3 มิ.ย.2557 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนอีกครั้ง เรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแสดงความห่วงใยในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการและการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศไทย โดยการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2557
แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า การควบคุมตัวโดยพลการและจำกัดสิทธิยังคงเกิดขึ้นกว้างขวางทั่วประเทศไทย หลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ส่วนผู้ได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการเดินทาง นอกจากนั้นยังเริ่มกระบวนการสั่งฟ้องคดีพลเรือนต่อศาลทหารอีกด้วย
แอสเนสตี้ฯ ระบุด้วยว่า ประกาศล่าสุดที่สั่งให้บุคคล 38 คนต้องรายงานตัวในวันที่ 2 และ 3 มิถุนายน ผู้ที่ต้องมารายงานตัวจะถูกควบคุมตัว และกระจายไปอยู่ตามค่ายทหาร ในบางกรณีถูกควบคุมตัวโดยตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่สามารถเข้าถึงทนายความ ศาล ญาติ หรือแพทย์ รวมถึงการควบคุมตัวผู้ประท้วงอย่างสงบ ส่วนผู้ที่ถูกปล่อยตัวจะถูกจำกัดสิทธิ โดยต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่เดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนอาจมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีและ/หรือโทษปรับ
นอกจากนี้แอสเนสตี้ฯ ยังคัดค้านการที่ คสช.ประกาศให้นำตัวพลเรือนเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาความมั่นคงแห่งชาติและความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการชุมนุมหรือการไม่มารายงานตัว เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสิทธิในการอุทธรณ์คดี โดยยกตัวอย่างกรณีของนายประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ดอีต สส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกแจ้งข้อหาความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ก่อนการประกาศยึดอำนาจ และกรณีของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่จะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร ถูกข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงมาตรา 116 (2) ของประมวลกฎหมายอาญา จากการประกาศต่อต้านการรัฐประหารอย่างสงบซึ่งไม่ได้รับการประกันตัว
ในจดหมายที่แอมเนสตี้ฯ รณรงค์ให้สมาชิกทั่วโลกที่ส่งถึงหัวหน้า คสช. มีข้อเรียกร้องดังนี้
- เรียกร้องทางการไม่ให้จับกุม หรือควบคุมตัวบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมหรือการสมาคมอย่างสงบ รวมทั้งการเป็นสมาชิกของกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสาเหตุเหล่านั้น ต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
- เรียกร้องให้กองทัพตั้งข้อหาอาญาตามกฎหมายต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทุกคน และให้ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนโดยศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ หรือไม่เช่นนั้นต้องปล่อยตัว
- เรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความ ขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระโดยทันที เพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการจับกุม และเพื่อแจ้งให้ครอบครัวทราบ และให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น
- เรียกร้องทางการให้ประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและรายชื่อสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ
- เรียกร้องไม่ให้กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ได้รับการปล่อยตัวทุกคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น