วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สัมภาษณ์แคเธอรีน บาววี่ ห่วงแนวคิดล้มเลือกตั้งท้องถิ่นกระทบชนบท แปลกใจคนมีการศึกษาของไทยไม่หนุนปชต.



Mon, 2014-11-03 18:52
จอม เพชรประดับ

         จอม เพชรประดับสัมภาษณ์ แคเธอรีน บาววี่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ชี้คนในต่างจังหวัดคุ้นเคยกับการเลือกตั้งมานานกว่าคนในเมือง ห่วงแนวปฏิรูปรัฐบาลทหารยกเลิกเลือกตั้งท้องถิ่น


แคเธอรีน บาววี่ (Katheirne A. Bowie) อดีตผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ ประจำคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดินสัน

เธอเป็นหนึ่งอาจารย์ชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนที่สนใจ ศึกษาสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง และจริงจัง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ที่เธอได้เข้าไปทำงาน คลุกคลีกับชาวชนบททางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เธอให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องด้วย

และเมื่อบริบทของสังคมในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา อาจารย์แคเธอรีน มองสังคม การเมือง และการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างไร

“ชนบทไทย เปรียบเทียบกับเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว รวมทั้ง ความคิดของคนไทยในชนบท ก็เปลี่ยนแปลงไปมากด้วย ถ้าย้อนไปไกลเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว สังคมชนบทไทย ก็ยังเป็นสังคมในระบบศักดินา” อาจารย์แคเธอรีน เกริ่นบทสนทนาด้วยการพูดภาษาไทยอย่างชัดถ้อยชัดคำ

เธอกล่าวเน้นถึงโดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย ที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านนานหลายปี

“คนในภาคเหนือ และเชื่อว่าภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ที่สมัยก่อนนั้น เขารู้สึกว่า เขาเป็นขี้ข้าของคนมีอำนาจ ตามลักษณะของสังคมศักดินา แต่ในปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นปีที่ดิฉันไปอยู่กับชาวบ้าน ในขณะนั้น ชาวบ้านเขาตื่นตัว เรื่องการเลือกตั้งมาก เพราะในชนบทของไทยขณะนั้น มีการเลือกตั้ง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องถิ่นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2440 สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว”

“พอมาถึงยุคปัจจุบันที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น ความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ประชาชนเป็นคนเลือกเข้าไป จึงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย เรื่องการรักษาสุขภาพ เช่น สามสิบบาทรักษาทุกโรค เรื่องสินค้าโอท็อป ดังนั้นในระยะสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยในชนบทได้รับสวัสดิการจากรัฐบาลมากขึ้น”

แต่บริบททางการเมืองของสังคมไทยเวลานี้ กลับเห็นว่า ความช่วยเหลือที่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ได้หยิบยื่นให้กับชาวชนบทนั้น หรือที่เรียกว่า “ประชานิยม” ได้ถูกแปรความหมายไปในทางที่สร้างปัญหา ถูกมองว่า เป็นสิ่งเสพติดสำหรับชาวชนบท ทำลายการเงินการคลังของประเทศ เป็นที่มาของการคอรัปชั่น รวมทั้ง ยังเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ เพียงเพราะฝ่ายการเมือง หรือ นักการเมือง ต้องการที่จะได้คะแนนเสียงนิยม ในการเข้ามามีอำนาจแต่เพียงเท่านั้น

ประเด็นนี้ อาจารย์แคเธอรีน อธิบายว่า นักการเมืองเมื่อมาเป็นรัฐบาล ก็ควรที่จะรับใช้ราษฎร แทนที่จะให้ราษฎรเป็นขี้ข้าเหมือนแต่ก่อน ดังนั้น ผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ก็ควรจะรับใช้ราษฎร ไม่ว่านโยบายอะไร ถ้าเป็นการช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้กับประชาชน ประชาชนก็นิยมเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเป็นนโยบายที่สร้างปัญหา แม้ประชาชนจะนิยมหรือชอบ รัฐบาลหรือผู้ปกครอง ก็จะต้องมีการวางแผนอย่างดี ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ หรือ แก้ปัญหา ป้องกันการคอรัปชั่น เพราะงบประมาณนั้นมีจำกัด ดังนั้นก็ควรจะโต้แย้งกันว่า จะใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพดีที่สุดได้อย่างไร แต่ต้องระบบที่จะทำให้ ชาวบ้าน มีส่วนร่วมได้ ก็คือ การเลือกตั้ง ซึ่งก็จะเป็นวิธีการที่จะสร้างความสมดุลในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ หรือนักการเมือง“

อาจารย์แคเธอรีนกล่าวย้ำว่า นโยบายรัฐบาล จะต้องช่วยเหลือราษฎร เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่หากมีรายละเอียดที่จะสร้างปัญหา หรือส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ก็จะต้องถกเถียงกัน ต้องให้มีระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำ และหากปัญหาอยู่ที่ตัวนโยบายก็ควรที่จะต้องนำมาถกเถียงพูดคุยกันด้วยเหมือนกันเพื่อแก้ไข จุดอ่อน ของนโยบายนั้น ๆ

