วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

สปป.ชี้คำวินิจฉัยตลก.ไม่ชอบธรรม วรเจตน์ยันพ.ร.ฎ.โมฆะ คะแนนเสียง 'ไม่' โมฆะ

สปป.ชี้คำวินิจฉัยตลก.ไม่ชอบธรรม วรเจตน์ยันพ.ร.ฎ.โมฆะ คะแนนเสียง 'ไม่' โมฆะ
 สปป.แถลงค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีเลือกตั้ง 2 ก.พ. ระบุ 7 ประการ ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองและทางรัฐธรรมนูญ วรเจตน์ ชีปัญหาหลายระดับ ให้พ.ร.ฏ.เป็นโมฆะครึ่งเดียว และไม่ได้ฟันให้ 20 ล้านเสียงที่ลงคะแนนโมฆะ เพราะรู้ดีไม่มีกฎหมายรองรับอำนาจ
                                                                                                        
 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) แถลงข่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2 โดยชี้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวมีปัญหาความชอบธรรมทั้งทางการเมืองและทางรัฐธรรมนูญ (อ่านแถลงการณ์ในล้อมกรอบด้านล่าง)
ชมวิดีโอการอ่านแถลงการณ์ สปป.โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ และประจักษ์ ก้องกีรติ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติราษฎร์ อภิปรายเพิ่มเติมกรณีเห็นค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น
ประเด็นแรก คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กรหรือไม่ เขากล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แต่การพิจารณาไม่ใช่ดูบทบัญญัติดังกล่าวอย่างเดียว หากแต่ต้องดูความชอบธรรมด้วย ทั้งนี้ มาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญก็ระบุเช่นกันว่าคำพิพากษาของศาลต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่สามารถวินิจฉัยไปตามความรู้สึกนึกคิดของตัวได้ หากปรากฏว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เราคงยอมรับไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยนั้นจะผูกพันองค์กรทุกองค์กร

ตอนนี้ในคำวินิจฉัยที่เผยแพร่ ยังไม่เห็นเหตุผลว่ารับคำร้องเรื่องนี้เพราะอะไร สิ่งที่รับวินิจฉัยเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างไร ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นมานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าทั้งการยื่นเรื่องและการรับไว้พิจารณาไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ศาลไม่มีอำนาจเหนือคดีที่รับไว้พิจารณาในกรณีนี้

ประเด็นที่สอง เขาชี้ว่าคำวินิจฉัยที่ออกมามีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ เนื่องจากระบุเฉพาะการกำหนดวันเลือกตั้งเท่านั้นที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้บอกว่าการยุบสภาฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เงื่อนไขทั้งสองประการเป็นเงื่อนไขที่ผูกกันใน พ.ร.ฎ. แต่กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดเงื่อนอันแรกทิ้งไปเฉยๆ เพราะไม่ต้องการให้สภาผู้แทนราษฎรฟื้นคืนชีพ  อย่างไรก็ตาม ไม่มีตรงไหนเลยที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นเป็นวันเดียวกัน เพียงแต่กำหนดให้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกัน และกฎหมายยังเปิดช่องไว้ด้วยว่าหากมีเหตุจำเป็นเช่น จราจล ภัยพิบัติ ก็กำหนดวันเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ใหม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องมีความยืดหยุ่นอย่างสมเหตุสมผล

