วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ข้อเสนอ "อภิรัฐมนตรี" ไม่ใช่ข้อเสนอจากสถาบันพระปกเกล้า


กรณีที่มีข้อเสนอตั้ง "อภิรัฐมนตรี" อยู่เหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เป็น "รัฏฐาภิบาล" ชี้ขาดเมื่อ 3 อำนาจขัดแย้งกันนั้น พบว่าไม่ใช่ข้อเสนอจากสถาบันพระปกเกล้า แต่เป็นข้อเสนอของนักวิชาการ ม.รังสิต 'สุรพล ศรีวิทยา' ที่นำเสนอในกลุ่มย่อยของการประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันพระปกเกล้า
8 พ.ย. 2557 - กรณีที่ในวงเสวนาของการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าครั้งที่ 16 ประจำปี 2557 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 6-8 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ มีนักวิชาการผู้หนึ่งเสนอตั้ง "อภิรัฐมนตรี" เป็นอีกดุลอำนาจ นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั้น ตามที่มีการนำเสนอในมติชนออนไลน์นั้น
ล่าสุดผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า ข้อเสนอดังกล่าว เป็นการนำเสนอเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ในการประชุมกลุ่มย่อยที่ 1 เรื่อง การสร้างดุลยภาพในระบบโครงสร้างอำนาจรัฐ โดยมีผู้นำเสนอบทความหลายราย และหนึ่งในผู้นำเสนอบทความคือ สุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเสนอหัวข้อ "การปฎิรูปโครงสร้างดุลอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยไทยภายใต้กรอบอำนาจ จตุอธิปัตย์"
โดยสุรพลมีข้อเสนอให้มีอภิรัฐมนตรีให้เป็นอีกดุลอำนาจหนึ่ง นอกเหนือจากอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย คือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยเสนอให้ อภิรัฐมนตรีมีอำนาจมากที่สุดในฐานะ "รัฏฐาภิบาล" เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาเมื่อ 3 อำนาจอธิปไตยมีความขัดแย้งกัน อภิรัฐมนตรี จะเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาด
หลังจากนั้น ปณิธาน วัฒนายากร ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายและสรุปการประชุมกลุ่มย่อยดังกล่าว ต่อมาได้มานำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยในการประชุมวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ไม่ใช่ข้อเสนอจากสถาบันพระปกเกล้าแต่อย่างใด
เคยเสนอ "ประชาภิวัฒน์เพื่อปฏิรูประเทศไทยโดยสันติวิธี"
อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556 กรุงเทพธุรกิจ เคยเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของสุรพล หัวข้อ "ประชาภิวัฒน์เพื่อปฏิรูปประเทศไทยโดยสันติวิธี" เสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรคไม่ลงเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 และให้ร่วมมือกับ กปปส. หาผู้สมัครเลือกตั้งคนกลางจากกลุ่มอาชีพ ไม่สังกัดพรรคการเมือง จำนวน 800 คน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเลือกเป็นสมาชิก "สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย" จำนวน 400 คน เพื่อทำการปฏิรูปประเทศในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า "การอภิวัฒน์โดยสันติของประชาชน"
โดยให้สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย "เลือกตั้งคัดสรร" สมาชิก "สภาประชามนตรี" จำนวน 99 คน ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และให้สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยเลือกตั้งคัดสรร "นายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล" และ "คณะรัฐมนตรีเฉพาะกาล" เป็นคนกลางอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง ปฏิรูปประเทศไทยให้เสร็จสมบูรณ์ในระยะเวลาที่กำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น