ซึ่งจะเป็นวันเดียวกับที่ศาลจะมีคำสั่งคดีไต่สวนการตายของพลทหารณรงค์ฤทธิ์
สาละ (ยศขณะเสียชีวิต) ซึ่งถูกยิงบริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ
28 เม.ย.53
หนึ่งในพยานที่เบิกความ คือบุตรสาวของจรูญ ฉายแม้น ซึ่งระบุว่า
ในวันที่ไปรับศพพ่อเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนานั้นได้พบกับนายไพบูลย์
อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคาร ซึ่งให้ข้อมูลว่า ไปร่วมชุมนุมอยู่หน้า
ร.ร.สตรีวิทยา ใกล้กับพ่อ
ขณะนั้นมีการปะทะกันระหว่างผู้ร่วมชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหาร
แต่ผู้ร่วมชุมนุมไม่มีอาวุธ
นายไพบูลย์เป็นคนให้พ่อไปช่วยทหารที่ได้รับบาดเจ็บ
แต่พ่อถูกทหารยิงล้มไปหน้า ร.ร.สตรีวิทยา
นายบดินทร์ วัชโรบล
ช่างภาพอิสระจากสมาคมผู้บริโภคสื่อสีขาว
ซึ่งบันทึกภาพและถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์
ซึ่งมีวิดีโอคลิปเผยแพร่ทางยูทูปด้วยนั้นเบิกความว่า
หลังเคารพธงชาติ ทหารเปิดเพลงชาติ
หลังจากนั้นมีรถหกล้อของแกนนำเข้ามา โดยมี พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์
เป็นแกนนำมาประจันหน้ากับทหาร โดยวิ่งมาจากทางสะพานผ่านฟ้า
พร้อมพูดผ่านเครื่องกระจายเสียงบอกทหารด้วยว่า 'ให้ใจเย็นๆ เราพี่น้องกัน
เป็นคนไทยด้วยกัน เราอย่าทำร้ายกันและกัน' และเปิดเพลงเสื้อแดง
พยานจึงมีการถ่ายวีดิโอไว้ หลังจากนั้นทหารได้ยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าเป็นร้อยๆ
นัด ซึ่งพยานอยู่ไกลไม่เกิน 10 เมตร และได้บันทึกทั้งภาพและเสียง
โดยขณะนั้นยังไม่มีใครเจ็บหรือตาย
หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้กว้างขวดน้ำไปยังแนวทหาร สักพักได้ยินเสียงระเบิด
หลังแนวทหารและหลังรถหุ้มเกราะ มีสะเก็ดไฟ ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวิทยา
ถนนดินสอหลังจากนั้นไม่เกิน 10 วินาทีก็มีเสียงดังบริเวณนั้นอีกลูก
โดยหลังระเบิดทหารถอยร่นไปทาง สะพานวันชาติ
มีผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านหน้าบางส่วนตามกลุ่มทหารเข้าไป
แต่พยานยังอยู่จุดเดิมไม่กล้าเข้าไป โดยหลังเสียงระเบิดแล้วมีเสียงปืนบ้าง
เสียงปืนนั้นมาจากทิศทางไหน พยานไม่ทราบ จึงยืนถ่ายจากด้านนอก
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 19.00 น.
เห็นมีคนหามคนตายจากด้านในถนนดินสอมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
คนตายดังกล่าวศีรษะเปิด พยานได้ถ่ายรูปไว้ หลังจากนั้นเสียงปืนเริ่มเบา
พยานจึงเดินเข้าไปดูสภาพด้านใน โดยเลาะด้านขวาถึงหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา
ซึ่งตรงนั้นมีทางม้าลาย 2 จุด มีแสงไฟ
ขณะยืนถ่ายรูปอยู่นั้นบริเวณหน้าประตูโรงเรียน
ข้างหน้ามีคนนอนอยู่บนพื้นถนน 1 คน ซึ่งคิดว่าคงเสียชีวิต และทหารนอนเจ็บ 1
นาย โดยที่ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนจากแนวบริเวณสะพานวันชาติ
และเมื่อพยานหันหน้าไปทางนั้น
เห็นแสงไฟจากปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่จะออกไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
หลังจากนั้นพยานได้เดินออกไปตามหน่วยพยาบาลเพื่อมาช่วยทหารนอนบาดเจ็บอยู่
โดยพยานได้พบกับอาสาพยาบาลคนหนึ่ง ทราบชื่อภายหลังว่า นายอิทธิกร ตันหยง
จึงได้เข้ามาช่วยทหารคนดังกล่าวกับพยาน พร้อมด้วยผู้ชุมนุม 2-3
คนที่ตามมาช่วยด้วย
โดยพยานเริ่มช่วยเหลือจากการพยายามแกะรองเท้าเจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวและ
เอาไม้มาดามขาทหาร
ระหว่านั้นทางพยานและผู้ที่เข้ามาช่วยก็พยายามบอกทหารว่าอย่าพึ่งยิงมาทาง