ประเด็นที่สาม คำวินิจฉัยไม่ตรงกับคำร้อง เขากล่าวถึงรายละเอียดว่า เวลาศาลตัดสินคดีต้องเป็นการยุติข้อพิพาท ให้จบลงโดยไม่ต้องตีความต่อ ตัดสินครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ แต่กังวลว่าคำวินิจฉัยนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น ดูจากการแถลง ประเด็นที่ศาลตั้งกับประเด็นของผู้ร้องไม่ตรงกัน คนร้องร้องว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้งเพราะกกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ แต่ศาลตั้งประเด็นเอาไว้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 2 ก.พ.นั้นเป็นการเลือกตั้งด้วยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และตอนตอบคำถามก็ไม่ได้ตอบคำถามนี้เลย ศาลบอกแต่เพียงว่า พ.ร.ฏ.เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วไม่ได้บอกต่อด้วยว่า แล้วการเลือกตั้งนี้จะเป็นยังไงต่อ 
ประเด็นที่สี่ ผลของคำวินิจฉัยนี้คืออะไร วรเจตน์ กล่าวว่า สื่อทั้งหมดไปพาดหัวว่า การเลือกตั้งโมฆะ เป็นความเข้าใจทั่วไปที่คลาดเคลื่อน ในทางกฎหมายเราตอบแบบนั้นไม่ได้ เราบอกอะไรบางอย่างเกินกว่าที่ศาลตัดสินไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญระบุแต่เพียงว่า การกำหนดวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการที่ประชาชนไปหย่อนบัตรลงหีบ เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง เป็นผลจากการจัดการเลือกตั้ง ถามว่าในคำวินิจฉัยมีตรงไหนบอกว่าคะแนนนั้นเสียไปบ้าง ไม่มี หากจะให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญต้องเขียนลงในคำวินิจฉัยทำลายคะแนนเสียง 20 ล้านเสียงนั้นให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เสียงของประชาชนถือเป็นสิ่งสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรสูงไปกว่านี้ เพราะอำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มาจากรัฐธรรมนูญซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากเสียงประชาชน
ชมวิดีโอการอภิปรายโดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ดังนั้นสิ่งที่ต้องกระทำต่อไป กกต.มีหน้าที่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งที่เสร็จสิ้นไปแล้ว
ด้วยคำวินิจฉัยเช่นนี้ คำถามว่าคะแนนเสียหรือไม่จะเป็นปัญหาต่อไปตลอดกาลในระบบกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ปฏิบัติไม่ได้ เพราะด้านหนึ่ง เขียนว่าพ.ร.ฏ.ขัดรัฐธรรมนูญ อีกด้านหนึ่งคะแนนเสียงของประชาชนยังดำรงอยู่ทุกประการ
ประชาชนลงคะแนนเสียงไปแล้ว 20 ล้านเสียงยังคงอยู่ และศาลไม่มีอำนาจในการสั่งให้โมฆะด้วย ไม่มีกฎหมายไหนบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญทำได้ การทำลายคะแนนเสียงทำได้เฉพาะเหตุที่กฎหมายบัญญัติอยู่เป็นเรื่องๆ เป็นบางกรณี บางเขตเท่านั้น
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คำวินิจฉัยออกมาแล้วไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ ทำให้องค์กรอื่นต้องไปทำลายผลการเลือกตั้งเอาเอง
“สิ่งที่น่าจะเป็นโมฆะน่าจะกลับกัน ไม่ใช่การเลือกตั้งของประชาชน แต่ควรเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้หรือไม่ เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งดำเนินต่อไปได้” วรเจตน์กล่าว
ถามว่าเราจะตีความโดยปริยายได้ไหมว่าเฉพาะบางส่วนของ พ.ร.ฏ.นี้ขัดรัฐธรรมนูญเลยตีขลุมต่อไปว่าการเลือกตั้งไม่ชอบ ผมคิดว่าไม่ได้ สองอันนี้แยกจากกัน การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอันหนึ่ง การไปเลือกตั้งเป็นอีกอันหนึ่ง ทั้งนี้ มาตรา 108 กำหนดบังคับ 2 อย่างคือ ให้กำหนดวันเลือกตั้งภายในเวลาเท่าไร และต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร มันขาดออกจากการไปใช้สิทธิของประชาชน ส่วนของพ.ร.ฏ.ขัดรัฐธรรมนูญนั้นถ้าจะมีความผิดก็ต้องเป็นการรับผิดทางการเมืองไปว่าเป็นของฝ่ายรัฐบาลหรือกกต. 
ประการสุดท้าย ประชาชนควรทำอย่างไรต่อไป วรเจตน์กล่าวว่า การจะยื่นถอนถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ยาก เพราะไปติดการตีความขององค์กรอิสระอีก เขากุมสภาพทางกฎหมายไว้หมด เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องความรู้ทางกฎหมายแล้ว เพราะประชาชนต่างก็เข้าใจเรื่องราวอย่างดีอยู่แล้ว จากคำวินิจฉัยที่ผ่านมาๆ
“ผมคิดว่าหนทางในทางกฎหมายเหลือน้อยลงทุกที วันเวลาของผมในการพูดถึงเหตุผลทางกฎหมายน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถเอาเหตุผลทางกฎหมายไปแย้งกับสิ่งที่ไม่มีเหตุผลได้อีก แต่อยากให้ท่านช่วยขยายความคิด ความรู้ออกไปให้มากที่สุด ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมากทั้งในแง่จำนวนและอุดมการณ์ที่แท้จริง หนทางแบบนี้สงบสันติและนำสู่ชัยชนะได้ ถ้าหนทางแบบนี้ไปจนสุดแล้วก็ถือว่าไม่ใช่ความผิดของฝ่ายประชาธิปไตย เราทำเต็มที่แล้ว” วรเจตน์กล่าว
ชมวิดีโอการอภิปรายโดย เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว การต่อสู้ในช่วงหลายปีและยิ่งเข้มข้นในหลายเดือนนี้ เป็นการแย่งกันกำหนดกติกาทางการเมืองใหม่ เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจสังคมของบ้านเมืองที่เปลี่ยนไปในรอบหลายทศวรรษนี้
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจาก ประการแรก รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง 2540 ซึ่งมีแก่นสำคัญ คือ ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็ง มีอำนาจมาก เหนือกว่าระบบราชการและพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการกับประชาชนได้มากอย่างไม่เคยมีมาก่อน อีกประการคือ การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สองอย่างนี้เปลี่ยนบ้านเมืองไปเยอะ 
ประการที่สอง บังเอิญว่าพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอบสนองความต้องการขอประชานรากหญ้าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ประชาธิปไตยที่เคยมีความหมายเพียงไปกาบัตรเลือกตั้งเฉยๆ กลายเป็นประชาธิปไตยที่กินได้

