Robert Dayley เขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพไทยกลับมาดำรงสถานะผู้นำในการปั้นแต่งโครงสร้างการปกครองของประเทศนี้อีกครั้ง ความหวังที่จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรังในประเทศไทยภายในกรอบรัฐธรรมนูญมีอันต้องมอดมลายไป เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศว่า เขายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและระงับการใช้รัฐธรรมนูญ
ในการปราศรัยทางโทรทัศน์หลังจากรัฐประหารหนึ่งสัปดาห์ พลเอกประยุทธ์สัญญากับประชาชนไทยว่า “การเลือกตั้งทั่วไป” จะเกิดขึ้นแน่นอนหลังจากการปฏิรูปเป็นเวลาหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น ขณะที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง ประยุทธ์ประกาศด้วยว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงจะอยู่ “ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย”
ดังนั้น “การปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง” จึงดูเหมือนเป็น fait accompli (เรื่องที่ได้ข้อยุติแล้ว เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับโดยดุษณี—ผู้แปล) อย่างน้อยที่สุดก็ตราบเท่าที่กองทัพและการคุกคามบังคับของกองทัพยังคงอยู่ในฐานะเครื่องมือควบคุมทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ระบอบของการกดขี่บังคับให้เงียบเสียงปกครองประเทศนี้แล้ว และแม้ว่าจะมีกระแสอื้ออึงและพูดถึงความเป็นไปได้ แต่ “สงครามกลางเมือง” ไม่น่าเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะมีแค่ฝ่ายเดียวเท่านั้นที่มีอาวุธเต็มอัตราศึก บทเรียนของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 ยังสะท้อนสะเทือนต่อฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร หนังสะติ๊กกับระเบิดขวดเป็นเดิมพันที่เสี่ยงเกินไปในการต่อสู้กับกระสุนปืนของกองทัพสมัยใหม่ มีเพียงแค่ความแตกแยกที่คาดไม่ถึงและรุนแรงภายในกองทัพเองเท่านั้นที่อาจทำให้เกิดสงครามกลางเมืองได้ในจุดนี้
ขอละไว้ไม่เอ่ยถึงคำถามมากมายว่ากองทัพจะปกครองประเทศนี้และดำเนินนโยบายอย่างไรในระหว่างที่ครองอำนาจ เพียงแค่คำมั่นสัญญาที่เน้นหนักเป้าหมายของพลเอกประยุทธ์ก็สร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่ออนาคตของรัฐบาลพลเรือนและการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้าของไทยจะมีขึ้นหลังจากการปฏิรูปการเมือง นี่จึงเป็นเวลาอันสมควรที่เราพึงตั้งคำถามบางประการเกี่ยวกับการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น
คำถามเจ็ดข้อต่อไปนี้เป็นคำถามต่อคณะผู้นำการรัฐประหารของประเทศไทย ผู้เขียนตั้งคำถามด้วยน้ำเสียงสุภาพ ปราศจากการเสียดสีหรือยอกย้อน แต่ละคำถามตามด้วยข้อคิดเห็นโดยสังเขปเพื่ออธิบายว่าทำไมคำถามนั้น ๆ จึงเป็นเรื่องที่ควรวิตกกังวล คำถามและข้อคิดเห็นเหล่านี้นำเสนอโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของรัฐบาลพลเรือนในอดีตของประเทศไทย และตั้งอยู่ในบริบทของเงื่อนไขพื้นฐานหลายประการของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง
ชาวไทยและรวมทั้งสมาชิกชุมชนนานาชาติต้องเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยรับผิดชอบต่อตารางเวลาที่ตัวเองประกาศออกมา รวมถึงเป้าหมายการปฏิรูปที่อ้างว่าจะฟื้นฟู “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์” แก่ประเทศนี้ ในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ คำตอบต่อแต่ละคำถามจะเผยออกมาโดยดูได้จากการวางแผน ชี้นำและกระทำการของผู้นำอำนาจนิยมชุดใหม่ของประเทศไทย ผู้เขียนตั้งใจจะย้อนกลับมาดูคำถามเหล่านี้อีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 กล่าวคือครบรอบหนึ่งปีหลังจากพลเอกประยุทธ์ให้คำสัญญาต่อสาธารณชนว่าจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่และฟื้นระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประเทศไทย
คำถามที่ 1. ท่านวางแผนจะร่างและสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ของประเทศไทยอย่างไร?
