ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดมได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและสร้าง ซึ่งมีวิทยากรประกอบด้วย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ โดยงานดำเนินไปด้วยความเรียยร้อยไม่มีการเข้าขัดขวางแต่อย่างใด นอกจากเจ้าหน้าที่ขอเข้าพูดคุยกับวิทยากรทั้งสามคนก่อนขึ้นเวที แต่งานวันนั้นก็จบลงด้วยเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาดังเช่นทุกครั้ง
พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความคิดทางปัญญาอย่างเสรี เป็นคำนิยามที่ควรจะเป็นของการเป็นมหาวิทยาลัย ทว่าดูเหมือนคำนิยามดังกล่าวกำลังถูกสั่นคลอน พื้นที่แห่งเสรีภาพทางวิชาการ อาจจะกำลังหดแคบลง 16 ต.ค 2557 ‘ส.ศิวรักษ์’ นักเขียนและนักวิชาการอิสระ หนึ่งในวิทยากรที่อยู่บนเวทีเสวนาเมื่อ 11 วันก่อน ถูกฟ้องร้องให้ดำเนินคดีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระนเรศวร ถัดจากนั้นมาราว 2 เดือน พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับหมายเรียกตัวไปสอบปากคำในกรณี ส.ศิวรักษ์ ถูกฟ้อง หมิ่นพระนเรศวร แต่เขาปฏิเสธที่จะให้ปากคำ ด้วยเหตุผลว่า “ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้ผมไป”
ประชาไทสัมภาษณ์ พิพัฒน์ ถึงเรื่องราวดังกล่าว พร้อมชวนคุยต่อถึงปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย และจุดมุ่งหมายที่ควรจะเป็นของการศึกษาประวัติศาสตร์
00000
ประชาไท : ได้รับจดหมายเรียกให้ไปสอบปากคำได้อย่างไร
พิพัฒน์ : จดหมายมาถึงเมื่อเช้า(24 ธ.ค. 2557) แต่ลงวันที่ไว้ที่ 22 คาดว่าเป็นเพราะการส่งไปรษณีย์ ผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรพอหลังจากได้รับจดหมายผมก็โทรไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ต้องการทราบเพียงว่า ใครเป็นผู้จัดการเสวนาขึ้น ผมก็เลยบอกว่าให้คุยกับผู้จัด เพราะว่าจะมาเรียกสอบปากคำอะไรจากเรา เราก็เป็นเพียงหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าก็ยินยอมว่า ผมไม่ต้องไป แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ชื่อของผู้จัดทางเจ้าหน้าที่เขาก็รู้อยู่แล้ว เพราะว่าก่อนที่นักศึกษาจะจัดงานเขาก็ได้มีการทำหนังสือไปขออนุญาติจัดการเสวนาก่อน ซึ่งผมอยู่ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งสุดท้ายแล้วผมก็บอกว่า ผมไม่ขอไปแล้วกัน เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้ผมไป ทางเจ้าหน้าที่เขาก็ตกลง
ประชาไท : หากมองต่อไปอีกขั้น ในกรณีที่ คดีหมิ่นพระนเรศวร ถูกส่งไปยังชั้นศาล คิดว่าจะส่งผลอย่างไรบ้างกับแวดวงวิชาการ
พิพัฒน์ : ประวัติศาสตร์ไทยที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ แกนหลักของเรื่องเป็นสถาบัน แทบจะทั้งหมด หากเรื่องประวัติศาสตร์เราไม่สามารถจะพูดความจริงได้ เราไม่สามารถจะส่งเสียงได้ หรือแม้กระทั่งว่า มีเอกสารชั้นต้นอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งมีความขัดแย้งกันเองแล้วไม่สามารถจะเอามาพูดคุยได้ นั่นก็หมายความว่าวิชาประวัติศาสตร์ของเรา กลายเป็นวิชาที่มีขึ้นมาเพื่อใช้ในการท่องจำ เพื่อให้เชื่อตามตัวประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่กลับไม่เป็นไปตามปรัชญาของตัววิชาเองที่ว่า เป็นวิชาทีเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงกันโดยยึดโยงกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ได้ความจริงทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นโดยตัวกฎหมาย ม.112 หรือการใช้กฏหมายเองกลายเป็นตัวขัดขวางการได้มาซึ่งความรู้ทางประวัติศาสตร์
ประชาไท : พูดได้ไหมว่าสภาวะที่เราอยู่ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ เสรีภาพทางวิชาการ กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือพื้นที่ต้องห้าม มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
พิพัฒน์ : ตราบใดก็ตามที่เนื้อหาประวัติศาสตร์ของเรายังให้ความสำคัญกับตัวประวัติศาสตร์ชาติเป็นหลัก แล้วก็มีเรื่องของสถาบัน เรื่องของดินแดน ยอมนำไปสู่การไม่สามารถจะถกเถียงเรื่องราวต่างๆตรงนั้นได้ถ้า เรื่องราวเหล่านั้นถูกทำให้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ถูกทำให้กลายเป็นความเชื่อ ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อาจจะทำให้งานวิชาการโดยเฉพาะในสาขาประวัติศาสตร์ หรืออาจจะรวมทั้งโบราณคดี สังคมวิทยา หรืออะไรก็ตามที่ไปผูกผันกับเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะเข้าไปถกเถียงได้
ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเข้าไปถกเถียงเรื่องนี้ บางคนก็อาจจะมองว่าจำเป็น หรืออาจจะมองว่าไม่จำเป็นก็ได้ แต่เราต้องมองอย่างนี้คือ สังคมที่เราอยู่มันใหญ่ และมีโครงสร้างหลายๆอย่างที่มันทับซ้อน เกี่ยวพัน และต่อเนื่องกัน ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถจะพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ซึ่งเราพูดด้วยเหตุมีผลไม่ได้พูดด้วยความเชื่อ ไม่ได้พูดโดยไม่มีหลักฐาน เราก็ไม่สามารถพูดถึงเรื่องอื่นๆได้ เพราะมันมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน
ฉะนั้นวิชาประวัติศาตร์ ซึ่งถูกทำให้กลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว เป็นเรื่องที่ยากมากที่เราถกเถียงอะไรเกี่ยวกับอดีตของประวัติศาสตร์ชาติ กลายเป็นว่าเราถูกปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการไปโดยอัตโนมัติ ถ้าเราเจอหลักฐานบางอย่างขึ้นมา เราไม่สามารถหยิบมาโต้เถียงกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ชาติ หรือประวัติศาสตร์ของสถาบันได้ กลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่ถูกต้อง ถูกยกย่องเชิดชูจนเกินเลยความเป็นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป
ประชาไท : อย่างนี้เรียกได้ว่าเป็นผลจากการสอนประวัติศาสร์ ตามแบบเรียนขั้นพื้นฐานหรือไม่
พิพัฒน์ : ผมคิดว่ามี 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรกเราอาจโทษปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับปฐม หรือระดับมัธยม ที่เป็นสอนให้คนเชื่อ และท่องตามเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือ เป็นปัญหาภาพรวมของทั้งสังคมมากกว่าคือ สังคมเราถูกทำให้เชื่อว่าสถาบัน เปรียบเสมือนเทพพระเจ้า เปรียบเสมือนกันอะไรต่อมิอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง อีกทั้งสถาบันยังเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติ ซึ่งถูกผนวกหรือสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 รัชกาลที่6 ฉะนั้นมันจึงกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เราไม่สามารถเข้าไปแตะต้องกับเรื่องตรงนี้ได้เลย
ฉะนั้นปัญหาตรงนี้จึงมีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นปัญหาจากการเรียนประวัติศาสตร์ของเราที่ไม่ถูกสอนให้ถกเถียง แต่ถูกสอนให้เชื่อ และต้องยกย่องเชิดชูเท่านั้น กับอีกด้านหนึ่งคือบรรยากาศของสังคม ที่มีเรื่องของระบบความเชื่อใหญ่ที่ครอบเราอยู่ว่า ในสังคมนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเราได้ ผมคิดว่าไม่ได้เป็นแค่ปัญหาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่ว่ามีเรื่องบรรยากาศของสังคมใหญ่ๆ แบบนี้ที่เป็นปัญหาอยู่
ประชาไท : ถึงที่สุดแล้วจุดมุ่งหมายของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์คืออะไร
พิพัฒน์ : มันมีการนิยามเป็นจำนวนมาก แต่คิดว่าประวัติศาสตร์ จะมีอิทธิพลต่อคนก็ต่อเมื่อมีการศึกษาเรื่องในอดีตที่ยังมีความเกี่ยวข้องกับปัจจุบัน ฉะนั้นเอาเข้าจริงแล้วประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของปัจจุบัน ปัจจุบันที่ใช้อดีตให้เป็นประโยชน์กับจุดที่ตัวเองกำลังยืนอยู่ ฉะนั้นจุดมุ่งหมายของประวัติศาสตร์ แน่นอนเลยเป็นเรื่องผลประโยชน์บางอย่างในเชิงการเมือง ในปัจจุบัน อย่างที่สองคือว่า ในเชิงปรัชญา วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้คนใช้เหตุผล รู้จักการประเมินหลักฐาน รู้จักการใช้ตรรกะให้เป็นประโยชน์ เช่นถ้ามีหลักฐานอยู่หลากหลายหลักฐาน เราจะค้นหาความจริงจากหลักฐานที่มีอย่างไร แต่ปัญหาของบ้านเราอยู่ตรงที่ว่า เรากลับประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของปัจจุบันเสียมากกว่า ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นการประเทืองปัญญา กลายเป็นเรื่องของการอ้างชอบธรรม ให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถกระทำต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น