วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

'ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ' บทความจากนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อรัฐบาลทหารใช้นโยบายเพื่อไทย


ฟังดูเป็นเรื่องตลกร้ายทั้งที่ฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยอ้างเรื่องกำจัดระบอบทักษิณ แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลเผด็จการทหารก็นำ 'ทักษิโณมิกส์' มาใช้แบบย้อมสีใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศที่วิจารณ์และตรวจสอบอะไรไม่ได้ คงไม่ต้องพูดถึงว่าจะคอร์รัปชั่นกันได้มูมมามขนาดไหน
1 มิ.ย. 2557 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเว็บไซต์นิวแมนดาลาเผยแพร่บทความของ แอนเดอร์ส อิงวอลล์ นักวิจัยเรื่องเศรษฐกิจ ในชื่อเรื่อง "ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ" โดยสะท้อนให้เห็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยและยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดระบอบทักษิณเร็วขึ้นแทนที่จะทำให้ระบอบทักษิณหมดสิ้นไป
บทความในนิวแมนดาลาระบุว่า รัฐบาลเผด็จการทหารกำลังเดินการแบบเดียวกับนโยบายคู่ขนานของทักษิณในเรื่องของการพัฒนา โดยผสมผสานระหว่างเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบสากลกับแผนการประชานิยมภายในประเทศ รัฐบาลทหารฟื้นโครงการ 2 ล้านล้าน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการเร่งจ่ายเงินจำนำข้าว
บทความดังกล่าวระบุว่า พวกปากอย่างใจอย่าง (hypocrisy) ไม่ค่อยมีบรรทัดฐานอะไร กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมต.การคลังจากพรรคประชาธิปัตย์รีบออกมากล่าวชื่นชมเผด็จการทหารในเรื่องการจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนา ทั้งที่ช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการซึ่งดำเนินการภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาโดยตลอด
"คำขวัญหลักๆ (ของพรรคเพื่อไทย) ในการเลือกตั้งปี 2555 คือ 'ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ' และในตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลเผด็จการทหารพยายามทำมาใช้จนกลายเป็น 'ทักษิณคิด ประยุทธทำ' โดยอาศัยต้นแบบนโยบายเศรษฐกิจแบบเดียวกับพรรคการเมืองที่พวกเขาโค่นล้ม" อิงวอลล์ระบุในบทความ
บทความระบุอีกว่าเรื่องนโยบายเศรษฐกิจกลายเป็นประเด็นเล็กกว่าเมื่อเทียบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายหลังการรัฐประหาร เช่นการจับกุมผู้คนตามอำเภอใจ การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการระงับระบอบประชาธิปไตย แต่การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่กำลังเสื่อมโทรมจะส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์หลังรัฐประหารได้ แต่ความซับซ้อนของเศรษฐกิจก็ดูเกินความสามารถของผู้นำเผด็จการทหาร จึงมีตั้งทีมนโยบายซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยอดีตผู้อยู่ฝ่ายเดียวกับทักษิณ
"การที่เผด็จการทหารนำแนวทางทักษิโณมิกส์มาใช้ สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางนี้มีอิทธิพลมากในแวดวงการเมืองของไทย แนวทางคู่ขนานระหว่างเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่ดึงดูดทุนจากต่างชาติกับโครงการประชานิยมที่ดึงดูดแรงสนับสนุนภายในประเทศ เป็นแนวทางนโยบายที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการการสนับสนุนทั้งจากศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างในกรุงเทพและกลุ่มเสียงส่วนใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้งในชนบท" อิงวอลล์ระบุในบทความ
"ระบอบทักษิโณมิกส์จะยังคงถูกชูเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากทำให้พรรคการเมืองของทักษิณเอาชนะการเลือกตั้งได้หลายครั้งก่อนหน้านี้ อีกอย่างหนึ่งเมืองไทยก็ยังไม่มีแนวทางที่เป็นทางเลือกอื่น" อิงวอลล์ระบุในบทความ
บทความในนิวแมนดาลาระบุอีกว่าเผด็จการทหารยังคงต้องเจอกับงานเศรษฐกิจที่ยากลำบากเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ปี เมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่จะทดสอบรัฐบาลทหาร การงดให้ความช่วยเหลือแก่ชาวนาจะทำให้รัฐบาลทหารขาดเสียงสนับสนุน ทำให้พวกเขาต้องดำเนินการนโยบายประชานิยมต่อไปด้วยชื่อใหม่ ซึ่งคล้ายกับการที่รัฐบาลทหารยุครัฐประหาร 2549 กับรัฐบาลบาลอภิสิทธิ์เคยนำนโยบายของทักษิณมาใช้โดย "เปลี่ยนชื่อยี่ห้อ"
แม้ว่าจะเป็นนโยบายเดิมแต่บทความของอิงวอลล์ก็วิจารณ์ว่าภายใต้รัฐบาลทหารทำให้กระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลหายไป เปิดช่องว่างให้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมาก ซึ่งการฟื้นโครงการ 2 ล้านล้านบาท และการตั้งเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงเป็นประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจรวมถึงการเพิ่มงบประมาณกองทัพ เป็นหลักประกันได้ว่าผู้นำเผด็จการทหารไม่เพียงแค่ยึดครองอำนาจทางการเมือง แต่ยังขโมยความมั่งคั่งของประเทศไทยไปอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น