ประการที่สาม “คนชั้นกลางระดับล่าง” หรือคนรากหญ้า เกิดขึ้นมากมายในประเทศจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คนเหล่านี้กอดรัดนโยบายไทยรักไทยและรัฐธรรมนูญ40 ระบอบประชาธิปไตยมีลูกค้ากลุ่มใหม่มหาศาล กติกาประชาธิปไตยที่เคยมีมาก็ต้องปรับเปลี่ยน ทางหนึ่งคือต้องขยายพื้นที่ออกไปเพื่อรวมคนกลุ่มนี้เข้าในระบบ หรืออีกทางหนึ่ง คนที่กลัวความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กลัวสูญเสียสิทธิประโยชน์เดิมของตนเองก็พยายามหดพื้นที่ประชาธิไตยให้แคบลง กันคนหน้าใหม่ออกไปจากระบบ

“ทุกวันนี้ที่สู้กันอยู่ตรงนี้ เราจะกำหนดกติกาประชาธิปไตยรับคนหน้าใหม่เข้ามาหรือจะหดแคบแล้วกันพวกเขาออกไป”

ส่วนการนับแต้มในการต่อสู้กันนั้นนับที่ความชอบธรรม ฝ่ายไหนต่อสู้ชอบธรรมกว่าในสายตาของคนส่วนใหญ่และชาวโลก ฝ่ายนั้นได้เปรียบ ดังจะเห็นได้ว่า การชุมนุมของ กปปส.ขาดควมชอบธรรมทางการเมืองจึงได้หดลีบเรียวเล็กลง

สำหรับคำวินิจฉัยเรื่องการเลือกตั้งมีค่าความชอบธรรมทางการเมืองเป็นอย่างไร ในสายตาของชาวโลกและสังคม ความกังขาในความชอบธรรมนั้นเริ่มตั้งแต่สายตาของท่านที่มองว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่ามมองว่าการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการล้มล้างประชาธิปไตยได้อย่างไร

“กรณีนี้มันจะชอบธรรมได้อย่างไร ถ้าเสียงของคน 20 ล้าน บวกกับอีก 3 สู้เสียงของ 6 คนไม่ได้”