ประเทศไทยฉีกรัฐธรรมนูญมาสิบแปดฉบับแล้ว เมื่อคำนึงถึงความล้มเหลวที่ผ่านมา พลเมืองชาวไทยหรือชุมชนนานาชาติจะมั่นใจได้แค่ไหนว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 จะเอื้ออำนวยให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและมีเสถียรภาพ? หากมุ่งหวังให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประสบความสำเร็จและยืนนาน ก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญและนำมาใช้อย่างชอบธรรม หากพิจารณาดูอดีตระยะใกล้ ดูเหมือนมีโมเดลพื้นฐานสองแบบในการพยายามสร้างความชอบธรรม กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2557 จะเดินตามโมเดลไหน? หรือกระบวนการจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง?
โมเดลแรกคือกระบวนการที่เปิดกว้างและประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเคยใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญและได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน นั่นคือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” พ.ศ. 2540 ซึ่งจัดเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย กระบวนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชวน บรรหารและชวลิต รวมทั้งผู้มีอิทธิพลอย่าง ดร.ประเวศ วะสี กระบวนการครั้งนั้นก่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ใน พ.ศ. 2540 ซึ่งมีการปรึกษาหารือและร่างรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
สมาชิก 99 คนของ ส.ส.ร. ประกอบด้วยตัวแทน 76 คนที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยรัฐสภาเป็นผู้คัดเลือกจากรายชื่อผู้สมัครที่แต่ละจังหวัดเสนอขึ้นมา ดังนั้น แต่ละจังหวัดจึงมีตัวแทนหนึ่งคน สมาชิก ส.ส.ร. อีก 23 คน ก็รัฐสภาอีกเช่นกันที่คัดเลือกจากรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานราชการเสนอขึ้นมา ในระหว่างเก้าเดือนของการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ส.ส.ร.เชิญชวนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเปิดรับข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม ในที่สุด “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็ผ่านรัฐสภาโดยได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 578 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง ซึ่งถือเป็นชัยชนะท่วมท้นสืบเนื่องจากกระบวนการร่างที่เปิดกว้าง รับฟังและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
อีกโมเดลหนึ่งของการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งใช้ครั้งล่าสุดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเนื่องจากการยกเลิก “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่เคยได้รับการชื่นชมเมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 กันยายน 2549 กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ชี้นำโดยกองทัพและมีการเปิดกว้างน้อยกว่าโมเดลที่ประชาชนเคยมีส่วนร่วมในฉบับ 2540 มาก รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างขึ้นมาอย่างรีบร้อนโดยกลุ่มบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลที่คณะรัฐประหารหนุนหลัง รัฐธรรมนูญ 2550 พยายามอย่างมากที่จะแสวงหาความชอบธรรมและผ่านการลงประชามติระดับชาติอย่างฉิวเฉียด ทั้งที่อยู่ภายใต้การข่มขู่อย่างหนักว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน กองทัพจะปกครองประเทศต่อไป
การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 คงเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินตามโมเดลของรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจากไม่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งคอยตรวจสอบ เลือกตั้งหรือให้ความชอบธรรมต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ กระนั้นก็ตาม ณ จุดนี้ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” หากกฎหมายพื้นฐานยังถูกร่างขึ้นมาโดยกลุ่มบุคคลที่กองทัพแต่งตั้งแต่ฝ่ายเดียว กระบวนการที่เปิดกว้างและมีส่วนร่วมมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
คำถามที่ 2. ในทัศนะของท่าน สัดส่วนของเก้าอี้ที่มาจากการแต่งตั้งกับมาจากการเลือกตั้งในรัฐสภาครั้งหน้าของไทยควรอยู่ที่ร้อยละเท่าไร
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีหลายข้อเสนอที่กลุ่มต่อต้านทักษิณโยนหินถามทาง โดยชี้แนะให้ประเทศไทยออกแบบสภานิติบัญญัติใหม่โดยมีเก้าอี้ที่มาจากการเลือกตั้งน้อยลง บางข้อเสนอสนับสนุนให้มีรัฐสภาที่จำนวนเก้าอี้ที่มาจากการแต่งตั้งมากกว่าจำนวนเก้าอี้ที่มาจากการเลือกตั้งในสภาล่าง กลุ่มที่เป็นกระบอกเสียงบางกลุ่มถึงขนาดเสนอให้มีสมัชชาแห่งชาติที่สัดส่วนแต่งตั้งกับเลือกตั้งอยู่ที่ 70:30 ตามลำดับ ในเมื่อระบบแบบนี้ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย กองทัพตั้งใจจะจัดการอย่างไรกับความปรารถนาที่ขัดกันระหว่างคนไทยเสียงข้างน้อยที่อยากได้สภานิติบัญญัติแบบแต่งตั้งที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยกับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเสียงข้างมากที่คาดหวัง (อย่างน้อยที่สุด) ว่าสภาผู้แทนราษฎรของไทยควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด?
