วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

12 องค์กรภาคประชาชนอีสาน ประกาศไม่ร่วมปฏิรูปคณะรัฐประหาร คสช.

ร่อนแถลงการณ์ระบุไม่มีกลไกที่ยึดโยงอำนาจประชาชน  ปัญหาพื้นที่ระอุข้าราชการไล่จับชาวบ้าน ออกกฎหมายเอื้อต่อการลงทุน เปิดสัมปทานขายทรัพยากรชาติ ไม่คิดถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชี้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตั้งคำถามรัฐประหารเป็นโอกาสของประชาชนจริงหรือ?ประชาชนจะปฏิรูปขณะที่ไม่มีสิทธิและเสรีภาพได้อย่างไร? และ ประชาชนเป็นเพียงหางเครื่องของคณะรัฐประหารหรือไม่?
๐๐๐๐
แถลงการณ์
ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบู๊ท คสช.
นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  และออกประกาศ คำสั่ง เพื่อล้มล้างนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรี  สภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งหมด  แล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรี (ครม.)  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  ขึ้นมาแทนที่  ผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนคือไม่มีกลไกทางการเมืองใดที่แต่งตั้งโดย คสช. ที่ยึดโยงอำนาจกับประชาชน  ในที่สุดการเมืองไทยก็วนเวียนกลับมาสู่วงจร อุบาทว์ เช่นเดิม
ภาพที่เราเห็นคือพฤติกรรมของผู้นำรัฐบาลและหัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจแบบสั่งการ หรือใช้อำนาจเผด็จการทหารมากกว่าการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม คาถาที่ท่านผู้นำสั่งการให้ประชาชนท่องคือ “มีปัญหาไปเสนอที่ สปช. และศูนย์ดำรงธรรม” ขณะเดียวกันกลไกข้าราชการและทหารในระดับพื้นที่ก็ไล่จับชาวบ้าน  ผลักดันให้ออกจากผืนดินทำกิน  และเดินหน้าลดขั้นตอนและกระบวนการขออนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเอื้อต่อการลงทุน เตรียมเสนอ  ร่าง พ.ร.บ.แร่  ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ  เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ขายทรัพยากรชาติ ผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในสายตาของท่านผู้นำ แน่นอนว่าใครขัดขวางจะต้องถูกจัดการโดยอำนาจที่มาจากกฎอัยการศึก และกฎอัยการศึกไม่มีท่าทีที่จะยกเลิกแต่อย่างใด  โดย คณะ คสช. อ้างว่ายังมีคลื่นใต้น้ำพร้อมที่จะสร้างความวุ่นวาย แต่กฎอัยการศึกนั้นได้ใช้เป็นเครื่องมือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่จะออกมาปกป้องสิทธิของตนเองจากการกระทำของข้าราชการและทหาร  โดยกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนถูกเหมารวมเป็นพวกที่ไม่อยากให้ประเทศเดินหน้าปฏิรูป ทั้ง ๆ ที่การปกป้องชุมชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
คณะ  คสช. ได้ใช้วาทกรรม “เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย คืนความสุขให้ประชาชน” ครอบงำคนในสังคมให้เชื่อโดยไม่ตั้งคำถามว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่มี องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)  นักศึกษา  นักวิชาการ  องค์กรอิสระหรือปัญญาชน ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศควรจะต้องตั้งคำถามว่า 
1.) การรัฐประหารครั้งนี้เป็นโอกาสของประชาชนจริงหรือไม่?

2.) ประชาชนจะปฏิรูปประเทศในขณะที่ยังไม่มีสิทธิและเสรีภาพหรืออย่างไร?

3.) ประชาชนเป็นเพียงหางเครื่องของคณะรัฐประหารหรือชนชั้นนำหรือไม่?
เราในนามเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน อีสาน   มีความเห็นว่า การเข้าไปอยู่ในกลไกของคณะรัฐประหาร  เช่น  คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นการสนับสนุนให้คณะรัฐประหารหรือกลไกที่เกิดจากรัฐประหารทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน และไม่สามารถมีพลังคัดค้านและตรวจสอบนโยบายรัฐ  กฎหมาย  หรือโครงการพัฒนาใด ๆ ที่เกิดในช่วงรัฐประหารได้เลย  หรือกลับกลายเป็นการยอมรับการรัฐประหารในที่สุด 
ดังนั้นเราจึงขอประกาศจุดยืน ดังนี้
1.  ไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2.  ไม่ยอมรับกลไกและเครื่องมือที่เกิดจากรัฐประหาร  เช่น  คณะรัฐมนตรี  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  และสภาปฏิรูปแห่งชาติ  และปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีหรือกระบวนการใด ๆ ที่กำลังจัดทำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ด้วยความเคารพ
2  พฤศจิกายน 2557
รายชื่อองค์กร
1.  ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน (ศสส.)
2.  กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
3.  โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
4.  เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย
5.  เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
6.  ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี (ศสช.)
7.  โครงการปฏิบัติการเพื่อสิทธิคนจน (ภาคอีสาน)
8.  เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน
9.  กลุ่มบ้านสันติภาพ
10.  กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน
11.  ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
12.  ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
รายชื่อบุคคล
1.  นายจักรพงศ์  ธนวรพงศ์
2.  นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์
3.  นายเลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์
4.  นายสิริศักดิ์  สะดวก
5.  นายปัญญา  คำลาภ
6.  นายเดชา  คำเบ้าเมือง
7.  นายนัฐพงษ์  ราชมี
8.  นายณตฤณ  ฉอ้อนศรี
10.  นายไพฑูรย์  สร้อยสด
11.  นายสว่าง  น้อยคำ
12.  นางชลธิชา  ตั้งวรมงคล
13.  นายวิทูวัจน์ ทองบุ
14.  น.ส.ณัฐพร อาจหาญ
15.  นายอดิศักดิ์  ตุ้มอ่อน
16.  นายนิติกร  ค้ำชู
17.  นายยงยุทธ  ดงประถา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น