“ระบอบการเมืองที่เรามีมันต้องบกพร่องร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ ถึงได้ปล่อยให้ม็อบเสียงข้างน้อย และพรรคฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยที่บอยคอตการเลือกตั้ง สามารถสร้างเงื่อนไขให้คน 6 คนใช้อำนาจล้มเสียงของคน 20 ล้านคนได้ ระบอบนี้ป่วยแน่ๆ” 
ชมวิดีโอการอภิปรายโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ และพวงทอง ภวัตรพันธุ์

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยในครั้งนี้เป็นจิ๊กซอว์อันหนึ่งที่จะปูทางไปสู่นายกฯ คนกลาง นอกรัฐธรรมนูญและนอกวิถีทางประชาธิปไตย
นอกจากนี้เขายังอธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังของการการเลือกตั้ง ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ การเลือกตั้งไม่ใช่เพียงรูปแบบที่กลวงเปล่าแต่มีเนื้อหาที่สะท้อนหลักการสำคัญ 3 ประการคือ
หนึ่ง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ในโลกสมัยใหม่ คนยี่สิบคนจะตั้งนายกฯ ด้วยตัวเองไม่ได้ นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศ ทุกคนมีอำนาจเท่ากันหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง
สอง หลักการที่ว่ารัฐบาลต้องมาจากการแข่งขันทางการเมือง ต้องเสนอตัวให้ประชาชนเลือก มีการแข่งขัน ลอยจากฟ้ามาไม่ได้ นายกฯ ที่มาโดยไม่ผ่านการแข่งขันนำเสนอตัวให้ประชาชนเลือกก็ขัดวิถีทางประชาธิปไตย
สาม เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองและคัดสรรคนขึ้นสู่อำนาจ 
พวงทอง ภวัครพันธุ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเลวร้ายกว่าการรัฐประหารเสียอีก เพราะองค์กรอิสระเหล่านี้มาพร้อมรัฐธรรมนูญ2540 ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อให้ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ เพื่อจะจัดการความขัดแย้ง ยุติความขัดแย้ง แต่เมื่อคนในองค์กรเหล่านี้ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรเสียเองแล้ว มันหมายถึงประชาชนไม่มีทางออก ไม่มีทางออกในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี และทำให้น่าเป็นห่วงว่าสังคมไทยอาจตกอยู่ในหลุมแห่งความรุนแรง 
ชมวิดีโอช่วงแสดงความคิดเห็น และถาม-ตอบ



แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)

คัดค้านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ



กรณีที่วินิจฉัยโดยมุ่งหมายให้การเลือกตั้งทั่วไป ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

             ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๔๕ (๑) ว่า การจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และได้มีมติปรากฏตามคำแถลงของหัวหน้าโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไปแล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้ง ซึ่งไม่เคยมีการรับสมัครเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การจะดำเนินการเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นกัน เป็นผลให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง นั้น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ดังนี้

           ๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๔๕ (๑) กำหนดกฎเกณฑ์ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เมื่อเห็นว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ดังนั้นวัตถุแห่งคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีดุลพินิจที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้นั้นย่อมจะต้องเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” แต่สำหรับกรณีที่เป็นปัญหานี้เห็นได้ชัดว่าวัตถุแห่งคดี คือ “การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป” เมื่อวัตถุแห่งคดีไม่ใช่ “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” เสียแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินย่อมไม่อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิเสธไม่รับคำร้องไว้พิจารณา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๔๕ (๑) และเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยตนเองเปลี่ยนแปลงวัตถุแห่งคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑) ทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเช่นที่ว่ามานี้ได้
          ๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง บัญญัติว่า “การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร” ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรแล้วในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ คือวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ การกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว


         แต่ในคดีนี้ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญกลับนำเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังและไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปมาเป็นฐานในการพิจารณา กล่าวคือ นำเอากรณีที่ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ในเขตเลือกตั้ง ๒๘ เขตเลือกตั้ง มาอ้างว่าถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปในเขตเลือกตั้ง ๒๘ เขตเลือกตั้งในภายหลัง ก็จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ทั้งๆที่ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติบังคับว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เพราะย่อมเป็นไปได้เสมอที่อาจเกิดเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยขึ้นในบางหน่วยเลือกตั้งอันอาจทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งในวันเดียวกันได้ รัฐธรรมนูญเพียงแต่บัญญัติให้วันเลือกตั้งต้อง “กำหนด” เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งก็ได้มีการกำหนดไว้โดยชอบแล้ว