ถ้ามองหาความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ประวัติศาสตร์ไทยก่อนการรัฐประหารย้อนไปถึงยุคทศวรรษ 1970 ก็มีบางช่วงที่พรรคการเมืองถูกสั่งห้ามและนายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ พลเมืองไทยควรวิตกหรือไม่ที่แนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้อาจย้อนรอยกลับมาอีกครั้ง? พรรคการเมืองจะได้แข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อเก้าอี้ในสภานิติบัญญัติในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่? นายกรัฐมนตรีของไทยจะมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากในรัฐสภาหรือเปล่า? การปฏิรูปการเมืองจะสวนทางกับหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงหรือไม่?
คำถามที่ 3. ท่านนิยามประชาธิปไตยอย่างไร?
จากผลงานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางของ Robert Dahl นักวิชาการชาวอเมริกัน นักรัฐศาสตร์ชี้ให้เห็นความแตกต่างมานานแล้วระหว่าง “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” (procedural democracy) กับ “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” (substantive democracy) คำถามก็คือ การปฏิรูประบบการเมืองของไทยมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงระบอบประชาธิปไตยแบบไหน? หากมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงทั้งสองแบบก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม กระนั้นก็ตาม มีระบอบประชาธิปไตยแบบเดียวเท่านั้นที่เราบรรลุถึงได้จริง นั่นคือ “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ”
“ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” กอปรด้วยกระบวนการขั้นต่ำสุดชุดหนึ่งที่เชื่อมโยงกับแนวทางปฏิบัติแบบประชาธิปไตย นั่นคือ รัฐบาลที่มาจากตัวแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม พลเมืองมีเสรีภาพเต็มที่ ซึ่งหมายถึงเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการรวมตัวทางการเมือง สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสังคมโดยปราศจากความกลัวว่ารัฐจะเข้ามาแทรกแซงห้ามปราม
ในทางตรงกันข้าม “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” นิยามจากผลลัพธ์ที่ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยทั้งหมด ทั้งในด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ บางครั้งก็เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยในอุดมคติ” ไม่มีระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ในประเทศใดจนถึงทุกวันนี้ที่สามารถบรรลุ “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” ได้อย่างสมบูรณ์ ระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งในโลกล้วนเป็น “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” ทั้งสิ้น (ลองคิดดูว่า ท่านสามารถหยิบยกระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จในประเทศไหนสักประเทศหนึ่งที่กระบวนการประชาธิปไตยรับประกันความเท่าเทียมของผลลัพธ์ได้บ้างไหม?) ระบอบ “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” ที่ยาวนานมักนำพาสังคมเข้าใกล้ “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” มากขึ้น แต่ประชาธิปไตยทั้งสองแบบนี้ก็ยังแตกต่างจากกันอยู่ดีและมีแต่แบบแรกเท่านั้นที่สามารถบรรลุถึงได้ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีระบอบกองทัพธิปไตย (praetorianism
