วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สงครามชนชั้น: รัฐประหารของกองทัพไทย


 (Photo: Pittaya Sroilong / Flickr)
บทความนี้เป็นการเผยแพร่ร่วมกันระหว่าง Foreign Policy In Focus และ TheNation.com
กองทัพไทยนำเสนอภาพการยึดอำนาจของตนว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างระเบียบให้ประเทศ หลังจากการประชุมระหว่างสองฟากฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ทางการเมืองกันไม่สามารถบรรลุข้อประนีประนอมที่จะเอื้อให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ทำงานได้
บทที่เขียนและกำกับอย่างแนบเนียน
โครงเรื่องข้างต้นของกองทัพกลับมีคนคล้อยตามไม่มากนัก  อันที่จริง นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าการรัฐประหารของกองทัพเป็นแค่ การปลิดชีพ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศไทยที่ใกล้จะตายมิตายแหล่หลังจากเจอการรัฐประหารโดยฝ่ายตุลาการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม
มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่มองว่าการรัฐประหารเป็นแค่ดาบสุดท้ายในบทที่เขียนและกำกับอย่างแนบเนียนโดยฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม “โหนเจ้า” ที่พยายามล้มล้างสิทธิในการปกครองประเทศของกลุ่มการเมืองฝ่ายประชานิยมที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544  การใช้วาทกรรมต่อต้านการคอร์รัปชั่นมาโหมกระพือให้ชนชั้นกลางออกมาประท้วงเป็นจำนวนมาก  นับตั้งแต่เริ่มต้น แกนนำในแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างความไร้เสถียรภาพเพื่อกระตุ้นให้กองทัพก้าวเข้ามาใช้กำลังเพื่อจัดระเบียบการเมืองใหม่
ตามแนวคิดของ Marc Saxer นักวิเคราะห์ที่นิยาม “ความโกรธแค้นของชนชั้นกลาง” ว่าเป็นท่อนซุงที่ใช้กระทุ้งให้ประตูเปิด  แนวร่วมต่าง ๆ ในหมู่ชนชั้นนำบีบรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนต้องประกาศยุบสภาในเดือนธันวาคม ขัดขวางการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้ศาลรัฐธรรมนูญอนุรักษ์นิยมตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมด้วยข้อหา “ใช้อำนาจโดยมิชอบ” ทั้งที่ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือแม้แต่น้อย  การประท้วงของมวลมหาประชาชนก็บรรเลงสอดรับกับการรุกคืบของศาลเพื่อแผ้วทางให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจ
กองทัพกล่าวว่าจะแต่งตั้ง “สภาปฏิรูป” และ “สมัชชาแห่งชาติ” มาวางพื้นฐานด้านสถาบันให้แก่รัฐบาลชุดใหม่  แผนการนี้คล้ายคลึงอย่างยิ่งกับแผนการที่สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วงประกาศไว้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งต้องการให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาปฏิรูปที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและตรวจสอบไม่ได้เป็นเวลาหนึ่งปี
การรัฐประหารของกองทัพได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากฐานผู้สนับสนุนชนชั้นกลางของสุเทพ  อันที่จริง การสนับสนุนของชนชั้นกลางนั่นแหละที่ช่วยสร้างม่านอำพรางให้หมากตาต่าง ๆ ที่คำนวณมาอย่างดีของฝ่ายชนชั้นนำทางการเมือง  กลุ่มคนจำนวนมากที่เป็นแกนหลักของการประท้วงตามท้องถนนกำลังคาดหวังจะได้เห็นการร่างระเบียบใหม่ของชนชั้นนำที่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมทางการเมืองกลายเป็นสถาบันที่เอื้อประโยชน์ต่อกรุงเทพฯและชนชั้นกลางในเมืองของประเทศนี้
ชนชั้นกลางไทย: จากพระเอกกลายเป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย
นักสังคมวิทยาชื่อ Seymour Martin Lipset เคยยกย่องชนชั้นกลางเป็นพระเอกของระบอบประชาธิปไตย แต่ในระยะหลัง ชนชั้นกลางชาวไทยกลับแปลงร่างกลายพันธุ์เป็นผู้สนับสนุนแผนการของชนชั้นนำที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย  ชนชั้นกลางไทยวันนี้ไม่ใช่ชนชั้นกลางฝ่ายประชาธิปไตยที่เคยโค่นล้มระบอบเผด็จการของนายพลสุจินดา คราประยูรเมื่อ พ.ศ. 2535 อีกแล้ว เกิดอะไรขึ้น?
