วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง
สถานการณ์หลังการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏว่า การชุมนุมของม็อบ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ยังไม่ยุติ ด้วยข้ออ้างว่าการชุมนุมของตนมีความชอบธรรมเพราะได้รับการสนับสนุนจาก”มวลมหาประชาชน” และ ทิศทางการเคลื่อนไหวของม็อบสุเทพและกลุ่มนักวิชาการผู้สนับสนุนในขณะนี้มีธงชัดเจนว่า ต้องการที่จะล้มการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ดังนั้น จึงได้เสนอในเชิงหลักการว่า จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง โดยให้เลื่อนการเลือกตั้งไปก่อน


            ด้วยความพยายามในการหาทางล้มการเลือกตั้ง ฝ่ายคุณสุเทพและนักวิชาการที่สนับสนุน ได้อธิบายว่า ขณะนี้ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต จึงไม่สามารถใช้กระบวนการกฎหมายตามปกติได้ ต้องใช้วิธีการพิเศษ คือจะต้องเว้นวรรคการเลือกตั้ง 1-2 ปี จากนั้นตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศขนานใหญ่ สภาประชาชนนี้จะมีสมาชิกราว 400 คน โดยมาจากเลือกตั้งในกลุ่มวิชาชีพ 300 คน และ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ กปปส.สรรหาอีก 100 คน และเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป รัฐบาลรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะต้องลาออกโดยทันที แล้วให้วุฒิสภาเลือกนายกรักษาการจากคนที่เป็นกลาง และเป็นคนดี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ข้อเสนอลักษณะนี้เอง จึงทำให้สภาประชาชนที่เสนอมานี้ถูกเรียกอย่างเสียดสีว่า “ระบอบเทือกตั้ง”

            นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้อธิบายเหตุผลสนับสนุนระบอบของตนว่า ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปให้พัฒนาไปอย่างยั่งยืน ซึ่งจะไม่มีวันทำได้เลยถ้าไม่ขจัดระบอบทักษิณออกจากแผ่นดินไทยเสียก่อน นายสุเทพจึงยืนยันว่ามวลมหาประชาชนจะไม่ไปเลือกตั้งอย่างแน่นอนถ้าไม่มีการปฏิรูปก่อน และย้ำว่า การต่อสู้จะดำเนินต่อไป เพราะ “มวลชนที่ลุกขึ้นมาวันนี้ไม่มีวันหมดแรง และสู้ได้เป็นปี” และได้อธิบายกับกองทัพว่า นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับระบอบทักษิณ ดังนั้น ทหารต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างใคร ข้างประชาชนหรือระบอบทักษิณ




ประเด็นของปัญหาก็คือ คงจะต้องอธิบายเป็นเบื้องแรกก่อนว่า ประเทศไทยนั้นไม่มีวิกฤติ จนกระทั่ง เกิดการชุมนุมของกลุ่มนายสุเทพเอง ที่นำเอามวลชนมาปิดถนนปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนชาวบ้านเดือดร้อน แล้วผัดวันประกันพรุ่ง ยกระดับต่อสู้ครั้งสุดท้ายครั้งแล้วครั้งเล่ามานานนับเดือน จากนั้นก็ข่มขู่ว่าจะเข้ายึดสถานที่ราชการ สถานทูต หรือได้เข้าไปยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง จนก่อให้เกิดความตึงเครียด ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย คำถามก็คือภาวะวิกฤติที่สร้างกันเองเช่นนี้ จะใช้เป็นข้ออ้างไปสู่การยกเลิกการใช้กฎหมายปกติเพื่อการปฏิรูปประเทศได้อย่างไร

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงหลักการของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยก็คือ การคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 47 ล้านคน เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ และนี่คือเสียงของประชาชนทั่วประเทศที่เป็นจริงไม่ใช่หรือ ขณะที่อำนาจมวลมหาประชาชนของนายสุเทพมาจากการม็อบ และสภาประชาชนก็มาจากการแต่งตั้งกันเองจะถือว่าเป็นเสียงของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร ความจริงแล้ว ถ้าฝ่ายนายสุเทพมั่นใจว่า “มวลมหาประชาชน”ที่แท้จริงสนับสนุนฝ่ายของตน ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปกลัวการเลือกตั้ง เพราะถ้านายสุเทพมาเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แล้วมวลมหาประชาชนสนับสนุนก็จะชนะเลือกตั้ง แล้วก็จะผลักดันการปฏิรูปประเทศได้ตามต้องการ ความจริงการกลัวการเลือกตั้งของฝ่ายนายสุเทพก็เป็นการฟ้องว่า ระบอบสภาประชาชนที่ตั้งกันเองเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อยเท่านั้น