[1]) หรือต่อให้ “ปฏิรูปการเมือง” ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีวันจบสิ้น ก็ไม่มีทางนำมาซึ่ง “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์” ในประเทศไทยหรือประเทศไหนในโลก อีกทั้งการใช้กำลังขู่เข็ญบังคับและการคาดหวังถึงระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบในอุดมคติล้วนแต่บ่อนเซาะทำลายความแข็งแกร่งของ “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ”
ดังนั้น ความพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองในประเทศไทยโดยกำหนดให้ “ประชาธิปไตยโดยเนื้อหา” เป็นมาตรวัดความสำเร็จ นั่นย่อมประสบความล้มเหลวแน่นอน สังคมประชาธิปไตยยอมรับผลลัพธ์ของ “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” ผลลัพธ์เหล่านี้อาจไม่เท่าเทียมหรือเป็นธรรมเสมอไปและย่อมมีผู้ชนะกับผู้แพ้เสมอ แต่ผลลัพธ์ใน “ประชาธิปไตยโดยกระบวนการ” มีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน เพราะประชาชนสามารถแสวงหาหนทางแก้ไขความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมโดยอาศัยสถาบันอิสระ ฝ่ายปกครองที่มาจากการเลือกตั้งและศาลที่ไม่ลำเอียง
ด้วยเหตุนี้ ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อจัดการความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสันติ ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดมาจากความไม่เท่าเทียมที่ดำรงอยู่คู่กับสังคมขนาดใหญ่และการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบอบนี้ต้องการผู้ชนะที่ดี ผู้แพ้ที่ดีและกรรมการที่เที่ยงตรง ซึ่งทุกฝ่ายยินดีปฏิบัติตามกฎกติกาอันชอบด้วยกฎหมาย
คำถามที่ 4. ประเทศไทยควรใช้ “หลักนิติวิธี” (rule by law) หรือ “หลักนิติธรรม” (rule of law)
“หลักนิติธรรม” ย่อมไม่เกิดขึ้นในสังคมตราบจนปัจเจกบุคคลทุกคน กลุ่มทุกกลุ่มและสถาบันทุกสถาบันอยู่ภายใต้เงื่อนไขบังคับและข้อจำกัดของกฎหมายพื้นฐานเหมือนกันหมด ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็น “หลักนิติธรรม” เพราะไม่มีผู้เล่นหนึ่งใดได้รับสิทธิอำนาจนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ สังคมที่ปกครองด้วย “หลักนิติธรรม” ย่อมแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญ ๆ ตามกรอบรัฐธรรมนูญทุกครั้งไป
ในทางตรงกันข้าม “หลักนิติวิธี” เกิดขึ้นเมื่อผู้นำบางคนบางกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่แต่งตั้งตัวเองขึ้นมา สร้างสิทธิอำนาจให้แก่ตัวเองด้วยการออกกฎหมายโดยประกาศคำสั่งหรือบัญชาให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำตัวเป็นอ้อลู่ลมทำตามที่ได้รับบัญชามา การที่ประเทศไทยมักระงับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญบ่อยๆ มีการยกร่างและแก้ไขร่างกฎหมายพื้นฐานของประเทศอยู่เสมอ รวมทั้งการที่ผู้แพ้เลือกตั้งและผู้แพ้ด้านนโยบายไม่ยอมใช้ยุทธศาสตร์การแก้ไขภายในกรอบรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ ทำให้สังคมไทยใช้ “หลักนิติวิธี” มากกว่า “หลักนิติธรรม” นอกจากนี้ยังมีการใช้ “หลักนิติวิธี” ในรูปแบบอำพรางที่สร้างความเสียหายร้ายแรง โดยผู้เล่นที่มีอิทธิพลมักใช้ “หลักนิติวิธี” เชิงยุทธศาสตร์หลายครั้งเพื่อขัดขวางมิให้ “หลักนิติธรรม” มาควบคุมจำกัดผลประโยชน์ของตน
คำถามที่ 5. ท่านจะเชิญผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศมาติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งหน้าหรือไม่?
