วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

ยังไม่จบ กสท.ตั้งคณะทำงานสอบ 'ตอบโจทย์ฯ'


ยังไม่จบ กสท.ตั้งคณะทำงานสอบ 'ตอบโจทย์ฯ'

หลังผู้บริหารไทยพีบีเอสถูกฟ้อง ม.112 ยกยวงจากการออกอากาศตอบโจทย์ฯ ตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ล่าสุด กสท. ตั้งคณะทำงานพิจารณา "ตอบโจทย์ประเทศไทย" กรณีออกอากาศตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” แล้ว
ภายหลังจากที่ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ในระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2556 เวลา 21.45-22.30 น. ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง  เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายการดังกล่าว โดยการเสนอของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการที่มีพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ  เป็นประธาน
คณะทำงานชุดดังกล่าวประกอบด้วย นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลก อดีตปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว นายวีระ อุไรรัตน์ ผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  และนายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะทำงานชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่ออกอากาศในบริบทของสังคมไทยทุกมิติ รวมทั้งพิจารณาเนื้อหาว่าขัดกฎหมายฉบับใดบ้าง
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงาน ทั้งนี้ โดยปกติการแต่งตั้งคณะทำงานแต่ละชุดจะมีระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งละไม่เกินสามเดือน
ก่อนหน้านี้ มีผู้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารไทยพีบีเอส ผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมรายการ และนำภาพบันทึกประจำวันมาโพสต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้แจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง ให้ดำเนินคดีกับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และสมชัย สุวรรณบรรณ
ในบันทึกประจำวัน ระบุว่า ผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับ ภิญโญ สุลักษณ์ และสมศักดิ์ ใน "ความผิดทางอาญาและเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรตามมาตรา 37" และ สมชัย "ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157"
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบโดย "ประชาไท" พบว่า มาตราที่ใกล้เคียง คือ มาตรา 37 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ว่า มาตรา 37 "ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
"ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
"ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้"
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มี.ค. สำนักข่าว DNN รายงานว่า นายกิตติ นิลผาย อาชีพทนายความ แจ้งตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จำนวน 5 คน ประกอบด้วย สมชัย สุวรรณบรรณ ประธานกรรมการและผู้อำนวยการ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  วุฒิ ลีลากุศลวงศ์  มงคล ลีลาธรรม และ พุทธิศักดิ์ งามเดช กรรมการ  ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแพร่ภาพออกอากาศรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ในตอนที่ 4 และตอนที่ 5 โดยนำแผ่นซีดี ที่บันทึกภาพและเสียงรายการดังกล่าว และเอกสารจำนวนหนึ่ง มามอบไว้เป็นหลักฐาน โดยเบื้องต้นตำรวจได้รับเรื่องไว้พร้อมจะลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และจะสั่งการให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้น ก่อนจะส่งให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น