วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พล.อ.ประยุทธ์ระบุหากปฏิรูปไม่จบในกรอบ 1 ปี - ให้รัฐบาลหน้ารับไม้ต่อ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ถ่ายเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2557

กรณีสังศิต-สุริยะใสตั้งสถาบันปฏิรูปฯ 'พล.อ.ประยุทธ์' ขอให้มาเสนอแนวคิดผ่านช่องทางของรัฐบาล ชี้การปฏิรูปมีถึง 11 ด้านอาจไม่แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และจะให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการ ขณะที่ สปช. ลงมติไม่ให้คนนอกร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน.
พล.อ.ประยุทธ์ ขอรัฐบาลชุดใหม่สานต่อหากการปฏิรูป 11 ด้านยังไม่สำเร็จ
28 ต.ค. 2557 - เมื่อวันที่ 27 ต.ค. เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระบุว่า สภาปฏิรูปของรัฐบาลคือสภาปฏิรูปแห่งชาติ และในส่วนที่เกี่ยวข้องที่รัฐบาลกำหนดเพิ่มเติม เช่น ที่ปรึกษาสภาปฏิรูป และช่องทางการส่งรายละเอียด คือ กอ.รมน. ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา
สำหรับกรณีของจัดตั้งสภาปฏิรูปของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ต้องการให้เป็นสภากระจก และจะมีการจัดเวทีเสวนานั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะต้องดูอีกทีว่ามีปัญหาเรื่องของกฎหมายหรือไม่ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น แต่ต้องการให้เสนอแนวคิดผ่านช่องทางการทำงานของคณะทำงานด้านต่าง ๆ ส่วนกรณีการจัดเวทีคู่ขนานเพื่อรับฟังความคิดเห็นควบคู่กับเวทีรัฐบาล ต้องขอหารือกับฝ่ายกฎหมายก่อน โดยส่วนตัวไม่ขัดข้องสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ต้องการให้มีทิศทางไปในทางเดียวกัน ทั้งนี้ การปฏิรูปไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หัวข้อการปฏิรูปมีทั้งหมด 11 ข้อ เพราะฉะนั้น ต้องเลือกดำเนินการหัวข้อที่สามารถดำเนินการได้ภายในเวลาที่สั้น ส่วนที่เหลือก็ให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการ
ซึ่งการดำเนินการของรัฐบาลถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิรูป ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกัน พร้อมกล่าวขอร้องให้ทุกคนช่วยกันหาช่องทางเพื่อให้เกิดการปฏิรูปขึ้นมาให้ได้ ทุกคนล้วนเป็นคนไทย และเป็นคนเก่ง เป็นคนรักชาติ รักแผ่นดิน ขอให้หาข้อสรุปที่สร้างความพอใจให้คนทั้งชาติ เพื่อเดินหน้าปฏิรูปต่อไป โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าก่อนหน้านี้ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานสถาบันปฏิรูปประเทศไทย และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ได้แถลงเปิดตัวสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

มติ สปช. 175 ต่อ 39 ไม่ให้คนนอกเป็น กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เมื่อวันที่ 27 ต.ค. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว โดยที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติชั่วคราวถึงแนวทางการสรรหากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนจากผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน 20 คน
ทั้งนี้การอภิปรายของสมาชิก สปช. เกือบตลอดทั้งวันมีการถกเถียงกันในประเด็นที่ วิป สปช.ชั่วคราว กำหนดให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีสัดส่วนจาก สปช. 15 คน และจากคนนอก 5 คน
ขณะที่ สมาชิก สปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สัดส่วนคนนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการต่างอภิปรายย้ำว่ามีสมาชิกหลายคนต้องการทำหน้าที่ดังกล่าว และแต่ละคนมีความรู้ความสามารถจึงไม่จำเป็นต้องดึงคนนอกเข้ามาร่วมด้วย ขณะเดียวกันกรรมาธิการยกร่างควรปลอดจากการเมืองและเป็นอิสระ หากนำคู่ขัดแย้งเข้ามาร่วมด้วยอาจเกิดปัญหาตามมาอีก และอาจไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ รวมทั้งจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวชี้แจงว่า สัดส่วนที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าหากต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายต้องเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มการเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยควรทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรคคู่ขัดแย้งและกลุ่มการเมืองต่างๆ ทั้ง นปช. และ กปปส. เพื่อให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของคนนอก
ทั้งนี้ การอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวางทำให้สมาชิกเสนอขอปิดอภิปรายเพื่อลดความขัดแย้งและได้ลงมติทันที ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นด้วยที่จะให้มีคนนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช. ตามที่วิป สปช. ชั่วคราวเสนอด้วยคะแนน 175 ต่อ 39 เสียง
หลังการลงมติประธานการประชุมชั่วคราวได้หารือประเด็นการพิจารณาหลักเกณฑ์คัดเลือก สปช. เพื่อเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยการอภิปรายของสมาชิกยังไม่ได้ข้อยุติ ประธานการประชุมจึงให้สมาชิกกลับไปทบทวนและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในวันพรุ่งนี้(28 ต.ค.) เวลา 13.00 น. อีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น