วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

'บวรศักดิ์' ชี้ รธน.ใหม่ไม่เลือกนายก-ครม.โดยตรง ต้องทำประชามติหลังยกร่างเสร็จ

"บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ชี้รัฐธรรมนูญใหม่เนื้อหาต้องไม่มาก แบ่งเป็น 4 ภาค เน้นการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่มีนายกรัฐมนตรี-ครม. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และเมื่อร่างเสร็จต้องทำประชามติ
 
8 พ.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาปิดการประชุมเชิงวิชาการครั้งที่ 16 “8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย พลวัตแห่งดุลอำนาจ” ว่า ปัญหาความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่ผ่านมา คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ความไม่สมดุลในการจัดสรรอำนาจ รวมถึงความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ โจทย์ใหญ่คือจะต้องทำให้ประชาชนของประเทศมีอิสระทางเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้ เพื่อที่จะทำให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริงในทุกเรื่อง และไม่ตกเป็นเครื่องมือประชานิยมของรัฐบาลต่างๆที่ออกมา ในการสร้างระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้กลับไปใช้อำนาจทางการเมืองได้อีก
 
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่หยิบยก รัฐธรรมนูญ ปี 2540และ 2550 มาเป็นแบบร่าง เพราะปัญหาแตกต่างกัน จึงถือเป็นครั้งแรกที่ต้องตอบโจทย์เรื่องการสร้างความปรองดอง สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งลดความขัดแย้งด้วย แต่รัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้โดยตรง แต่จะเป็นการวางโครงสร้าง กลไก กระบวนการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความปรองดอง และป้องกันความขัดแย้งในอนาคต นอกจากนี้ ควรร่วมกันสร้างดุลอำนาจใหม่ ให้เกิดความสมดุล โดยฝ่ายบริหารจะต้องมีอำนาจเข้มแข็งตามสมควร ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องมีอิสระในการตรวจสอบรัฐบาลได้ และเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของ ส.ส.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีบทบัญญัติที่ให้พรรคการเมือง สามารถถอด ส.ส. ที่ขัดมติพรรคได้ และจะไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีหรือ คณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
 
นายบวรศักดิ์ ยังมองว่าโครงสร้างทางการเมืองที่ดีนั้น ต้องนำทุกภาคส่วนในสังคมมาอยู่ในโครงสร้างทางการเมือง และนอกจากสภาผู้แทนราษฏรแล้ว ควรมีสภาพหุนิยมที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อมากลั่นกรองกฏหมายแต่ไม่มีอำนาจในการถอดถอนนักการเมือง อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรมีเนื้อหาที่ยาวมาก มีเฉพาะหลักการสำคัญ 4 ภาค คือ 1.พระมหากษัตริย์และประชาชน 2.ศาลยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง 2 เรื่องแรกแก้ไขยากมาก 3.ผู้นำทางการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง 4.การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จสิ้นแล้วต้องให้ประชาชนทำประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่า รธน. ฉบับใหม่จะเป็นสัญญาประชาคมอย่างแท้จริง
 
นายบวรศักดิ์ ยังปฏิเสธว่าในระหว่างการสัมมนาที่มีการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นดุลอำนาจที่4 นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ไม่ใช่แนวคิดของสถาบันพระปกเกล้า เป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น