ข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดกติกาการหาเสียงและทุจริตการเลือกตั้งได้สร้างปัญหาให้การเลือกตั้งในประเทศไทยมานาน อย่างไรก็ตาม ระบบในปัจจุบันที่ให้ศาลสั่งยุบพรรคการเมือง ถอดถอนนักการเมืองและคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลายครั้งก็เกิดขึ้นหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปตั้งนานแล้ว มันเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ ยิ่งกว่านั้น มันกลับทำให้สถาบันตุลาการเข้ามาพัวพันกับการเมืองและซ้ำเติมการแบ่งแยกแตกขั้วในสังคมไทยยิ่งกว่าเดิม มันขัดขวางการทำงานของรัฐสภา สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้ลงคะแนนเสียงและก่อให้เกิดการบูชายัญทางการเมือง พรรคการเมืองที่ถูกศาลสั่งยุบพรรคก็แค่รวมตัวกันตั้งพรรคในชื่อใหม่และนักการเมืองที่ถูกบังคับให้ถอนตัวหรือถูกสั่งห้ามเล่นการเมืองก็ยังคงมีอิทธิพลหลังฉากคอยชักใยเครือข่ายทางการเมืองของตนอยู่ดี
วิธีการหนึ่งที่อาจเพิ่มความเชื่อมั่นในกระบวนการเลือกตั้งและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งก็คือ เชิญผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศที่เป็นกลางมาตรวจสอบการหาเสียงและการลงคะแนน แน่นอน ชุมชนนานาชาติมีประวัติยาวนานในการช่วยเหลือหลายประเทศที่พยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่ผลลัพธ์การเลือกตั้ง เพื่อเป็นหลักประกันให้ผลลัพธ์นั้นมีความน่าเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย เมื่อคำนึงถึงข้อกล่าวหาซ้ำ ๆ ไม่สิ้นสุดที่อ้างว่ามีการทุจริตเลือกตั้งและผลพวงยาวเหยียดที่ตามมาจากข้อกล่าวหาเหล่านี้ การยินยอมให้การเลือกตั้งของไทยอยู่ภายใต้การตรวจสอบของนานาชาติไม่เพียงช่วยสร้างความชอบธรรมและชี้ตัวผู้กระทำผิด แต่จะช่วยกระตุ้นให้พรรคการเมือง ผู้สมัครและคณะกรรมการการเลือกตั้งเองปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานของกระบวนการประชาธิปไตย ในระดับโลก
คำถามที่ 6. ท่านเห็นพ้องหรือไม่ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องให้คำนิยามทางกฎหมายแก่คำว่า “เผด็จการรัฐสภา” และ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”?
ขณะเมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น ข้อกล่าวหา “เผด็จการรัฐสภา” และ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” มักผุดโผล่ขึ้นมาจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเสมอ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งหากมีคำนิยามในรัฐธรรมนูญหรือคำนิยามตามกฎหมายสำหรับคำศัพท์สองคำนี้ เพื่อให้มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการวัดข้อกล่าวหาพวกนี้ หรืออีกหนทางหนึ่งก็คือ คำศัพท์พวกนี้ควรลบทิ้งไปจากศัพทานุกรมไทยโดยสิ้นเชิง ในกรณีของไทยนั้นเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อกล่าวหาว่าเสียงข้างมากในรัฐสภากระทำตน “เป็นเผด็จการ” เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลทางการเมืองอย่างมาก กล่าวคือ มันกลายเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลที่ใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารของกองทัพและการระงับใช้ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในทฤษฎีประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนั้น การครองเสียงข้างมากในรัฐสภาคือเครื่องหมายแสดงคุณภาพถึงคุณค่าความเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ความสามารถของฝ่ายรัฐบาลในระบบรัฐสภาที่จะผ่านกฎหมายโดยขัดต่อความพอใจของเสียงข้างน้อยที่ได้รับการเลือกตั้งมาไม่ใช่อะไรที่ใกล้เคียงกับความเป็นเผด็จการแม้แต่น้อย แต่นี่คือสารัตถะแก่นแท้ของการปกครองด้วยเสียงข้างมากต่างหาก แนวคิดเกี่ยวกับ “เผด็จการรัฐสภา” จะนำมาใช้กล่าวอ้างได้ ก็ต่อเมื่อเสียงข้างมากในรัฐสภาเต็มใจและจงใจใช้อำนาจเกินกว่าสิทธิอำนาจตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็ใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย กระนั้นก็ตาม หากมีการพิสูจน์ความผิดได้จริงและมีการตัดสินชี้ขาดอย่างเหมาะสม มันก็แค่เป็นเรื่อง “ขัดรัฐธรรมนูญ” หรือ “ผิดกฎหมาย” แล้วก็พึงจัดการกับการกระทำผิดนี้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยที่จะต้องใช้คำศัพท์ทางการเมืองที่คลุมเครืออย่างคำว่า “เผด็จการรัฐสภา”
ในทำนองเดียวกัน ข้อกล่าวหา “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ก็ควรมีคำนิยามทางกฎหมายที่ชัดเจนหรือมีบรรทัดฐานในการวัดว่าคำคำนี้หมายถึงอะไรกันแน่ ในขณะที่การรับผลประโยชน์โดยมิชอบ การยักยอก การรับสินบนและการใช้ตำแหน่งหน้าที่คอร์รัปชั่นในรูปแบบอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งควรมีการควบคุมดูแลและตัดสินชี้ขาดความผิดที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ แต่การที่เสียงข้างมากที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยจะให้รางวัลตอบแทนฐานเสียงทางการเมืองและเขตเลือกตั้งที่สนับสนุนตนด้วยการออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ นี่ไม่ใช่ “คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” แต่เป็นผลผลิตของระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่ยอมรับกันมานมนานแล้วต่างหาก
คำถามที่ 7. พลเมืองไทยทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองหรือเปล่า?
