วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

'ตายซ้ำ 2' สนนท. จี้ กสม.ลาออก ระบุรายงานสลายแดงบิดเบือน



'ตายซ้ำ 2' สนนท. จี้ กสม.ลาออก ระบุรายงานสลายแดงบิดเบือน

         สนนท. ประท้วงรายงานสลายการชุมนุมแดงปี 53 ของคณะกรรมการสิทธิฯ ระบุบิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง จี้รับผิดชอบลาออกทั้งคณะ พร้อมปฏิรูปที่มาโดยให้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชน
          15 ส.ค.56 เวลา 12.00 น. ที่อาคารบี ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นำโดยนายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการ สนนท. เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลาออกจากตำแหน่ง และปฏิรูปกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชน
       สนนท.ระบุว่า รายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม เสื้อแดงปี 53 นั้น บิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ในรายการ คม ชัด ลึก ทางช่องเนชั่นทีวี ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อการสอบถามได้
       ต่อมา นายขรรค์ชัย คงเสน่ห์ รองเลขาธิการ กสม. เป็นตัวแทนลงมารับหนังสือของ สนนท.
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว สนนท. มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการฉีกรายงานผลสรุปเหตุการณ์การชุมนุม ปี 53 พร้อมแสดงละครล้อเลียน สะท้อนว่า รายงานของ กสม. ฉบับนี้ เป็นการฆ่าผู้ที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมให้ตายซ้ำ 2 อีกด้วย รวมทั้งมีการถือป้ายประท้วง เช่น 'ตายซ้ำ 2' 'คณะกรรมการคุ้มครองอภิสิทธิ์ชนแห่งชาติ' เป็นต้น

แถลงการณ์: กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกรายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.
            ในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกรายงานดังกล่าวในเชิงนโยบาย ซึ่งรายงานนี้เป็นรายงานที่บิดเบือนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ในรายการ คม ชัด ลึก ทางช่องเนชั่นทีวี ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อการสอบถามได้ซึ่งทั้ง 2 ประการที่เกิดขึ้นทั้งรายงานและการให้สัมภาษณ์พยายามบ่งบอกได้ว่ารัฐสามารถที่จะใช้กำลังทหารและกำลังอาวุธสงครามเข้าทำร้ายและสังหารผู้มาชุมนุมได้
            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรที่มีบทบาทชัดเจนภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และมีอำนาจมากยิ่งขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ถือได้ว่าเป็นอีกองค์กรที่เป็นอุปสรรคและขัดขวางต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งคณะกรรมการก็เป็นบุคคลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการจากคณะรัฐประหาร
            อุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเห็นได้จากที่มาของคณะการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาจากการสรรหาซึ่งไม่สอดคล้องต่อบริบทในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งคณะกรรมการสรรหาก็ไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนย้อนแย้งกับทิศทางที่ประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ผ่านมาไม่ได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและการปฏิบัติงานก็มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือที่รู้จักกันในวลีที่ว่า “2 มาตรฐาน” ทำให้ความเป็นอิสระกลับกลายเป็นองค์กรที่เลือกจะอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรที่มีรากเง้าเก่าแก่ในสังคมไทย
            ด้วยพฤติการณ์ของ กสม.  สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) จึงเสนอทางออกแก่ กสม.ดังนี้
1.ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออกจากตำแหน่ง
2.ให้ปฏิรูปกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้เป็นการเลือกตั้งจากประชาชน
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
                                                                                                       15 สิงหาคม 2556
ภาพบรรยากาศ :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น