สืบเนื่องจากนโยบายประชานิยม นี่เอง ที่ทำให้ คนชั้นกลางในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯเข้าใจว่า คนชนบท เห็นแก่เงิน ยอมขายสิทธิ์ ขายเสียงตัวเอง เพื่อหวังจะได้เงินจากนักการเมือง และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น หรือ ยอมเป็นทาสเงินของนักการเมือง

อาจารย์แคเธอรีนบอกว่า เคยได้ยินเพื่อนที่อยู่ในกรุงเทพฯมักจะมองคนในชนบทเป็นแบบนี้จริง ๆ แต่ที่จริงแล้ว ชาวบ้านเขาคุ้นเคยกับระบบการเลือกตั้ง และใช้วิถีทางประชาธิปไตยมานานกว่าคนในเมืองด้วยซ้ำ ตั้งแต่ปี 2440 เป็นต้นมาด้วยซ้ำ ส่วนคนในเมืองเพิ่งจะมีการเลือกตั้งกันจริง ๆ จัง ๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เท่านั้นเอง ดังนั้น ชาวบ้านในชนบท ที่ผ่านการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เขาก็จะมีวิธีการเลือกตั้งของเขาในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งเรื่องเงินไม่ได้เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจเลือก หลายครั้งชาวบ้าน ก็เลือกนักการเมืองหน้าใหม่ๆ เข้ามาซึ่งไม่เคยมีผลงานมาก่อน

“ชาวบ้าน เขามีวิธีการของเขา เขาจะประชุมผู้นำในหมู่บ้าน วางแผนกันว่าจะลงคะแนนให้กับคนไหนเป็นพิเศษ หรือ อาจจะลงให้คนไหนเท่าไหร่ นี่คือการ ต่อรองทางการเมืองของชาวบ้านที่มีมานานแล้ว แม้ว่าจะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่ก็ไม่มาก และไม่ได้หมายความว่า ใครให้เงินชาวบ้านมากที่สุด คนนั้นจะได้รับเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่” อาจารย์แคเธอรีน กล่าว

อาจารย์แคเธอรีน อธิบายเพิ่มเติม เรื่องการใช้เงินเพื่อการต่อสู้ทางการเมืองของนักการเมืองนั้น มีอยู่เกือบทุกประเทศในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน นักการเมืองสหรัฐฯ มีการใช้เงินเพื่อซื้อโฆษณาในการหาเสียงเลือกตั้งกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ตรวจสอบกันได้ ถ้าใช้เงินกันอย่างไม่โปร่งใส ประชาชนก็จะไม่เลือกเขาอีกในอนาคต

“คนในชนบทของไทยเวลานี้ มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท แม้แต่ปริญญาเอกก็มี เขากลายเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น เขาเสียภาษีมากขึ้นด้วย ความช่วยเหลือที่จะช่วยเขาคือ ช่วยเหลือเรื่องการตลาด ช่วยเรื่องอาชีพ ชาวบ้านเขาไม่ได้ขี้เกียจ หรือ เขาอยู่เฉยนะ ดังนั้นอย่าไปมองว่า ยอมขายสิทธิ์ ขายเสียงหรือขายศักดิ์ศรีของตัวเอง ถ้ามองชาวบ้านแบบนี้ ก็จะสร้างปัญหา แต่ควรจะให้เกียรติกับคนชนบทด้วย และให้เกียรติกับทุกฝ่ายด้วยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง ก็มี ประเด็นที่เราควรรับฟังด้วยกันทั้งนั้น ขณะเดียวกัน คนเสื้อแดง ถ้ามองว่าเป็น คนชนบทส่วนใหญ่ ก็ต้องให้เกียรติกับเขาด้วย ในการตัดสินใจ เลือกนักการเมืองคนหนึ่งคนใดเข้ามา ก็ควรยอมรับความคิดเห็นและความต้องการของเขา”

สายธารประชาธิปไตยที่แปรผันไปตามฤดูกาล บางยุคก็คึกคักเข้มข้น บางยุคก็มืดมนเมื่อเกิดรัฐประหาร เหมือนเช่นปัจจุบัน ทำให้ ความเข้าใจ”ประชาธิปไตย” ของคนไทย ระหว่างคนในเมือง กับ คนในชนบท ดูจะยังขัดแย้งและสวนทางกัน

