13 ต.ค.2557 สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่บทวิเคราะห์ เรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของประเทศไทย ระบุมีเนื้อหาปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่อ่อนแอลง ปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับความเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และปฏิเสธสิทธิในการมีส่วนร่วมดำเนินกิจการสาธารณะ รายละเอียดมีดังนี้
บทวิเคราะห์เรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของประเทศไทย
1. การปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่อ่อนแอลง
มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีกับการยืนยันพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยในการปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้สนธิสัญญาต่างๆ อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม บางมาตราต่อๆ มากลับให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยไม่มีการคุ้มครองมากพอซึ่งอาจเปิดโอกาสให้เกิดการลดทอนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 44 บัญญัติว่า ในกรณีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เห็น “เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบังลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน … ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนี้และเป็นที่สุด”
นอกจากนี้ มาตรา 47 ยังบัญญัติด้วยว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ทั้งหมด)…เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” มาตราเหล่านี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนให้การปฏิบัติและคำสั่งทั้งหมดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการปฏิบัติและคำสั่งที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขาดคุณสมบัติที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของมาตรา 4 ซึ่งกำหนดให้เคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
มาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่าพระราชกำหนดสามารถตราขึ้นได้ “เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราที่ต้องพิจารณาโดยด่วนและลับ”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะมาตรา 4 (1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นภาคี การประกาศกรณีฉุกเฉินจะทำได้ก็ต่อเมื่อเกิดความเสี่ยงหรือต่อการคงอยู่ของประเทศเท่านั้น แต่ขอบเขตของมาตรา 21 กลับถูกร่างให้ครอบคลุมอย่างกว้างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การอนุญาตให้เกิดการดำเนินการที่เสื่อมสิทธิเกินกว่าขอบเขตของมาตรา 4 (1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ข้าพเจ้าจึงขอให้รัฐบาลของท่านกำหนดขีดจำกัดและแนวทางการใช้บังคับมาตรา 21 อย่างชัดเจนเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2. การปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับความเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
ตราสารระหว่างประเทศหลายฉบับให้สิทธิแก่เหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการรับการเยียวยา [1] ยกตัวอย่างเช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกำหนดให้รัฐภาคีมีภาระผูกพันให้การเยียวยา (remedy) ที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ (มาตรา 2(3)(a)) ซึ่งจะใช้บังคับไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้รัฐภาคียังมีภาระผูกพันต้องทำให้การเยียวยานั้นเป็นผล (มาตรา 2(3)(c)) ในทำนองเดียวกัน มาตรา 14 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention againstTorture and Other Cruel, Inhumanand DegradingTreatment (CAT) ให้สิทธิเหยื่อผู้ถูกซ้อมทรมานในการได้รับค่าชดเชยที่ยุติธรรมและเพียงพอ
แต่มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกลับให้ความคุ้มครองอย่างไม่เหมาะสมแก่ “บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น” การคุ้มครองดังกล่าวใช้บังคับกับการกระทำ “ไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น”
แม้ว่าการกระทำนั้นจะผิดต่อกฎหมายก็ตาม การให้ความคุ้มครองอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการบังคับใช้อย่างไม่มีกำหนดสิ้นสุดเช่นนี้ จะขัดขวางไม่ให้เหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องขอการเยียวยาจากหน่วยงานยุติธรรม ฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติที่เกี่ยวข้องซึ่งขัดต่อสิทธิของบุคคลดังกล่าวในการได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ในทำนองเดียวกัน การที่เหยื่อถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อขอความช่วยเหลือจึงทำให้มาตรานี้มีโอกาสละเมิดมาตรา 14(1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งบัญญัติว่าทุกคนควรมีสิทธิ “ได้รับการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมและเปิดเผยโดยคณะผู้พิพากษาที่มีความสามารถ เป็นอิสระและเป็นกลางซึ่งกำหนดโดยกฎหมาย”
มาตรา 44 และ 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งทำให้คำสั่งหรือการปฏิบัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ยังปฏิเสธสิทธิภายใต้มาตรา 2 และมาตรา 4 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอีกด้วย โดยกีดกันมิให้เหยื่อโต้แย้งหรือโต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของการปฏิบัติดังกล่าวในชั้นศาล นอกจากนี้ มาตราเหล่านี้มีโอกาสละเมิดมาตรา 12 และมาตรา 13 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งกำหนดให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาการทรมานหรือการปฏิบัติโดยมิชอบทันทีและปราศจากความลำเอียง
3. การปฏิเสธสิทธิในการมีส่วนร่วมดำเนินกิจการสาธารณะ
มาตรา 25(a)ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บัญญัติว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิและโอกาส “ที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการสาธารณะโดยตรงหรือโดยทางอ้อมผ่านตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกอย่างเสรี”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สถาบันหลักซึ่งรวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 6) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (มาตรา 28) จะได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้ว่าการคัดเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นมากกว่าสองสถาบันข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีอำนาจสูงสุดในการเลือกสรรบุคคล (มาตรา 32)
การไม่มีมาตรการเปิดให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกสถาบันหลักดังกล่าว ดูเหมือนจะขัดกับมาตรา 25(a) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้พูดถึงที่มาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่าตั้งขึ้นมาได้อย่างไร การแต่งตั้งตัวเองของสถาบันนี้จึงเข้าข่ายละเมิดมาตรา 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
มาตรา 25 (a) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยังบัญญัติด้วยว่า “ประชาชนทุกคนพึงมีสิทธิและโอกาสโดยไม่มีความแตกต่างดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 2 และโดยไม่มีข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุผล...ในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการสาธารณะ...” ในขณะเดียวกัน มาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของ “เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น สัญชาติหรือที่มาของสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่นๆ”
แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้กลับถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 8 (1)) หรือเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา 33 (2)) เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี (มาตรา 20 (4))
การขาดคุณสมบัตินี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของ “ความเห็นทางการเมือง” หรือ “สถานะอื่น” ตามมาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็น “ข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุผล” ตามมาตรา 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้ข้อจำกัดที่คล้ายๆ กันซึ่งห้ามมิให้ภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวชเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 8 (2)) หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (มาตรา 28) หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา 33 (3)) นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี (มาตรา 20) ถือเป็นการจำกัดสิทธิโดยไร้เหตุผลด้วย
ตุลาคม 2557
[1] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (มาตรา 8) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (มาตรา 2) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี(มาตรา 6) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (มาตรา 39) อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการเคารพกฎหมายและระเบียบสงครามทางบก ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 1907 (อนุสัญญา IV) (มาตรา 3) พิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวา ฉบับลงวันที่ 12 สิงหาคม 1949 และที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเหยื่อจากความขัดแย้งติดอาวุธระหว่างประเทศ (พิธีสาร I) ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 1977 (มาตรา 91) และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (มาตรา 68 และ 75)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น