บทวิเคราะห์ที่ช่วยให้ความกระจ่างต่อการแปลงร่างครั้งนี้เป็นบทวิเคราะห์ของ Marc Saxer ที่ควรค่าต่อการคัดอ้างมาเต็ม ๆ[1]:
ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯเคยเรียกร้องรัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องสิทธิทางการเมืองเพื่อคุ้มครองตัวเองจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของชนชั้นนำ  อย่างไรก็ตาม เมื่อระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นสถาบันแล้ว พวกเขากลับพบว่าตัวเองเป็นแค่เสียงข้างน้อยในเชิงโครงสร้าง เสียงส่วนใหญ่ที่อยู่รอบนอกสามารถชนะการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดายทุกครั้งภายใต้การจัดการของนักเลือกตั้งที่คร่ำหวอด  เนื่องจากชนชั้นกลางในพื้นที่ศูนย์กลางไม่เคยรับรู้ถึงการก่อตัวของชนชั้นกลางในชนบทที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมในชีวิตสังคมและการเมืองอย่างเต็มตัว พวกเขาจึงตีความเสียงเรียกร้องสิทธิและสาธารณประโยชน์ที่เท่าเทียมว่าเป็นแค่ “คนจนเริ่มโลภมาก”....[การ]ปกครองด้วยเสียงข้างมากถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การล้มละลายทางการเงินในท้ายที่สุด
Saxer วิเคราะห์ต่อไปว่า จากมุมมองของชนชั้นกลาง ระบบเสียงข้างมาก
ละเลยพื้นฐานทางการเมืองของสัญญาประชาคม กล่าวคือ การประนีประนอมทางสังคมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย  ไม่เคยมีการเซ็นสัญญาประชาคมที่ผูกมัดให้ชนชั้นกลางต้องแบกรับภาระภาษีเพื่อแลกกับบริการสาธารณะที่เท่าเทียม ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและความสงบสุขของสังคม  นี่คือเหตุผลที่ชนชั้นกลางรู้สึกเหมือนตัวเอง “ถูกปล้น” โดยนักการเมืองที่ฉ้อฉล ซึ่งใช้รายได้จากภาษีของพวกเขา “ซื้อเสียง” จาก “คนจนโลภมาก” หรือหากจะใช้ภาษาที่ซับซ้อนกว่านั้นก็คือ “มวลชนไร้การศึกษาในชนบทตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองที่สัญญาจะให้สารพัดอย่างเพื่อได้ขึ้นครองอำนาจ”
Saxer สรุปว่า ด้วยเหตุนี้เอง จากทัศนะของชนชั้นกลางในเมือง
บรรดานโยบายที่ตอบสนองฐานเสียงในท้องถิ่นจึงเป็นแค่ “ประชานิยม” หรือ “การซื้อเสียง” อีกรูปแบบหนึ่งของนักการเมืองกระหายอำนาจ  ในการตัดสินชี้ขาดครั้งสำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญไทยจึงเปรียบเทียบหลักการเลือกตั้งว่าเป็นการคอร์รัปชั่น  ผลที่ตามมาก็คือ มีหลายครั้งหลายคราวที่พันธมิตร “เสื้อเหลือง” ของชนชั้นนำศักดินาประสานเสียงกับชนชั้นกลางกรุงเทพเรียกร้องให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ “คนจนไร้การศึกษา” หรือแม้กระทั่งงดเว้นระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเสียเลย
ความใฝ่ฝันอันเหลือเชื่อ
อย่างไรก็ตาม พันธมิตรชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางกำลังหลอกตัวเอง หากคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความเป็นสถาบันให้การปกครองด้วยเสียงข้างน้อยเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นแค่ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ โดยที่ชนชั้นล่างจำนวนมหาศาลได้แต่มองดูตาปริบ ๆ หรือเป็นแค่สาวกเชื่องเชื่อของกลุ่มก๊กชนชั้นนำที่แก่งแย่งชิงดีกัน
