วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

‘เครื่องมือสุดท้ายที่ถูกทำลาย’ ศาลทหารสั่งห้ามจดบันทึกคดี



เพจไอลอว์รวบรวมข้อมูลคดีทางการเมืองที่ขึ้นศาลทหารและศาลทหารทยอยออกคำสั่งห้ามผู้สังเกตการณ์คดี ผู้สื่อข่าวจดบันทึกการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาที่มากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจากไอลอว์ หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ซึ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์คดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาหลายปี ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า
“ในทางคดีความ การทำแบบนี้ทำให้ไม่เหลือหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (right to fair trial) หลงเหลืออยู่ เพราะการขึ้นศาลทหารก็ได้ทำลายหลักประกันเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ และตัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาไปแล้ว เครื่องมือสุดท้ายที่จะรับประกันสิทธิของจำเลยได้ คือ การเข้าสังเกตการณ์คดีของสาธาณชน
อีกแง่หนึ่ง จำเลยรู้สึกเหมือนถูกบีบให้รับสารภาพ เพราะศาลได้ปิดกั้นการต่อสู้ทุกวิธีทาง ตั้งแต่ไม่ให้ประกันตัว โอนคดีมาขึ้นศาลทหาร พิจารณาลับ และล่าสุดยังห้ามจด ศาลทหารซึ่งตุลาการถูกกังขาเรื่องความเป็นอิสระ และมีอัยการเป็นทหาร ด้วย ควรต้องถูกจับตาการทำงานอย่างใกล้ชิด
หากศาลมีความกังวลเรื่องจะจดบันทึกและนำไปรายงานผิดพลาด ศาลก็ควรเปิดโอกาสให้จำเลยคัดถ่ายเอกสารของคดีได้ทุกชิ้น และให้สาธารณชนเข้าถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เป็นประเด็นสำคัญ หรืออาจะทำเอกสารสรุปประเด็นแจก เหมือนที่ศาลอาญาเคยทำก็ได้”
 สำหรับรายละเอียดที่ไอลอว์รวบรวมการสั่งห้ามจดบันทึกในศาลทหาร มีดังนี้
15 ตุลาคม 2557 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ คดีจาตุรนต์ ฉายแสง ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/600] ก่อนตุลาการทหารขึ้นบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลทหารซึ่งเป็นนายทหารเดินมาแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)ว่า ขอความร่วมมือไม่ให้จดบันทึกระหว่างการพิจารณา ให้นั่งฟังอย่างเดียว ขณะที่นักข่าวที่มารอทำข่าวเพียงแต่รออยู่ด้านล่างไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดี

27 ตุลาคม 2557 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดีเยี่ยมยอด [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/620] ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. และคดีชัยนรินทร์ ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/610] ก่อนตุลาการทหารขึ้นบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลทหารเดินมาแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตนิวซีแลนด์ และเบลเยี่ยม เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติในศาลและแจ้งว่าไม่อนุญาตให้จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี ถือเป็นครั้งที่สองที่ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้จดบันทึก

ทั้งที่การพิจารณาคดีทางการเมืองที่พลเรือนตกเป็นจำเลยที่ผ่านมากว่า 10 คดี หากไม่ใช่คดีที่พิจารณาเป็นการลับ ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้นักข่าวและผู้สังเกตการณ์คดีสามารถเข้าไปนั่งฟังและจดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดีได้มาโดยตลอด ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับศาลพลเรือน

ก่อนหน้านี้วันที่ 25 สิงหาคม 2557 ที่ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย ภายในค่ายเม็งรายมหาราช ศาลนัดสอบคำให้การคดี 'เจี๊ยบ แม่ลาว' และจำเลยอีก 2 คน ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/598] มีผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติจากICJ เข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดี และเกิดความวุ่นวายในการประสานงานเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาภายในพื้นที่ของค่ายทหาร

หลังจากการประสานงานเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่าจะไม่อนุญาตให้จดบันทึก เนื่องจากก่อนหน้านี้ในการพิจารณาคดีสราวุทธิ์ ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/608] เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ศาลไม่ได้ห้ามการจดบันทึกและมีกรณีสำนักข่าว BBC เผยแพร่เนื้อหาข่าวผิดพลาด หลังตุลาการทหารขึ้นบัลลังก์ผู้สังเกตการณ์จาก ICJ ซึ่งเป็นคนไทยและได้รับอนุญาตให้เข้าฟัง ลุกขึ้นแถลงต่อศาลขออนุญาตจดบันทึกระหว่างการสังเกตการณ์ แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากกลัวว่าถ้าจดผิดแล้วนำไปเผยแพร่จะมีปัญหา ศาลแจ้งว่าให้คัดถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องไปดูได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกว่า นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาคดียังมีสารวัตรทหาร (สห.) นั่งประจำอยู่ข้างๆ ผู้สังเกตการณ์คดี คอยดูแลความเรียบร้อยด้วย

ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย นัดสอบคำให้การอีกหนึ่งคดี คือ คดีชาวเชียงราย 4 คน ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/597] นอกจากศาลจะไม่อนุญาตให้จดบันทึกแล้ว ยังประกาศห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟัง อนุญาตให้เฉพาะจำเลย ทนายความ และญาติที่นามสกุลเดียวกับจำเลยเข้าฟังได้ โดยใช้วิธีการตรวจบัตรประชาชนตั้งแต่บริเวณหน้าทางเข้าค่ายเม็งรายมหาราช

วันที่ 7 ตุลาคม 2557 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ ภายในค่ายกาวิละ ศาลนัดสืบพยานคดี "กิตติ" ปลุกปั่นยั่วยุประชาชนให้ละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ศาลก็ได้แจ้งว่าคดีนี้ไม่อนุญาตให้จดบันทึกอีกเช่นกัน

วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น นัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 26 คนในคดี 'ขอนแก่นโมเดล' ศาลไม่อนุญาตให้ญาติและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในคดีเข้าไปในห้องพิจารณา เนื่องจากห้องมีขนาดเล็ก มีเพียงตัวแทนจาก ICJ คนเดียวเท่านั้นที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ ซึ่งผู้สังเกตการณ์ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่าไม่อนุญาตให้จดบันทึกอีกเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น