          ๓. นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเอากรณีที่ไม่อาจรับสมัครเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งบางเขตเลือกตั้งได้ เพราะมีผู้ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งมากล่าวอ้างให้มีผลว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหมายจะทำลายการเลือกตั้งในวันดังกล่าวลง นอกจากจะไม่มีเหตุผลในทางกฎหมายรองรับแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาการตีความคำวินิจฉัยต่อไปอีกด้วยว่าคะแนนเสียงของประชาชนที่ไปออกเสียงเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นั้น ถูกทำลายลงแล้วหรือไม่ โดยอำนาจของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือบทกฎหมายมาตราใด

           ๔. หากพิเคราะห์ในแง่ของการต่อสู้กันทางการเมืองแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าอุปสรรคของการเลือกตั้งในครั้งนี้มาจากการร่วมมือกันของกปปส.และบุคคลที่สนับสนุน กปปส.ทั้งในและนอกรัฐสภา ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยในอันที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้แสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ในการทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่เพื่อที่จะจัดการการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ฉะนั้น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงส่งผลหนุนเสริมปฏิบัติการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งให้บรรลุผลในทางปฏิบัติ เป็นการวินิจฉัยที่มองข้ามละเลยสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจและได้มาแสดงออกซึ่งอำนาจของตนตามกฎเกณฑ์กติกาที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่

            ๕. การร่วมมือกันขัดขวางระบอบประชาธิปไตยนี้จะดำเนินต่อไป เพื่อสร้างสุญญากาศทางการเมือง เปิดทางให้กับนายกฯและรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญเข้าสู่อำนาจ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันแก้ไขตัดต่อดัดแปลงรัฐธรรมนูญในทิศทางที่บั่นทอนประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งให้อ่อนแอลง สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยจึงขอประณามความพยายามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นอีกในเร็ววันนี้

             ๖. เห็นได้ชัดว่านับตั้งแต่การรัฐประหารปี ๒๕๔๙ จนถึงวันนี้ บรรดาองค์กรอิสระและอำนาจตุลาการได้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มพลังเสียงข้างน้อยในปฏิบัติการต่อต้านระบอบประชาธิปไตย เพียงเพื่อต้องการทำลายกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้ได้อย่างรวดเร็ว การปล่อยให้องค์กรอิสระและอำนาจตุลาการถูกบิดเบือนฉวยใช้ไปทำลายประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รังแต่จะทำให้ประเทศชาติจมปลักอยู่ในวังวนอับตันของความขัดแย้งรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องร่วมกันรณรงค์ให้มีการปฏิรูปองค์กรอิสระและอำนาจตุลาการ และสร้างกลไกถ่วงดุลตรวจสอบ และเพื่อให้กลไกสำคัญของบ้านเมืองเหล่านี้อยู่ใต้การกำกับขององค์กรตัวแทนอำนาจเสียงข้างมาก นี่เป็นภารกิจสำคัญที่ประชาชนจะต้องช่วยกันเดินหน้าผลักดันให้ถึงที่สุดต่อไป

          ๗. แนวทางการทำลายการเลือกตั้งได้ทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะรุนแรงที่ไร้ทางออกและความก้าวหน้ามาเกือบทศวรรษแล้ว และจะเป็นเช่นนั้นต่อไปจนกว่าทุกอำนาจทุกฝ่ายในสังคมไทยจะเคารพสิทธิที่เท่าเทียมในการเลือกตั้งของประชาชน สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยขอยืนยันว่าทางออกของสังคมไทยในเวลานี้มีแต่การยอมรับหลักการ “คนเท่ากัน” “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” “ความชอบธรรมของเสียงข้างมาก” และ“การเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเสียงข้างน้อย” เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่จำเป็น ขจัดกลไกส่วนที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก่อนที่กลไกเหล่านั้นจะทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่ไม่มากนักในเวลานี้ลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น