หากจะยืมคำของเหมาเจ๋อตง สิ่งที่เป็นพลังขับเคลื่อนการเมืองไทยในตอนนี้คือความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีลักษณะเฉพาะแบบไทย  บุคคลสำคัญที่เปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์การเมืองไทยคือทักษิณ ชินวัตร อภิมหาเศรษฐีผู้มีบารมีแต่ฉ้อฉล เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการผสมผสานแนวทางประชานิยม การอุปถัมภ์และการใช้จ่ายเงินอย่างชำนิชำนาญเพื่อรวบรวมคะแนนเสียงเลือกตั้งข้างมากเข้ามาเป็นกลุ่มก้อน  สำหรับทักษิณ เป้าหมายของการสร้างแนวร่วมนี้อาจเพื่อไล่ต้อนหรือเข้าไปผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ แต่สำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมที่เขาปลุกให้ตื่นขึ้นมานั้น เป้าหมายคือการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจจากชนชั้นนำลงไปสู่มวลชน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การเรียกร้องศักดิ์ศรีให้แก่ประชาชนที่เคยถูกดูแคลนเป็น “ไอ้บ้านนอกคอกนา” หรือ “ควาย”  ถึงแม้ขบวนการ “เสื้อแดง” ของทักษิณอาจถูกเยาะหยันว่าเป็นแค่การจับมือกันระหว่างนักการเมืองฉ้อฉลกับ “คนจนโลภมาก” แต่มันก็กลายเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพลเมืองเต็มตัวของชนชั้นที่ถูกกีดกันชายขอบของประเทศไทย
พันธมิตรชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางกำลังฝันไป หากคิดว่าคนเสื้อแดงจะหลีกทางและปล่อยให้พวกเขากำหนดเงื่อนไขการสยบยอมตามอำเภอใจ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการทำให้การสยบยอมนี้กลายเป็นสถาบันในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  แต่ ณ ขณะนี้ คนเสื้อแดงเองก็ไม่มีอำนาจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงดุลการเมืองในระยะสั้นและระยะยาว  บัดนี้ถึงคราวที่คนเสื้อแดงต้องหันมาต่อสู้ด้วยวิธีการพลเมืองขัดขืนบ้าง
นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มีรายงานว่าประชาชนราว 150 คนถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง รวมทั้งประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวชื่อดังของหนังสือพิมพ์ Nation เขามีชื่อเสียงจากการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กรุยทางให้กองทัพเข้ามาแทรกแซง
แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นก็คือ การประท้วงของคนเสื้อแดงทั้งด้วยความรุนแรงและไม่รุนแรงจะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งอันขมขื่นและยืดเยื้อที่ใกล้เคียงกับสงครามกลางเมือง พื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่นในต่างจังหวัดของพรรคเพื่อไทย กล่าวคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของภาคกลาง จะกลายเป็นพื้นที่ที่จักรวรรดิกรุงเทพฯ ปกครองยากขึ้น ๆ  มันเป็นฉากจบอันน่าเศร้าของประเทศที่เคยเป็นความหวังในอุษาคเนย์ ด้วยน้ำมือฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยที่ไม่ไยดีการประนีประนอมทางการเมืองใด ๆ เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น