วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คสช. ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป




5 มิ.ย. 2557  ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงถึงขอบเขตการทำหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปที่ คสช.ตั้งขึ้น ว่ามีลักษณะทำงาน 2 ส่วนคือในส่วนของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปที่จะจัดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดำเนินการโดยฝ่ายปกครองและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเบื้องต้นจะเน้นเรื่องการจัดกิจกรรม มีการแสดงดนตรี ตรวจสุขภาพ จัดเวทีพบปะในระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด
ขณะที่อีกส่วนเป็นในเรื่องของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป โดยในระยะแรก คสช.จะอยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนเปิดพื้นที่หรือเวทีให้แต่ละภาคส่วนได้พบปะพูดคุยกัน และจัดระเบียบความรู้สึกของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ คสช.จะเป็นเพียงผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด โดยไม่มีการประมวลผลหรือสรุป แต่จะนำข้อมูลส่งต่อให้สภาปฏิรูป ซึ่งอยู่ในการปฏิบัติระยะที่ 2
ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยถึงการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งให้ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) มีคณะทำงานส่วนกลางและภูมิภาคในกองทัพภาคที่ 1-4
พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติมี 3 ขั้นคือ ขั้นที่ 1 เป็นการเตรียมความพร้อม โดยศูนย์ฯ จะเชิญผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้องจัดตั้งเป็นคณะทำงาน เพื่อร่วมหารือกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 1-4 จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลแผนการปฏิบัติเพื่อดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบ ขั้นที่ 2 เป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย จะดำเนินการในเดือนมิถุนายน
พ.อ.บรรพต กล่าวอีกว่า คณะทำงานส่วนกลางจะรวบรวมความเห็นจัดทำเป็นกรอบแนวทางดำเนินการของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กอ.รมน.ภาค 1-4 พร้อมรวบรวมความเห็นจากระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค เสนอให้ ศปป. ทราบ และขั้นที่ 3 จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับมาประมวลผล แล้วนำเสนอแนวทางการปฏิบัติประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป
พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งให้ทุกจังหวัดจัดตั้ง ศปป.กอ.รมน.จังหวัด รองรับการทำงาน ให้สอดคล้องกับการทำงานของศูนย์ฯ แล้ว ศปป. จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้มาช่วยกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ให้สังคมไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง บริหารความขัดแย้งอย่างเท่าเทียม และเป็นระบบตามกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน โดยไม่ผูกพันเงื่อนไขที่เกิดก่อน 22 พฤษภาคม 2557
“หัวหน้า คสช. ต้องการคืนความสุขให้กับคนในชาติ สลายความขัดแย้งในสังคม สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ยึดถือสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขปลอดภัยของประชาชน ให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหา เดินหน้าประเทศไทย ภายใต้การมีส่วนร่วมในการปฏิรูป และนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” พ.อ.บรรพต กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น