ในกรณีนี้ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งนั่นเอง ที่ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศอย่างสันติวิธี ไม่ต้องให้คนที่คิดต่างกันเอาปืนมาต่อสู้กัน และยังเป็นหนทางที่จะนำประเทศไปสู่การปฏิรูปอย่างชอบธรรมด้วยฉันทานุมัติของปวงชนชาวไทย โดยการที่ผลักดันให้พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสามารถเสนอแผนปฏิรูปของตนสู่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจ

ประการต่อมา คงต้องอธิบายว่า การปฏิรูปการเมืองจะหมายถึงการขจัดตระกูลชินวัตรออกจากแผ่นดินคงไม่ได้ เพราะการกระทำเช่นนั้นไม่ถูกต้องตามหลักการของการเมืองสมัยใหม่ และไม่มีกฎหมายใดรองรับ ถือเป็นการใช้อำนาจตามอารมณ์เกลียด แต่ในอีกด้านหนึ่ง การปฏิรูปอันแท้จริงจะต้องเริ่มจากการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการแก้ไขทั้งฉบับ มีกระบวนการทำให้โครงสร้างพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย ให้อำนาจสูงสุดเป็นของสภาผู้แทนราษฎร ยกเลิกวุฒิสภาแต่งตั้ง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ในสมัยที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยพยายามจะทำแล้ว แต่ถูกขัดขวางจากศาลรัฐธรรมนูญ จนไม่อาจดำเนินการได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า การปฏิรูปการเมืองที่สมบูรณ์ คงจะต้องดำเนินการไปถึงการปฏิรูประบบตุลาการ ปฏิรูปที่มาองค์กรอิสระทั้งหมด หมายถึงการยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และน่าจะต้องรวมถึงปฏิรูปหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญเพื่อการยกเลิกองคมนตรีอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อย้อนไปพิจารณาเนื้อหาของการ”ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ที่นักวิชาการฝ่ายสนับสนุนนายสุเทพพยายามเสนอ ก็คือ การชิงเอาอำนาจของประชาชนส่วนข้างมากที่จะผ่านการเลือกตั้ง มายกให้แก่เสียงข้างน้อยของสภาประชาชนที่ตั้งโดยฝ่ายนายสุเทพ ข้อหนึ่งของการปฏิรูปแบบนี้ คือ ความกลัวการทุจริตคอรับชั่นที่ดำเนินการโดยฝ่ายนักการเมือง ซึ่งในกรณีนี้ เกษียร เตชะพีระ ได้อธิบายอย่างชัดเจนแล้วว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องทุจริตคอรับชั่นต้องแก้ด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล ถ้าการแก้ปัญหาทุจริตโดยการล้มเลิกประชาธิปไตย แล้วใช้อำนาจอื่นที่ตรวจสอบไม่ได้เข้ามาแทน จะยิ่งเป็นอันตรายและไร้หลักประกันสำหรับประเทศไทยมากยิ่งกว่า



ข้อเสนออีกประการหนึ่ง ที่เสนอให้ปฏิรูปการเมืองแบบขวาจัด โดยล้มเลิกหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง เพราะเสียงประชาชนในชนบทเป็นเสียงไม่มีคุณภาพ ไม่ควรมีเสียงมากเท่าผู้ดีและชนชั้นกลางที่จบปริญญา นี่ถือว่าเป็นข้อเสนออันไร้สาระ และมีลักษณะแบ่งแยกมวลชน และทำลายหลักความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ คงไม่ต้องหยิบมาพิจารณา

ประเด็นต่อมา ก็คือ ถ้าหากล้มเลิกหรือเลื่อนการเลือกตั้งในขณะนี้ ปัญหาของประเทศไทยจะบานปลายไปมากยิ่งกว่า เพราะประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งต้องรู้สึกว่าอำนาจของตนเองถูกช่วงชิง ยิ่งกว่านั้น ประเทศไทยคงจะก้าวไปกับนานาประเทศได้ยาก จะเอาเหตุผลอะไรไปอธิบายว่า เหตุใดประเทศไทยจึงต้องล้มเลิกการเลือกตั้งตามเสียงการข่มขู่ของฝูงชน

และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องยืนยันในวันนี้ว่า “เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น