ที่เราอยู่ แต่ยังมีเสียงปืนจากแนวทหารเข้ามาอีก จนอิทธิกร ตันหยง
ถูกยิงที่เท้า และกระสุนอีกนัดโดนที่ท้องของพยานเองด้วย (อ่านข่าว ที่นี่)
ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าของคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งใน
เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ในขณะที่อีกจำนวนมากยังไม่มีความคืบหน้า
และอาจกล่าวได้ว่า นี่คือเรื่องเล่าผ่าน “คำเบิกความ”
หลังม่านฝุ่นที่ตลบฟุ้งได้จางลงไปแล้ว
======================
ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553
- 1.นายอำพน ตติยรัตน์ 26 ปี กรุงเทพ กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังศีรษะ ทะลุด้านหน้า
- 2.นายยุทธนา ทองเจริญพูลพร 23 ปี ราชบุรี กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังศีรษะทะลุด้านหน้า
- 3.นายไพรศล ทิพย์ลม 37 ปี ขอนแก่น กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหน้าทะลุท้ายทอย
- 4.นายสวาท วางาม 43 ปี สุรินทร์ กระสุนปืนทำลายสมองจากด้านหลังทะลุด้านหน้า
- 5.Mr.Hiroyuri Muramoto 43 ปี ญี่ปุ่น กระสุนปืนยิงทะลุปอดหลอดเลือดแดงใหญ่ เลือดออกในช่องเยื้อหุ้ม หัวใจ
- 6.นายธวัฒนะชัย กลัดสุข 36 ปี นนทบุรี กระสุนปืนทะลุปอด ตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ ทะลุหลัง (ข้อมูล นปช.ระบุบาดแผลที่ต้นขาซ้าย)
- 7.นายทศชัย เมฆงามฟ้า 44 ปี กรุงเทพ บาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ เข้าหน้าอกซ้ายไปทะลุหลัง
- 8.นายจรูญ ฉายแม้น 46 ปี กาฬสินธุ์ กระสุนปืนทำลายปอดและตับ เข้าด้านขวาทะลุปอดและตับและทะลุหลัง
- 9.นายวสันต์ ภู่ทอง 39 ปี สมุทรปราการ กระสุนปืนทำลายสมอง ด้านหลังศีรษะทะลุด้านหน้า
- 10.นายสยาม วัฒนนุกุล 53 ปี นครสวรรค์ กระสุนปืนทะลุช่องอกและปอด เส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด
- 11.นายคะนึง ฉัตรเท 50 ปี กรุงเทพ กระสุนเข้าซี่โครงขวา เลือดออกที่ช่องท้อง
- 12.นายเกรียงไกร คำน้อย 23 ปี ชลบุรี ถูกยิง
- 13.นายบุญธรรม ทองผุย47 ปี ชัยภูมิ สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง (ข้อมูล นปช.ระบุกระสุนปืนเข้าที่ศีรษะ)
- 14.นายสมศักดิ์ แก้วสาน 34 ปี หนองคาย ถูกแรงอัดกระแทกเข้าที่ท้อง (ข้อมูล นปช.ระบุถูกยิงช่องท้อง เสียโลหิตมาก เส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด)
- 15.นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ 29 ปี ปทุมธานี แผลที่หน้าอกซ้าย ทะลุหัวใจและปอด
- 16.นายนภพล เผ่าพนัส 30 ปี ชลบุรี ถูกยิงที่ท้อง
- 17.นายมานะ อาจราญ 23 ปี เป็นเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิต เสียชีวิตจากวัตถุความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ
- 18.นายสมิง แตงเพชร 49 ปี นนทบุรี ถูกยิงที่ศีรษะ (ข้อมูล นปช.ระบุสมองบวมช้ำ)
- 19.นายมนต์ชัย แซ่จอง 54 ปี สมุทรปราการ ระบบการหายใจล้มเหลว โดยผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวถุงลมโป่งพอง และสัมผัสแก๊สน้ำตา
- 20.นายบุญจันทร์ ไหมประเสริฐ 50 ปี รพ.รามาธิบดี ถูกยิงที่ขาหนีบซ้าย
- 21.สิบเอกอนุพล หอมมาลี ถูกสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะ
- 22.พลฯภูริวัฒน์ ประพันธ์ ถูกยิงเสียชีวิตก่อนถึงรพ.
- 23.ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน
- 24.พลฯสิงหา อ่อนทรง ถูกยิงเข้าที่หน้าอกซ้าย
- 25.พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่กระโหลกศีรษะ
ข้อมูลจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น