อาจารย์แคเธอรีน อธิบายเรื่องนี้ว่า คนในต่างจังหวัดคุ้นเคยกับการเลือกตั้งมานานกว่าคนในเมืองอย่างที่กล่าวแล้ว คนในเมือง คนในกรุงเทพเริ่มมาคึกคัก จริงจัง หลังปี พ.ศ. 2475 แล้วเท่านั้น แต่ที่สำคัญ ต้องทำให้ระบบเลือกตั้งในท้องถิ่น เข้มแข็ง เพราะท้องถิ่น ทุกคนรู้จักกัน เขารู้แต่ละคนมีผลงานอย่างไร จะเปลี่ยนคนเมื่อเขาไม่พอใจ ถ้าเล่นพรรคเล่นพวกกันเกินไป ไม่ดูแลประชาชน สุดท้าย ชาวบ้านก็เปลี่ยนไปเลือกคนใหม่ ที่มีความสามารถและมีความคิดที่ดีกว่า

อาจารย์แคเธอรีนยอมรับว่า ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อาจจะรู้สึกอึดอัดกับวิถีทางประชาธิปไตย ที่ใช้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสิน หรือแก้ปัญหา เพราะทำให้เกิดประชานิยม หรือ เกิดการคอรัปชั่น แม้แต่คนอเมริกันเอง ส่วนหนึ่งก็อึดอัดในเรื่องนี้

“เมื่อครั้งการเลือกตั้งที่แข่งขันกันระหว่าง จอร์ช ดับเบิลยู บุช กับ อังกอร์ คนอเมริกันตอนนั้น อึดอัดมาก ยิ่งกอร์ ได้คะแนน ใน popular vote มากกว่า บุช แต่ ศาลสูงสุด ตัดสินให้ บุช ชนะ คนที่เลือก กอร์ ก็อึดอัดมากแต่เราก็ต้องอดทน ยอมที่จะอมมันไว้ และรออีก 4 ปี รอวันที่จะให้เลือกตั้งใหม่ เราก็จะเลือกคนที่เราต้องการ ให้เป็นเข้ามาใหม่ ซึ่งระบบวิถีทางแบบนี้เราคุ้นเคยกันมานานแล้ว”

และเมื่อถามว่าแล้วคิดว่าเพราะอะไร คนไทยถึงมักไม่ค่อยยอมที่จะอดทน อาจารย์แคเธอรีนตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ไม่ทราบ”

ความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างคนกรุงเทพฯ หรือ คนในเมือง กับ คนชนบท ยังมีประเด็นให้คุยได้อีกมาก ทั้งความคิดที่ว่า เสียงของคนชนบทที่ไม่มีการศึกษา หรือการศึกษาน้อย ก็ควรที่จะมีค่าน้อยกว่า เสียงของคนชั้นกลาง หรือ คนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ที่มีการศึกษาดีกว่า เพราะยิ่งมีการศึกษาน้อย ก็ยิ่งจะหลงเชื่อนักการเมืองได้ง่าย

“ความคิดนี้ถือเป็นเรื่องแปลกมาก ว่าทำไม คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือ คนที่มีการศึกษา ถึงไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับ หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง มีเพื่อนที่อยู่ในชนบทหลายคนแม้ว่าจะเป็นชาวบ้านจบปอสี่ แต่มีความรู้ มีฝีมือ หลายด้าน ทั้งการเมืองระดับท้องถิ่น การประกอบอาชีพ อย่างเช่นการทำนา ปลูกข้าว นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆนะ” อาจารย์แคเธอรีนกล่าว

ประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับ นโยบายของรัฐบาลทหารในประเทศไทยเวลานี้ คือ แนวคิดที่จะยกเลิกการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เพื่อที่จะพยายามปฎิรูปการเมืองไทย ให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ

แม้จะเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ อาจารย์แคทเธอลีนกังวล แต่เธอก็ตอบแบบเลี่ยง ๆ ว่า ด้านหนึ่ง เป็นเรื่องของคนไทยเองที่จะต้องตัดสินใจว่าจะสร้างประชาธิปไตยแบบไหน แต่สำหรับเธอแล้ว อยากเห็นคนไทยรักษาประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการเลือกตั้ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้าน คิดว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่แท้ คือ จะต้องให้เกียรติกับทุก ๆ คน ไม่ใช่คิดว่าเรามีอำนาจอยู่คนเดียว หรือรู้มากกว่าคนอื่น เพราะถ้ามองอย่างนั้น จะสร้างปัญหาในอนาคต

“ข้อเสนอที่จะให้มีการยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่น อันนี้เป็นห่วงมากว่า จะเป็นจริงหรือไม่ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้จริง นอกจากจะไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เป็นห่วงว่า จะสร้างปัญหาให้กับ คนชนบทไทยในอนาคตอย่างแน่นอน”

อาจารย์แคทเธอลีน ทิ้งท้าย บทสนทนาด้วยการแสดงความห่วงใย และเป็นกังวลกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทหารของไทยในขณะนี้ เพราะในฐานะที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30 ปี ย่อมมีความผูกพัน ใกล้ชิดเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง

“เราหวังว่า ทุกฝ่ายจะให้การยอมรับความคิดของกันและกัน และให้เกียรติทุกฝ่ายว่ามีความคิด และมีเหตุผลที่จะร่วมกันแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น