คำถามสุดท้ายนี้คงเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดกระมัง เมื่ออเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์เดินทางมาสังเกตการณ์ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันในฐานะชาวต่างชาติเมื่อศตวรรษที่ 19 เขาให้ข้อสรุปที่ลึกซึ้งหลายประการเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ในงานเขียนคลาสสิกของเขานั้น ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อปลอบเพื่อนร่วมชาติที่เป็นชนชั้นผู้ดีชาวฝรั่งเศสให้บรรเทาความกริ่งกลัวต่อระบอบประชาธิปไตย ท็อกเกอร์วิลล์ตั้งข้อสังเกตว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จต้องตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ประชาชน “เกิดมาเท่าเทียมกันทางสังคม ไม่ใช่มาเท่าเทียมกันทีหลัง” กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ความเท่าเทียมกันทางการเมืองของพลเมืองเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด สิทธิทางการเมืองไม่ได้มาจากนามสกุล ถิ่นที่อยู่อาศัย ระดับการศึกษาหรือบทบาทอาชีพการงาน
คำขวัญสามประการคือ “เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ” ที่มวลชนชาวฝรั่งเศสใช้กันในยุคของท็อกเกอร์วิลล์เกิดมาจากความขุ่นแค้นของชนชั้นล่างที่มีต่อชนชั้นสูง ซึ่งทึกทักว่าตัวเองเหนือกว่าทางสังคมและการเมืองจนต่อต้านระบอบประชาธิปไตยของปวงชน การที่ผู้ประท้วงที่สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทยหันมาใช้คำขวัญเดียวกันโดยชูสามนิ้วจึงมีนัยสำคัญยิ่ง
หากกองทัพมีความตั้งใจจริงที่จะสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” กองทัพก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมรับความเท่าเทียมกันทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นผลพวงของความเท่าเทียมกันดังกล่าว กองทัพต้องยอมรับว่า คนไทย “เกิดมาเท่าเทียมกันทางสังคม” กองทัพจะต้องไม่เอาความไม่เท่าเทียมกันทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตัดต่อยัดเยียดเข้าไปในระบบปฏิรูปการเมือง ยิ่งกว่านั้น ความรับผิดชอบที่จะสร้างหลักประกันให้เกิดระเบียบสังคมไม่ใช่ข้ออ้างที่จะใช้มาตรการกีดกันเสรีภาพทางการเมืองและอิสรภาพของพลเมือง โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามแนวทางประชาธิปไตยในระยะยาว
ระบอบประชาธิปไตยมีมากกว่าการเลือกตั้งก็จริง ถึงแม้มันรับประกันหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงที่เป็นหัวใจของการเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยต้องรับประกันด้วยว่า พลเมืองทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันในการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมือง ข้อมูลข่าวสาร การรวมตัวชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมทั้งหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล (habeas corpus) และกระบวนการขั้นตอนอันถูกต้องตามกฎหมาย หากรัฐสภาไม่อาจละเมิดสิทธิเหล่านี้ คำประกาศของกองทัพ การดำเนินงานของราชการ คำสั่งของศาล หรือ “หลักนิติวิธี” ในรูปแบบอื่นใดก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิเหล่านี้เช่นกัน ภายใต้หลักนิติธรรม สิทธิเหล่านี้เป็นสิ่งที่ล่วงเกินมิได้และละเมิดมิได้
Dr. Robert Dayley เป็นศาสตราจารย์ของภาควิชา International Political Economy and Asian Studies ที่มหาวิทยาลัยไอดาโฮในสหรัฐอเมริกา
[1] หมายถึงการที่กองทัพเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองอย่างล้นเกินในประเทศ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ Daniel R. Headrick อธิบายคำนี้ว่า หมายถึงระบอบทหารที่มุ่งเน้นอำนาจครอบงำภายในประเทศมากกว่ามุ่งหมายที่จะต่อสู้กับประเทศอื่น ส่วนใหญ่ระบอบนี้มักเกิดขึ้นในประเทศเล็ก ๆ กองทัพจะเข้ามาควบคุมการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของกองทัพในฐานะบรรษัท หรือสนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มก๊กการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น